fbpx

ดันอุตสาหกรรม “ดนตรีไทย” สู่เวทีโลก ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ประเทศไทย

Music Exchange

นับเป็นข่าวที่ GM Live มองว่าเป็นทิศทางที่ดีต่อแวดวงเสียงเพลง เมื่อ CEA หน่วยงานเฉพาะด้านที่ทำหน้าที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่าง ๆ ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี แถลงความสำเร็จโครงการ Music Exchange ผลักดันอุตสาหกรรมดนตรีไทยสู่เวทีโลก ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ประเทศไทย

ทั้งนี้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency (Public Organization) ซึ่งมีชื่อย่อว่า CEA หน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี แถลงความสำเร็จโครงการ Music Exchange เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับเศรษฐกิจอุตสาหกรรมดนตรีของไทย ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้และยอมรับในระดับสากล ด้วยการเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างศิลปินไทยกับเวทีต่างประเทศ พร้อมทั้งกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจและสร้างเครือข่ายระหว่างศิลปินไทยกับผู้จัดเทศกาล ผู้คัดเลือกศิลปิน และเอเจนซี่จากเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกระบวนการซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในเวทีโลก

สำหรับงานแถลงข่าวในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการทำหน้าที่ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมแถลงโครงการ พร้อมกับการจัดงานเสวนา “Music Exchange: Thai Music Wave to the World ขับเคลื่อนศิลปินไทยสู่เส้นทางสายอินเตอร์” จากเครือข่ายพันธมิตรค่ายดนตรีในประเทศ

ซึ่งความสำเร็จของโครงการเพื่อดันอุตสาหกรรม “ดนตรีไทย” สู่เวทีโลก ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ประเทศไทยนั้น ประกอบด้วยการส่งศิลปินไทยไปร่วมแสดงผลงานในเทศกาลดนตรีที่ต่างประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 48 ศิลปิน/วง ทั้งหมด 46 เทศกาล พร้อมกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจที่ดึงดูดผู้จัดงานเทศกาลดนตรีนานาชาติและผู้คัดเลือกศิลปินจากต่างประเทศกว่า 75 รายเข้ามาเยี่ยมชมเทศกาลดนตรีในไทยในระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2567 ตอกย้ำการผลักดันกระแส Thai Music Wave สู่ตลาดโลก ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการใช้นโยบายซอฟต์พาวเวอร์เป็นหนึ่งในเครื่องมือการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “โครงการ Music Exchange นับเป็นอีกก้าวสำคัญตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ซึ่งจะเป็นกลไกสร้างการรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลมุ่งส่งเสริมการยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) และยกระดับทักษะและปลดล็อกศักยภาพของคนไทย ให้สร้างมูลค่า เสริมทักษะเดิม (Reskill) เพิ่มทักษะใหม่ (Upskill) เพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ”

“ประเทศไทยมีศักยภาพในการเติบโตด้านอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ จากดัชนีของ Global Soft Power Index ในปี 2024 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อม เนื่องจากมีต้นทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรที่หลากหลายและมีศักยภาพ รวมถึงด้านดนตรี ฉะนั้นโครงการ Music Exchange ที่ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี จะเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทยในเวทีโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ การทูต และวัฒนธรรม และสร้างแรงกระเพื่อมให้ Thai Music Wave เติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงในตลาดสากล ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ค่ายเพลง และที่สำคัญที่สุดก็คือศิลปินไทย” นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่ม

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการทำหน้าที่ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะในยุคที่นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เป็นปัจจัยหลักในการแข่งขันระดับโลก ดังนั้น CEA จึงมุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลากหลายสาขาในทุกมิติ หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมดนตรี เนื่องด้วยอุตสาหกรรมดนตรีของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.6 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 จากปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสของดนตรีไทย ดังนั้น CEA จึงได้กำหนดนโยบายสนับสนุนที่ครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงาน ไปจนถึงการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมุ่งสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมอีกด้วย”

“เป้าหมายของ CEA คือการยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมดนตรีไทย ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้และยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกระบวนการซอฟต์พาวเวอร์ไทยในเวทีโลกผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมดนตรี การสนับสนุนการออกสู่ตลาดต่างประเทศของศิลปินไทย ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรีไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยมีเป้าหมายเป็นผู้นำด้านความหลากหลายทางดนตรีในสายตาชาวโลก โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี” นางกอบกาญจน์ กล่าวเพิ่ม

ด้าน ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “โครงการ Music Exchange ที่ CEA ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมศิลปินและธุรกิจเทศกาลดนตรีของไทยสู่ตลาดสากล รวมถึงมีเป้าหมายสนับสนุนศิลปินไทยในการสร้างปรากฏการณ์ Thai Music Wave สู่ตลาดโลก ผ่านกิจกรรมหลัก 2 ส่วน ได้แก่

