‘The Journey of Pearl: เส้นทางแห่งมุกเลอค่า’
“ไข่มุก”…. หนึ่งในอัญมณีอันเลอค่าลำดับต้นๆ ของโลก ที่ถูกให้ความสำคัญในตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์โลก เป็นทั้งเครื่องประดับ เป็นทั้งยามากสรรพคุณ และเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงความหรูหรามีระดับ และด้วยความยากที่จะได้มา ทำให้มูลค่าของมัน ยิ่งทวีสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
หากแต่ในปัจจุบัน เมื่อกระบวนการทางอุตสาหกรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลิต ทำให้ไข่มุกที่มีในท้องตลาด ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงที่หาได้จากแหล่งตามธรรมชาติ แต่ยังมีทั้งไข่มุกที่สร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีพิเศษ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่สูงขึ้น จนทำให้ประเภทของไข่มุก มีหลากหลาย และทำให้วิธีในการตรวจสอบคุณลักษณะนั้น มีมากมายในปัจจัยด้านต่างๆ
GM Live ได้รับเกียรติจาก คุณเยือนจันทร์ ชัยวัฒน์ แห่ง Trez ร้านเครื่องประดับและสถาบันตรวจสอบอัญมณี ในงานเสวนา “The Journey of Pearl” ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงความเป็นมาของอัญมณีเลอค่าชิ้นนี้ และวิธีในการตรวจสอบประเภทของไข่มุกอย่างละเอียด ที่จะขอนำเสนอในวรรคถัดจากนี้ไป
ที่มาและเรื่องราวของไข่มุก
ไข่มุก คืออัญมณีอินทรีย์ กล่าวคือเป็นอัญมณีที่เกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิต เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง ความสง่างามและความบริสุทธิ์ (อัญมณีในเครื่องประดับ Gems in jewelry, 2552.)
หากพูดถึงแหล่งกำเนิดไข่มุกที่แรกของโลก เริ่มต้นจากปี ค.ศ. 1492 นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ไข่มุกธรรมชาติเดิมมีถิ่นกำเนิดจากอ่าวเปอร์เซีย ในทวีปยุโรป ในขณะเดียวกัน ปี ค.ศ. 1498-1502 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจหรือนักเดินเรือชาวอิตาลี ผู้บุกเบิกทวีปแห่งใหม่ (New world) ได้ค้นพบว่าอ่าวเวเนซุเอลาและอ่าวปานามา เป็นแหล่งกำเนิดของหอยมุกเช่นเดียวกัน และกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญด้านไข่มุกที่โด่งดังยาวนานกว่า 100 ปี แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมด้านประมงและการสำรวจน้ำมันบริเวณอ่าวเวเนซุเอลาและอ่าวปานามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริเวณดังกล่าวไม่สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ไข่มุกทางธรรมชาติอีกต่อไป
ต่อมาในศตวรรษที่ 19 ประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น ได้ค้นพบวิธีเพาะพันธุ์ไข่มุกที่เกิดจากการเลี้ยงโดยมนุษย์ที่แรกของโลก ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเพาะพันธุ์ไข่มุกเลี้ยงเป็นต้นมา จนถึงศตวรรษที่ 20 ผลิตภัณฑ์ของไข่มุกเลี้ยงได้มีความนิยมมากขึ้นและแพร่หลายไปทั่วโลก เช่น ไข่มุก Akoya จากประเทศญี่ปุ่น และไข่มุกน้ำจืดจากประเทศจีน (GIA pearl history lore, 2545.)
