fbpx

ดร.นน อัครประเสริฐกุล กับ Cities of (No) Pain อยู่เมืองไม่สมาร์ตจึงเจ็บปวด

เรื่อง: ภัทรพร บุญนำอุดม

Photo: พิชญุตม์ คชารักษ์

(คอลัมน์ : Interview  จากGM Magazineเล่มที่ 516 เดือนธันวาคม2566)

ถ้าจะหาใครสักคนที่ผ่านประสบการณ์การใช้ชีวิตในมหานครต่างๆ ทั่วโลก คงไม่มีใครเคยสัมผัสรสชาติได้หลากหลายเท่าเขาคนนี้อย่างแน่นอน 

ดร.นน อัครประเสริฐกุล เริ่มต้นจากเนิร์ดเทคโนโลยีผู้ชอบตั้งคำถาม เขาจากเมืองไทยไปร่ำเรียนวิชาสถาปัตย์ การออกแบบชุมชมเมืองและผังเมือง จีนศึกษา มานุษยวิทยา และต่างๆ นานา รวมเป็นเวลากว่า 20 ปี ดีกรีการศึกษาเรียกได้ว่าระดับตัวท็อป ปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปริญญาโท Master of Science in Architecture Studies in History จาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ปริญญาโท Master of Philosophy in Modern Chinese Studies จากมหาวิทยาลัย Oxford รวมถึงปริญญาโทและเอกด้านมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัย Harvard ทั้งนี้ ดร.นน ยังเป็นนักเรียนทุนฟุลไบรท์ ทุนสถาบัน Harvard-Yenching ทุน Asian Cultural Council และทุนการศึกษาต่างๆ อีกมากมาย

นอกจากความรักในความรู้ การได้เดินเท้าในเมือง บทสนทนากับผู้คน และสตรีทฟู้ด ยังเป็นสิ่งที่เขาหลงใหลถึงกับสมัครใจเป็น “Digital Nomad” หรือ ผู้ที่ทำงานออนไลน์และสามารถทำงานได้ทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ ท่องเที่ยว ทำงาน ใช้ชีวิตในสามทวีป โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออกเป็นเวลาหลายปี จนมาลงเอยที่บทบาทล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa (Digital Economy Promotion Agency) กับภารกิจในการส่งเสริมเมืองไทยให้กลายเป็น Smart City เปลี่ยนเมืองที่สร้างความเจ็บปวดไปสู่เมืองที่ส่งเสริมให้คนมีชีวิตที่ดี งานที่ทำให้เขาลงหลักปักฐานอยู่ไทย งานที่ทำให้เขานำความรู้ที่สั่งสมทั้งหมดมาใช้ งานที่ระหว่างทางมีอุปสรรคโหดหินมากมายแต่เป็นงานที่ (โคตร) มีความหมายกับชีวิต

เมือง (ไม่) Smart คือเมืองที่ทำคนเจ็บจนชิน

Smart City คือคำที่ ดร.นน ได้ยินครั้งแรกเมื่อราว ๆ 5 ปีก่อน และเป็นจุดเปลี่ยนทำให้เขาตัดสินใจมาร่วมงานกับทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ในฐานะผู้เชี่ยวชาญส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ

“ตอนนั้นมองว่าเราน่าจะได้ใช้องค์ความรู้ที่สั่งสมมาบวกกับประสบการณ์จากการเดินทางไปเห็นบทเรียนจากเมืองต่างๆ ทั่วโลกมาใช้กับการทำงาน แต่เชื่อไหมว่า กว่าผมจะเข้าใจคำนี้จริงๆ ก็เมื่อไม่นานมานี้เอง” 

ดร.นนท์เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ภารกิจที่เขาต้องทำในแต่ละวันคือ การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปเสนอให้กับบรรดานายกเทศมนตรีของเมืองต่างๆ แต่แทบไม่ปรากฎผลสำเร็จ กลายเป็นว่าทำงานมากแต่ผลลัพธ์น้อย

“สิ่งที่ผมได้ยินกลับมาบ่อยๆ คือ เขารู้แล้วว่าเทคโนโลยีที่พยายามจะไปนำเสนอให้ประยุกต์ใช้นั้นดีจริงๆ แต่สิ่งที่เขาสงสัยคือทำไมต้องซื้อเทคโนโลยี (แพงๆ) เหล่านี้ ทั้งที่เขาเองก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปเพื่อใช้ทำอะไร”

