GM Live Thought เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์: บริหารด้วยพลังหญิง ส่งต่อภูมิปัญญาอาหารไทย
Text: สุกฤษฏิ์ บูรณสรรค์
เมื่อพูดกันถึงอาหารไทยแล้วนั้น อาจจะไม่เป็นที่ประหลาดใจนักถ้าหากจะกล่าวว่า ในบรรดาอาหารแต่ละภาค อาหาร ‘อีสาน’ คือเมนูที่สามารถหาทานได้เกือบจะทุกที่ ทุกภูมิภาค ด้วยกระบวนการปรุงที่เรียบง่าย ใช้วัตถุดิบจากในท้องถิ่น และสามารถดัดแปลงได้มากมาย ทำให้อาหารอีสานมีความหลากหลาย อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
แล้วถ้าหากอาหารอีสานจะ ‘ขึ้นห้าง’ มาอยู่ในระดับเดียวกับอาหารประเภทอื่นๆ บ้าง ก็คงไม่ใช่เรื่องผิดแผกอันใดกระมัง?
และด้วยแนวคิดดังกล่าว จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ คุณตู๋ – เลิศรินิญฒ์ ศรีสุคนธ์ GM/CO-Owner บริษัท สะไปซ์ ออฟ เอเชีย จำกัด ผู้ก่อตั้งร้าน ‘Café Chilli’ ร้านอาหารอีสานรสจัดจ้านโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ที่กำลังสร้างสีสันความสนุกแห่งภูมิภาคกับเมนูเด็ดทั้ง 20 เมนูในขณะนี้ ที่ GM Live ได้ร่วมวงสนทนาอย่างสบายๆ ทั้งในหัวข้อความชื่นชอบด้านอาหารอีสาน แนวคิดการทำธุรกิจร้านอาหาร และเส้นทางที่คุณตู๋จะดำเนินต่อไปกับธุรกิจร้านอาหารในอนาคตภายภาคหน้า กับบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้
-จุดเริ่มต้นความสนใจในงานด้านอาหาร
จากพื้นเพเดิมที่เรียนที่ University of London ในสาขา Management ตั้งใจว่าอยากทำอาชีพเกี่ยวกับโรงแรม แต่ด้วยความเป็นนักเรียนไทยในต่างแดน จะมีความคิดถึงอาหารไทย แล้วก็มักจะทำอาหารทานกันเองเพราะหาทานได้ยาก ทำให้มีความชอบในด้านอาหาร แต่ยังไม่ได้ชัดเจนว่าจะออกมาทำธุรกิจด้านอาหารอย่างจริงจัง เพราะเมื่อสมัยยี่สิบปีก่อน การทำร้านอาหารหรือมีกิจการร้านอาหาร มันไม่ได้ง่ายเหมือนในสมัยนี้
พอสำเร็จการศึกษา ก็สมัครเข้าตำแหน่ง Brand Marketing ตามแบรนด์สินค้าแฟชั่น ทำงานได้ประมาณหกเดือน กำลังจะเปลี่ยนงาน เพื่อนก็มาชวนให้ไปทำขนมและร้านอาหารที่ชื่อว่า ‘รักเอย’ แถวประชาชื่น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ระหว่างรองาน เลยไปลงหุ้นส่วนกับเพื่อน เปิดร้านอาหารขึ้นมา แล้วก็โด่งดัง เพราะด้วยสไตล์ที่เป็น Homey ที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ได้รับความสนใจ ทำร้านอาหารจนไม่ได้กลับเข้าสู่สายงานปกติอีก กลายเป็นเจ้าของกิจการด้านอาหารมาจนถึงปัจจุบันค่ะ
-ช่วงเวลาที่บริหารงานร้าน ‘รักเอย’ ใช้ทักษะที่เรียนมาอย่างไรบ้าง
เรียกว่า Learning by Doing เสียมากกว่า เพราะเรียนรู้ผ่านหน้างานและการลงมือทำ ทั้งบริหารหน้าร้าน คิดสูตรอาหาร เราอยู่กับร้านนี้มาเกือบสิบปี
