fbpx

รวยรสระรินหอมกลิ่น ‘ชา’: เสน่ห์แห่งการชงชา และสรรพคุณที่น่าสนใจ

เรื่อง: อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์

ผมเชื่อว่าวันนี้หลายคนเริ่มสนใจมาดื่มชากันมากขึ้น  โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ดื่มกาแฟ แต่ทว่าจริงๆแล้วใครๆก็ดื่มได้ครับ ซึ่งอยากจะบอกว่านอกเหนือจากน้ำเปล่าแล้ว ชานั้น คือ ของเหลวที่มีคนดื่มมากที่สุดเป็นอันดับสอง

ชานั้น ก่อนหน้านี้อาจจะดูเป็นเรื่องของคนสูงอายุ ซึ่งมันเป็นภาพลักษณ์ของรุ่นปู่ยายตายาย หรือ อากงอาม่า แต่ทว่าที่มันดูทันสมัยมากขึ้นนั้น ส่วนตัวผมมองว่ามาจากกระแสชาแบบไต้หวัน หรือ แม้ชาไทยใส่นมแบบบ้านเรานี่แหละครับ ที่ทำให้ “ชา” กลับมาอยู่ในกระแสของผู้คนสมัยนี้อีกครั้ง

เอาล่ะ วันนี้ผมขอเขียนถึงชาแบบร่วมสมัยสักหน่อย

ชาในโลกนี้เริ่มจากเมืองจีนครับ ซึ่งคงไม่ย้อนไปไกลมาก แต่จะบอกว่า ชาจีนนั้นเขาแบ่งเป็นห้าชนิดครับ หนึ่งก็คือ ชาขาว ที่ไม่ผ่านการหมักบ่มใดๆ เก็บได้ไม่เกินครึ่งวันแล้วมาทำให้แห้ง จากนั้นก็เก็บเพื่อที่จะชงในแบบเบาๆอ่อนๆ ซึ่งจะได้ความละมุน สำหรับชาขาวที่มีชื่อเสียง คือ ชาเข็มทองที่รสอ่อนแต่ละมุน

ชาในลำดับที่สอง คือ ชาเขียวครับ ซึ่งก็เป็นต้นทางที่ญี่ปุ่นนำไปพัฒนาเป็นแนวของตัวเองอีกหลายแบบ กล่าวโดยสรุป คือ ขาวเขียว คือ ชาที่ผ่านกระบวนการคั่ว หรือ บ่มเล็กๆไม่เกิน 20 % เพื่อให้ความหอมนั้นขึ้นมากหน่อย แต่จะไม่มีกลิ่นลึกมาก เอาเป็นว่า ชาชนิดนี้จะมีความเขียวละมุน และ ของที่ดีจะมีความอูมามิ หรือ มีความคาวสาหร่ายที่เปิดต่อมรับรสนั่นเองครับ ของจีนมีสายพันธ์ดีๆหลายตัว ส่วนญี่ปุ่นพันธ์ดีๆ เขาจะเลือก 2-3 ใบบนที่พรางแสงก่อนเก็บเพื่อให้มันไม่ขม และ กลมกล่อม ซึ่งหลายคนอาจจะรู้จักชาเขียวชนิดนี้ว่า เกียวกุโระ ซึ่งแพงมากๆ

ชาในลำดับสาม เรียกว่าอู่หลง หรือ ชากึ่งหมักครับ เขียนมาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนคงมองออกแล้วนะครับว่า ชาหลักๆแล้วมันถูกเรียกจากความต่างของการหมักบ่มครับ ซึ่งในระดับนี้ความละมุนจะมาเพิ่ม ซึ่งชาที่หมักกลางๆแบบนี้ ถ้าผสมมะลิก็จะเป็นอู่หลงมะลิ หรือ ผสมดอกหอมหมื่นลี้ก็จะเป็นอู่หลงหอมหมื่นลี้ แต่ถ้าปิ้งไฟ ย่างควันหอมๆ ที่ผมชอบจะมีจุ๋ยเซียน เป็นต้น เขียนประมาณนี้ก่อนครับ ไม่งั้นจะยาวเดียวจำไม่ไหวจะไม่สนุกกัน

