“Siriraj x Gen ยัง Active 5 เคล็ดลับดูแลสุขภาพเชิงป้องกันของกลุ่ม “Gen ยัง Active 50+”
การดูแลสุขภาพของกลุ่ม “Gen ยัง Active 50+” หรือผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีความสำคัญมากขึ้นกว่ายุคก่อน เพราะนอกจากอายุที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ร่างกายค่อยๆ เสื่อมถอยแล้ว สภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น และปัญหามลพิษทางอากาศ ยังเป็นตัวเร่งอัตราการเจ็บป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ขาดน้ำ หรือเป็นลมแดดง่ายขึ้น เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
การดูแลสุขภาพในเชิงป้องกันจึงเป็นทางที่ต้องเลือกในยุคที่สภาพแวดล้อมส่งสัญญาณเตือนแรง ๆ ให้โลกรู้
ในงาน “ศิริราช Expo 2024″งานนิทรรศการความก้าวหน้าทางการแพทย์ของศิริราช จัดโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีการจัดเสวนา “Siriraj x Gen ยัง Active แพลตฟอร์มสุขภาพ สำหรับทุก Gen” โดยมี ศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก และ รศ.นพ.สัมมน โฉมฉาย หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมพูดคุย เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่ม “Gen ยัง Active 50+” และคนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยในอนาคต ซึ่งสรุปได้ 5 แนวทาง
1. สุขอนามัยพื้นฐานเป็นเกราะสำคัญในวันที่อายุมากขึ้น
เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย โดยจะเริ่มมีการเสื่อมถอยตั้งแต่อายุ 35-40 ปี ไม่ว่าจะเป็นมวลกล้ามเนื้อลดลง ความหนาแน่นของกระดูกลดลง หรือความจำที่เสื่อมถอยลง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเกิดเร็วยิ่งขึ้นเมื่ออายุ 65 ปีเป็นต้นไป ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพร่างกายตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ช่วงสูงวัย
ศ.นพ.วีรศักดิ์ กล่าวว่า ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีจึงมีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง เบาหวาน รวมถึงปวดข้อ ปวดหลัง และปัญหาทางอารมณ์อย่างภาวะซึมเศร้าและสมองเสื่อม ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน ก็จะสูญเสียความหนาแน่นของกระดูก มวลกล้ามเนื้อ อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อวัยวะเช่น หัวใจ ปอด ตับ ไต จะมีการเสื่อมลงตามอายุ เราจึงควรให้ความสำคัญกับหลักปฏิบัติด้านสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้สมดุล ดูแลน้ำหนักตัว ดูแลสุขภาพจิตใจ มีส่วนร่วมกับสังคม และตรวจสุขภาพเป็นประจำ แนวทางเหล่านี้สามารถช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับวัยและส่งเสริมความเป็นอยู่โดยรวม
2. ตรวจสุขภาพแบบเจาะลึก และฉีดวัคซีนป้องกันโรค
เมื่อสภาพร่างกายเปลี่ยนไป โรคที่ประสบต่างกัน การดูแลร่างกายต่างกัน การตรวจสุขภาพแบบพื้นฐานอาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป
รศ.นพ.วินัย แนะนำผู้สูงอายุและผู้ดูแลผู้สูงอายุว่า ต้องปรับแนวทางการตรวจคัดกรองสุขภาพให้สอดคล้องกับภาวะทางกายภาพและความต้องการของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้มั่นใจว่าผู้สูงอายุได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมและทันท่วงที รวมทั้งการเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับผู้สูงวัยที่ระบบภูมิต้านทานเสื่อมลงทำให้เชื้อโรคกำเริบได้ง่าย เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่เกิดขึ้นได้กับผู้สูงวัยอย่างโรคงูสวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสอีสุกอีใสเมื่อวัยเด็กที่หลบซ่อนอยู่ในปมประสาทและจะกำเริบขึ้นเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นตุ่มน้ำใสปรากฏเป็นแนวยาวตามเส้นประสาทที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด และเมื่อรักษาหาย แม้จะดูเหมือนปกติแล้ว แต่ก็ยังอาจจะเจ็บปวดได้อีกเป็นเวลานาน ส่งผลต่อการใช้ชีวิต