ประเภทและการประเมิณคุณภาพไข่มุก
2.1) ประเภทของไข่มุก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ไข่มุกธรรมชาติ (Natural Pearl) เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมนุษย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตและ 2) ไข่มุกเลี้ยง (Cultured pearl) เกิดจากการเพาะเลี้ยงโดยมนุษย์
การเกิดไข่มุกธรรมชาติและการผลิตไข่มุกเลี้ยง
2.1.1) ไข่มุกธรรมชาติ เกิดจากสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปอยู่ในหอยมุกทำให้มุกเกิดการระคายเคือง ก่อให้เกิดการสร้างเซลล์และแบ่งเซลล์ออกมาล้อมสิ่งแปลกปลอมทำให้เกิดถุงมุก ก่อนที่มุกจะผลิตชั้น nacre ที่ประกอบไปด้วย 1) แร่ Aragonite 2) โปรตีนเชื่อม Conchiolin เมื่อเวลาผ่านไปหอยมุกจะสร้างชั้น nacre สะสมตัวมากขึ้นและหนาขึ้นจนเกิดเป็นไข่มุก ในปัจจุบันไข่มุกธรรมชาติหาได้ยากและราคาสูงมาก
2.1.2) ไข่มุกเลี้ยง คือไข่มุกที่มนุษย์มีความเกี่ยวข้องในการผลิต มี 2 ประเภทแยกตามแหล่งน้ำที่เพาะเลี้ยงมุก คือ 1) มุกเลี้ยงน้ำจืด และ 2) มุกเลี้ยงน้ำเค็ม โดยมีการเพาะเลี้ยงไข่มุกน้ำเค็มในประเทศ Australia มีชื่อว่า Pinctada imbricata fucata เป็นหอยที่ผลิตไข่มุก Akoya โดยขั้นตอนการผลิต เริ่มจากตัดเนื้อเยื่อของหอยให้มีขนาด 2×2 มิลลิเมตร จากนั้นนำ bead nucleus ขนาด 6 มิลลิเมตร ใส่คู่กันลงไปในหอยมุก โดยหอยมุกชนิดดังกล่าวสามารถใส่ bead และเนื้อเยื่อ ได้ 2 เม็ดต่อหอยมุกหนึ่งตัว และใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 18 เดือน ดังรูปที่ 1 (AKOYA CULTURED PEARL FARMING IN EASTERN AUSTRALIA, 2560.)
เราสามารถแยกประเภทการเพาะเลี้ยงไข่มุกตามแหล่งน้ำได้ดังนี้ 1) ไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็ม (Saltwater Cultured Pearl) และ 2) ไข่มุกเลี้ยงน้ำจืด (Freshwater Cultured Pearl)
2.1.2.1) ไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็ม มีหลายประเภท แต่จะยกตัวอย่างเพียง 3 ประเภทหลัก เนื่องจากเป็นที่รู้จักกันมากในอุตสาหกรรมมุกเลี้ยงน้ำเค็ม ได้แก่
2.1.2.1.1) Akoya คือ ไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็ม มีสีขาวหรือครีม ลักษณะกลม อาจมีสีชมพูหรือเขียวเหลือบ (overtone) และมีความวาวสูง ขนาดของไข่มุกอยู่ที่ 2-9 มิลลิเมตร แหล่งที่ผลิต คือประเทศ ญี่ปุ่น ดังรูปที่ 3
2.1.2.1.2) South Sea คือ ไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเภทมุกเลี้ยง ส่วนมากจะมีสีขาวหรือสีเงินและสีเหลืองทอง ซึ่งมีขนาดอยู่ในช่วง 8-18 มิลลิเมตร แหล่งที่ผลิต คือประเทศ Australia, Indonesia และ Philippines ดังรูปที่ 4
2.1.2.1.3) Tahitian คือ ไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็มที่มีสีเข้ม (Black Pearl) สีหลัก (body) มีลักษณะดำเข้ม ไปจนถึงสีเทาอมเขียว และมีสีเหลือบเป็นสีต่างๆ เช่น เขียว ชมพู แดง มีขนาดอยู่ในช่วง 7-12 มิลลิเมตร แหล่งที่ผลิต คือประเทศ French Polynesia หมู่เกาะตาฮิติ ดังรูปที่ 5
2.1.2.2) ไข่มุกเลี้ยงน้ำจืด คือ ไข่มุกที่เลี้ยงในสภาพแวดล้อมแหล่งน้ำจืด มีหลากหลายสี แต่สีหลักคือ สีชมพู สีส้ม และสีม่วง สามารถมีสีผสมได้ มีความวาวสูงและมีรูปร่างที่ไม่แน่นอน โดยทั่วไปมีรูปร่างเป็นทรงกลม ทรงเม็ดข้าว ทรงหยดน้ำ และรูปทรงบิดเบี้ยว แหล่งที่ผลิตที่สำคัญ คือประเทศจีน
ดังรูปที่ 6 (CULTURED PEARLS FROM LAKE KASUMIGAURA: PRODUCTION AND GEMOLOGICAL CHARACTERISTICS, 2561.)