-จุดเริ่มต้นของ Café Chilli
เริ่มมาจากตอนที่บริหารร้าน ‘รักเอย’ มาได้ประมาณสิบปี จนมาได้โอกาสตอนที่ห้างสยามพารากอนเปิด ทางพวกพี่ๆ ก็ได้ติดต่อ และพูดคุยว่า อยากให้เราไปเปิดร้านอาหาร ซึ่งเราก็คิดว่า จะเปิดร้านอะไรดีที่สะท้อนความเป็นตัวตนของเรามากที่สุด และพบว่า ตัวเองเป็นคนชอบอาหารอีสานมากๆ อาจจะเพราะคุ้นเคยกับรสมาตั้งแต่เด็กๆ ประกอบกับเราอยากเห็นคนสามารถทานอาหารอีสานพร้อมกับจิบแชมเปญไปด้วย ซึ่งถ้าพูดถึงอาหารอีสานสมัยก่อนที่รสชาติดีๆ ก็มักจะเป็นร้านตามข้างทาง เราอยากเห็นอาหารอีสาน ‘ขึ้นห้าง’ บ้าง จึงเป็นที่มาของ Café Chilli
-หัวใจหลักของเมนูใน Café Chilli และการคัดเลือกแต่ละเมนู
คอนเซปต์อาหารและเมนูก็ไม่มีอะไรมากค่ะ ก็เป็นอาหารที่รสชาติดี แต่ใช้วัตถุดิบที่ผ่านการคัดมาอย่างดีและพรีเมียมในระดับหนึ่ง สะอาดขึ้น นั่งทานได้อย่างสบายๆ อาจจะเรียกได้ว่า ร้านของเราเป็นเจ้าแรกที่ดึงเอา Street Food อย่างอาหารอีสานมาขึ้นห้าง ซึ่งในภายหลัง ก็มีร้านอื่นๆ ที่เริ่มดึงอาหารอีสานขึ้นมาบนห้างตามมา จนเห็นได้อย่างชินตาในปัจจุบัน
-คอนเซปต์ อีสาน โซล ฟู้ด (Esan Soul Food) มีที่มาจากอะไร
อันนี้ต้องบอกว่ามาจากประสบการณ์ของตัวเองเป็นหลักเลย เพราะเราอินกับอาหารอีสานมากๆ อีกทั้งก่อนที่จะเปิดร้านแรก เราเดินทางไปทั่วภูมิภาคอีสาน ไปดู ไปคุย เพื่อคัดเลือกวัตถุดิบและกระบวนการทำเมนูต่างๆ ซึ่งก็จะได้เมนูที่เป็นสูตรเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นมา เช่น ส้มตำเส้นด๊องแด๊งสูตรเมืองเลย ที่ใส่เส้นขนมจีนสด มันเป็นการเข้าลึกไปถึงจิตวิญญาณของความเป็นอีสาน ที่เราคัดเลือกมาทั้งหมด 20 เมนูเฉพาะในรอบนี้ ที่ทำงานร่วมกับประชารัฐสามัคคี ที่ดึงเอาวัตถุดิบที่โดดเด่นของแต่ละภาค ซึ่งต้องบอกว่าเป็นรอบที่ลงตัวที่สุดหลังจากการระบาดของ COVID-19 สำหรับสาขาศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่เราให้เวลากับมันประมาณสามเดือน ที่ได้การตอบรับที่ดีมากๆ จนเรามั่นใจว่าทุกอย่างลงตัว
-อันนี้รวมถึงวัสดุตกแต่งร้านด้วยหรือไม่
เช่นกันค่ะ เราลงไปเลือกด้วยตัวเอง ทำงานร่วมกับชาวบ้าน คัดสรรของดีของแต่ละภาคขึ้นมานำเสนอ ส่วนตัวชอบทำงานกับชาวบ้านนะคะ เพราะเหมือนกับว่าเราได้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับของดีของพวกเขา ให้มากขึ้น ทันสมัยขึ้น แน่นอนว่าทุกอย่างสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ซึ่งเราก็ยังอยู่ในระหว่างการหาจุดที่ลงตัวที่สุด ดีที่สุด เพื่อสาขา One Bangkok ที่จะเป็น Flagship Store แห่งแรกของเรา
-สาเหตุที่เลือกสาขา One Bangkok เป็น Flagship Store ของ Café Chilli
อันนี้ว่ากันด้วยเรื่องของพื้นที่เป็นหลักเลยค่ะ เพราะมีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าทุกสาขาที่ผ่านมา มันทำให้เรานึกถึงการเดินทางตามหาสูตรหาอาหรและเมนู ซึ่งยังมีอีกหลายอย่างมากที่เราอยากทำ และกำลังคิดว่า จะทำอย่างไร เพื่อให้มัน ‘สนุก’ ขึ้นมาได้ และมันเหมาะอย่างยิ่งที่จะทดลองกับสาขาที่จะเป็น Flagship Store ของเราค่ะ
-พูดถึงของดีแต่ละจังหวัด ก็ไม่ได้มีแค่เพียงอย่างหรือสองอย่าง ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการคัดเลือกเพื่อนำมาบรรจุลงในเมนูทั้ง 20 เมนูนี้
ความชอบของตัวเองล้วนๆ เลยค่ะ (หัวเราะ) คือร้านของเราเป็นร้านที่สร้างขึ้นมาเอง ไม่ใช่ร้านที่ซื้อแบรนด์จากต่างประเทศ ไม่ใช่ร้านแฟรนไชส์ ดังนั้น มันจึงต้องสะท้อนความเป็นตัวเราออกมาให้ได้มากที่สุด เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์เราให้ได้มากที่สุด และ ‘เชื่อมั่น’ ว่ามีกลุ่มคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่ชอบเหมือนเรา
-ในบรรดา 20 เมนูที่มี ส่วนตัวชอบเมนูใดมากที่สุด
เลือกยากนะคะ เพราะเวลามาที่ร้านก็เลือกอย่างน้อยก็ห้าอย่างแล้ว (หัวเราะ) เพราะอาหารอีสานก็คืออาหารไทย มันต้องทานให้ครบสำรับ แต่ถ้าให้ยกขึ้นมาจริงๆ ก็คงมีไก่นึ่งเชียงคาน สูตรจังหวัดเลยแบบจากรุ่นสู่รุ่น อันดับต่อมาก็ส้มตกด็องแด๊ง ถัดมาก็แหนมคลุก แกงเปรอะหน่อไม้ใส่เห็ดถอบ ที่เราสามารถใส่เห็ดถอบได้ทั้งปีเพราะมีผู้ผลิตที่พร้อมส่งให้เราได้ตลอด เนื้อย่างลิ้นย่างก็ชอบ เลือกยากจัง
-ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้ง Café Chilli ถ้าให้เลือกแนะนำเมนูสำหรับคนที่ไม่เคยมาทาน จะเลือกเมนูใด
จริงๆ เมนูที่เป็น Signature มาตลอดสิบห้าปี ก็มีต้มแซ่บหมูเด้ง ไก่นึ่งเชียงคาน ขลุกขลิกซี่โครงอ่อน ตำข้าวโพดเหนียว เหล่านี้คือที่จะแนะนำให้ลองทาน
-มองเห็นเสน่ห์อะไรในอาหารอีสาน
ความสนุก ความสนุกและความแซ่บค่ะ คือส่วนตัวเป็นคนทานอาหารเผ็ดอาหารร้อน มันก็สะท้อนตัวเราและความเป็นอาหารอีสานในระดับหนึ่งนะคะ
-คิดว่าเมื่ออาหารอีสานได้ขึ้นห้าง มันได้สร้างผลกระทบอะไรกับแวดวงอาหารโดยรวมบ้าง