คำถามที่ว่านี้ทำให้ดร.นน ต้องย้อนกลับมาทบทวนถึงความหมายของ Smart City ตลอดจนบทบาทการทำงานของตัวเอง

“ถ้าผมเอาแต่ขายของโดยไม่ได้เข้าใจเลยว่าจริงๆ แล้วลูกค้าอยากได้อะไรกันแน่ ผมก็คงไม่ต่างจากเซลล์แมนแย่ๆ คนหนึ่ง ผมจึงเปลี่ยนวิธีการทำงาน จากการไปหาเพื่อบอกให้เขามาจัดซื้อจัดจ้างเทคโนโลยีของเรา ผมเริ่มด้วยการลงพื้นที่ไปสำรวจดูก่อนเลยว่า อะไรคือปัญหาที่แท้จริงของเมืองนั้นๆ หรือไปเริ่มต้นตั้งแต่การหา Pain Point ของแต่ละพื้นที่”

โดยเจ้าตัวขยายความคำว่า ‘Pain Point’ ซึ่งไม่ได้แปลว่าจุดที่เจ็บปวด แต่หมายถึง จุดที่เจ็บจนชินหรือใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดเพราะความเคยชินกับปัญหาเหล่านั้น แต่หารู้ไม่ว่า ในแต่ละวันพวกเขาต้องสูญเสียโอกาสอะไรในชีวิตไปบ้าง

“พอได้ไปถามคนที่เจ็บบ่อยๆ จนชินว่าอะไรคือปัญหาของเขา เขาตอบไม่ได้ เพราะอยู่กับสิ่งเหล่านั้นจนมองไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหาแล้ว หน้าที่ของผมคือการเข้าไปชี้ให้เห็นว่า จริงๆ แล้วพื้นที่หรือเมืองที่พวกเขาอยู่นั้นเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่านี้ได้”

และการไม่ยอมปรับเปลี่ยนนั้น ท้ายที่สุดจะก่อให้เกิดความเสี่ยง ตลอดจนความสูญเสียที่อาจคาดไม่ถึง 

“ร้านขายของหลายๆ ร้านยังไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพราะเขามองว่ายังเป็นของไม่จำเป็น โดยลืมมองไปว่า การไม่มีนั้นทำให้เข้าถึงบริการพร้อมเพย์ไม่ได้ นอกจากจะเสียลูกค้าที่ต้องการใช้จ่ายผ่านโมบายแอปพลิเคชันไปแล้ว การถือเงินสดไปฝากในธนาคารทุกๆ วัน ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงจากการถูกขโมยหรือโดนดักปล้นได้ ปัญหาเหล่านี้คือสิ่งที่ผมต้องชี้ให้พวกเขาเห็น” 

เทศบาลนครนครศรีธรรมราชเมืองต้นแบบโลก

ความเป็น Smart City หรือการเป็นเมืองที่ดีวัดจากอะไร? ดร.นน ชี้ว่าให้ดูจาก 3 ตัวชี้วัดหลักๆ ที่ใช้เป็นกรอบในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ สิ่งแวดล้อมที่ดี เศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ และสังคมที่มีความเท่าเทียม (Environment, Economy and Equity)

“เมืองที่ชาญฉลาดจะทำให้คนใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งความสุขของคนเริ่มต้นจากการมีอากาศและสภาพแวดล้อมที่ดี หายใจได้คล่อง ไม่ใช่เมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษและขยะ ต่อมาคือเรื่องของปากท้องหรือเศรษฐกิจของเมือง ผู้คนต้องสามารถเข้าถึงปัจจัยสี่และการรักษาพยาบาลที่ดีได้

 “นอกจากนี้ยังต้องเป็นเมืองที่ช่องว่างของรายได้ โดยเฉพาะระหว่างคนรายได้มากที่สุดกับคนรายได้น้อยที่สุดไม่ห่างกันจนเกินไป เมื่อคนรายได้น้อยลืมตาอ้าปากได้ มีที่อยู่อาศัย รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่พวกเขาเหล่านั้นใช้ชีวิตอยู่ ชนชั้นกลางที่มีรายได้สูงกว่าเองก็จะไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครเข้ามาปล้นหรือทำอันตราย ชีวิตในเมืองก็จะเข้าใกล้กับคำว่าชีวิตที่ดี” 

เมืองไทยมีความเป็น Smart City กี่เปอร์เซ็นต์?  

