fbpx

ทางรอด “ฝีดาษลิง” กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย

GM Live เชื่อว่าข่าวการพบผู้ป่วยต้องสงสัยโรค “ฝีดาษลิง” หรือ “โรคเอ็มพอกซ์ (Mpox)”  ในประเทศไทยคงสร้างความหวั่นวิตกอยู่ไม่น้อย เพราะก่อนหน้านี้ไม่นาน องค์การอนามัยโรค หรือWHO ได้ออกมาประกาศเตือนภัยภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก แต่ก็ใช่ว่าจะป้องกันไม่ได้ เพราะทางรอก “ฝีดาษลิง” กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ  สวมหน้ากากอนามัย

โดยเมื่อไม่กี่วันมานี้อธิบดีกรมควบคุมโรคได้เปิดเผยถึงการพบผู้ป่วยต้องสงสัยว่าเป็นโรค “ฝีดาษลิง clade 1″ รายแรกในไทย ซึ่งเป็นชาวยุโรปที่อาศัยอยู่ในประเทศแทบแอฟริกาที่มีการระบาดของโรคนี้ และล่าสุดได้รับการยืนยันแล้วว่า เป็นฝีดาษลิง “สายพันธุ์ clade 1B” ถือเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับการวินิจฉัยในประเทศไทย

แล้วโรคฝีดาษลิง เกิดจากอะไร? ติดต่อทางไหน? อาการเป็นเช่นไร?  และจะป้องกันอย่างไร?

สำหรับโรคฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร หรือ Monkeypoxคือ โรคติดต่อจากเชื้อไวรัสOrthopoxvirus (กลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษ) เป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกา ซึ่งมีสัตว์กัดแทะทุกชนิดเป็นพาหะ เช่น หนู ลิง กระรอก กระต่าย ฯลฯ  นั่นหมายความว่า “ลิง” ไม่ใช่สัตว์ชนิดเดียวที่เป็นแหล่งกำเนิดของโรคนี้อย่างที่เข้าใจกัน แต่ที่กลายเป็นชื่อของโรคก็เพราะมาจากการรายงานที่พบโรคนี้ครั้งแรกจากลิงในห้องทดลองนั่นเอง

เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่เชื้อไปยังสัตว์อื่นได้ และสามารถแพร่จากสัตว์ไปสู่คนได้ด้วย แม้เบื้องต้นจะพบว่าการติดเชื้อของโรคฝีดาษลิงนั้นจะไม่รุนแรงมาก สามารถหายเองได้ภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีร่างกายอ่อนแอ ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน

โรคฝีดาษลิงติดต่อจากสัตว์สู่คนจากการสัมผัสสัตว์ป่วย, สัตว์ที่เป็นพาหะ, ซากสัตว์ที่ตาย, เนื้อสัตว์ เลือด สารคัดหลั่ง น้ำหนอง ผื่นของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือถูกสัตว์กัดและข่วน

ในส่วนของติดต่อจากคนสู่คนมาจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ เช่น ไอ จาม น้ำลาย หนอง ผื่น หรือสิ่งของปนเปื้อนเชื้อและของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วย

โดยทั่วอาการของโรคจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ 7-14วัน และสามารถสังเกตอาการได้ตามนี้

  1. มีไข้ อ่อนเพลีย  ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  2. ต่อมน้ำเหลืองโต
  3. อาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน เจ็บคอ ไอ หอบเหนื่อยร่วมด้วย
  4. หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน จะเกิดตุ่มเล็กๆ คล้ายผื่นขึ้นตามตัว ซึ่งตุ่มเหล่านี้จะอักเสบและแห้งไปเองในช่วงเวลา 2 – 4 สัปดาห์ โดยตุ่มต่างๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับระยะเวลาดังนี้

  5. มีตุ่มนูนแดงคล้ายผื่น
  6. ภายในตุ่มมีน้ำใสอยู่ภายใน รู้สึกคัน แสบร้อน
  7. ตุ่มใสกลายเป็นหนอง เมื่ออาการรุนแรงขึ้น ตุ่มหนองเหล่านั้นจะแตกออกและแห้งไปเอง

อย่างที่กล่าวข้่างต้นโรคฝีดาษลิงสามารถหายเองได้ภายใน 2-4 สัปดาห์ โดยการรักษาตามอาการภายใต้ตามคำแนะนำของแพทย์ (ยกเว้นแต่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีภูมิคุ้มกันพกพร่องหรือร่างกายอ่อนแอควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ) และผู้ป่วยเองก็ต้องดูแลตัวเองด้วยเช่นกันด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ

ส่วนการป้องกันนั้นไม่ต่างจากการปฎิบัติตัวในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปอยู่ในสถานที่แออัด  หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า จมูก ตา และปาก ไม่ใกล้ชิดหรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย และเมื่อถูกสัตว์กัดหรือข่วน ควรรีบไปพบแพทย์

แต่หากจะถามถึงเรื่องวัคซีนป้องกันแล้วละก็ ในประเทศไทยเองยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันโดยตรง แต่ในบางประเทศมีวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ป้องกันได้ แต่จะเน้นฉีดเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษก็ช่วยป้องกันโรคฝีดาษลิงได้เช่นกัน

ข้อมูล : องค์การอนามัยโลก

ภาพ : https://www.istockphoto.com/

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