‘วันฉัตรมงคล: วันเฉลิมพระเกียรติและพระราชพิธีสำคัญแด่พระมหากษัตริย์ไทย’
เรื่อง: นรวัชร์ พันธ์บุญเกิด
ภาพประกอบ: www. phralan.in.th / หนังสือประมวลภาพประวัติศาสตร์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
คำว่า “ราชาภิเษก” เป็นคำภาษาสันสกฤต สนธิคำว่า “ราช” และ “อภิเษก” ซึ่งแปลว่า การรดน้ำ รวมคำศัพท์ทั้งสอง แปลว่า “การถวายรดน้ำแด่พระราชา” หรืออีกนัยหนึ่งคือ พระราชพิธีในการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์
“พิธีราชสูรยะ”ที่มาของ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้เป็นพิธีเก่าแก่ตั้งแต่สมัยพระเวท (ประมาณว่า 1,500 – 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เริ่มต้นที่การเลือก “ราชา” (Raja) เป็น “ผู้นำ” ในการรบพุ่ง ก่อนจะผันตัวเองเป็นผู้ปกครองในฐานะ “กษัตริย์” ในเวลาต่อมาได้ถูกยกให้อยู่เหนือบุคคลธรรมดาทั้งหลาย ตามคติ “เทวราชา” (Deva Raja) ถืออาญาสิทธิ์ประดุจ “เทพเจ้าอวตารลงมาเป็นกษัตริย์”
หน้าที่ของกษัตริย์ในสมัยโบราณมิเพียงแต่ปกป้องประชาชนจาการรุกรานของศัตรูเท่านั้น และต้องเป็นแบบอย่างในการเชิดชูความยุติธรรมในสังคม ส่วนฝ่ายพราหมณ์นอกจากเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทั้งหลายแล้ว ยังมีหน้าที่เป็นปุโรหิตถวายแนะนำแก่กษัตริย์อีกด้วย
คราใด เมื่อแผ่นดินว่างพระมหากษัตริย์ลง เหล่าเสนาอำมาตย์ทั้ง ๔ วรรณะ ได้แก่ พราหมณ์, กษัตริย์, แพศย์, ศูทร จะทำการคัดเลือกผู้เหมาะสมขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อไป และผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องทำ “พิธีราชสูรยะ” (แปลว่า การบูชาบวงสรวงของพระราชา) ซึ่งเป็นพิธีสำคัญในการประกาศพระเกียรติยศของกษัตริย์พระองค์ใหม่ ทั้งนี้ในชมพูทวีปสมัยพระเวทนั้นประกอบด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิม และชนใหม่ที่เข้ามาคือ พวกอินโด-อารยัน เมื่อชนสองฝ่ายเข้าร่วมในพิธีกรรมนี้ ย่อมเป็นการชักจูงให้มีไมตรีต่อกัน เกิดความสงบ ระงับความแตกร้าว ไม่เฉพาะแต่ชนในชาติเท่านั้น ชนต่างชาติ ต่างภาษาก็ได้มีโอกาสมาพบปะ รู้จัก และเชื่อมสัมพันธไมตรีต่อกัน ในอดีต หากประเทศใดไม่มาร่วมพิธีจะถือว่าแข็งเมืองเป็นปรปักษ์ ซึ่งประเทศอินเดียเคยเป็นต้นแบบของพิธีราชสูรยะ
เส้นทาง “มุรธาภิเษก” จากอินเดียถึงไทย
มุรธาภิเษก มาจากคำว่า “มุรธ” หมายถึงหัวหรือยอด , “อภิเษก” หมายถึง การรดอันยิ่งใหญ่ ดังนั้น “มุรธาภิเษก” หมายถึง การรดน้ำอันศักดิ์สิทธิ์เหนือศีรษะ และหมายถึงน้ำพระพุทธมนต์และเทพมนตร์ สำหรับถวายพระมหากษัตริย์เพื่อสรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือพระราชพิธีอื่น ๆ
หนังสือ“ประเพณีวังและเจ้า“ ของ หม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป. มาลากุล ๒๔๙๒ ว่า “เมื่อจะทำน้ำพระมุรธาภิเษก เจ้าพนักงานตั้งพระพุทธรูปเป็นประธานพร้อมด้วยโต๊ะหมู่เป็นแท่นที่บูชา และตั้งภาชนะสำหรับใส่น้ำพระมุรธาภิเษกมีพานแว่นฟ้ารองรับภาชนะดังกล่าวเรียกว่า พระครอบมุรธาภิเษก ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ ด้านนอกหุ้มทองลงยา พระครูปริตรไทย ๔ รูปและพระครูปริตรมอญ ๔ รูป เป็นผู้สวดพระปริตร”
ตามตำราโบราณของพราหมณ์นั้น กล่าวถึง “ปัญจมหานที” คือ แม่น้ำสายสำคัญทั้ง 5 สายในดินแดนชมพูทวีป กล่าวว่าไหลลงมาจากเขาไกรลาส ที่สถิตแห่งพระศิวะ (พระอิศวร)พระเป็นเจ้า “ปัญจมหานที”ได้แก่ แม่น้ำคงคา, แม่น้ำยมุนา, แม่น้ำมหิ, แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู
นอกจากนี้ในแต่ละคัมภีร์ของพราหมณ์ที่แต่งขึ้นมีรายละเอียดของ “น้ำ” แตกต่างกันไปในการประกอบพิธีบรมราชาภิเษก เช่น คัมภีร์ศตปถพราหมณะเรียก “พิธีราชสูรยะ” , คัมภีร์ไอตเรยพราหมณะ เรียก “พิธีปุนรภิเษก” และ “พิธีไอนทรมหาภิเษก”