“การจะตอบคำถามนี้ผมอยากชวนให้มองในมุมนี้ก่อนว่า Smart City ไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่คือกระบวนการ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายๆ คนยังเข้าใจผิด ยกตัวอย่างเรื่องเกรดเฉลี่ย เนื่องจากเกรดคือการวัดลัพธ์ ถ้าวันนี้ผมสอบได้เกรดสี่ อาจจะเรียกได้กว่าผมเป็นคนที่ Smart ทว่าถ้าผมไม่นำความรู้ใหม่ๆ มาปรับตัวเองให้ดีขึ้น พรุ่งนี้เกรดอาจจะตกลงมาเหลือสาม หรือสองเลยก็ได้ เพราะความรู้และสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ นักเรียนต้องหาความรู้ที่หลากหลายขึ้นเพื่อทำให้องค์ความรู้ที่มีนั้นมีระโยชน์ ทีนี้ ถ้านำมาใช้กับความเป็นกระบวนการของ Smart City จะหมายความถึง เมืองที่มีกระบวนการและแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับตัวเองให้มีศักยภาพและตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในเมืองในทุกๆ วัน หากมองจากมุมนี้ แม้ว่าเราจะไม่ได้มีเมืองที่ติดอันดับความ Smart ระดับสากลเยอะ เพราะการจัดอันกับเหล่านั้นล้วนแต่วัดที่ผลลัพธ์ หากแต่ในเชิงกระบวนการแล้ว ผมคิดว่าประเทศไทยมีความเป็น Smart City เกิน 50 เปอร์เซ็นต์

“ปัจจุบันเทศบาลมีระบบต่างๆ ที่ทำให้เมืองที่เขาดูแลฉลาดขึ้น อาจยังไม่ฉลาดถึงขั้นได้เกรดสี่ แต่จากการลงพื้นที่ไปศึกษาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมพบว่าเทศบาลต่างๆ ในเมืองไทยฉลาดขึ้นทุกวัน บางแห่งกำลังเริ่มต้นนับหนึ่ง บางแห่งพัฒนาไปได้ค่อนข้างไกลทีเดียว โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการเมืองให้ประชาชนมีความสะดวกในการเข้าถึงบริการต่างๆ ของเมืองมากขึ้น  ซึ่งในภาพรวมเห็นชัดเจนว่าทุกเมืองกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผมจะเน้นย้ำเสมอว่า Smart City คือกระบวนการ”

โดยเฉพาะเทศบาลนครนครศรีธรรมราช หนึ่งเดียวของเทศบาลไทยที่คว้ารางวัล Smart City ระดับโลกจากเวที World Smart City Expo 2023 จากการออกแบบระบบการจัดการปัญหาในเมืองได้อย่างชาญฉลาด โดดเด่นด้านการออกแบบระบบออนไลน์เพื่อประชาชนใช้ในการสื่อสารกับเมือง อาทิ การร้องทุกข์เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ การจองคิวนัดหมายเข้ารับบริการต่าง ๆ การได้พูดคุยผู้รับผิดชอบงานบริหารจัดการต่างๆ ของเมืองเพื่อให้ความเห็นตรง  ทั้งยังนำการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data มาวิเคราะห์ปัญหาเชิงลึก และการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intellifence)  เข้ามาช่วยคำนวณว่าเมืองจะบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“เมื่อถนนเกิดความเสียหายพร้อมกันหลายๆ พื้นที่ ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และ  AI จะช่วยคำนวณว่าควรจะต้องซ่อมจุดไหนก่อน ซึ่งจะเป็นจุดที่สร้างผลกระทบแก่ชาวบ้านมากที่สุดหรือมีความเสียหายร้ายแรงที่สุด นอกจากนี้ยังใช้ในการช่วยให้ประชาชนจองคิวสำหรับการทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

“ผมเคยทำบัตรประชาชนที่กรุงเทพฯ เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งใช้เวลาทำอยู่เกือบครึ่งวัน แต่ครั้งล่าสุดช่วงที่เดินทางไปนครศรีธรรมราช บัตรประชาชนผมหมดอายุพอดีก็เลยจองคิวเข้าไปทำบัตรใหม่ แม้ว่าผมจะเป็นคนนอกพื้นที่ แต่เดินทางไปนครศรีธรรมราชเพื่อทำงาน ไม่ได้มีทะเบียนบ้านอยู่ที่นั่น ปรากฎว่า เมื่อจองคิวผ่านช่องทางออนไลน์ไว้ก่อน การทำบัตรครั้งนั้นใช้เวลาแค่ 10 นาทีก็เสร็จแล้ว เพราะระบบที่ดีช่วยให้คนทำงานสามารถจัดการและตระเตรียมทรัพยากรล่วงหน้าไว้บริการประชาชนได้”