การแยกไข่มุกธรรมชาติและไข่มุกเลี้ยง
เนื่องจากไข่มุกธรรมชาติและไข่มุกเลี้ยงจะมีลักษณะทางกายภาพที่เหมือนกัน อาจสังเกตได้ยากด้วยตาเปล่า ดังนั้นนักอัญมณีศาสตร์จึงมีการศึกษาโครงสร้างดังกล่าวจากเครื่องมือขั้นสูง ผ่านเครื่อง X-ray ซึ่งใช้ตรวจดูลักษณะโครงสร้างภายในที่แตกต่างกันคือ ไข่มุกเลี้ยงจะพบเม็ด bead nucleus แสดงรอยต่อของนิวเคลียสและชั้นเคลือบมุก ในขณะที่ไข่มุกธรรมชาติจะพบว่าไม่มี bead nucleus และมีลักษณะการสร้างชั้นมุกคล้ายชั้นของหัวหอม ดังรูปที่ 2 (CULTURED PEARLS FROM LAKE KASUMIGAURA: PRODUCTION AND GEMOLOGICAL CHARACTERISTICS, 2561.), (X-RAY COMPUTED MICROTOMOGRAPHY: DISTINGUISHING NATURAL PEARLS FROM BEADEDAND NON-BEADED CULTURED PEARLS, 2553.) นอกจากนี้ ไข่มุกเลี้ยงน้ำจืดสามารถใส่เนื้อเยื่อเพียงอย่างเดียวและไม่ใส่ bead ลงไปในหอยมุกได้เช่นกัน
2.2) การประเมิณคุณภาพไข่มุก เนื่องจากการประเมิณคุณภาพไข่มุก มีหลากหลายปัจจัยในการประเมิณ แต่จะยกตัวอย่างเพียง 5 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่
2.2.1) ขนาด (size) วัดจากเส้นผ่านศูนย์กลางของไข่มุกเม็ดร่วง มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร
โดยการวัดแบบเม็ดร่วงและสร้อยจะมีลักษณะการวัดที่ต่างกันเล็กน้อย โดยการวัดแบบสร้อยจะวัดตั้งฉากกับรูที่เจาะ ระบุเป็นค่าช่วงของไข่มุกขนาดเล็กที่สุดและใหญ่ที่สุด โดยขนาดของไข่มุกจะไม่ถูกนำมาเป็นเกณฑ์ในการประเมิณคุณภาพ แต่มีผลต่อการประเมิณราคา เช่น ไข่มุกที่มีขนาดใหญ่ มีราคาสูงกว่าไข่มุกที่มีขนาดเล็ก ดังรูปที่ 7 (GIA Pearl Grading, 2543.)
2.2.2) รูปร่าง (shape) จัดออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) กลุ่มทรงกลม (spherical) ได้แก่ ทรงกลม (round) และ ค่อนข้างกลม (near round) 2) กลุ่มที่มีรูปทรงสมมาตร (symmetrical) คือ กลุ่มที่มีรูปทรงไม่กลมแต่มีความสมมาตร ได้แก่ รูปไข่ (oval) รูปทรงกว้าง (button) และทรงหยดน้ำ (drop) 3) กลุ่มที่ไม่มีรูปทรง (baroque) และรูปร่างที่เป็นที่นิยมและมีค่ามากที่สุดคือ รูปทรงกลม ดังรูปที่ 8 (GIA Pearl Grading, 2543.)
2.2.3) สี (color) มีองค์ประกอบทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ 1) สีหลัก (Body Color) คือสีพื้นทั่วทั้งเม็ดของไข่มุก 2) สีเหลือบ (Overtone Color) คือสีเหลือบที่เคลือบอยู่บนสีพื้นผิวของไข่มุก 3) สีรุ้ง (Orient) คือ สีรุ้งที่อยู่ใต้ผิวมุก เกิดจากการแทรกสอดและเลี้ยวเบนของแสงผ่านชั้นต่างๆของผิวมุก โดยการประเมิณคุณภาพสีจะพิจารณาจาก สีหลักและสีเหลือบเป็นหลัก โดยสีของไข่มุกมี 2 โทนคือ โทนร้อนและโทนเย็น ซึ่งโทนร้อนจะเป็นช่วงสี เหลือง ส้ม ชมพู และโทนเย็นจะเป็นช่วงสีเขียว ฟ้า ม่วง และเทา ดังรูปที่ 9 (GIA Pearl Grading, 2543.)