น้ำชนิดต่างๆที่ใช้ในประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอาจจะคล้ายหรือแตกต่างกันไปบ้างตามแต่ละคัมภีร์ แต่ทั้ง ๓ พิธีนี้ ล้วนมีจุดประสงค์เพื่อเสริมอำนาจ บารมีให้กับพระมหากษัตริย์ ผู้ปกครองบ้านเมือง สร้างการยอมรับในหมู่ประชาชนที่แตกต่างกัน รวมถึงการแสดงอานุภาพแก่กษัตริย์ ทูตานุทูตในประเทศอื่นๆที่มาร่วมงาน เพื่อให้ความเป็นราชาธิบดีอันสมบูรณ์ได้ปรากฏแก่โลก
สันนิษฐานว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามคติและประเพณีแบบไทย น่าจะได้อิทธิพลต้นแบบการสืบทอดมาจากอินเดีย ด้วยมีหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน เว้นแต่รายละเอียดบางอย่างเท่านั้น
“พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ในประเทศไทย
พิธีบรมราชาภิเษกเป็นพิธีสำคัญของทุกประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุข เป็นการเฉลิมพระเกียรติยศแด่กษัตริย์พระองค์ใหม่ เพื่อแต่งตั้งพระเจ้าแผ่นดิน หรือ พระราชาธิบดี พิธีดังกล่าวในประเทศไทยได้ผสมผสานระหว่างศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ นับตั้งแต่การตั้งราชธานีกรุงสุโขทัย เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ธรรมเนียมเดิมของประเทศไทย พระมหากษัตริย์พระองค์ใดขึ้นครองราชย์ ต้องจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกภายใน ๗ วัน หรือถ้าจะล่าช้าต้องไม่เกิน ๑ เดือนเศษ และกระทำก่อนที่จะถวายพระเพลิงพระบรมศพกษัตริย์พระองค์ก่อน แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวการจัดพระราชพิธีดังกล่าวได้ทอดเวลาออกไปจนเสร็จสิ้นงานถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ ๕
กรุงสุโขทัย
กษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วง กรุงสุโขทัยทั้ง ๙ พระองค์นั้น ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีว่า มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพียง ๒ พระองค์เท่านั้นคือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไทย)
เมื่อพ่อขุนบางกลางหาว ครองเมืองสุโขทัย พ่อขุนผาเมืองได้ทำการอภิเษกให้พระสหายโดย ๑. ใช้น้ำอภิเษกจาก “เขาลิงคบรรพต” ข้างบนวัดภูใต้ นครจำปาศักดิ์ ๒. มอบพระนามที่พระองค์ได้จากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ให้ เรียก “กมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ ” (กมรเตงอัญ เป็นภาษาเขมรโบราณ ใช้นำหน้าพระนามกษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูง หรือพระมหาเถร) ๓. พระขรรค์ชัยศรี (ภาษาเดิม ใช้ “ขันไชยศรี”)
สามสิ่งนี้ คือ เครื่องประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งแรกของไทย
ต่อมาในสมัยพระยาลิไทย กษัตริย์ในลำดับที่ ๖ ของกรุงสุโขทัย ได้เปลี่ยนการเรียกพระนามเป็น “พระมหาธรรมราชา” แทน “พ่อขุน”
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ในสมัยพระยาลิไทยมี มงกุฎ , พระขรรค์ชัยศรี และเศวตฉัตร
พระนาม “สุริยพงศรามธรรมราชาธิราช” ของพระองค์มีความหมายว่า “วงศ์พระรามอันยิ่งใหญ่ ผู้เป็นพระเจ้าอันทรงธรรม” พระนามดังกล่าวมีความหมายเกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งได้อิทธิพลความเชื่อจากอินเดียเป็นรากฐาน ทรงพระราชนิพนธ์ “ไตรภูมิพระร่วง” วรรณกรรมที่ถือว่า เก่าแก่ที่สุดเล่มหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย อันว่าด้วยเรื่อง “สวรรค์ โลก และนรก”
กรุงศรีอยุธยา
ประเทศไทยมีคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกัน และได้ยินเสมอคือ ราชาภิเษกและปราบดาภิเษก
ความรุ่งเรือง ๔๑๗ ปีของกรุงศรีอยุธยา มีกษัตริย์ทั้งสิ้น ๓๓ พระองค์ มีการประกอบ “พระราชพิธีราชาภิเษก” และ “พระราชพิธีปราบดาภิเษก” รวมทั้งสิ้น ๑๔ พระองค์
ราชาภิเษก หมายถึง พระมหากษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ถูกต้องตามกฎมณเฑียรบาลมีทั้งสิ้น ๙ พระองค์คือ ขุนวรวงศาธิราช, สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช, สมเด็จพระเอกาทศรถ, สมเด็จพระเชษฐาธิราช, สมเด็จพระอาทิตยวงศ์, สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ (สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ), สมเด็จเจ้าฟ้าอภัยทศ, สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด, ในพงศาวดารพม่า เรียก พระสุรประทุมราชา) และสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ (สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์)