เมืองต้องตัดสินใจด้วยข้อมูล (Data)

“ความสามารถของเทศบาลนครนครศรีธรรมราชเกิดจากสองปัจจัยที่สำคัญ หนึ่ง คือการมีผู้นำที่ดี ท่านนายกเทศมนตรี ดร.กณพ เกตุชาติ เป็นคนที่เปิดใจและเปิดกว้างต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบโจทย์เมือง นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้นำที่จูงใจคนทำงานได้เก่งมาก ท่านบอกว่าทุกครั้งที่ปิดงานที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาได้ คนทำงานจะได้ดาวที่ประชาชนผู้ร้องเรียนปัญหาเป็นผู้ให้ โดยตัดสินจากประสิทธิผลการแก้ปัญหาและเวลาที่ใช้ ครั้นพอถึงช่วงสิ้นปี ใครที่สะสมดาวไว้มากก็จะได้รับการพิจารณาต่อการเติบโตในสายงานมากตามไปด้วย เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ทำงาน ซึ่งส่งผลให้ปัจจุบันปัญหาแทบทั้งหมดในพื้นที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราชสามารถได้รับการแก้ไขได้ภายใน 48 ชั่วโมง”

และสอง คือวัฒนธรรมความเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ หรือสปิริตแบบคนนครศรีธรรมราช

“ถ้าได้ลองไปสัมผัสจะเห็นเลยว่า คนในพื้นที่มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกันสูงมาก ทุกคนมีความรักบ้านเกิดเมืองนอน พร้อมใจกันทำให้บ้านเมืองของเขาน่าอยู่ ทุกวันนี้ตามท้องถนนแทบไม่มีขยะเลย ถ้าเจอขยะเมื่อไหร่เขาจะช่วยกันเก็บ หากเป็นขยะชิ้นใหญ่พวกเขาจะรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที เพราะอยากให้บ้านเมืองของเขาสะอาดน่าอยู่มากขึ้น”

นอกจากการมีผู้นำที่เก่งทั้งศาสตร์เขิงเทคนิคและศิลป์ในการจูงใจประชาชนและคนทำงาน และการมีวัฒนธรรมแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูลที่สามารถเรียนรู้ได้จากความสำเร็จของนครศรีธรรมราช ดร. นน ยังเล่าถึงสามองค์ประกอบสำคัญของการสร้าง Smart City ที่ทั่วโลกใช้เป็นกรอบในการพัฒนาเมืองกันอยู่ในทุกวันนี้

1. รัฐต้องร่วมมือกับเอกชน

“ตั้งแต่ทำงานด้านการส่งเสริม Smart City เมื่อ 5 ปีก่อนจนถึงวันนี้ ผมยังไม่เคยเห็นเมืองไหนที่ประสบความสำเร็จได้โดยมีเพียงภาครัฐหรือเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อน ภาครัฐต้องทำหน้าที่ร่วมกับเอกชนโดยวางกรอบที่สร้างแรงจูงใจให้เอกชนอยากจะเข้ามาร่วมด้วย อาทิ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและส่งเสริมการลงทุน รวมถึงแก้ปัญหาด้านความล่าช้าในการทำงานโดยการหาแนวทางที่มีความสมดุลระหว่างกรอบการทำงานที่มี   ธรรมาภิบาลและการลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสมร่วมกับภาครัฐ”