2.2.4) ความวาว (Luster) คือความชัดเจนของแสงที่สะท้อนบนผิวมุก สังเกตจากความสว่าง ความคมชัด และความสม่ำเสมอของความวาว ไม่ด้าน มีทั้งหมด 5 ระดับ ได้แก่ 1) ดีเยี่ยม (Excellent) มีความวาวสะท้อนทั่วทั้งเม็ด 2) ดีมาก (Very Good) มีความสะท้อนแสงได้ดี 3) ดี (Good) มีความสะท้อนของแสงน้อยลงมีความวาวอยู่ 4) พอใช้ (Fair) มีความสะท้อนของแสงที่ผิวน้อยและมีความวาวน้อยมาก และ 5) แย่ (Poor) คือการสะท้อนของแสงน้อยมากมีความด้านมากกว่าความวาว ดังรูปที่ 10 (GIA Pearl Grading, 2543.)
2.2.5) พื้นผิว (Surface) เป็นการประเมิณความสมบูรณ์ของผิวมุก โดยดูจากผิวที่เรียบสม่ำเสมอ หรือตำหนิ มลทิน มีรอยหลุมลึกลงไปที่ผิวมุก แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ 1) ไม่มีรอย (Clean) คือมลทินบนผิวเกลี้ยงเกลา 2) มีรอยที่ผิวเล็กน้อย (Lightly Spotted) มองเห็นยากด้วยตาเปล่า 3) มีรอยปานกลาง (Moderate Spotted) สามารถสังเกตุเห็นรอยหลุมด้วยตาเปล่า แต่มีปริมาณไม่มากนัก และ 4) มีรอยมลทิน หลุม ชัดเจนทั่วเม็ด (Heavily Spotted) ดังรูปที่ 11 (GIA Pearl Grading, 2543.)
วิธีการแยกไข่มุกธรรมชาติและไข่มุกเลียนแบบ
เมื่อทราบถึงประเภทและการประเมิณคุณภาพไข่มุกในหัวข้อข้างต้นแล้ว หัวข้อดังต่อไปนี้จะกล่าวถึงวิธีการแยกไข่มุกธรรมชาติและไข่มุกเลียนแบบ เพื่อช่วยในการจำแนกได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในไข่มุกธรรมชาติและไข่มุกเลียนแบบ มีลักษณะทางกายภาพที่คล้ายคลึงกัน แต่เมื่อสังเกตโดยอ้างอิงจากหลักการดังต่อไปนี้ จะสามารถช่วยในการจำแนกเบื้องต้นได้
3.1) ลักษณะผิวของไข่มุกธรรมชาติ ผิวของมุกจะมีลักษณะเฉพาะเป็นรูปร่างคล้ายรอยนิ้วมือ (fingerprint) โดยวัสดุเลียนแบบจะไม่มีรูปแบบการเรียงตัวคล้ายรอยนิ้วมือธรรมชาติ แต่ลักษณะดังกล่าวต้องสังเกตภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เพราะเป็นลักษณะที่สังเกตด้วยตาเปล่าได้ยาก ดังรูปที่ 12
3.2) วัสดุเลียนแบบไข่มุกอาจเป็นได้ทั้งแก้วหรือพลาสติก โดยพื้นผิวไข่มุกเลียนแบบจะไม่พบลักษณะของรอยนิ้วมือ แต่จะพบลักษณะผิวเรียบหรือขรุขระคล้ายผิวเปลือกส้ม หรืออาจมีผิวลอกร่อนไม่สม่ำเสมอ โดยการสังเกตต้องใช้กล้องกำลังขยายขนาด 10x (loupe) หรือกล้องจุลทรรศน์อัญมณี (microscope) ในการสังเกตลักษณะดังกล่าว ดังรูปที่ 13
นอกจากการดูผิวไข่มุก วิธีการสังเกตรูของไข่มุกสามารถช่วยในการจำแนกไข่มุกธรรมชาติและไข่มุกเลียนแบบได้ โดยไข่มุกธรรมชาติจะมีผิวเรียบหรือมีร่องรอยของรอยนิ้วมือปรากฏอยู่บริเวณรอบรู ในขณะเดียวกันวัสดุเลียนแบบจะปรากฏความไม่สม่ำเสมอของพื้นผิวรูและแสดงให้เห็นความเป็นวัสดุคนละชนิดกันอย่างชัดเจน ดังรูปที่ 14