คำว่า “ราชาภิเษก” ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา มีข้อความเล่าถึงแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ ตอนหนึ่งว่า “มีพระราชโองการตรัสสั่งพระมหาราชครู พระครูบุริโสดมพรหมพฤฒาจารย์ ให้จัดแจงการพระราชพิธีราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร”
ปราบดาภิเษก หมายถึง พระมหากษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์โดยการช่วงชิงอำนาจ โดยที่พระองค์ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์มีทั้งสิ้น ๕ พระองค์คือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ, สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง, สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) , สมเด็จพระมหาบุรุษ (สมเด็จพระเพทราชา) และ พระมหาธรรมราชา (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)
ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ตอนหนึ่งว่า “ถึงวันศุภวารดิถีพิชัยมงคลมหามหุติฤกษ์ จึงกระทำการพิธีปราบดาภิเษก” เป็นต้น
กรุงธนบุรี
หลักฐานที่เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงธนบุรีมีไม่มากนัก
โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี ของ “นายสวน” มหาดเล็กของพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งแต่งเมื่อวันอังคาร เดือน ๙ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๓ พุทธศักราช ๒๓๑๔ ได้กล่าวถึงการปราบดาภิเษกของพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า
“ใครอาตมตั้ง ตัวผจญได้ฤา
พ่ายพระกุศลพล ทั่งด้าว
ปราบดาภิเษกบน ภัทรบิฐ บัวแฮ
สมบัติสมบูรณ์ด้าว แด่นฟ้ามาปาน”
กรุงรัตนโกสินทร์
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในกรุงรัตนโกสินทร์ที่ผ่านมาทั้งสิ้นรวม ๑๑ ครั้ง ดังนี้
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ๒ ครั้ง (พ.ศ. ๒๓๒๕ , พ.ศ. ๒๓๒๘)
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ๑ ครั้ง (พ.ศ. ๒๓๕๒)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ๑ ครั้ง (พ.ศ. ๒๓๖๗)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๑ ครั้ง (พ.ศ. ๒๓๙๔)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒ ครั้ง (พ.ศ. ๒๔๑๑, พ.ศ. ๒๔๑๖)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒ ครั้ง (พ.ศ. ๒๔๕๓, พ.ศ. ๒๔๕๔)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ๑ ครั้ง (๒๔๖๘)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตก่อนทรงรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช ๑ ครั้ง (พ.ศ. ๒๔๙๓)
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกระหว่างวันที่ ๔-๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ห่างจากรัชกาลที่แล้วถึง ๖๙ ปี
เหตุผลที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง
จะเห็นว่า ในรัชกาลที่ ๑ , ๕ และ ๖ มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒ ครั้ง เหตุผลเป็นดังนี้
หลังกรุงธนบุรีเป็นราชธานีได้ ๑๕ ปี ก็เกิดเหตุวุ่นวายในพระนคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยาพระมหากษัตริย์ศึก ทำการปราบปราม แล้วทรง “ปราบดาภิเษก” เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นองค์ปฐมกษัตราธิราชแห่งราชวงศ์จักรีมีพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” โปรดให้สร้างพระบรมมหาราชวัง เรียกสั้นๆตามที่รู้จักกันว่า “กรุงเทพมหานคร” เมื่อราชธานีแล้วเสร็จ จึงโปรดให้มี “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ตามแบบแผนและประเพณีโบราณ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ปรากฏในพงศาวดารว่า