2. เมืองต้องตัดสินใจด้วยข้อมูล

“ถ้าไม่นำข้อมูล หรือ Data มาใช้ให้เป็นประโยชน์ การตัดสินใจของเมืองก็อาจจะกลับไปเป็นแบบเดิมคือ ขึ้นอยู่กับความเคยชิน อคติ หรือความเชื่อ แบบอย่างการนำข้อมูลมาใช้อย่างเหมาะสมในการแก้ปัญหา คือที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราชอีก จากเมืองที่เจอน้ำท่วมทุกปี กลายเป็นเมืองที่แก้ปัญหานี้สำเร็จ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล เพราะหากใช้ความเคยชินหรือความเชื่อ แนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมก็น่าจะไม่พ้นการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เช่น เขื่อน หรือ ระบบระบายน้ำใหม่ ซึ่งมักจะมีราคาแพง ทว่าทางเทศบาลฯ เลือกที่จะใช้ข้อมูลในการหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา โดยได้ย้อนกลับไปดูสถิติการเกิดน้ำท่วม ทำการวิเคราะห์ทางสถิติร่วมกับข้อมูลอื่นๆ จนได้พบว่า สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาน้ำท่วมนั้น คือการอุดตันของทางน้ำ ซึ่งเกิดจากการมีขยะชิ้นใหญ่ในทางน้ำ ทำให้เกิดการอุดตัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนที่เยอะ ไม่สามารถถูกผ่องถ่ายไปยังทางน้ำที่ใหญ่กว่าได้ ทำให้เกิดการท่วมของพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทำให้เห็นปัญหานี้ และทำให้ทางเทศบาลฯ สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างตรงจุดโดยไม่ต้องลงทุนเยอะ มีเพียงระบบที่ประชาชนช่วยกันส่งปัญหาที่พวกเขาเห็นเข้ามาเท่านั้นก็สามารถมองเห็นต้นเหตุที่แท้จริงปัญหาได้”

3 .เมืองต้องสนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน

“เปิดโอกาสให้คนมีของนำของมาปล่อย แล้วดูว่าของใครเจ๋งที่สุดและเหมาะกับการนำมาใช้พัฒนาเมืองมากที่สุด  พูดง่ายๆ คือการใช้ประโยชน์จากความเป็นนวัตกรของภาคเอกชน ให้เขานำของที่มีศักยภาพมาขาย ส่วนภาครัฐก็เลือกของดีมาสนับสนุนต่อ เพื่อให้เขาใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นมาช่วยพัฒนาเมือง ถ้าเมืองทำสามข้อนี้ได้ ส่วนใหญ่การพัฒนาเมืองจะประสบความสำเร็จ กลายเป็น Smart City ที่มอบชีวิตดีๆ ให้กับผู้คนได้”

เมืองไทยกับคำว่า Smart City

“หนึ่งในเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลกก็คือกรุงเทพฯ  ถ้าผมไม่สามารถไปไหนได้ ต้องเลือกอยู่เมืองใดเมืองหนึ่งไปตลอดชีวิต ผมเลือกกรุงเทพฯ”  ยืนยันจาก ดร.นน ผู้ผ่านประสบการณ์จากการเรียน การเดินทาง ตลอดจนการทำงานในหลายประเทศทั่วโลก

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่คนเป็นมิตรและมีน้ำใจ การอยู่กรุงเทพฯ มานานอาจทำให้ไม่ค่อยรู้สึกถึงเรื่องนี้ แต่ถ้าไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า วัฒนธรรมการจะช่วยเหลือกันของคนที่นั่นจะต้องมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เกิดขึ้นเสมอ แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังถูกนำมาคิดคำนวณเป็นธุรกรรมไปทั้งหมด”

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เปิดกว้างต่อความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพไหน เชื้อชาติอะไร มีความเชื่อทางศาสนาอย่างไร การศึกษาสูงหรือไม่ ก็สามารถใช้ชีวิตในกรุงเทพฯได้อย่างไม่ต้องกังวลเรื่องการโดนดูถูกดูแคลน ในขณะที่บางประเทศ แม้ว่าจะมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดี หากยังมีอคติและกฎหมายเกี่ยวกับคนที่คิดต่าง ซึ่งยังถือว่าล้าหลังเมื่อเปรียบเทียบกับความเปิดกว้างของเมืองไทยมาก”

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ที่หลากหลายในราคาที่เหมาะสม  กรุงเทพฯ มีความหลากหลายทางประสบการณ์ในทุก ๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต ความบันเทิง การเรียนรู้ การได้สัมผัสกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านเสน่ห์ของย่านต่างๆ ในเมือง ผมเดินทางไปหลายประเทศทั่วโลก พบว่าไม่มีเมืองไหนที่มีความหลากหลายทางประสบการณ์เท่านี้แล้ว ยกตัวอย่าง อยากกินถูกและอร่อยก็มี อยากกินแพงไปเลยก็มี อยากกินสไตล์ไหนก็มีให้เลือกทั้งนั้น แม้แต่เมืองต่างๆ ที่ผมเคยได้ไปใช้ชีวิต หรือเมืองใหญ่อย่างบาเซโลนาหรือนิวยอร์ก สำหรับผมยังไม่สนุกเท่าที่นี่เลย”

แต่กรุงเทพและเมืองใหญ่ๆ ของไทยก็มีสิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคและความท้าทายต่อการใช้ชีวิตอยู่มากมาย โดยดร.นน ได้สรุปไว้สามข้อ  กล่าวคือ

“หนึ่ง ยิ่งเป็นเมืองใหญ่ก็จะยิ่งมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาก หลายครั้งเมื่อชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมานั่งคุยกันแล้วพบว่าการขับเคลื่อนอาจไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนัก เพราะยังไม่สามารถทำให้พวกเขามองเห็นถึงผลประโยชน์ระยะยาว เพราะคนส่วนใหญ่จะมองเห็นกันเพียงแค่ผลประโยชน์ระยะกลางหรือระยะสั้น การขับเคลื่อนที่ต้องใช้ความร่วมมือรวมพลังกันจึงไม่เกิดขึ้น”

“สอง ผู้นำที่ดีมีผลต่อการพัฒนาของเมือง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเทศบาลนครนครศรีธรรมราชที่ได้ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ความตั้งใจในการทำงาน เข้าใจผู้งาน และเข้าใจระบบการสร้างแรงจูงใจ ทุกคนได้รับประโยชน์โดยเฉพาะประชาชน ทั้งนี้มีหลายเทศบาลและองค์กรปกครองท้องถิ่นซึ่งโชคดีที่ได้ผู้นำที่มีศักยภาพ หากแต่บางครั้งผู้นำที่ดีอย่างเดียวก็นั้นไม่พอ ระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นกำหนดให้เลือกนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล บางครั้งสภาเทศบาลก็อาจจะเป็นคนละขั้วกับนายกเทศมนตรี ซึ่งมีข้อดีคือการจะได้มาคัดง้างสร้างความสมดุลเพื่อ ป้องกันการคอรัปชัน แต่หลายครั้งการคัดง้างทางการเมืองที่มากไป หรือความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในเรื่องของแนวคิดการพัฒนาใหม่ ๆ ทำให้เทศบาลและองค์กรปกครองท้องถิ่นไม่สามารถนำงบประมาณมาใช้ในกรอบที่ตอบโจทย์การพัฒนาเมืองได้”

“สาม กับดักของการเป็นประเทศกลางๆ หากย้อนไปดูการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยจะพบว่ามีการพึ่งพิงการลงทุนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยประเทศไทยเองเอื้อต่อการลงทุนอันเนื่องมาจากค่าแรงที่ไม่แพงและปัจจัยต่างๆ ที่ให้ประโยชน์ต่อนักลงทุนพอสมควร หาก ณ วันนี้ บางประเทศเพื่อนบ้านของเรามีค่าแรงที่ราคาถูกกว่า ในขณะที่บางประเทศก็มีนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนของต่างชาติมากกว่า ทำให้ประเทศของเรากลายเป็น ประเทศกลางๆ ที่ไม่ได้มีความโดดเด่นสักเท่าไหร่ในมิติเชิงปริมาณ นักลงทุนต่างชาติจึงเลือกไปลงทุนในประเทศที่ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจน้อยกว่า พอเงินทุนไม่ไหลเข้ามา เงินที่ได้จากการจัดเก็บภาษีก็ไม่เพียงพอต่อการนำไปทำโครงสร้างพื้นฐาน กลายเป็นว่าเราติดกับดักจากการอยู่ตรงกลางมากเกินไป ซึ่งสิ่งที่ประเทศไทยควรจะส่งเสริมเพื่อให้ถูกนำมาใช้ในการสร้างความน่าลงทุนคือความน่าอยู่ ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และความยอมรับในความแตกต่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นมาเสริมต้นทุนทางวัฒนธรรมของเราซึ่งเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วในระดับสากล นักลงทุนเองก็ไม่ได้มองแค่ค่าแรง และนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนของต่างประเทศเพียงอย่างเดียว โดยความเป็นเมืองที่ Smart สามารถทำให้คนที่มาทำงานในประเทศของเรามีความสุขในการใช้ชีวิต ทำงาน เรียนรู้ และหาความบันเทิง (Live, Learn, Work, Play) เป็นการเสริมจุดขายของประเทศได้เป็นอย่างดี”

AI ผู้ช่วยคนใหม่ในการสร้างเมือง

ต่อกระแสการพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่ปลุกให้ทุกวิชาชีพ ทุกวงการตื่นตัว หากมองในแง่ของการนำมาใช้ในการพัฒนา Smart City ดร.นน มีความเห็นอย่างไร

“แน่นอนว่า AI ช่วยมนุษย์ในการบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หัวใจสำคัญคือ ต้องใช้ AI เพื่อทำในสิ่งที่มนุษย์ต้องทำซ้ำๆ เพื่อช่วยประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพให้การกับการทำงานของมนุษย์ รวมไปถึงการวิเคราะห์ปริมาณข้อมูลมหาศาลเพื่อทำให้เห็นแนวโน้ม (Trends) เปลี่ยนแปลงได้”

“อย่างเช่นการใช้ AI ช่วยควบคุมไฟจราจร โดยนำความสามารถในการนับจำนวนรถบนถนน เพื่อช่วยวิเคราะห์และควบคุมสัญญาณไฟให้รถทุกคันไปถึงที่หมายโดยเร็วและปลอดภัยที่สุด หรือการใช้เพื่อดึงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาตอบเรา เช่น บางเมืองมีแชทบอต (Chatbot) หรือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้นเพื่อตอบคำถามของประชาชนแบบอัตโนมัติ โดยแชทบอตไม่เพียงแค่ได้รับการป้อนข้อมูลเบื้องต้นเข้าไป แต่ยังใช้ AI ในการไปดึงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาตอบได้ด้วยแบบฉับพลัน (Real-Time) ก็จะช่วยให้ประชาชนได้รับบริการสะดวกขึ้น เร็วขึ้น ลดการเสียเวลาในการป้อนข้อมูลซึ่งเป็นงานซ้ำๆ ที่ AI สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่ามนุษย์ เพราะ AI สามารถทำงานตามกรอบที่มนุษย์เราสร้างได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และสามารถเห็นชุดข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งหมดที่นำมาใช้ประมวลผล”

นอกจากการบริหารจัดการเมืองในสภาวะปกติแล้ว ความแปรปวนของโลกที่ทำให้เมืองเผชิญฝุ่นควันพิษ หรือภัยพิบัติที่ไม่อาจคาดเดา AI ก็เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และเตรียมพร้อมต่อการรับมือ

“ปัจจุบัน depa กำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรและหน่วยงานต่างๆ ในการเก็บข้อมูลเชิงสถิติเพื่อเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ สิ่งที่ AI จะต้องเข้ามามีบทบาทอย่างแน่นอนก็คือ เป็นผู้ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลระยะยาวที่เยอะเกินกว่าที่สมองคนจะประมวลผลได้ ซึ่งมักจะส่งผลให้ท้ายที่สุดคนเราเลือกที่จะใช้ความเคยชิน หรือความเชื่อ ในการแก้ปัญหามากกว่า ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถใช้ AI ในการวิเคราะห์ปัญหาที่มักเกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นประจำทุกปี โดย AI จะทำหน้าที่วิเคราะห์รูปแบบของสถานการณ์เพื่อที่จะส่องลงไปให้เห็นสัญญาณบางอย่างที่มักเกิดขึ้นก่อนจะเกิดภัยพิบัติ การใช้เทคโนโลยีในรูปแบบนี้ช่วยให้มนุษย์ประเมินสถานการณ์ได้อย่างแม่นยำและเตรียมพร้อมต่อการรับมือ ลดผลกระทบหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดได้มากขึ้น”

การสร้าง Smart City เป็นกระบวนการปรับเปลี่ยน เรียนรู้ และไม่หยุดพัฒนาตลอดชีวิต

“ความหมายแท้จริงของ Smart City จึงไม่ใช่เมืองที่อัจฉริยะราวกับหลุดออกมาจากนวนิยายวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เมืองที่เก่งกาจจนคิดแทนมนุษย์ได้ทุกอย่าง แต่คือเมืองที่มีความชาญฉลาด อันเกิดจากการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยมี ‘มนุษย์’ เป็นหัวใจของการพัฒนา” ดร.นน กล่าวทิ้งท้าย

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