มากค่ะ อย่างหนึ่งที่ชัดเจนมากๆ คือต่างชาติรู้จักอาหารอีสานมากขึ้น ร้านที่ได้รับรางวัลมิชลินร้านไทยร้านแรกที่นิวยอร์คก็เป็นร้านอาหารอีสาน จริงๆ อาหารแต่ละภาคมันก็มีเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป เพียงแต่อาหารอีสานมันอาจจะมีความเร็ว ความสนุก ที่นำหน้ามาก่อน รวมถึงความหลากหลายของแต่ละภูมิภาคที่ทำให้อาหารอีสานมีความแตกต่างกัน อย่างเช่น อีสานที่อยู่ใกล้ริมโขง อีสานที่อยู่ใกล้กัมพูชา อีสานที่ใกล้เวียดนาม (อีสานแกว) อีสานใกล้กับลาวที่มีวัฒนธรรมฝรั่งเศสผสม โดยเฉพาะอย่างหลัง มีเมนูที่คิดไว้ในหัวที่อยากนำเสนออยู่อย่าง ขนมปังบาแก็ตอีสาน ทานกับหมูยอ และเครื่องเคียงอื่นๆ ไป (ขนมปังอีสาน มีใส้เป็นกุนเชียง หมูยอ ทาด้วยเนยแล้วปิ้ง — กองบรรณาธิการ)
-อาหารอีสาน สามารถเป็น Soft Power ได้หรือไม่
ทำได้นะคะ ทำได้ดีด้วย ถ้าหากหน่วยงานภาครัฐสนับสนุน มันได้ในเกือบจะทุกกระบวนการเลย ตั้งแต่จับปลา ปลูกข้าว จนถึงการทำส้มตำ สามารถทำเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พานักท่องเที่ยวไปอยู่ Home Stay แล้วลงกระบวนการตั้งแต่แรกเริ่ม ดำนา จับปลา ปรุงอาหาร หรือแม้แต่การหมักปลาร้า ก็คล้ายกับการหมักปลาแอนโชวี่ของต่างประเทศ ถ้ามีเงินทุนและได้การสนับสนุน มันจะไปได้ไกล และจะยิ่งน่าสนุกมากขึ้นค่ะ
-เทรนด์แวดวงอาหารหลัง COVID-19 ในมุมมองของคุณตู๋
มองว่าเทรนด์อาหารมีความเป็นกระแสนิยมมากขึ้น น้อยมากที่จะมีร้านอาหารที่ผู้ทาน มีความผูกพันกับร้านหนึ่งๆ แล้วจะเดินทางเพื่อไปร้านนั้นๆ แต่ในวันนี้ ธุรกิจร้านอาหารมันกว้างมาก เกิดขึ้นในทุกวัน และมีคนที่จบลงในทุกวัน บวกกับคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเปลี่ยนได้ตลอดอย่างที่กล่าวไปข้างต้น เราอาจจะเล็งร้านหนึ่งเอาไว้ในเดือนที่แล้วใน Social Media แต่พอเวลาผ่านไปหลายเดือน ร้านที่ว่า ปิดตัวไปแล้วก็มี
-ถ้าหากคนรุ่นใหม่ พร้อมจะเปลี่ยนได้ตลอด แล้วเช่นนั้น คุณตู๋มีกลยุทธ์อะไรเพื่อที่จะยังยืนหยัดอยู่ในแวดวงอาหารที่มีความเปลี่ยนผ่านมากมายเช่นนี้
ต้องบอกว่า กลุ่มลูกค้าของเรา จากที่สยามพารากอนเป็นต้นมา เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างชัดเจน เป็นกลุ่มคนวัยทำงาน ในเขต CBD ร้านเราไม่ได้มีสาขาเยอะ ไม่ได้ขยายออกไปมาก เพราะแต่ละเมนูของเรา ยังคงเป็นเมนูที่มีลักษณะที่สามารถ ‘สั่งได้’ ไม่ได้ออกมาพิมพ์เดียวจากครัวกลาง ไม่ใช่งานปรุงสำเร็จ ยังเป็นรสชาติจานต่อจาน เป็นการ Tailor-Made ให้กับกลุ่มลูกค้าเป็นการเฉพาะ นั่นทำให้ร้านของเรายังยืนหยัดมาได้เกือบสิบห้าปี แน่นอนว่าเมนูปกติก็จะรสชาติไม่ต่างกัน แต่ถ้าเป็นรายละเอียดปลีกย่อยอย่างเช่นน้ำยำ สามารถปรับได้ตามที่สั่ง เพราะส่วนตัวก็เชื่อว่า อาหารอีสานคือความหลากหลาย ความชื่นชอบและรสชาติของแต่ละคนก็แตกต่างกัน
-คุณตู๋มีรูปแบบและสไตล์การทำงานแบบใด