กิจกรรม PUSH ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมศิลปินทั้งแบบศิลปินเดี่ยวและแบบวง ไม่จำกัดแนวดนตรี ให้ได้แสดงผลงานบนเวทีเทศกาลดนตรีระดับโลกในต่างประเทศ ปัจจุบันโครงการ Music Exchange สามารถส่งศิลปินไทยไปแสดงในเทศกาลระดับนานาชาติ จำนวน 48  ศิลปิน/วง ทั้งหมด 46 เทศกาล แบ่งเป็นแบบเปิดรับสมัคร (Open Call) ได้แก่ เทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ (Music Festival) และงานแสดงดนตรีที่มุ่งเป้าด้านโอกาสทางธุรกิจระหว่างค่ายเพลง ศิลปิน และผู้จัดเทศกาล (Music Conference/Showcase Festival) เช่น วง Pretzelle ที่ได้ไปแสดงในเทศกาล Taipei City Idol Expo ที่ไต้หวันในเดือนกรกฎาคม และเทศกาล Shanghai City Idol Fes ที่จีนในเดือนตุลาคม, ศิลปินอินเตอร์ลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลียอย่างเกบ วัทคิ่นส์ (Gabe Watkins) ที่ไปแสดงในเทศกาล We Are Tomato Music Festival ที่เวียดนามในเดือนกรกฎาคม

และเทศกาล AXEAN Festival 2024 ที่อินโดนีเซียในเดือนกันยายนที่ผ่านมา, วง FORD TRIO ที่ได้ไปแสดงในเทศกาล ONE MUSIC CAMP 2024 ที่ญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม รวมถึง Pyra, Yonlapa, Mindfreakkk, WIM และ Death of Heather ที่จะได้ร่วมแสดงในเทศกาล SXSW Sydney ที่ออสเตรเลีย ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 20 ตุลาคม 2567 นี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของดนตรีไทยในการเจาะตลาดต่างประเทศ และแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐในงานเทศกาลไทย (Thai Festival) โดยกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคริส พีรวัส และ 4EVE  ที่ได้ไปแสดงในเทศกาลไทย ณ กรุงปักกิ่ง จีน (Thai Festival in Beijng 2024) ช่วงในเดือนมิถุนายน วงศิลป์อีสาน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้ไปแสดงในเทศกาลไทย ณ กรุงมอสโก รัสเซีย (Thai Festival in Moscow 2024) ในเดือนสิงหาคม และ วง 4EVE, BOTCASH, SISMA, LYKN และ SATANG-กิตติภพ เสรีวิชยสวัสดิ์ ที่ได้ไปแสดงในไทย  เฟสติวัล 2024: ทีป๊อปสตอรี่ (Sawasdee Seoul Thai Festival 2024: T-Pop Story) ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ ในเดือนตุลาคม

กิจกรรม PULL มุ่งเน้นการเชื่อมโยงเครือข่ายและ Business Matching กับกลุ่มของผู้จัด ผู้คัดเลือกศิลปิน เอเจนซี่ของเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ รวมถึงบุคลากรสำคัญในอุตสาหกรรมดนตรีโลกที่มีผลต่อการส่งออกศิลปิน รวมกว่า 75 ราย เพื่อให้ผู้จัดเทศกาลดนตรีนานาชาติและผู้ที่มีบทบาทในการคัดเลือกศิลปินไปแสดงผลงานในต่างประเทศได้เห็นศักยภาพของศิลปินไทย ผ่านการเข้ามาเยี่ยมชมเทศกาลดนตรีในประเทศไทย เช่น T-POP (Mart) Concert Fest 3, Monster Music Festival 2024, CAT Expo 11, Big Mountain Music Festival 14 และ Longlay Beach Life Music Festival 2024 ในระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2567

สำหรับเป้าหมายในระยะยาว CEA ตั้งเป้าว่าภายในปี 2568 จะสามารถส่งศิลปินไทยเข้าร่วมเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติได้มากกว่า 100 การแสดง ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียในประเทศเป้าหมายที่ภาคเอกชนไทยกำลังทำตลาดอยู่ เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย รวมทั้งยุโรป และอเมริกา ตลอดจนการสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ ผ่านเทศกาลไทยในต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ CEA เชื่อมั่นว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมให้กับวงการดนตรีของไทย และสามารถสร้างกระแส Thai Music Wave สู่ตลาดโลก ได้มากกว่า 34.9 ล้านการรับชม

เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Music Exchange และกิจกรรมอื่น ๆ ของ CEA ได้ที่เว็บไซต์ www.cea.or.th และเฟซบุ๊ก Creative Economy Agency

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