“เครือ รพ.พญาไท-เปาโล” เดินหน้า สู่ Digital Healthcare Provider ดูแลสุขภาพทุกไลฟ์สไตล์ ผ่านทุกแพลตฟอร์มอย่างไร้รอยต่อ
เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ทรานสฟอร์มธุรกิจสุขภาพสู่ Digital Healthcare Provider เต็มรูปแบบ ดึงจุดแข็งจากทุกแพลตฟอร์ม พัฒนาระบบการบริการด้านสุขภาพ ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้สะดวก รวดเร็ว ไร้รอยต่อ ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่มได้อย่างครอบคลุม เป็นอีกก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาผสานกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล พลิกโฉมภาพลักษณ์ของการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยให้ก้าวสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
นายศุภกร พะวันนา ผู้อำนวยการสายการตลาดเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล เปิดเผยว่า “ในช่วงตลอดระยะเวลาที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองในช่วงโควิดอย่างจริงจัง การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพทำได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ประชาชนให้ความสำคัญกับสินค้าด้านสุขภาพมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์ต่างต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยเทคโนโลยีดิจิทัลนับว่าเข้ามามีบทบาทและเป็นปัจจัยหลักในการช่วยสนับสนุนต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งในส่วนของเครือโรงพยาบาล พญาไท-เปาโล เล็งเห็นถึงความสำคัญของ Digital Healthcare และนวัตกรรมใหม่ๆ จึงมุ่งพัฒนาสินค้าและบริการเดินหน้าเข้าสู่ Digital Healthcare Provider อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อตอบโจทย์ต่อทุกความต้องการ ทุกไลฟ์สไตล์ และทุกกลุ่มผู้บริโภคให้มีสุขภาพแข็งแรงอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้มีผลสำรวจเรื่องเทรนด์สุขภาพล่าสุด พบว่ากลุ่มคน Gen Y หรือกลุ่มมิลเลนเนียลที่อายุประมาณ 22 – 40 ปี และกลุ่มอายุช่วง 40 – 49 ปี จะให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้นอย่างชัดเจน เพราะอายุมากขึ้นยิ่งต้องดูแลตัวเอง หากสุขภาพไม่ดีอาจมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามมา ส่งผลต่อสุขภาพจิตทำให้ทุกอย่างแย่ไปด้วย ครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล จึงได้มีการนำ Digital Engagement Model เข้ามาปรับใช้ในสินค้าและบริการ เพื่อให้สามารถเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค องค์กรให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูล (Data) ซึ่งเป็นหัวใจหลัก ในการทำ ‘Hyper Personalization’ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลต่างๆ มาประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลของแต่ละบุคคล เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาตรงกลุ่มเป้าหมาย เป็นประโยชน์กับลูกค้ามากที่สุด นอกจากนี้ข้อมูลด้านการรักษาของผู้เข้าใช้บริการ โรงพยาบาลฯ คำนึงถึงการรักษาความมั่นคงปลอดภัย และการเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือ PDPA เป็นสำคัญ เรามีทีมทำ Futuristic Data ที่สามารถนำข้อมูลเชิงบุคคลมาช่วยวิเคราะห์ วางแผนโปรแกรมการดูแลรักษาแบบ Human Touch Service มุ่งเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Healthcare) ลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยทำให้เสียค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ยิ่งได้ข้อมูลมากเท่าไรก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าใช้บริการ ที่จะได้รับคำแนะนำด้านสุขภาพในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค สามารถออกแบบโปรแกรมตรวจสุขภาพ ให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคลได้ เช่น โปรแกรมตรวจสุขภาพ All You Can Check เป็นต้น”
นอกจากนี้ เครือโรงพยาบาลฯ ยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพให้กับกลุ่มคนทำงานในระดับองค์กรต่างๆ เช่น โครงการ Let’s Get Healthy ที่นอกจากให้บริการตรวจสุขภาพให้กับพนักงานแล้วยังมีการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ความจำ การนอน การรับประทานอาหาร ฯลฯ มาวิเคราะห์ประเมินถึงภาวะสุขภาพของพนักงานและช่วยออกแบบโปรแกรมสุขภาพที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล ถือเป็นการยกระดับการดูแลสุขภาพให้พนักงานในองค์กรให้มีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการดูแลสุขภาพพนักงานได้อย่างคุ้มค่า และแม้ว่าเครือโรงพยาบาลฯ จะขับเคลื่อนธุรกิจเข้าสู่ระบบดิจิทัลด้วยการนำหุ่นยนต์ AI แอปพลิเคชันเข้ามาใช้ หากยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องการออกแบบการให้บริการโดยคำนึงถึงเรื่อง Human Touch เป็นหลัก เพราะเชื่อว่า ธุรกิจการให้บริการทางด้านสุขภาพของมนุษย์ต้องเริ่มจากมนุษย์ การออกแบบเส้นทางสุขภาพที่ดีให้กับผู้รับบริการ (Health Journey) ต้องเริ่มจากความเข้าใจของมนุษย์ต่อมนุษย์ คือ บุคลากรทางการแพทย์ทั้ง หน้างานและเบื้องหลังที่เข้าใจและตั้งใจที่จะออกแบบการให้บริการสุขภาพที่ดีนั้นส่งต่อไปยังคนไข้ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ โดยมีเทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนให้เข้าถึงและสะดวกเพิ่มมากขึ้น