ชาในลำดับที่สี่ คือ ชาแดง หรือ ถ้ามาทำแบบฝรั่งจะกลายเป็นชาดำ ชากลุ่มนี้ คือ ชารสเข้มๆ จากการหมักนานๆครับ ซึ่งถ้าเป็นชาจีนก็มีหลายตัวที่รสลึกล้ำ แต่จะบอกว่าในลำดับนี้ คือ ประเภทของชาที่อังกฤษ หรือ ฝรั่งเอาไปทำต่อเป็นชาประเภทต่างๆ เช่น ดื่มตอนเช้าเป็นอิงลิช เบรกฟาสต์ หรือ ถ้าไปผสมกับสิ่งอื่นๆก็จะถูกตั้งชื่อต่างกันออกไป เช่น เอิร์ลเกรย์ ก็มักจะเน้นส่วนผสมของ เบอร์กาม๊อต หรือ ผิวมะกรูดนั่นเองครับ  สรุปแล้วชาแดง ชาดำ คือ ชาที่เดินทางได้ไกลไปทั่วโลกครับ และ ไปตะวันตกก็แบบหนึ่ง ไปอินเดียก็จะถูกผสมเครื่องเทศและนม กลายเป็นอีกแบบ ซึ่งแถบเอเชียใต้ดื่มจนเป็นเอกลักษณ์ไปแล้ว ซึ่งถูกเรียกว่า “จาย “นั่นเอง

ชาในลำดับสุดท้าย คือ ผู่เอ๋อ หรือ ผู่เอ่อ แล้วแต่จะเรียกครับ ชาชนิดนี้นอกเหนือจากกระบวนการหมักบ่ม อบไอน้ำ รอแห้ง หมักใหม่ บ่มใหม่หลายๆรอบแล้ว ต้นชาที่เป็นต้นทางของชาประเภทนี้ก็อายุอานามเป็นร้อยปีด้วยครับ ซึ่งมันไม่เหมือนกับภาพไร่ชาที่เป็นต้นเล็กๆที่เราเห็นกันทั่วไป ชาชนิดนี้เก่าแก่ที่สุดในโลก และ มีรสชาติที่ลึกล้ำรวมถึงเข้าใจยากสักหน่อยสำหรับมือใหม่ แต่สำหรับคนที่ชอบชาแบบลึกๆแล้ว ประเภทนี้จะมีหลายอย่างที่ดีมากๆ เพราะ เป็นชาคอ หรือ เรียกได้ว่า After taste ดี ที่สำคัญลดไขมันในเลือดได้ดีมากๆ เหมาะสำหรับฟื้นฟูร่างกาย

สรุปอีกครั้งว่าชานั้นแบ่งจากสายพันธุ์ จากนั้นก็มาว่ากันด้วยกรรมวิธี รวมถึงการนำไปใช้ของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน แต่หลักๆแล้วถ้าแบ่งตามวิธีการหมักบ่ม จะจีน จะสากลเขาก็พอจะเทียบกันได้ด้วยหลักการแบบนี้

  • อยากได้อะมิโน อยากลดอายุ ต้านอนุมูลอิสระด้วยชาเขียว
  • อยากได้ความหอมแบบละมุนก็ไปสายอู่หลง
  • อยากได้แนวผสมผสานก็เป็นชาแดงชาดำที่เขาเบลนจนเป็นชนิดต่างๆ
  • ส่วน สายสุขภาพ กระเป๋าหนัก มีอายุสักหน่อย และ ห่วงสุขภาพก็ผู่เอ้อ

จะเห็นได้ว่า แม้จะเป็นชาเหมือนกัน แต่มีสรรพคุณและกระบวนการปรุงก่อนเริ่มดื่มที่แตกต่างกัน ซึ่งทั้งหมดนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นเสน่ห์ที่ทำให้การชงชา เป็นที่ชื่นชอบ และมีเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนใคร เป็นศาสตร์และศิลป์ที่น่าสนใจมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