เมื่อทราบถึงหลักการการจำแนกไข่มุกธรรมชาติและไข่มุกเลียนแบบแล้ว ในปัจจุบันไข่มุกส่วนมาก มีการปรับปรุงคุณภาพโดยการย้อมสี เพื่อให้ไข่มุกมีสีเข้มและสวยขึ้นตามความต้องการของตลาด
3.3) การย้อมสี (Dyeing) เป็นการปรับปรุงคุณภาพอย่างหนึ่ง โดยการนำไข่มุกไปฟอกขาว (Bleaching) ก่อนเพื่อขจัดรอยดำด่างต่างๆ จากนั้นจึงทำการย้อมสีในภายหลัง โดยวิธีการสังเกต คือ 1) ไข่มุกมีสีสดใสเกินจริง และ 2) พื้นผิวที่ถูกย้อม จะปรากฏหย่อมสีที่เข้มกว่าพื้นผิวปกติและสังเกตจากตำแหน่งของรู หลุมหรือร่องบนพื้นผิวไข่มุกจะพบระดับความเข้มของสีที่ต่างกันจากพื้นผิวปกติ นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตบริเวณรูของไข่มุก โดยสีที่ย้อมจะไม่สามารถย้อมถึงเม็ด bead แกนกลางได้ ดังรูปที่ 15 (UPDATE ON THE IDENTIFICATION OF DYE TREATMENT IN YELLOW OR “GOLDEN” CULTURED PEARLS, 2555.)
รูปที่ 15 มุกย้อมจะมีสีเข้มที่หลุมกว่าสีพื้นของผิวมุก (ซ้าย) และ สีที่ย้อมจะไม่สามารถย้อมถึงเม็ด bead แกนกลาง (ขวา)
4) วิธีดูแลรักษาไข่มุก
ไข่มุกเป็นอัญมณีที่มีความแข็งเพียง 3 ตามระดับความแข็งของ Mohs scale (GIA Mohs Scale – Gem and Mineral Hardness, 2555.) ดังนั้นพื้นผิวจึงมีความเปราะบางและส่งผลให้เกิดรอยตามพื้นผิวของไข่มุกได้ง่ายกว่าอัญมณีทั่วไป วิธีการดูแลรักษาจึงมีความพิเศษกว่าอัญมณีชนิดอื่นๆ โดยสามารถทำตามขั้นตอนได้ดังนี้
- 4.1) เตรียมผ้าสะอาดที่มีลักษณะนุ่ม เพื่อป้องกันรอยขีดข่วนที่อาจเกิดขึ้นหากนำผ้าหยาบหรือแปรงมาใช้ในการทำความสะอาด
- 4.2) นำผ้านุ่มชุบน้ำอุ่นให้ผ้ามีลักษณะหมาดและเช็ดทำความสะอาดผิวไข่มุกอย่างเบามือ หลังจากนั้นนำผ้าแห้งที่มีลักษณะนุ่มเช็ดให้แห้งสนิทอีกครั้ง
- 4.3) ทิ้งเครื่องประดับไว้ให้แห้งสนิท จากนั้นเก็บใส่กล่องเครื่องประดับให้เรียบร้อย
ข้อควรปฏิบัติ
เนื่องจากไข่มุกมีความไวต่อสารเคมี ดังนั้นควรใช้เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและน้ำหอมให้เสร็จเรียบร้อย แล้วจึงสวมใส่เครื่องประดับไข่มุกในภายหลัง เนื่องจากเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่างๆ ประกอบไปด้วยกรดหรือสารเคมี ก่อให้เกิดการทำลายพื้นผิวของไข่มุก ทำให้ความวาวของไข่มุกลดลง ดังนั้นเมื่อมีการทำกิจกรรมต่างๆหากมีการใช้สารเคมี ควรถอดเครื่องประดับไข่มุกออกทั้งหมด ก่อนทำกิจกรรมดังกล่าว (GIA Pearl Care and Cleaning Guide, 2545.)