(คิด) อันนี้เรามองจากจุดที่เราเริ่มต้นมาในตอนแรกก่อน การเป็นเจ้าของกิจการ จะมีหลักการทำงานเอาไว้อยู่แล้ว อย่างการเปิดร้านอาหารอีสาน ก็จะมองในเรื่องความสนุก และความชอบของตัวเองเป็นหลัก และพยายามผลักดันสิ่งที่ชอบ ให้ออกสู่สายตาของผู้คนที่ชอบสิ่งเดียวกัน แต่ทั้งนี้ ก็ต้องมีทีมงานที่ดีประกอบกันด้วย ซึ่งเอาเข้าจริงๆ มันก็เกือบจะร้านอาหารทุกประเภทเลยนะคะ ต้องมีหลักคิดที่ชัดเจน และมีทีมงานที่ดี นี่คือสไตล์การทำงานที่ว่าค่ะ
-ผ่านธุรกิจอาหารมายี่สิบปี มีข้อควรระวัง หรือสิ่งที่ต้องระลึกเอาไว้เสมอในการทำร้านอาหารบ้างหรือไม่
ส่วนตัวเป็นคนที่ทำงานโดยไม่ได้คิดเรื่องการเงินมาเป็นตัวชี้วัดหลักค่ะ คือมองว่า ถ้าทำสิ่งใดแล้ว ทำให้ดีที่สุด แล้วทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรายได้ ผลกำไร หรือกลุ่มลูกค้าจะตามมา เราไม่จำกัดตัวเองด้วยกรอบทางการเงินมาเป็นโจทย์หลัก แน่นอน เราทำธุรกิจ ก็ต้องการผลกำไร แต่ถ้าต้องการจะไปให้สุดทางกับสิ่งไหน ถ้าต้องใช้เงินเพิ่มเพื่อลงทุน ก็จะทำ จนน้องๆ ฝ่ายการเงินก็มักจะเตือนอยู่บ่อยๆ (หัวเราะ) สรุปคือ ทำให้ดีที่สุดค่ะ ทำให้เต็มที่
-สิ่งที่อยากจะแนะนำสำหรับคนที่อยากจะก้าวเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหาร
ธุรกิจอาหารเป็นอะไรที่สนุกและมีเสน่ห์มาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการหาตัวตนและลายเซ็นของตัวเองให้เจอ ว่าชอบอะไร ไม่เป็นไปตามเทรนด์ที่เปลี่ยนผ่านไปโดยเร็ว จะทำให้เรายังคงอยู่ในธุรกิจได้ในระยะยาว
-มีใครเป็น Role Model ในการทำธุรกิจอาหารสำหรับคุณตู๋บ้างหรือไม่
มีค่ะ ชื่อ Alan Yao เปิดร้านอาหารติ่มซำที่ทันสมัยมากๆ ที่ลอนดอน เขาเปิดร้านอาหารจนประสบความสำเร็จ จากนั้นก็ขายกิจการ แล้วร้านอาหารของเขาแต่ละร้าน จะมีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่ได้เป็นแฟรนไชส์ ซึ่งก็ตรงกับลักษณะร้านของเราที่เป็น Destination ไม่ได้เป็นสาขามากมาย อย่าง Café Chilli นี่ คิดเอาไว้ว่าน่าจะไม่เกินสิบสาขา แล้วก็คงไปทำแบรนด์อื่นต่อน่ะค่ะ
-คิดว่าการได้ก่อตั้ง Spice of Asia นี้ ถือได้ว่าเป็นที่สุดของการทำธุรกิจอาหารแล้วหรือไม่
ยังค่ะ ยังมีสิ่งที่อยากทำ สิ่งที่ต้องไปต่ออีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Flagship Store สามร้านแรก ที่โครงการพับไปเนื่องจาก COVID-19 แต่ก็จะเริ่มกลับมาจริงจังแล้วในปีนี้
-ช่วงที่ผ่านมา Social Media มีผลต่อธุรกิจร้านอาหารอย่างมาก มีวิธีในการรับมือ Feedback ในทางลบที่เกิดขึ้นอย่างไร
