fbpx

กราบ“พระเขี้ยวแก้ว”แล้วได้อะไรบ้าง

ครั้งหนึ่งในชีวิต

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗  ทางรัฐบาลจีนได้อนุญาตให้รัฐบาลไทยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว จากวัดหลิง กวง มาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รวมทั้งเป็นการเฉลิมฉลองมิตรภาพอันดีระหว่างสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน เพราะในปี ๒๕๖๘ นี้ ยังเป็นวาระครบรอบ ๕๐ ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน อีกด้วย โดยเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๗ ถึงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ รวมเวลา ๗๒ วัน

GM Live ขอบอกว่าเข้าสู่สัปดาห์ที่ ๒ แล้ว ที่ท้องสนามหลวงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้สักการะ “พระเขี้ยวแก้ว”  พระบรมสารีริกธาตุ จากวัดหลิงกวง ซึ่งพระเขี้ยวแก้ว องค์นี้เคยมาประดิษฐานในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อ ๒๒ ที่แล้ว ใครยังจำได้บ้าง

โดยในปีนั้น ซึ่งตรงกับปี พ.ศ.  ๒๕๔๕ ทางรัฐบาลจีนได้อนุญาตให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่๙ ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๕ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ ซึ่งถือเป็น ๑ ใน ๖  ครั้งที่พระเขี้ยวแก้วองค์นี้ได้ประดิษฐานนอกประเทศจีน GM Liveบอกได้เลยว่าถือเป็นสิริมงคลยิ่งต่อพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวจีนในประเทศไทย

ทั้งนี้ ในวันที่ ๔ ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้มีการจัดพิธีอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา จากท่าอากาศยานทหาร ๒ กองบิน ๖ โดยขบวนรถจะเคลื่อนผ่านทางยกระดับดอนเมือง ผ่านเส้นทางเยาวราช ถนนหลานหลวง และเข้าสู่ถนนราชดำเนินไปยังลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ และไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง จำนวน ๒๔ ขบวน โดยผู้เข้าร่วมเดินริ้วขบวนประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานของไทย – จีน องค์กรเครือข่าย ๕ ศาสนา และกลุ่มชาติพันธุ์กว่า ๒,๗๐๐ คน

ทำความรู้จักพระเขี้ยวแก้ว  4 องค์   

พระเขี้ยวแก้ว หรือ พระทาฐธาตุ คือ พระทันตธาตุส่วนที่เป็นเขี้ยวของพระพุทธเจ้า จัดเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แยกกระจัดกระจาย องค์มีลักษณะแข็งแกร่งรวมกันแน่น ซึ่งตามพระไตรปิฎกภาษาบาลี กล่าวถึงมหาปุริสลักขณะ ๓๒ ประการ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง ลักษณะของพระทาฐะหรือเขี้ยวของบุคคลผู้มีลักษณะแห่งมหาบุรุษว่า “เขี้ยวพระทนต์ทั้งสี่งามบริสุทธิ์”

พระเขี้ยวแก้วมีทั้งหมด ๔ องค์ ประกอบด้วย

พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ท้าวสักกะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานที่แคว้นกลิงคะ แล้วถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ลังกาทวีป (วัดพระเขี้ยวแก้ว ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน)

พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ประดิษฐาน ณ แคว้นคันธาระ ต่อมาถูกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เมืองฉางอัน ประเทศจีน (ซีอาน) โดยพระภิกษุฟาเหียนเมื่อคราวจาริกไปสืบพระศาสนายังอินเดีย ปัจจุบันพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค

ดังนั้นพระเขี้ยวแก้ว ที่ประดิษฐานบนโลกมนุษย์ จึงมีเพียง 2 องค์เท่านั้น  คือ  พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา และพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ซึ่งประดิษฐาน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงประเทศไทยเราในขณะนี้

โดยในหนังสือเรื่อง “พระเขี้ยวแก้ว” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสลังกาทวีป ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ว่า “เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระพระอัฏฐิธาตุนอกจากที่เปนเท่านั้น เหลือพระทนต์ ๔ องค์ กับพระอัฏฐิที่โหนกพระปรางทั้งสองข้างแลพระเศียร เจ้าประเทศราช ๘ องค์แย่งชิงกัน ภายหลังตกลงกันโดยสวัสดิภาพแบ่งไปองค์ละส่วน ต่างองค์ต่างสร้างพระสถูปบัญจุไว้ พระบรมธาตุซึ่งเปนสำคัญนั้น คือ พระทนต์ทั้ง ๔ องค์หนึ่งเทพยดาพาไป องค์ที่สองนาคทั้งหลายพาไป  องค์ที่ ๓ ตกไปเมืองคันธาระ อยู่ในตะวันตกเฉียงเหนือแห่งชมพูทวีป องค์ที่ ๔ ตกไปอยู่เมืองกลิงคะ ทิศตะวันออกเฉียงใต้แห่งชมพูทวีป”

