‘Meme Culture: วัฒนธรรมย่อยเรื่องใหญ่ ให้กลายเป็นคำเล็กๆ’
ขึ้นชื่อว่าการสื่อสารแล้วนั้น ไม่อาจปฎิเสธได้เลยว่า มันต้องมีการพัฒนาวิวัฒนาการตามยุคตามสมัย ต่อเนื่องกันไป แน่นอนที่สุดว่าในยุคสมัยปัจจุบัน สิ่งที่เรียกว่า ‘มีม (Meme)’ นั้น ได้แพร่หลายเป็นอย่างมากตามการมาถึงของ Social Media ที่เข้าถึงผู้คนเป็นจำนวนมาก ง่าย และสะดวกรวดเร็ว
กระนั้นแล้ว มีม คืออะไร? มันมีความสำคัญต่อโลกของการสื่อสารมากขนาดไหน มันเป็นเพียงเรื่องตลกไร้สาระ หรือมันกำลังกำหนดรูปแบบการสื่อสารของคนยุคใหม่ นี่ต่างหาก ที่เป็นสิ่งที่น่าสนใจ น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
อันที่จริง หากจะย้อนสืบความกลับไปที่ต้นกำเนิดของคำว่า ‘มีม’ แล้วนั้น มันได้เริ่มต้นเสียตั้งแต่ก่อนการมาถึงของสื่อ Social Media เมื่อ Richard Dawkins นักชีววิทยาวิวัฒนาการ ได้บัญญัติศัพท์นี้ขึ้นมาในปี 1976 ในหนังสือ ‘Selfish Gene’ โดยได้ระบุว่า มีม (Meme) คือการผสมผสานระหว่างคำว่า Genes ที่แปลว่าพันธุกรรมในภาษากรีก อันแปลว่า การทำซ้ำ การลอกแบบ และแพร่กระจายของ ‘ไอเดีย’ และ ‘ข้อมูลทางวัฒนธรรม’ ส่งต่อๆ กันมา
แต่การส่งต่อไม่ใช่ปลายทางเพียงอย่างเดียว เมื่อข้อมูลทั้งหลาย มีการพัฒนา และวิวัฒนาการในการสื่อความหมายด้วยตัวของมันเอง
แน่นอนว่า มีม จะเกิดขึ้นและมีประสิทธิผล ก็ต่อเมื่อมีการทำความเข้าใจ และรับรู้ร่วมกัน โดยไม่ติดอุปสรรคในกำแพงทางวัฒนธรรม และสิ่งที่คนรับรู้ร่วมกันเป็นภาษาสากลได้ดีที่สุด ก็คือ ‘ความตลกโปกฮา’
นั่นจึงทำไมทุกวันนี้ เราเห็น ‘มีม’ มาในรูปแบบภาพตลกๆ พร้อมคำบรรยายหนึ่งช่องจบ, การ์ตูนหลายช่องพร้อมความตลกโปกฮาแบบสำเร็จรูป หรือวิดีโอตลกที่แชร์กันตามสื่อ Social Media (ครูบาช่วยหมูเด้งด้วย~)
แล้วมีมสำคัญอย่างไร แตกต่างจากการ์ตูนตลกเสียดสีในรูปแบบเก่าที่หลายคนคุ้นเคยแค่ไหน?
สาระสำคัญของมีมนั้น คือการ ‘ย่อยเรื่องใหญ่ ให้กลายเป็นเรื่องเล็ก’ กล่าวคือ หลายเรื่องที่เป็นประเด็นที่ซับซ้อน ต้องใช้การอธิบายเป็นเวลานาน เช่น ศาสนา การเมือง ปรัชญา ประวัติศาสตร์ สามารถถูกย่อลงมาให้เหลือในรูปแบบพอดีคำ (Bite-Siezed) ที่คนทั่วไปที่อาจจะไม่ได้มีความรู้ในเชิงลึก ก็สามารถทำความเข้าใจได้โดยไม่ยากเย็น
และเหนือสิ่งอื่นใด เรื่องที่เคยจับต้องได้ยาก เมื่อถูกนำมาทำเป็นมีม มันได้ลดทอนความ ‘สูงส่ง’ ให้กลายเป็นเรื่อง ‘ตลกขบขัน’ ซึ่งหลายครั้ง เป็นจุดประสงค์ที่มีมถูกใช้ ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะแน่นอนว่า เมื่อมันถูกทำให้กลายเป็นเรื่องตลกโปกฮา มันจะทำให้หลายเรื่องที่ดู ‘อันตราย’ ที่จะกล่าวถึงในรายละเอียด สามารถส่งต่อได้อย่าง ‘ปลอดภัย’ มากกว่า เมื่อสิ่งสูงค่า ถูกทำให้กลายเป็นของตลกสาธารณะ
อนึ่ง แม้มีมจะมีข้อดีในการส่งต่อแนวคิดที่ยากที่จะย่อย ให้เหลือเพียงพอดีคำ เข้าใจง่าย ปลอดภัย และตลก แต่ก็หลายครั้งอีกเช่นกัน ที่การส่งต่อเรื่องราวแบบมีม ลดทอนช่องว่างของประเด็นที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการพูดคุย ถกเถียงกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประเด็นที่ละเอียดอ่อนเหล่านั้น อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งในระดับสูง
ท้ายที่สุดนี้ มีม ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารที่ได้รับการพัฒนา ต่อยอด และส่งต่อกันอย่างแพร่หลาย เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจโลกและสังคมของคนรุ่นใหม่ที่มีความ ‘Digital Native’ ที่ต้องการสิ่งที่จับต้องได้ ง่าย และรวดเร็วในการเสพรับ
การมีอยู่ของมีม ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่การที่จะต้องเหลือพื้นที่เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจในประเด็นที่อ่อนไหว ไม่ให้เลยเถิดออกไปต่างหาก ที่เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น หลังความตลกโปกฮาได้ผ่านพ้น
ไม่เช่นนั้น เมื่อทุกสิ่งได้เสร็นสิ้นกระบวนการ แล้วสังคมถูกชักนำไปสู่ประเด็นใหม่ๆ มันจะไม่เหลืออะไรให้เรียนรู้หรือทำความเข้าใจ นอกจากการ ‘ตลกไปวันๆ’ ซึ่งนั่น น่าจะเป็นสภาวะที่ค่อนข้างน่าหดหู่พอสมควร ….