นายศุภกร กล่าวต่อไปว่า “เรายังสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคผ่านการใช้ Digital Health Solution Service เช่น ข้อมูลสุขภาพบน Health Content Library ของเครือโรงพยาบาลฯ ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มปัญหาสุขภาพตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล ที่นับว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ของการดูแลสุขภาพของคนไทย ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลการดูแลสุขภาพได้ง่ายและบ่อยขึ้น และจากข้อมูลคลังสุขภาพออนไลน์ของเครือโรงพยาบาลฯ พบว่าสถิติของผู้เข้าอ่านบทความมีจำนวนมากถึง 100 ล้านครั้งต่อเดือน นั่นแสดงให้เห็นว่าคนไทยใส่ใจในสุขภาพเป็นอย่างมาก”
ด้านผลิตภัณฑ์และบริการของเครือโรงพยาบาลฯ พญ.กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี ผู้อำนวยการ ศูนย์พรีเมี่ยมไลฟ์ โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า “ด้านการบริการเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล มีการปรับตัวกันเป็นอย่างมาก จากในอดีตที่แพทย์จะเน้นเรื่องการรักษา แต่ปัจจุบันเราให้ความสำคัญในเรื่องการป้องกัน (Preventive Care) เปลี่ยนจากหมอผู้รักษาคนป่วยเป็น Health Coach ที่จะคอยให้คำแนะนำ และติดตามดูแลใกล้ชิดจนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยออกแบบโปรแกรมดูแลสุขภาพรูปแบบใหม่ที่เน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ได้แก่ All You Can Check ที่จะคอยติดตามภาวะสุขภาพได้ตลอดทั้งปี มีทีมแพทย์ให้คำแนะนำวางแผนการดูแลสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้อย่างตรงจุด การตรวจร่างกายด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ละเอียดและแม่นยำ ลดความเสี่ยงในอนาคตจากโรคต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมี All You Can Shine โปรแกรมตรวจสุขภาพเชิงลึกระดับ DNA ที่ช่วยในการวางแผนสุขภาพอนาคตด้วยเวชศาสตร์ชะลอวัย และ โปรแกรม All You Can Fits ตรวจความสมดุลและสมรรถภาพร่างกายรายบุคคล การปรับพฤติกรรม เพื่อแก้ไขสาเหตุอาการบาดเจ็บของร่างกาย โดยเฉพาะโรคออฟฟิศซินโดรม ที่เป็นกันมากในกลุ่มวัยทำงาน โดยจะมี Health Coach นักกายภาพคอยดูแลให้คำแนะนำ ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมการแพทย์ Urine CTX II ซึ่งเป็นงานวิจัยการเสื่อมสลายข้อเข่าด้วยการตรวจปัสสาวะ ทำให้สามารถรู้ถึงภาวะสุขภาพและวางแผนชะลอความเสื่อมได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้ นอกเหนือจากการออกแบบโปรแกรมสุขภาพเพื่อให้ปลายทางไปสู่ความสำเร็จ ลูกค้ามีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนนั้น สิ่งสำคัญอีกประการคือ การมีส่วนร่วมของผู้ป่วยในการเปลี่ยนแปลงสุขภาพให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการมาพบแพทย์สม่ำเสมอ การดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ หรือตามโปรแกรมอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น และนี่คือวิถีใหม่ในการดูแลสุขภาพร่วมกันในยุคดิจิทัล”
ในขณะเดียวกัน นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล กล่าวว่า “เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโลให้ความสำคัญกับ Digital Healthcare เป็นอย่างมาก หลังจากที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเน้นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและ
แพลตฟอร์ม ควบคู่ไปกับการลงทุนพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อนำ Digital Healthcare มาพัฒนาระบบการให้บริการแก่ผู้รับบริการได้อย่างไร้รอยต่อ ผ่านบริการต่างๆ อาทิ Telecare บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์แบบ Real-Time Video Call บริการเจาะเลือดที่บ้าน บริการจัดส่งยา ช่วยให้เข้าถึงบริการได้จากทุกที่ ง่าย สะดวก ประหยัดเวลา ไม่ต้องมาโรงพยาบาล ช่วยลดค่าใช้จ่าย แต่ยังได้รับการดูแลเหมือนมารับบริการที่โรงพยาบาล และยังมี ‘Health Up’ แอปพลิเคชันที่รวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพ สามารถเข้าไปดูผลตรวจสุขภาพ ความรู้ด้านสุขภาพ การนัดหมายแพทย์ ตลอดจนซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ด้วย ซึ่งแอปพลิเคชันนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดใช้งานมากกว่า 265,000 ราย และมีผู้ใช้บริการทำนัดหมายพบแพทย์ผ่านแอปพลิเคชันแล้วประมาณ 57,000 ครั้งในรอบระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาดูแลลูกค้าระบบประกันสุขภาพ (ประกันสังคม) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 600,000 กว่าคน”
นพ.ยงยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เรามีแผนที่จะขยายบริการดังกล่าวต่อไปในโรงพยาบาลเครือข่ายของกลุ่ม BDMS ด้วยกัน เพื่อนำ Model เหล่านี้ไปขยายต่อ อาทิ รพ.กรุงเทพ สนามจันทร์, รพ.กรุงเทพ ดีบุก เพื่อให้คนในชุมชนได้รับบริการด้านสุขภาพที่สะดวกสบายมากขึ้น และสร้างสุขภาพที่ดีในภาพรวมได้เช่นกัน”