fbpx

ส่อง “ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษาฯ” บน “ถนนสายมังกร” แลนด์มาร์กแห่งใหม่ เชื่อมความยิ่งใหญ่ให้ไชน่าทาวน์

ความสัมพันธ์ไทย – จีน 50 ปี

GM Live ขออาสาพาไปชื่นชมความงดงามและเป็นจุดถ่ายภาพแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร พร้อมลอดซุ้มประตูมหามงคลเปิดศักราชใหม่ต้อนรับความเฮงในเทศกาลตรุษจีนปีมะเส็ง 2568 ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยกให้เป็น Must Seek and See แลนด์มาร์กแห่งใหม่ เชื่อมความยิ่งใหญ่ให้ไชน่าทาวน์ ทั้งยังเป็นพื้นที่สำคัญทางการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ ชุมชน สังคม วัฒนธรรม ที่โด่งดังในระดับโลก ที่จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันเสาร์ที่ 25 มกราคม2568 เวลา 17.00น.  สถานที่แห่งนั้นคือ “ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษาฯ” บนถนนเจริญกรุงที่เปรียบดั่งถนนสายมังกร” แลนด์มาร์กแห่งใหม่ เชื่อมความยิ่งใหญ่ให้ไชน่าทาวน์

ซึ่งความยิ่งใหญ่ตระการตาและทรงคุณค่าของถาวรวัตถุทั้ง 2 แลนด์มาร์กแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพมหานคร บนเส้นทางถนนเจริญกรุงถนนสายแรกของประเทศไทยที่เข้าสู่ถนนสายมังกรอย่างสมบูรณ์แบบนั้น คือ “หัวมังกร” วชิรสถิต ๗๒ พรรษา สะพานดำรงสถิต และ “ท้ายมังกร” วชิรธำรง ๗๒ พรรษา ห้าแยกหมอมี  ที่สำคัญยังได้รับประติมากรรมอันทรงคุณค่า  ฮั่นไป๋หวี่ หินอ่อนหยกสีขาว แกะสลักรูปช้าง สิงโต และกลอง สัญลักษณ์ความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง เฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีน ครบรอบ ๕๐ ปี ๒๕๖๘ จากทางรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนมามาประดับตกแต่งฐานซุ้มประตูเสริมความงดงามอีกด้วย

โดยซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา นี้สร้างขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28กรกฎาคม 2567 ภายใต้แนวคิด “เบญจกตัญญุตา บารมีแห่งมังกรสยาม” ซึ่งเป็นความร่วมมือของสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (สสธวท) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนทั่วประเทศ 

ซุ้มประตูปัญจมังกรเฉลิมพระเกียรติ : ถาวรวัตถุจากดวงใจพสกนิกรทั่วประเทศ 

โครงการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อซุ้มประตูทั้งสองซุ้ม เพื่อความเป็นสิริมงคลคือ

ซุ้มที่ 1 “วชิรสถิต 72 พรรษา”  หมายถึง พระบาทสมแด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา

ซุ้มที่ 2  “วชิรธำรง ๗๒ พรรษา” หมายถึง  เอกลักษณ์แห่งการจารึกความเทิดทูนของมวลพสกนิกรทั่วประเทศ ต่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในอภิมหามงคลในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา

ปัญจมังกร : สัญลักษณ์แห่งมังกรทั้งห้า ซึ่งการสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา เกิดจากแนวคิด ปรากฏการณ์แห่งมังกรทั้ง 5

  1. พระมหากษัตริย์ทรงได้รับการสดุดี เป็น มังกรแห่งมวลมนุษย์
  2. เป็นนักษัตรประจำปีพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  3. ปีพุทธศักราช 2567 เป็นนักษัตรปีมังกรตามสุริยคติ
  4. วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ มังกรกมลาวาส  เป็นหนึ่งในศูนย์รวมใจพุทธศาสนิกชน
  5. ถนนเจริญกรุง ได้ชื่อว่า “ถนนสายมังกร”