ปีจุลศักราช ๑๑๔๕ ทรงบัญชาให้เจ้าพระยาเพชรพิชัย, เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี พระยาราชสงคราม และพระยาอุทัยมนตรี ซึ่งทั้ง ๔ ท่านเคยเป็นขุนนางสมัยอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าอุทุมพรมาก่อน โปรดให้ช่วยกันเรียบเรียง “ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยา” (หาอ่านได้จาก “ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๙)และสร้างเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ขึ้นเพื่อใช้ในงานราชาภิเษก ทั้งเบญจราชกกุธภัณฑ์และตำรานี้ได้เป็นต้นแบบในรัชกาลถัดๆมาจนถึงปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๑๑ ขณะนั้นมีพระชนมมายุเพียง ๑๕ พรรษา ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ และมีสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการ เมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ ๒๐ชันษา จึงมีการกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๑๖
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๓ นั้น ยังอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ตามราชประเพณี ดังนั้น พิธีในครั้งแรกจึงไม่มีงานรื่นเริง เฉลิมฉลอง แห่เลียบพระนคร แต่เป็นเพียง “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร” ตามโบราณราชประเพณีเท่านั้น ในปีถัดมา เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๔๕๔ ได้จัดพิธีเฉลิมฉลอง เรียกว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช” (หาอ่านได้จาก “จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรารมาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”)
น้ำสรงพระมุรธาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทย
อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่า พระราชพีธีบรมราชาภิเษกของพ่อขุนศรีอินทรทิตย์ ใช้น้ำอภิเษกจาก เขาลิงคบรรพต ข้างบนวัดภูใต้ นครจำปาศักดิ์
สมัยกรุงศรีอยุธยา ใช้น้ำจากสระสำคัญ ๔ แห่งแขวงเมืองสุพรรณบุรีคือ สระเกษ, สระแก้ว, สระคา, สระยมนา
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ เพิ่มน้ำจากแม่น้ำสำคัญของประเทศอีก ๕ สายเรียกว่า “เบญจสุทธิคงคา”อันได้แก่ แม่น้ำบางปะกง, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำราชบุรี, แม่น้ำเพชรบุรี อนุโลมแทน “ปัญจมหานที” ในตำราฝ่ายพราหมณ์
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ เพิ่มน้ำจากแม่น้ำ ๕ สายในประเทศอินเดีย ซึ่งเรียกว่า “ปัญจมหานที” (แม่น้ำคงคา,แม่น้ำยมนา,แม่น้ำมหิ, แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู) รัชกาลที่ ๖ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระราชมณเฑียร ทรงใช้น้ำเช่นเดียวกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และครั้งที่ ๒ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ทรงใช้น้ำจากแม่น้ำสายสำคัญของมหานครโบราณ ๗ แห่ง และตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปตั้งเสกในวัดต่างๆอีก ๑๐ แห่ง รวม ๑๗ แห่ง
รัชกาลที่ ๗ ทำพิธีเสกน้ำเพิ่มจากที่ทำในรัชกาลที่ ๖ อีกหนึ่งแห่ง คือ พระลานชัย เมืองร้อยเอ็ด ตั้งเสกที่พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพียง ๒ วันคือ วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นวันจุดเทียนชัย และวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ คือวันประกอบพิธีบรมราชาภิเษก ได้ทำพิธีเสกน้ำจากภูมิภาคต่างๆทั้ง ๑๘ แห่งเท่าสมัยรัชกาลที่ ๗ เปลี่ยนจาก “มณฑล” เป็น “จังหวัด” และเปลี่ยนสถานที่จากเดิม ๒ แห่ง คือเปลี่ยนจาก “วัดมหาธาตุเมืองเพชรบูรณ์และพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่” เป็น “บึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด และพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน”
