fbpx

’10 ข้อเสนอแนะถึงรัฐบาล ในการมาถึงของ “ภาษีทรัมป์” โดย ดร. ปิติ ศรีแสงนาม’

เมื่อทรัมป์ขึ้นนั่งในทำเนียบขาว ระเบียบโลกก็ถึงคราวเปลี่ยนแปลงไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ มาตรการกำแพงภาษีที่ไม่มีทีท่าจะท้อถอย ส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อนโยบายการต่างประเทศของนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทย ที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐ นั้น ยืนยาว และมีความสลับซับซ้อนมากเกินกว่าที่จะตัดขาดหรือปล่อยผ่าน การเลือกข้าง อาจจะกำลังเดินหน้าเข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การรับมือกับระเบียบโลกใหม่ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่ GM Live ขอนำเสนอข้อเขียนของ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ส่งข้อความถึงรัฐบาลไทย ใน 10 ข้อแนวทางสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทย มีขีดความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น เท่าทันยิ่งขึ้น

เรียนท่านนายกรัฐมนตรี
.
เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนเป็นประเด็นสำคัญที่จะมีผลกระทบไปทั่วทั้งโลก ตัวผมเองในฐานะที่เป็นผู้สังเกตุการณ์ ศึกษาวิจัย สอนหนังสือ และเขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยในประชาคมอาเซียนท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และมีความเชื่อว่าการกำหนดนโยบายของประเทศควรต้องบูรณการความรู้และประสบการณ์จากทุกภาคส่วน ผมจึงเขียนจดหมายเปิดผนึกนี้ถึงท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความคิดเห็นใน 10 ข้อเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่สำหรับรัฐบาลไทย
.