พระเขี้ยวแก้วองค์นี้ มีประวัติมายาวนาน (ขอขอบคุณ ข้อมูลและภาพบางส่วนจาก เพจ คณะโพธินันทประทีป)  คนจีนเรียก “พระทันตธาตุฟาเหียน”  เพราะเหตุว่า หลวงจีนฟาเหียน คือภิกษุจีนรูปแรกที่เดินทางไปสืบพระศาสนา และอัญเชิญพระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) องค์นี้กลับมาเมืองจีน

ปี ค.ศ. ๑๙๐๐ (พ.ศ. ๒๔๔๓)  เจดีย์เจาเซียน และวัดอาวาอารามพังหลายลงเพราะเหตุสงคราม จากกองกำลังทั้ง ๘ ชาติ ปีต่อมา หลังสงครามสงบ พระภิกษุได้ทำความสะอาดใต้ซากพระเจดีย์ พบหีบศิลา ภายในมีหีบไม้กฤษณา เนื้อหยาบๆ เข้าใจว่าคงทำขึ้นในช่วงสงครามที่สถานการณ์เร่งด่วน บรรจุพระเขี้ยวแก้ว ในหีบนี้ มีคำจารึก “พระเขี้ยวแก้วของพระศากยมุนีพุทธเจ้า บันทึกเมื่อวันที่ 23 เดือน 4 ปีเทียนฮุ่ยที่ 7 เขียนโดยซานฮุ่ย” ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๑๕๐๖”  (ค.ศ. ๙๖๓) นับจากการค้นพบพนะธาตุองค์นี้นานถึง ๑๐๐ ปี (ค.ศ. ๑๙๐๐ – ๒๐๐๐) 

พระเขี้ยวแก้วองค์นี้ ไม่เคยเสด็จออกจากวัดหลิงกวงเลย จะออกจากวัดในช่วงนำไปประดิษฐานในโอกาสต่างๆ  และที่วัดหลิงกวง จะเปิดให้ประชาชนชาวจีน และคนต่างชาติ เข้ากราบสักการะบูชาเพียงปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น

การเข้าการสักการะพระเขี้ยวแก้วภายในมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

การได้สักการะและสวดบูชา พระบรมสารีริกธาตุ ย่อมเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว โดยสามารถเกินทางเพื่อมาบูชาได้ทุกวัน ตั้งแต่ ๐๗.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. แต่ GM Liveขอเตือนว่าอย่าลืมพก “บัตรประจำตัวประชน” ติดตัวมาด้วย และไม่ต้องซื้อ ดอกไม้สด ธูป เทียน ใดๆ เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าภายในได้ นอกจากวางบูชาไว้บนโต๊ะซึ่งจัดไว้ด้านนอก แต่หลังผ่านจุดพักคอยและจุดสแกนแล้ว ก็จะได้รับ ดอกไม้สักการะ โปสการ์ด พร้อมบทสวดบูชาพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว)  ที่ทางเจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมไว้ให้

นอกจากนี้  บริเวณงาน ยังมีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗  จำนวน ๕ โซน ประกอบด้วย

 โซนที่ ๑ “ดับขันธปรินิพพาน มกุฎพันธนเจดียสถาน”

โซนที่ ๒ “พุทธะบารมีพระสรีระธาตุ”

โซนที่ ๓ “พระเขี้ยวแก้ว”

โซนที่ ๔ “ใต้ร่มเศวตฉัตร ทศมรัช พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”

โซนที่ ๕ “ความสัมพันธ์ ไทย-จีน”

นับเป็นโอกาสอันดีของคนไทยที่มีบุญได้บูชา พระเขี้ยวแก้ว องค์นี้ นานถึง ๗๓ วัน (๔ ธันวาคม ๒๕๖๗ – ๑๔ มกราคม ๒๕๖๘) เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและชีวิต โดยเฉพาะในโอกาสเทศกาลดีๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ ตรุษจีน (๒๙ มกราคม), และมาฆบูชา (๑๒ กุมภาพันธ์)  ปิดท้ายด้วย วันแห่งความรัก (๑๔ กุมภาพันธ์)  ซึ่งจะเป็นวันสุดท้ายของการสักการะ “พระเขี้ยวแก้ว” องค์นี้

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