จริงๆ แนวทางการรับมือกับเสียงตอบรับจาก Social Media ค่อนข้างชัดเจน อย่างแรกที่ต้องทำคือลงมาดูหน้างาน ว่าเรื่องดังกล่าว เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดอะไรขึ้น เพราะในกระบวนการทำงานหลัก เราจะทราบดีอยู่แล้ว ที่เหลือคือการสังเคราะห์สิ่งที่เป็นปัญหาออกมา เพราะส่วนตัวเชื่อนะคะว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริง สุดท้าย มันจะตอบกลับออกมาด้วยตัวของมันเอง กลุ่มลูกค้าจะเป็นตัวให้คำตอบสุดท้าย และตัดสินด้วยตัวเองค่ะ
-ตั้งแต่ทำร้านอาหารมา มีเหตุการณ์ที่อยู่ในความทรงจำที่ไม่เคยลืมบ้างหรือไม่
ด้วยที่ว่าตัวเองเป็นคนที่อยู่กับปัจจุบัน ก็มักจะสอนน้องๆ ในทีมเสมอว่า การทำธุรกิจร้านอาหาร คือการทำงานกับคน ปัญหาต่างๆ มีเข้ามาได้เป็นเรื่องปกติ แต่เราอย่าเก็บมันมาเป็นสิ่งที่ค้างในใจ เพราะถ้าเก็บสะสมเอาไว้ มันจะเป็นภาระทางใจที่ใหญ่มากๆ ลูกค้าแต่ละคน ความต้องการความชื่นชอบก็แตกต่างกัน
แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกดีก็มีอยู่นะคะ อย่างกลุ่มลูกค้าที่มาทาน แล้วเอาไปเขียนชื่นชมในระดับประเทศ หรือในระดับสากล เคยมีคนมาทาน แล้วเอาไปเขียนลง New York Times ซึ่งเรามาทราบทีหลังก็รู้สึกประหลาดใจอยู่ไม่น้อย
-มองเกี่ยวกับ Michelin Stars กับแวดวงธุรกิจร้านอาหารอย่างไร
เป็นสิ่งที่เป็นรางวัล และเป็นสิ่งที่ยกระดับฐานการตลาดให้คนรู้จักได้ดีนะคะ แต่ในเชิงการพิจารณา ก็มีบางส่วนที่เราแอบรู้สึกว่า ยังไม่ได้ถ้วนหรือรอบมากนัก แต่โดยรวมมันดีสำหรับร้านอาหารในประเทศไทยนะ มันทำให้คนเชื่อถือ และทำให้แวดวงอาหารสนุกขึ้น มีการพัฒนา มีการแข่งขัน หรืออย่างน้อยๆ มันง่ายสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ที่จะเลือกร้านอาหารที่จะทานนะคะ
-ทำงานในแวดวงอาหารมาสองทศวรรษ เคยคิดเรื่องเกษียณบ้างหรือไม่
ไม่เลยค่ะ ไม่เคยคิดเลย เพราะเราทำงานบนสิ่งที่เรารู้สึกมีความสุข และอยู่บนการเดินทาง ที่เป็นหมุดหมายที่บ่งบอกว่าเราได้ใช้ชีวิต ยังมีเรื่องที่น่าสนุกในแวดวงอาหารรอให้ไปทำอีกหลายต่อหลายอย่าง ดังนั้น เรื่องเกษียณคงเป็นภาพที่ไกลและคิดไปไม่ถึงในตอนนี้หรอกค่ะ
-สิ่งที่อยากจะฝากถึงผู้อ่าน GM Live
ตอนนี้ Café Chilli ได้ทำเมนูใหม่ ที่มีอาหารที่ผ่านการคัดเลือกพิเศษ 20 เมนูเด็ดในสามสาขาหลัก แม้จะมีสาขาไม่มาก ก็อยากจะเชิญชวนให้มาลองรับประสบการณ์อาหารอีสานที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใครในครั้งนี้กันดูค่ะ
-เคยคิดจะเอาชื่อร้าน ‘รักเอย’ ที่เคยทำ กลับมาทำอีกครั้งหรือไม่
เคยนะคะ เคยคิด แต่เพื่อนที่เป็นหุ้นส่วนก็ไปเติบโตกับฟากร้านอาหารในสาย High-End ได้ดิบได้ดีไปแล้ว โอกาสที่จะย้อนกลับมาร่วมงานกันก็ค่อนข้างยาก เรียกว่า ปล่อยให้รักเอยมันกลายเป็นตำนานไปดีกว่าค่ะ (หัวเราะ)