ในแต่ละจังหวัดประกอบพิธีระหว่างวันที่ ๑๘-๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ โดยมีราชบุรุษไปพลีกรรมตักน้ำ ณ สถานศักดิ์สิทธิ์ แล้วนำเข้ามาในมณฑลพิธี ประธานสงฆ์ประกาศเทวดา จุดเทียนชัย พระสงฆ์ ๓๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์ แล้วผลัดเปลี่ยนกันสวดภาณวาร และเมื่อตั้งบายศรีเวียนเทียนสมโภชแล้วจัดส่งเชิญมายังกรุงเทพฯ
การถวายน้ำอภิเษกในรัชกาลต่างๆ รัชกาลที่ ๑ – ๓ พราหมณ์เป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก น้ำพระมหาสังข์และน้ำเทพมนต์ รัชกาลที่ ๔-๗ ราชบัณฑิต เป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก พราหมณ์พิธีถวายน้ำพระมหาสังข์ และพราหมณ์พฤฒิบาศถวายน้ำเทพมนต์ และรัชกาลที่ ๙ สมัยประชาธิปไตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติ เป็นที่ปลาบปลื้มปีติยินดีของพสกนิกรโดยทั่วกัน มีกำหนดพระราชพิธีเป็น ๓ ช่วงคือ
๑. พระราชพิธีเบื้องต้น ประกอบด้วย การเตรียมน้ำอภิเษก การจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร ระหว่างวันที่ ๖-๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๒
๒. พระราชพิธีเบื้องกลาง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก กำหนดวันที่ ๒-๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
๓. พระราชพิธีเบื้องปลาย คือ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไปยังวัดอรุณ ในปลายเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
พิธีทำน้ำอภิเษก
ในการพระราชพิธีราชาภิเษก ต้องเตรียมทำน้ำอภิเษก โดยทำพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักร จำนวน ๑๐๗ แห่งตามโบราณราชประเพณี และทำพิธีพร้อมกันในวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอารามสำคัญประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด ๗๖ แห่ง ในวันที่ ๘ เมษายน และเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษกในวันที่ ๙ เมษายน จากนั้นทุกจังหวัด เชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์จากจังหวัดมาตั้งไว้ในอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อเสกน้ำอภิเษก ประกาศชุมนุมเทวดา ทำน้ำเทพมนตร์ เจริญพระพุทธมนต์ทำน้ำพระพุทธมนต์ รวมกับน้ำอภิเษกของกรุงเทพมหานคร (จากหอศาสตราคม พระบรมมหาราชวัง) ในวันที่ ๑๘ เมษายน และแห่เชิญน้ำอภิเษกของทุกจังหวัดทั้ง ๗๗ จังหวัด รวมทั้งน้ำเบญจสุทธคงคา (แม่น้ำบางปะกง, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำเจ้าพระยา,แม่น้ำราชบุรีและแม่น้ำเพชรบุรี) จากวัดสุทัศนเทพวรารามไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในวันที่ ๑๙ เมษายน เพื่อพราหมณ์ประกอบพิธี
แหล่งน้ำ ๑๐๗ แห่ง (หาอ่านในรายละเอียดเรื่องสถานที่ตั้งแหล่งน้ำ และสถานที่ประกอบพิธีเสกน้ำ ใน หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”)
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ ๔–๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง ซี่งเป็นที่ปิติยินดีแก่ประชาชนทั่วหล้า ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญ และศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่งที่จะต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติ
ความสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับการเตรียม “น้ำพระมุรธาภิเษก” ซึ่งเป็นพิธีในเบื้องต้น และเป็นหนึ่งในหลายส่วนของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตลอดเวลาของสังคมไทยที่ผ่านมาได้เห็นความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของชาติไทย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักอันเข้มแข็ง เป็นหลักชัยที่ตั้งมั่นปกครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรม ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ เป็นศูนย์รวมใจของชาวไทยทั้งชาติ ที่ได้เกิดมาและเติบโตใต้ร่มพระบารมี