สถาปัตยกรรม : ประยุกต์ศิลปะไทยกับจีน

สถาปัตยกรรมของซุ้มประตูเป็นศิลปะแบบจีนภาคเหนือ ลักษณะเป็นซุ้มคร่อมถนนเจริญกรุง มีฐานเสาคู่เดียวบนทางเท้าทั้งสองฝั่ง  กึ่งกลางหลังคาชั้นบน ประดิษฐานตราสัญลักษณ์ท่ามกลางมังกรคู่หัวหน้าเข้าหาตราสัญลักษณ์  หลังคาและมังกรคู่เป็นสีเหลืองอันเป็นสัญลักษณ์แห่งพระมหากษัตริย์  เสาและส่วนประดับเป็นสีต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับพระราชวังของจีน  โครงสร้างภายในเป็นคอนกรีตเสริมใยแก้ว ฐานซุ้มเป็นฐานปัทม์ เอกลักษณ์ดอกไม้ไทย ออกแบบโดยกรมศิลปากร

เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวาระมหามงคลที่ยิ่งใหญ่นี้ รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยได้ส่งมอบประติมากรรมมงคลประดับฐานของซุ้มประตูทั้งสองแห่งเพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีที่ยั่งยืนมาตลอด 50 ปี ประติมากรรมนี้คือ หินอ่อนหยกขาว ฮั่นไป๋ยู่ แกะสลักเป็นรูปช้าง สิงโต อย่างละสองคู่ และกลองสี่คู่  ซึ่งแกะสลักโดยประติมากรหินอ่อนเลื่องชื่อของจีน

แนวความคิดในการออกแบบซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา

ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา ออกแบบเป็นซุ้มประตูแบบจีน สถาปัตยกรรมของซุ้มเป็นศิลปะแบบจีนภาคเหนือ มีลักษณะเป็นซุ้มคร่อมบนถนนเจริญกรุง มีฐานเสาอยู่บนทางเท้าทั้งสองฝั่ง เป็นซุ้มเสาคู่เดียว มีหลังคาด้านบนสามหลังคา ลดระดับสองชั้น ซ้ายขวา กึ่งกลางของหลังคาชั้นบนประดิษฐาน ตราสัญลักษณ์ งานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2568ประดิษฐานกลางมังกรคู่ หันหน้าเข้าหา ตราสัญลักษณ์ฯ ตัวมังกรคู่เป็นปูนปั้นระบายสี หมายถึงพสกนิกร ไทย-จีน และชาวไทยเชื้อสายจีน ร่วมใจแสดงความจงรักภักดี เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ขององค์พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อม ชาวไทย-จีน และชาวไทยเชื้อสายจีน ให้อยูร่มเย็นเป็นสุขภายใต้พระบรมโพธิสมภาร

การตกแต่งซุ้มประตู เลือกใช้หลังคาสีเหลือง ฐานานุศักดิ์ ขององค์จักรพรรดิ เสาสีแดง และประดับด้วยลวดลายมังกรห้าเล็บ หมายถึงพระมหากษัตริย์ สีแดงธาตุไฟ, สีเหลืองธาตุดิน, สีดำ สีนน้ำเงิน ธาตุน้ำ, สีเขียวธาตุไม้, สีขาวธาตุทอง สมัยราชวงศ์หมิงและชิง ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้กับ พระราชวังจีน และอาคารทางราชการของจีน มีการประดับด้วยสัตว์สิริมงคลต่างๆ ประกอบด้วย เซียนขี่สัตว์ มังกร หงส์ สิงโต ม้าทะเล ม้าสวรรค์พยัคฆมัจฉา เป็นต้น

โครงสร้างภายใน เป็นโคงสร้างเหล็กรูปพรรณ เชื่อมต่อกันตามรูปทรงที่ก าหนด ส่วนภายนอกใช้วัสดุ GRC คอนกรีตเสริมใยแก้ว (GRC ย่อมาจาก Glass Fiber Reinforced Concrete หรือก็คือการเสริมความแข็งแรงของคอนกรีตด้วยใยแก้ว) ทั้งหมด เพื่อช่วยลดน้ำหนักของซุ้มประตู การประดับตกแต่ง ซุ้มประตู ใช้วิธีเขียนลวดลาย ลงบนผิวคอนกรีตเสริมใยแก้ว จากนั้นเคลือยด้วยน้ำยาเคลือบ เพื่อให้เกิดความคงทนถาวร ส่วนฐานซุ้ม เป็นฐานปัทม์แบบศิลปะไทย ออกแบบโดยกรมศิลปากร ด้านบนประดับด้วย ประติมากรรมกลองหิน แกะสลักหินอ่อนขาว จากประเทศจีน ด้านหน้าและหลังของซุ้ม มีการประดับด้วยประติมากรรมช้าง และสิงโตแกะสลัก ด้วยหินอ่อนขาวจากประเทศจีน สนับสนุนโดย สาธารณรัฐประชาชนจีนร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ขั้นตอนการก่อสร้างใช้วิธีเตรียมวัสดุก่อสร้างทั้งหมดจากโรงงาน แล้วขนส่งมาประกอบ ยังสถานที่ก่อสร้าง และตกแต่งศิลปกรรมต่างๆ เพิ่มเติมจนแล้วเสร็จ

ฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีน ครบรอบ 50 ปี 2568

สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ขอมีส่วนร่วมในกิจการงานอันยิ่งใหญ่นี้ มอบชุดประติมากรรมหินอ่อนแกะสลักให้กับซุ้มประตูทั้ง ๒ แห่งนี้ ด้วยประติมากรรมรูปช้างและสิงโตอย่างละสองคู่ และรูปกลองสี่คู่ ซึ่งแกะสลักจากหินอ่อนหยกสีขาว (หินฮั่นไป๋ยู่) ชั้นเลิศด้วยฝีมือช่างที่ยอดเยี่ยมของอำเภอฉวีหยาง มณฑลเหอเป่ย ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นแหล่งกำเนิดประติมากรรมแกะสลักของประเทศจีน โดยได้ใช้เวลาสี่เดือนในการแกะสลัก

ทั้งนี้ ประติมากรรมรูปช้างได้แกะสลักตามรูปแบบช้างพาหนะที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงประทับในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นช้างทรงเครื่อง ตัวหนังสือที่แกะสลักบนผ้าคลุมหลังช้างทั้งสี่ตัวนั้น เป็นคำว่า จี๋ (สิริ) เสียง (มงคล) หรู (สม) ยี่ (ความปรารถนา) ตามลำดับ ส่วนประติมากรรมรูปสิงโตนั้น แกะสลักตามรูปแบบสิงโตที่จัดวางอยู่ทั้งสองฝั่งหน้าประตูพระที่นั่งไท่เหอ ซึ่งเป็นอาคารที่มียศศักดิ์สูงที่สุดในพระราชวังต้องห้ามของกรุงปักกิ่ง สิงโตแต่ละคูมีทั้งเพศผู้และเพศเมีย ซึ่งป็นสัญลักษณ์ของอำนาจบารมีที่น่าเกรงขามและบุญวาสนาที่สืบทอดกันอย่างไม่ขาดสาย ส่วนประติมากรรมรูปกลองนั้น ได้แกะสลักลวดลายเมฆมงคล ซึ่งตามความเชื่อและประเพณีของชาวจีนหมายถึงความปรองดองสมานฉันท์ ความสมบูรณ์พูนสุข ความเจริญมั่นคงของบ้านเมืองและความสงบสุขของประชาชน

ถนนเจริญกรุง ถนนสายแรกของประเทศไทย สู่ถนนสายมังกรอย่างสมบูรณ์แบบ

ถนนเจริญกรุงเคยมีบทบาทสำคัญทางด้านการค้าระหว่างประเทศในเมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน การมีซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติทั้งสองแห่งบนถนนเจริญกรุงนี้ จะเป็นการฟื้นฟูความสำคัญ และบทบาทของถนนเจริญกรุงให้กลับมารุ่งโรจน์เฟื่องฟูอีกครั้ง สอดคล้องกับความสำคัญและยิ่งใหญ่ของถนนเยาวราชที่มีความสำคัญและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

และเพื่อให้ชาวไทยทุกหมู่เหล่ามีส่วนร่วมจารึกประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ครั้งสำคัญนี้ จึงจัดให้มีการลงนามผ่านช่องทางออนไลน์  https://www.thaichamber.org/donation เพื่อรวมพลังชูแลนด์มาร์ก “ซุ้มประตูมังกร” ถนนสายใยแห่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย-จีนอันล้ำค่า หนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ของไทยให้ดังไกลไปทั่วโลก เป็นแหล่งท่องเที่ยวมงคล เปิดศักราชใหม่ เสริมพลัง รับความเฮง ในเทศกาลตรุษจีนปีมะเส็ง 2568 นี้ด้วย

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