  1. ต้องเปิดทัศนคติใหม่ (New Mindset) แล้วว่า ระเบียบโลกได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และใช้เครื่องมือทางภูมิเศรษฐศาสตร์ในการห้ำหั่นหัน โลกกำลังแตกออกเป็น 3 ห่วงโซ่มูลค่า (GVCs) นั่นคือ 1) US-led GVCs, 2) China-led GVCs และ 3) ห่วงโซ่มูลค่าของประเทศอื่นๆ ซึ่งสิ่งแวดล้อมใหม่นี้จะอยู่กับเราในระยะยาว
    .
  2. ต้องบูรณการองค์ความรู้ในทุกศาสตร์แบบสหสาขาวิชาเพื่อรับมือกับสิ่งแวดล้อมใหม่นี้ โดยมีผลประโยชน์ของชาติเป็นเป้าหมาย และอย่าสับสนระหว่างผลประโยชน์ชาติกับผลประโยชน์ส่วนตัวและ/หรือครอบครัว
    .
  3. ไทยต้องวางยุทธศาสตร์อย่างน้อย 3 ด้าน 1) ยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐ 2) ยุทธศาสตร์ต่อจีน และ 3) ต้องเล่นบทบาทนำในประชาคมอาเซียน
    .
  4. ต่อสหรัฐ เราต้องยืนยันว่าไทยไม่ได้อยู่ใต้อิทธิพลของมหาอำนาจใด เร่งสำรวจช่องทางในการเข้าถึง Trump และ/หรือ ทีมงานใกล้ชิด และสำคัญที่สุดคือ อำนาจต่อรองของไทยต่อสหรัฐไม่ได้อยู่ในมิติเศรษฐกิจ หากแต่อยู่ในมิติความมั่นคง, การทหาร และการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้นเราต้องสามารถออกอาวุธได้ในทุกมิติมิใช่เพียงแต่ การค้า การเงิน การลงทุน
    .
  5. ต่อจีน เราต้องขยายตลาดสินค้าไทยเข้าจีน เพื่อทดแทนสินค้าที่จีนเคยนำเข้าจากสหรัฐ และด้วยความเป็นพันธมิตรที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานร่วมกัน เราต้องขอให้จีนควบคุมมิให้สินค้าจีนเข้ามาบุกและทำลายตลาดของผู้ประกอบการไทยในประเทศไทย พร้อมๆ กับต้องแสดงจุดยืนสนับสนุนจีนในเวทีนานาชาติในมิติที่เป็นผลประโยชน์ที่ไทยและจีนมีร่วมกัน และขอให้จีนสนับสนุนให้ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกเต็มของ BRICS เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ
    .
  6. ต่ออาเซียน ต้องประสานผลประโยชน์ และดำเนินยุทธศาสตร์ ราชสีห์กับหนู รวมอุปสงค์ของอาเซียนต่อสินค้าและบริการของสหรัฐเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และใช้อาเซียนเป็นอีก 1 ช่องทางในการเจรจากับสหรัฐควบคู่กับที่เราต้องดำเนินการแบบทวิภาคีด้วย และต้องให้ทั้ง 2 แทรคส่งเสริมซึ่งกันและกัน
    .
  7. ไทยต้องมองหาโอกาสทางเศรษฐกิจในตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะ ขั้วที่ 3 ของเกมส์ภูมิรัฐศาสตร์โลก นั่นคือ โลกมุสลิม (โลกมลายู+เอเชียใต้+แอฟริกา+ตะวันออกกลาง) พร้อมๆ กับต้องศึกษาลงลึกว่าภาษี Reciprocal tariff ที่มีอัตราแตกต่างกัน เราจะมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มในเชิงเปรียบเทียบกับประเทศใด และเราจะเสียเปรียบประเทศใด
    .
  8. ในระยะยาว ไทยต้องกระตุ้นให้ การบริโภคภายในประเทศ กลายเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปัจจัยผลักดันให้การบริโภคภายในประเทศอย่างยั่งยืนไม่ใช่การใช้นโยบายประชานิยม หากแต่ต้องเป็นการใช้นโยบายส่งเสริมการกระจายรายได้อย่างอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมความเท่าเทียมในการจัดสรรทรัพยากรและโอกาส และการมีธรรมภิบาล
    .
  9. ในมิติการเงิน การคลัง และอัตราแลกเปลี่ยน รัฐบาลคงต้องทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิดในการให้อิสระธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและปรับสัดส่วนกระจายการถือครองทรัพย์สินต่างๆ ในทุนสำรองระหว่างประเทศ
    .
  10. ใช้มิติสังคม วัฒนธรรม และ มนุษยธรรมในการเสริมสร้าง Soft Power เพื่อรับมือกับมาตรการสงครามภูมิรัฐศาสตร์ที่มากไปกว่าแค่สงครามภาษี การระงับวีซ่า การระงับทุนให้ความช่วยเหลือในหลากมิติ การหยุดการสนับสนุนทุนการศึกษา และงานวิจัย ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ การแพร่ระบาดของโรค จุดยืนในประชาคมนานาชาติ เหล่านี้ไทยต้องทำงานหนัก และสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างเพื่อนประเทศไทย (Friends of Thailand) ให้สนับสนุนไทย ช่วยไทย ในการเรียกร้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติในเวทีโลก
    .
    ทั้งหมดนี้คือ ข้อเสนอแนะ 10 ข้อของผมเพื่อให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก ผมมีข้อเขียนที่อธิบายความอย่างละเอียดในแต่ละข้อเพื่อให้ท่านนายกฯ ส่งให้กับทีมงานที่เกี่ยวข้องได้ไปศึกษาและดำเนินการต่อ โดยสามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ (https://thestandard.co/new-world-order-thailand-strategy/ )
    .
    หวังว่าข้อเสนอของผมจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและรัฐบาล
    .
    21 เมษายน 2025
    .
    รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
    คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    .
    ป.ล. เนื่องจากผมเป็นเพียงนักวิชาการคนหนึ่ง จึงไม่ได้มีช่องทางในการที่จะสื่อสารโดยตรงกับท่านนายกฯ​ ดังนั้นจึงอยากจะขอให้ทุกๆ ท่านที่เห็นด้วยกับข้อเขียน ช่วยกันแชร์ด้วยครับ เพื่อให้นายกฯ และ/หรือ สทร. ​ได้มีโอกาสเห็นข้อความเหล่านี้
Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