3. ดูแลสุขภาพเป็นพิเศษในยุคโลกรวนและสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
ผู้สูงอายุยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อต้องประสบกับคลื่นความร้อน มลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 หรือใกล้ชิดกับสารอันตรายต่างๆ เช่น แคดเมียม หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเพลิงไหม้ทางอุตสาหกรรม เพราะอาจมีผลทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด หรือแม้กระทั่งมะเร็ง
รศ.นพ.สัมมน กล่าวว่า คลื่นความร้อนมีอันตรายกว่าที่เห็น เพราะความร้อนที่ร่างกายสัมผัสได้จริง อาจไม่เท่ากับอุณหภูมิภายนอกเสมอไป โดยปกติร่างกายจะเริ่มรู้สึกถึงความร้อนเมื่ออุณหภูมิแตะ 34 องศาเซลเซียส จึงอาจเกิดภาวะขาดน้ำ อ่อนเพลีย และลมแดด จึงควรระวังไม่ให้ขาดน้ำ และเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมากในช่วงอากาศร้อนเพื่อป้องกันการเกิดฮีทสโตรกและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ การออกกำลังกายก็ยังทำได้ แต่ควรเลือกเวลาและสถานที่ไม่ให้สัมผัสความร้อนและมลภาวะทางอากาศมากเกินไป นอกจากการตรวจสอบดัชนีคุณภาพอากาศ ควรสวมหน้ากาก N95 เมื่อจำเป็น อาจใช้เครื่องฟอกอากาศในอาคารโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยบนตึกสูง ในด้านความเสี่ยงเกี่ยวกับสารอันตรายต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา ควรมีความระแวดระวัง ป้องกันภัย ศึกษาข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสารพิษเพื่อป้องกัน และไปพบแพทย์โดยทันทีหากได้รับสารพิษ
4. สูงวัย ควรปรึกษาแพทย์
เคล็ดลับข้อนี้เป็นการย้ำเตือนว่า ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากกว่าการสอบถามเพื่อนหรือคนใกล้ตัว การดูแลสุขภาพโดยไม่ปรึกษาแพทย์อาจนำไปสู่ผลเสียมากกว่าผลดีถ้าไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของอาการที่เป็น โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวหรือมีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง การตรวจสุขภาพและรับฟังคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้ที่ถูกต้อง ช่วยให้เรารักษาสุขภาพได้อย่างมั่นใจ ไม่ทำให้เราต้องเสี่ยงต่อการได้รับผลไม่พึงประสงค์
5. ติดตามข้อมูลสุขภาพจากแหล่งที่เชื่อถือได้
ท่ามกลางคลื่นข่าวสารข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลทางออนไลน์ ควรพิจารณาข้อมูลที่มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ให้ความรู้ผ่านช่องทางต่าง ๆ สำหรับการดูแลสุขภาพกายและใจของผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำแพลตฟอร์ม Gen ยัง Active 50+ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้แก่ประชาชนในรูปแบบแมกกาซีนไลฟ์สไตล์ ครอบคลุมเนื้อหาทั้งด้านโรคต่าง ๆ นวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดจนกิจกรรมและบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจ ทั้งทางเว็บไซต์ www.genyoungactive.com และบัญชี Line Official : @GenYoungActive เพื่อให้ทั้งผู้สูงวัย ผู้ดูแลคนสูงวัย และคนที่กำลังจะเข้าสู่ภาวะสูงวัย มีความรู้เท่าทัน มีภูมิคุ้มกันทั้งทางร่างกายและจิตใจ เสริมสร้างสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต