Gensurv Robotics ผู้ผลิตหุ่นยนต์เคลื่อนที่ ฝีมือคนไทย ที่ฝันอยากยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย
ในวันที่หุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน หรือแม้แต่เวลาไปใช้บริการที่ร้านอาหาร ยังไม่นับถึงโรงงานอุตสาหกรรม ที่เริ่มมีการนำหุ่นยนต์เคลื่อนที่ มาทดแทนแรงงานคน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อก้าวไปให้ทันกับโลกธุรกิจใบเดิมที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป
จากความสนใจ สู่ Passion ในการปั้นธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ถ้าย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หุ่นยนต์เคลื่อนที่ ไม่เพียงเป็นเรื่องที่ดูไกลตัว และยังเป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูง จากจุดนี้เอง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ เปิ้ล–วีรมน ปุรผาติ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Gensurv Robotics รวมตัวกับกลุ่มวิศวกรที่ชื่นชอบและสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์เคลื่อนที่ เพื่อพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีดังกล่าว
“เราเริ่มต้นจากการพัฒนาเรือหุ่นยนต์อัตโนมัติบนผิวน้ำ และ เรือดำน้ำ ที่ใช้ในการสำรวจ เพื่อลดความเสี่ยง ระยะเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจ ต่อมา เราตั้งใจขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น จึงหันมาวิจัยและพัฒนาโซลูชั่นหุ่นยนต์ขนส่ง ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจโลจิสติกส์”
นำ Pain Point มาต่อยอดเป็นโซลูชันที่ตรงใจลูกค้า
วีรมน เล่าว่า หนึ่งใน Pain Point ของลูกค้ากลุ่มนี้ คือ ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน บวกกับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ต้องทำงานในโรงงานแทบจะ 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้การใช้หุ่นยนต์เคลื่อนที่เข้ามาทดแทนงานในส่วนที่ต้องการความแม่นยำ รวดเร็ว และสามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง น่าจะตอบโจทย์กว่า
ความท้าทายของการพัฒนา Solution ที่คนส่วนใหญ่(ยัง)ไม่รู้จัก
อย่างไรก็ตาม แม้ไอเดียตั้งต้นจะมาถูกทาง แต่ที่ผ่านมา ต้องบอกว่า Solution การใช้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ทั้งในไทยและในระดับโลกยังไม่ได้แพร่หลาย หรือมีผู้ที่เชี่ยวชาญมากนัก ทำให้นอกจากต้นทุนจะสูงแล้ว ยังไม่มีตัวอย่างการนำมาใช้งานจริงให้เห็นมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มองไม่เห็นภาพว่าการมีหุ่นยนต์เคลื่อนที่มาเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจจะส่งผลดีอย่างไร จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของผู้พัฒนาเทคโนโลยีในการให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับลูกค้า
ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นว่า เทคโนโลยีหุ่นยนต์เคลื่อนที่เข้าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจและพนักงานได้อย่างไร วีรมน ยกตัวอย่างการทำงานของ “พลายเอจีวี” หรือ รถ forklift แบบไร้คนขับ ที่นอกจากจะมีการติดตั้งระบบ Navigator แบบอัตโนมัติ ใช้แสงเลเซอร์เป็นตัวนำทาง ซึ่งสามารถกำหนดได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะทำงานบนพื้น ชั้นเก็บสูงหรือสายพานก็ทำงานได้หลายรูปแบบ และยังมีโปรแกรม Fleet Management ที่ช่วยให้รถเลือกเส้นทางที่สั้นและประหยัดเวลาที่สุด ทั้งยังสามารถทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลการส่งกับระบบคลัง และการผลิต รับ-ส่ง เก็บข้อมูลการทำงาน และสถานะสินค้าได้ในเวลาเดียวกันแบบ เรียลไทม์ ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และแม่นยำมากยิ่งขึ้น
จากก้าวแรกถึงโควิด-19 บทพิสูจน์ของความมุ่งมั่น
มาถึงวันนี้ วีรมน อดภูมิใจไม่ได้ที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคและความท้าทายจนพาธุรกิจเข้าใกล้ความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อย การที่มีลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความไว้วางใจ และ มีลูกค้าที่กลับมาใช้บริการซ้ำ ล้วนเป็นบทพิสูจน์ว่าธุรกิจมาถูกทาง และตอบโจทย์กับความต้องการของตลาด สามารถแก้ Pain Point ของลูกค้าได้จริง
“อย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ธุรกิจเราเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะโควิด -19 เป็นตัวเร่งให้ลูกค้าตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องใช้หุ่นยนต์เคลื่อนที่มากขึ้น ยิ่งช่วงโควิด-19 ที่คนงานต้องกักตัวหรือเข้าพื้นที่ไม่ได้ ขณะที่โลกธุรกิจไม่ได้หยุดนิ่ง ต้องเติบโตต่อไป ดังนั้น พอเราเห็นดีมานด์ที่เข้ามาแล้ว ก้าวต่อไปของเรา คือ ทำให้หุ่นยนต์ขนส่งสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง ในราคาที่เข้าถึงได้ เพื่อที่เทคโนโลยีดังกล่าวจะได้สามารถเข้ามาเอื้อประโยชน์และยกระดับขีดความสามารถของภาค อุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันได้อย่างแท้จริง”
เคล็ด(ไม่)ลับ สู่เส้นทางความสำเร็จ
สุดท้ายนี้ ถ้าถามว่า อะไรคือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ Gensurv Robotics ประสบความสำเร็จ วีรมนบอกว่า มาจาก Passion ที่เชื่อมั่นในคุณค่าและความจำเป็นของหุ่นยนต์เคลื่อนที่ ว่าจะสามารถตอบโจทย์โลกธุรกิจในอนาคต แม้ระหว่างทางจะเจอกับปัญหาและความล้มเหลวจนมีท้อบ้าง แต่ไม่เคยคิดจะถอย ให้กำลังใจทีมงานด้วยการ ไม่มองข้ามความสำเร็จเล็กๆน้อยๆ ระหว่างทาง เพราะต่อให้จะเจอความผิดพลาด อย่างน้อยรางวัลที่ได้กลับมาก็คือบทเรียน
อีกแรงผลักดันสำคัญ คือ การได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ทั้งเรื่องเงินทุน กิจกรรมการประชาสัมพันธ์บริษัทผ่านสื่อต่างๆ การสร้างเครือข่ายของสตาร์ทอัพด้วยกัน รวมถึงการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือกับคู่ค้า ทำให้สามารถต่อยอดโมเดลการทำธุรกิจได้สมบูรณ์มากขึ้น
อดทน–คิดให้รอบด้าน–พร้อมปรับตัว สูตรสำเร็จของสตาร์ทอัพ
“สิ่งที่อยากฝากถึงสตาร์ทอัพ คือ ชีวิตสตาร์ทอัพเป็นอาชีพที่มีข้อเรียกร้องสูงกว่าอาชีพอื่น แต่ก็เป็นเวทีที่ดีสำหรับการพัฒนาตัวเอง สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีความอดทน ฝึกวิธีคิดให้รอบด้าน พร้อมปรับตัวและรับมือกับความล้มเหลวและปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาตลอดเวลา”
รายละเอียดเพิ่มเติม :
https://www.gensurv.com/TH/home.html
https://www.facebook.com/gensurv
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)