‘Social Media ทำให้สแปนความสนใจของคนต่อเนื้อหาลดลงจริงหรือไม่?’
ในปัจจุบัน อย่างไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า การเข้ามาของ ‘Social Media’ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อภูมิทัศน์ของสื่อสารมวลชนอย่างใหญ่หลวง พลิกความเข้าใจเดิมๆ ที่มีต่อแนวคิดและหลักการของงานวารสารศาสตร์และการนำเสนอเนื้อหาอย่างที่ไม่อาจย้อนกลับ สภาวะผูกขาดทางสื่อที่เคยเกิดขึ้นในยุคก่อนการมี Social Media ได้ถูกทลายลงอย่างราบคาบ การสื่อสารที่เคยเกิดขึ้นเพียงหนึ่งระนาบ ได้กลายเป็นสภาวะลื่นไหล ที่ผู้เสพรับ สามารถกลายสภาพเป็นผู้ผลิตและส่งต่อเนื้อหาได้อย่างรวดเร็ว และมีอิทธิพลในวงกว้าง
แน่นอนว่า ทั้งหมดนั้น เกิดขึ้นจากความเข้าถึงได้ง่าย และ ‘ความเร็ว’ ที่สื่อในยุคสมัยเก่าไม่อาจตามทัน และก่อให้เกิดคำถามสำคัญประการหนึ่งที่ว่า ภายใต้การเข้ามาของสื่อ Social Media นั้น สมาธิและ ‘ความสนใจ’ ของผู้เสพรับต่อเนื้อหา ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปในทางใด? หดสั้นลงจากเดิมหรือไม่ นี่จึงเป็นสิ่งที่น่าคิดวิเคราะห์ หาคำตอบเป็นอย่างยิ่ง
ในแง่ของการใช้งาน Social Media นั้น มีผลการวิจัยที่บ่งชี้ชัดว่า ระยะเวลาที่ผู้ใช้งาน ใช้เวลาร่วมกับสื่อทางสังคม ไม่ว่าจะในรูปแบบหรือแพลทฟอร์มใดก็ตาม ตกเฉลี่ยที่ 2 ชั่วโมง 31 นาทีต่อวัน โดยมีสัดส่วนของเนื้อหาที่กระจายกันไปตามประเภทต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง ความบันเทิง อาขญากรรม หรือประเภทอื่นๆ
ไม่น่าแปลกใจนักที่ว่า ภายใต้ยอด Engagement ที่มีจำนวนมากของสื่อ Social Media ทุกแพลทฟอร์มรวมกัน จะแตกแขนงแยกย่อยออกเป็นประเภทต่างๆ เพราะนั่นคือข้อดีและประโยชน์ของสื่อชนิดดังกล่าว ที่สามารถให้ผู้ใช้งานได้ติดตามข่าวสารและสถานการณ์ได้แบบปัจจุบันทันด่วน
และจากตัวเลขการใช้งาน Social Media เฉลี่ยต่อวันที่กล่าวไปในข้างต้น บวกกับรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาในแต่ละแพลทฟอร์มที่มีการจำกัดทั้งในส่วนของจำนวนคำ และความยาวของเนื้อหาวิดีโอ มันจึงพอสรุปได้อย่างคร่าวๆ ว่า ระยะเวลาที่ผู้ใช้ มีต่อเนื้อหาหนึ่งๆ นั้น มีระยะเวลาที่สั้นลงอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อสรุปดังกล่าวนี้ ไม่เกินจริงนัก เมื่อพิจารณาจากผลสำรวจโดย Mediakix เกี่ยวกับระยะเวลาการใช้ Social Media ของคนไทย ซึ่งแบ่งออกเป็นระยะเวลาได้ดังต่อไปนี้
• YouTube : 40 นาทีต่อวัน
• Facebook : 35 นาทีต่อวัน
• Snapchat : 25 นาทีต่อวัน
• Instagram : 15 นาทีต่อวัน
• Twitter : 1 นาทีต่อวัน
ผลสำรวจนี้ แม้จะไม่ได้นับรวมแพลทฟอร์มที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในปัจจุบันอย่าง TikTok แต่ด้วยธรรมชาติของความยาววิดีโอของแพลทฟอร์มดังกล่าว ที่สั้น กระชับ เป็นขนาดพอดีคำ (Bited-Size) ก็ยิ่งส่งเสริมข้อสรุปเกี่ยวกับระยะเวลาที่ใช้บนหน้าจอที่สั้นลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
อนึ่ง ระยะเวลาที่ผู้ใช้งาน Social Media ที่มีต่อเนื้อหาหนึ่งๆ ที่สั้นลง จึงกลายเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้นำเสนอเนื้อหา ที่จะต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลง และนำเสนอเพื่อ ‘จับความสนใจ’ ที่มีอยู่อย่างจำกัดตามความเร็วในการ Feed ข้อมูลของแต่ละแพลทฟอร์ม เพราะเป็นการยากถึงยากมาก ที่เนื้อหาที่มีความยาว จะได้รับความสนใจ ถ้าหากเนื้อหานั้น ไม่ได้ดึงดูดความสนใจ หรือเป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด
เช่นนั้นแล้ว การที่มีประโยคหลุดหล่นออกมาว่า ‘เนื้อหาในสื่อ Social Media นั้น สั้น และไร้สาระ’ ก็อาจจะไม่ใช่ความจริงไปเสียทั้งหมด เพราะท้ายที่สุด เนื้อหาที่ดี น่าสนใจ และสร้างคุณประโยชน์ให้ผู้เสพรับ ก็สามารถใช้ประโยชน์จากความรวดเร็วและความเข้าถึงได้ง่ายของสื่อ Social Media ด้วยนั่นเอง