‘BRICS: แผนดึงการเงินโลกออกจาก ‘ดอลลาร์สหรัฐ’
นับตั้งแต่การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1946 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เราคงไม่อาจปฏิเสธบทบาทของ ‘สหรัฐอเมริกา’ ในฐานะประเทศมหาอำนาจผู้นำโลก ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับภาคส่วนต่างๆ ในระดับสากล ไปจนถึงความสำคัญของ ‘เงินดอลลาร์สหรัฐ’ ที่แทบจะเป็นแกนหลักในการทำธุรกรรม ทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่
แน่นอนว่า แม้ในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาจะพิมพ์ธนบัตรดอลลาร์สหรัฐออกมาเป็นจำนวนเกินกว่าทองคำแท่งที่อยู่ในคลัง และก่อให้เกิดความผันผวนของค่าเงิน แต่ความแข็งแกร่งของเงินสกุลนี้ ก็ยังมีอยู่อย่างมาก อย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งในปัจจุบัน มีกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ได้พยายามหาช่องทางที่จะ ‘ตัดขาด’ ออกจากการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ และสร้างระบบการเงินใหม่ที่เป็นอิสระจากอำนาจของสหรัฐอเมริกาโดยตรง นั่นก็คือ ‘BRICS’ ที่มีประเทศอย่างรัสเซียและจีน เป็นแกนนำสำคัญ
BRICS นั้น เกิดจากการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกตั้งต้นทั้งหมดห้าประเทศ อันได้แก่ รัสเซีย จีน บราซิล แอปริกาใต้ และอินเดีย โดยมีความมุ่งหมายที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่ใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันระหว่างประเทศสมาชิก ลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายต่างๆ
ในขณะนี้ ประเทศสมาชิกของ BRICS ได้เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยมีประเทศอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน และเอธิโอเปีย เข้าร่วมเป็นสมาชิกภาพ และยังมีอีก 16 ประเทศที่ได้สมัครสมาชิกในการเข้าร่วมกลุ่ม รวมถึงประเทศไทย ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียในการเข้าร่วม
โดยในล่าสุด ณ งาน BRICS Summit 2024 ที่จัดขึ้นที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย อันเป็นเวที่สำคัญในการลดการพึ่งพาเงินตราสกุลดอลลาร์สหรัฐ ได้มีการสรุปสาระสำคัญของการประชุมเอาไว้ดังต่อไปนี้
- -สนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศกับกลุ่ม BRICS และกับคู่ค้า ปัจจุบันการค้าขายระหว่างกลุ่ม BRICS ด้วยกันเองมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 15% ในปี 2565 จาก 12% ในปี 2557 ในขณะที่สกุลเงินหยวนมีการใช้งานเพิ่มขึ้น
- -การพัฒนาระบบชำระเงินระหว่างประเทศที่เป็นทางเลือก โดยการพัฒนา BRICS Pay ที่เป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินระหว่างประเทศโดยใช้ระบบ DCMS (Decentralized Cross-border message system) ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วและประหยัดต้นทุน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา
- -การจัดตั้งตลาดซื้อขายธัญพืชหรือ BRICS Grain Exchange เพื่อให้ชาติสมาชิกสามารถแลกเปลี่ยนสินค้ากันเองได้โดยตรง และลดการพึ่งพาบทบาทของคนกลาง
- -มีมติรับ “พันธมิตรหุ้นส่วน (Partner Countries)” จำนวน 13 ประเทศ แม้ว่ายังไม่ได้เป็นสมาชิกเต็มตัว แต่จะเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือที่มากขึ้นในด้านต่าง ๆ เช่น การค้า การลงทุน หนึ่งในนั้นมีประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามที่จะลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐในกลุ่มประเทศสมาชิก BRICS แต่นักวิเคราะห์หลายฝ่าย ก็ยังคงลงความเห็นกันว่า ความแข็งแรงของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และระบบการเงินที่ถูกวางเอาไว้อย่างรัดกุมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ทำให้ยากแก่การปลดระวางความพึ่งพาดังกล่าว และอาจจะต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี กว่าที่ความพยายามของกลุ่ม BRICS จะบรรลุผล
ไม่นับรวมความพยายามที่จะหา ‘สกุลเงินใหม่’ ที่จะเข้ามาใช้แทนดอลลาร์สหรัฐในกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งมีอยู่สามตัวเลือกหลักด้วยกันนั่นคือ
- -เงินสกุลท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาค
- -สกุลเงินดิจิตอล
- -สกุลเงินหยวนของจีน
ในตัวเลือกแรก มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงจากการขาดสภาพคล่องและค่าเงินที่ไม่เข้ากัน ตัวเลือกที่สอง มีความผันผวนอย่างหนักหน่วงตามตลาดเงินดิจิตอลในปัจจุบัน จึงเหลือทางเลือกสุดท้าย นั่นคือการใช้เงินสกุลหยวนของจีน ที่แม้จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่นโยบายของจีนที่จะตรึงค่าเงิน และไม่ปล่อยให้เงินหยวนออกนอกประเทศอย่างไร้ขีดจำกัด ก็จัดว่าเป็นความท้าทายที่ต้องรอคอยการพิสูจน์ว่าจะมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ดี ปัญหาและอุปสรรคในการสรรหาสกุลเงินเพื่อใช้ในกลุ่มสมาชิก BRICS นั้น ก็ไม่อาจหยุดยั้งความพยายามที่จะเกิดขึ้น เมื่อประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ยังคงใช้ความแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ เพื่อทำการคว่ำบาตร (Sanction) ประเทศรัสเซีย ที่ก่อสงครามกับประเทศยูเครน
ไปจนถึงการหาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ทั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ และกมลา แฮริส สองผู้ชิงชัยจากฟากฝั่งรีพับลิกัน และเดโมแครต ได้สัญญาว่าจะทำสงครามการค้ากับประเทศจีนอย่างจริงจัง โดยจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าที่สูงเกือบ 100% จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเร่ง ที่ทำให้สมาชิกกลุ่ม BRICS ไม่อาจปล่อยวาง และถอยจากความพยายามใดๆ ที่จะก่อให้เกิดสกุลเงินใหม่นี้ไปได้
สำหรับประเทศไทย แม้จะมีการพูดคุยถึงความเหมาะสมในการลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา แต่การวางท่าทีต่อประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นพันธมิตรสำคัญของประเทศไทยนั้น ก็ต้องเกิดขึ้นด้วยความระมัดระวัง เพราะจะมากหรือน้อย ไทยไม่สามารถตัดขาดความสัมพันธ์นี้ลงได้อย่างเด็ดขาด ถ้าไม่ได้มีผลประโยชน์ที่คุ้มค่ามากพอ การตัดรอนแล้วเลือกถือข้างกลุ่ม BRICS นั้น จึงเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง