Building a Startups from Big Companies: ธุรกิจเล็ก กลยุทธ์องค์กรใหญ่ ทางเลือกใหม่สู่การแข่งขัน
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในเวลาที่ผ่านมา ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจจนเกิดการปรับตัว ขยับรูปแบบ รวมถึงต้องทำความเข้าใจกับการมาถึงของสิ่งใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว ชนิดที่เรียกว่าถาโถมโหมกระหน่ำกันเข้ามาไม่ขาดสาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคสมัยแห่งข้อมูลข่าวสาร ซึ่งการคิดค้นนวัตกรรมหนึ่งอาจกลายเป็นจุดพลิกผันสำคัญ ที่เปลี่ยนกระบวนทัศน์และความเข้าใจของผู้คนจากหน้ามือเป็นหลังมือกันเลยทีเดียว
และแน่นอนว่า สำหรับ ‘องค์กรขนาดใหญ่’ ที่มีรูปแบบการดำเนินงานตายตัว มีกรอบระเบียบแบบแผน ต่างได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลง บางองค์กรรับมือทันทวงที ในขณะทีบางองค์กรก็ไม่ทันตั้งตัว
แต่การเปลี่ยนแกนหลักขององค์กรหรือบริษัทขนาดใหญ่ทั้งองคาพยพ เพื่อสอดรับกับการเลื่อนไหลของความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่าย และถ้ากระทำโดยไม่ระมัดระวัง อาจจะกระเทือนถึงรากฐาน และสร้างความเสียหาย รวมถึงทำลายข้อได้เปรียบทางด้านการแข่งขันที่สั่งสมมาจนหมดสิ้น
เช่นนั้นแล้ว อีกทางเลือกหนึ่งที่พบเห็นได้ในปัจจุบัน คือการ ‘แตกหน่อ’ ของ ‘บริษัทลูก’ ที่ทำหน้าที่เป็น ‘หัวหอก’ ไปสู่พื้นที่ทางธุรกิจใหม่ ซึ่งมีความคล่องตัว มีอิสระ ภายใต้การกำกับดูแลของ ‘บริษัทแม่’ โดยได้รับการสนับสนุนจากต้นทางในด้านระบบการจัดการ ทรัพยากร จนถึงโอกาสทางความร่วมมือต่างๆ ที่บริษัทสตาร์ทอัพธรรมดาไม่สามารถทำได้
บทสัมภาษร์ในเล่มนี้ เป็นการถ่ายทอดการสนทนาจากGM Talk ในเพจ GM Live ทั้งผู้ดำเนินรายการและแขกรับเชิญทั้งสองท่านร่วมถกกันในประเด็นที่น่าสนใจ เกี่ยวกับธุรกิจเล็ก กลยุทธ์องค์กรใหญ่ ทางเลือกใหม่สู่การแข่งขัน โดยทั้งสองท่านนับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในแวดวงของตัวเองอย่างถึงแก่น
ท่านแรก คุณจิตตินันท์ ชาติสีหราช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โทเคน เอกซ์ (Token X) บริษัทในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ซึ่งอยู่ภายใต้ ‘กลุ่มเอสซีบี เอกซ์’ (SCBX)
ท่านที่สอง ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท AI and Robotics Ventures (ARV) บริษัทลูกในกลุ่ม ปตท.สผ.
ซึ่งการสนทนาในครั้งนี้อยู่ในหัวข้อ Building a Startups from Big Companies ธุรกิจเล็ก กลยุทธ์องค์กรใหญ่ ทางเลือกใหม่สู่การแข่งขัน เป็นการพูดคุยทั้งมุมมอง ทิศทาง ข้อได้เปรียบ จนถึงวิสัยทัศน์ที่ทั้งสองท่านมีต่อการเติบโตของ ‘ลูก’ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ‘แม่’ เพื่อก้าวไปสู่อนาคต ในครั้งนี้
สตาร์ทอัพที่แตกออกมาจากบริษัทขนาดใหญ่ในนิยามของทั้งสองท่าน คืออะไร มีรูปแบบและแนวทางการดำเนินงานอย่างไร
จิตตินันท์ : ในส่วนของ โทเคน เอกซ์ นั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพที่มีจุดเริ่มต้นเหมือนบริษัทอื่นๆ คือมาจากการรวมตัวของคนที่มีความต้องการที่จะสร้างบริการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่สิ่งที่ต่างออกไป คือการเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่มีกรอบนโยบาย ภายใต้บริษัทแม่ คือกลุ่มเอสซีบี เท็นเอกซ์ ค่ะ
ดร.ธนา : ในส่วนของ AI and Robotics Ventures (ARV) นั้น ต้องบอกว่าเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ข้อแรกภาพใหญ่ที่สุด ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อสามปีที่แล้ว แนวคิด ‘การปฏิวัติดิจิตอล’ เช่น Thailand 4.0 เริ่มถูกให้ความสำคัญ นี่คือปัจจัยที่หนึ่ง จากนั้นก็มาพิจารณาว่า ทางกลุ่มผู้บริหาร ปตท.สผ ได้มองความสำคัญในจุดนี้อย่างพ้องต้องกันหรือไม่เป็นปัจจัยที่สอง ถัดมา จึงมาดูในส่วนของ ความต้องการที่จะใช้ทรัพยากรหรือผลิตภัณฑ์จากบริษัทลูกที่เกิดขึ้นใหม่มากน้อยเพียงใด ปัจจัยนี้คือส่วนที่ช่วยในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานอย่างมาก เพราะเมื่อรู้ถึงความต้องการที่จะใช้งาน ก็จะล้อไปกับจำนวนผู้เชี่ยวชาญในสายงาน ขอบเขตในการทำธุรกิจ และปัจจัยสุดท้าย คือศักยภาพในการประยุกต์ให้เกิดผลลัพธ์ ทั้งส่วนของงบประมาณ จนถึงสถานที่ทดสอบ
คิดว่าอะไรเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้จังหวะนี้ เป็นจุดที่เหมาะในการที่จะแตกบริษัทลูกออกมาจากเครือบริษัทใหญ่
จิตตินันท์ : ในยุคสมัยปัจจุบันที่มีโอกาสและความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ซึ่งทำลายกรอบเดิมๆ ของบริการทางการพาณิชและการธนาคาร การลุกขึ้นมาจัดองค์กรให้มีบริษัทลูกด้วยเทคโนโลยีใหม่ นอกจากจะเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของบริษัทแม่ เป็นการหาสมดุลระหว่างการดำเนินธุรกิจเดิม พร้อมกับการก้าวไปยังตลาดใหม่ในทางหนึ่งด้วย
ในแง่วัฒนธรรมองค์กร บริษัทสตาร์ทอัพที่เกิดจากบริษัทแม่ แตกต่างจากสตาร์ทอัพโดยปกติทั่วไปมากน้อยเพียงใด
จิตตินันท์ : ในส่วนของโทเคน เอกซ์ นั้น วัตถุประสงค์เดิม เกิดขึ้นจากความพยายามที่จะขอใบอนุญาตประกอบกิจการธุรกิจใหม่ ภายใต้การควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ซึ่งบริษัทแม่ได้ให้อิสระในการสร้างองค์กรย่อยอย่างเต็มที่ บนจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ เรียกว่ามีเป้าเป็น กรอบ ส่วนวัฒนธรรม การดำเนินงาน หรือกระบวนการ เป็นสิ่งที่ทางโทเคน เอกซ์ สามารถกำหนดได้เอง
ดร.ธนา : ที่กล่าวไปก่อนหน้านั้น ทาง ARV พัฒนาระบบ AI และหุ่นยนต์ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่พอลงลึกมากขึ้น จะเห็นโอกาสและแนวทางใหม่ๆ ที่นอกกรอบอุตสาหกรรม ทาง ARV เองก็ตั้งแนวทางไว้ชัดเจน ที่จะแสวงหาธุรกิจซึ่งนอกเหนือไปจากธุรกิจพลังงาน โดยในปัจจุบัน บริษัทสตาร์ทอัพที่อยู่ในความดูแลของเรา มีอยู่ 7 บริษัท ซึ่งทาง ARV สามารถดำเนินงานได้ตามที่เห็นเหมาะสม
บริษัทสตาร์ทอัพ ที่แตกย่อยออกมาจากองค์กรขนาดใหญ่ ถือว่ามีความได้เปรียบหรือไม่ เมื่อเทียบกับบริษัทสตาร์ทอัพอื่นๆ ทั่วไป
จิตตินันท์ : ย้อนกลับไปถึงบริษัทแม่อย่างเอสซีบี เอกซ์ จะมีบทบาทหลัก 4 ข้อด้วยกันคือ การพัฒนาธุรกิจ สองคือการบริหารทรัพยากร สามคือการผนวกฐานข้อมูลเข้ามาใช้ และสุดท้ายคือ ธรรมาภิบาลภายในองค์กร ทีนี้ ถ้ามองในส่วนของโทเคน เอกซ์ กับบทบาททั้ง 4 ข้อ ในข้อแรก ทางบริษัทก็ตอบโจทย์ในเรื่องของความหลากหลายทางด้านผลิตภัณฑ์และบริการ ข้อที่สอง ก็ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบที่ได้จากองค์กรใหญ่ ที่เราไม่ต้องออกไปหาการร่วมทุนหรือการสนับสนุนจากแหล่งอื่น ทำให้การบริหารจัดการลดความยุ่งยากลงไปได้อีกขั้น ส่วนที่สามคือข้อมูล ทางโทเคน เอกซ์ เองก็ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย ผนวกกับแนวทางที่เข้มแข็งจากบริษัทแม่ ทำให้ผู้ใช้บริการมั่นใจได้ และสุดท้าย ทางองค์กรบริหารภายใต้กรอบของทาง กลต. ที่ได้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ดร.ธนา : ในจุดนี้ ก็ต้องย้อนถึงความได้เปรียบของการเป็นบริษัทลูก ซึ่งมีองค์กรขนาดใหญ่ที่มั่นคงสนับสนุนนั้น มองได้เป็นสองมิติใหญ่ๆ คือ ในเรื่องของระบบระเบียบการทำงาน ที่บริษัทลูกสามารถเอาเบ้าแบบจากบริษัทแม่มาปรับใช้ได้ อย่างระเบียบการบริหารบุคคล การทดลอง การลงทุน ให้เหมาะกับบริบทและความเหมาะสมขององค์กรและการดำเนินธุรกิจขององค์กรขนาดเล็ก ซึ่งการมีหลักการนั้น ดีกว่าการเริ่มต้นจากศูนย์แน่ๆ ส่วนอีกมิติหนึ่งที่ได้เปรียบคือ การมีภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทแม่อย่าง ปตท.สผ ที่มีธรรมาภิบาลที่ดี ที่ส่งต่อมา ทำให้การทำงาน การประสานงานต่างๆ มีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการออกไปเสนองาน มีคนกล่าวถึงความเชื่อมั่นจากองค์กรแม่ ก่อให้เกิดความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ที่ผ่านมา
การแตกย่อยออกมาของธุรกิจสตาร์ทอัพจากบริษัทแม่ ตอบโจทย์ในแง่ธุรกิจด้านใด
จิตตินันท์ : สำหรับในส่วนของโทเคน เอกซ์ นั้น มองเป็นสองส่วนคือ ภาคธุรกิจการเงินเดิมคือกลุ่ม เอสซีบี ที่มีความมั่นคง เป็นรายได้หลัก มีฐานลูกค้าเดิม จากนั้นก็เกิดเป็นกลุ่มธุรกิจย่อยลำดับที่หนึ่ง อย่างกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ ที่มุ่งเน้นในส่วนของสินทรัพย์ดิจิตอล และเตรียมตัวสำหรับความร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ รวมถึงการแตกย่อยของบริษัทลูก ที่จะใช้เทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากยิ่งขึ้น
ดร.ธนา: ในบริษัทที่ทาง ARV ดูแลทั้ง 7 บริษัทนั้น มีอยู่เพียง 2 ธุรกิจ ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้งานของทาง ปตท.สผ โดยตรง แต่อีก 5 บริษัทที่เหลือนั้น ถือว่าเป็นส่วนที่ทางผมมองเห็นโอกาสและศักยภาพในการต่อยอด ที่จะไปได้ไกลยิ่งกว่า ทั้งในส่วนของภาคการเกษตรอัจฉริยะ จนถึงสายสุขภาพ
บริษัทสตาร์ทอัพภายใต้การดูแลขององค์กรขนาดใหญ่ มีข้อจำกัดในด้านอิสระการดำเนินงานบ้างหรือไม่
จิตตินันท์ : ประเด็นนี้ต้องแยกออกเป็นสองประเด็นนพะคะ ส่วนแรกคือส่วนที่มีผู้เชี่ยวชาญคอยช่วยเหลือซึ่งมาจากทางองค์กรขนาดใหญ่ ที่จะช่วยให้บริษัทลูกสามารถออกผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆ ในจุดนี้ ถ้ามีระเบียบปฏิบัติอะไร ก็จำเป็นต้องปฏิบัติ กับส่วนที่สองคือ ธรรมชาติของความเป็นสตาร์ทอัพ ที่สามารถคิดค้นสิ่งใหม่ๆ โดยไม่ต้องยึดติดกับกรอบแบบเดิมๆ
ดร.ธนา : ในแง่นี้ ต้องบอกว่าทางผมพยายามหาจุดที่ลงตัวกับทั้งสองทาง เพราะในความที่เป็นองค์กรขนาดเล็ก ภายใต้การดูแลของบริษัทแม่ย่อมมีระเบียบและข้อปฏิบัติ ซึ่งทาง ARV เอง ก็ได้รับการกำกับโดยคณะกรรมการที่ประกอบขึ้นจากตัวแทน ทั้งจากบริษัทแม่ และตัวแทนอิสระ ที่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องไปถึงบริษัทแม่ทุกครั้ง ช่วยให้เรามีอิสระในการดำเนินงานพอสมควร แต่โดยสรุป การมีบริษัทแม่คอยดูแล ไม่ได้ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินงานใดๆ ตราบเท่าที่องค์กรใหญ่มีธรรมาภิบาล มีการกำกับดูแลที่เหมาะสม มีเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จของการทำงานและธุรกิจที่ชัดเจน ทุกอย่างก็สามารถเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น
มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ที่บริษัทแม่ หรือองค์กรขนาดใหญ่ จะรับบริษัทลูก สตาร์ทอัพ หรือธุรกิจที่แตกต่างจากแนวทางหลักเข้ามาไว้ในความดูแล
จิตตินันท์ : การมองหาโอกาสและธุรกิจใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ได้รับการปฏิบัติโดยตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่จะมองข้ามไม่ได้ คือการพิจารณาในต้นทางของตนเอง ที่เริ่มต้นจากธุรกิจการเงินการธนาคาร ซึ่งการจะเสนอความร่วมมือหรือขยายขอบเขตไปยังพื้นที่ใหม่ ต้องมองว่า จะช่วยในส่วนของภาคธุรกิจเดิมที่มีอยู่ในมือได้มากน้อยแค่ไหน แต่ทั้งนี้ โอกาสที่จะขยายไปยังส่วนธุรกิจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทแม่ ก็ไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว หากแต่ยังต้องพิจารณาในเรื่องของการผนวกความได้เปรียบทางการแข่งขันและการทำธุรกิจ ที่บริษัทแม่จะให้กับบริษัทที่จะไปเสนอความร่วมมือด้วย
ดร.ธนา : มีความเป็นไปได้ครับ ถ้าแผนธุรกิจหลักมีความชัดเจน ซึ่งสำหรับ ARV อย่างที่เรียนไปก่อนหน้านั้น มีแนวทางที่พร้อมจะสนับสนุนธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ได้มองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งในส่วนของธุรกิจที่จะมาเสริมในส่วนของภาคองค์กรของเราให้แข็งแรงมากขึ้น อย่างเช่นเทคโนโลยี หรือส่วนเสริมเพื่อต่อยอดจากธุรกิจที่มีอยู่เดิม และสองคือหาธุรกิจใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ผลลัพธ์จากการแตกแยกย่อยบริษัทลูก มาจากบริษัทแม่ จนถึงวันนี้ เป็นอย่างไรบ้าง
จิตตินันท์ : ในส่วนของโทเคน เอกซ์ ต้องถือว่าเป็นช่วงที่เริ่มต้น และถือว่าใหม่มาก และอยู่ในช่วงการวางโครงสร้างพื้นฐานองค์กร และการขอใบอนุญาตประกอบกิจการจากทาง กลต. ซึ่งถ้าทุกอย่างเสร็จสิ้น ก็จะอยู่ในช่วงที่ดำเนินงานเต็มที่ แต่ทั้งนี้ต้องกล่าวว่า องค์กรได้แรงหนุนส่งจากการมาถึงของตลาดสกุลเงินดิจิตอลที่เติบโตขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก และมั่นใจว่า ในปีหน้าที่กำลังจะมาถึง ก็จะสามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มที่ แต่ทั้งนี้ เรื่องของกรอบระยะเวลา ของบริษัทต่างๆ ภายใต้การกำกับดูแลของ เอสซีบี เอกซ์ จะแตกต่างออกไป ซึ่งโทเคน เอกซ์ ก็มีการกำหนดในจุดนั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนภาคตลาดสกุลเงินและธุรกิจดิจิตอลควบคู่ไปกับบริษัทแม่ด้วย
ดร.ธนา : สำหรับ ARV คงต้องบอกว่า ภายใต้กรอบระยะเวลา 3 ปี มีการเติบโตขึ้นในหลายๆ มิติ ที่เห็นได้ชัดเจนคือในแง่ธุรกิจ ที่รายได้นั้นเติบโตขึ้นมาสองถึงสามเท่า อีกส่วนหนึ่งคือในส่วนของภาคการเงิน ที่มีสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น แต่อีกหลายอย่าง เช่น การบริหารบุคคล ก็เป็นส่วนที่เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจน จากจุดเริ่มต้นที่มีเพียง 4 คน ในวันนี้มี 240 คน และมีแผนที่จะไปให้ถึงเป้าหมายที่ 400 คน อีกทั้งรูปแบบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ AI และหุ่นยนต์ ก็ต้องพิจารณาในเรื่องของพื้นที่สำหรับการทดลองและทดสอบ ซึ่งก็ได้ความร่วมมือจาก ปตท.สผ ในการให้อนุญาตใช้เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ วังจันทร์วัลเลย์ ที่จะเป็นฐานการพัฒนาที่สำคัญ
การเกิดขึ้นของบริษัทสตาร์ทอัพ ที่แยกย่อยมาจากบริษัทแม่ หรือองค์กรขนาดใหญ่ ช่วยกระตุ้นการเติบโตของแวดวงสตาร์ทอัพในวงจรมากน้อยเพียงใด
จิตตินันท์ : คิดว่ามีส่วนในระดับหนึ่ง เพราะถ้าพูดถึงธุรกิจภาคการเงินการธนาคาร โดยเฉพาะภาคการเงินสายดิจิตอล ในความเข้าใจดั้งเดิม คนทั่วไปอาจมองว่าเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยาก แต่ถ้าองค์กรขนาดใหญ่ให้ความสนใจ และลงมาขับเคลื่อนโดยบริษัทลูกเป็นหัวหอก ที่ขับเคลื่อนด้วยนโยบายการกำกับดูแลและธรรมาภิบาล ก็น่าจะช่วยในเรื่องพัฒนาการของตลาดและแวดวงโดยภาพรวมด้วยเช่นกัน
ดร.ธนา : อย่างที่กล่าวถึงเมื่อตอนต้น เมื่อบริษัทแม่มีความแข็งแรง ระบบระเบียบ พื้นที่ทดลอง การจัดสรรงบประมาณ การดูแลทรัพยากรบุคคล ทุกสิ่งเป็นข้อได้เปรียบ ซึ่ง ARV เองก็มีจุดเริ่มต้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการภายในองค์กร และเมื่อพัฒนาเทคโนโลยีไปถึงจุดหนึ่ง ภายใต้ความได้เปรียบนั้น ก็เกิดการเชื่อมโยงไปยังพื้นที่และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยภาพรวม หรืออาจจะทำให้มีการเกิดขึ้นของธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเป็นแนวทางของ ARV และ ปตท.สผ
มาจนถึงตอนนี้ ทั้งสองบริษัทมีผลิตภัณฑ์ หรือบริการใด ที่ผู้สนใจ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้บ้าง
จิตตินันท์ : ความตั้งใจของ โทเคน เอกซ์ คือการให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบดิจิตอล ที่ได้รับการกำกับจาก กลต. เพื่อใช้สำหรับการลงทุน การระดมทุน ส่วนอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง คือสกุลเงินที่สามารถใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้ ทั้งนี้ ทางบริษัทได้พยายามผลักดันในส่วนแรกก่อน เพราะเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้น สามารถนำมาประยุกต์กับแนวทางต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย แต่เรื่องของการเงินดิจิตอลยังถือว่าเป็นสิ่งใหม่มากๆ และธนาคารแห่งประเทศไทย ก็พยายามที่จะกำกับการใช้งานในส่วนนี้ให้เหมาะสม โดยเฉพาะในส่วนของการแลกเปลี่ยนซื้อขาย แต่ส่วนตัวมั่นใจว่า ถ้าหากภาคส่วนต่างๆ ให้ความสนใจ และสนับสนุน ผลิตภัณฑ์การเงินดิจิตอลก็จะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น
ดร.ธนา : นวัตกรรมที่ทาง ARV ได้คิดค้นนั้น ต้องออกตัวว่า อาจจะยังไม่ใช่สิ่งที่สามารถกล่าวหรือทำความเข้าใจด้านการใช้งานได้ในวงกว้างเชิงธุรกิจ คือโครงการนอติลุส อันเป็นโครงการที่สำรวจ และซ่อมบำรุงท่อส่งใต้ทะเล ทดแทนนักประดาน้ำและเทคโนโลยีแบบเก่าที่มีความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งตัวโครงการได้รับการทดสอบ พร้อมใบรับรองคุณภาพกับรางวัลต่างๆ มาแล้วเรียบร้อย แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้น อาจจะยังไม่ใช่นวัตกรรมที่สามารถเผยแพร่ในวงกว้างได้ หรือแพลทฟอร์มในการดูแลสุขภาพและภาคการเกษตร ซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาและกำหนดขอบเขต รวมถึงงบประมาณที่จะใช้ ซึ่งในปีหน้าจะมีความชัดเจนที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
มีความเป็นไปได้สำหรับบริษัทสตาร์ทอัพ ที่อยากให้บริษัทใหญ่เข้ามาช่วยสนับสนุน แม้ว่าจะไม่ได้แตกออกมาจากองค์กรหลัก มาน้อยแค่ไหน
จิตตินันท์ : ส่วนของ เอสซีบี ที่เป็นบริษัทแม่นั้น มีกลุ่มบริษัทที่ดูแลในส่วนนี้อยู่คือ เอสซีบี เท็นเอกซ์ ซึ่งโทเคน เอกซ์ ก็ถือว่าเป็นบริษัทลูกที่อยู่ภายใต้บริษัทในกลุ่มนี้ โดยบริษัทดังกล่าวมีหน้าที่อยู่สองส่วนด้วยกันคือ การลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพใหม่ในฐานะผู้ร่วมลงทุน และอีกส่วนคือส่วนที่จะเปิดรับกลุ่มบริษัทที่มีไอเดียและเทคโนโลยี เพื่อพิจารณาว่า เมื่อตอบตกลงกับไอเดียดังกล่าว จะดำเนินงานหรือเดินหน้าธุรกิจในรูปแบบใด
ดร.ธนา : ทาง ปตท.สผ และ ARV มีรูปแบบการดำเนินงานที่ค่อนข้างยืดหยุ่นสูง และเปิดรับโอกาสในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะผนวกรวมเป็นพนักงานประจำ เป็นพนักงานชั่วคราว การขอทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนา หรือการร่วมทุน ซึ่งในปัจจุบัน ก็ยังคงมีหลายบริษัทที่เข้ามาหา และเชื่อว่าจะมีมากขึ้นในเวลาถัดจากนี้ไป นั่นเพราะในปัจจุบัน เทคโนโลยีคือสิ่งที่ช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่มีขีดจำกัด ซึ่งถ้าสิ่งที่มีอยู่ในมือ มีศักยภาพที่จะกลายเป็นข้อได้เปรียบในด้านการแข่งขัน ทุกอย่างย่อมเป็นไปได้
เช่นนั้นแล้ว รูปแบบของบริษัทสตาร์ทอัพ ที่เกิดขึ้นเอง โดยไม่ได้ผนวกรวม หรือได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่หรือองค์กรขนาดใหญ่ จะหายไปหรือว่าจะยังคงมีอยู่
จิตตินันท์ : คิดว่าสตาร์ทอัพในแบบเดิมก็ยังคงมีอยู่ และจะเกิดขึ้นทั้งในส่วนของธุรกิจ และผู้ลงทุน แต่ในอีกทางหนึ่ง สตาร์ทอัพที่มาร่วมมือกับองค์กรขนาดใหญ่ ก็จะเกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นการเดินขนานในหลากหลายมิติกันไป
ดร.ธนา : เทรนด์การผนวกรวมและร่วมมือระหว่างสตาร์ทอัพกับองค์กรขนาดใหญ่ จะเกิดมากขึ้น ถี่ขึ้น ในเวลาถัดจากนี้ไป เพราะท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และการดิสรัปท์ที่เกิดขึ้น ภาคธุรกิจดั้งเดิมต่างกังวลว่าตนเองจะเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน และจะแสวงหาความร่วมมือจากบริษัทที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
คนรุ่นใหม่ มีแนวคิดที่อยากจะมีธุรกิจหรือสตาร์ทอัพเป็นของตนเอง ในฐานะที่เป็นบริษัทลูกภายใต้การดูแลของบริษัทแม่ มีคำแนะนำอย่างไรที่จะให้กับผู้ที่จะเดินมาในทางนี้บ้าง
จิตตินันท์ : ส่วนตัวคิดว่าสตาร์ทอัพนั้น มีแค่ใจและไฟอาจจะไม่พอ เพราะอัตราความสำเร็จของบริษัทที่เกิดขึ้นมา ท่ามกลางบริษัทจำนวนมากนั้น อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ สิ่งที่บริษัทจะนำเสนอ นวัตกรรมที่คิดค้น ว่าเป็นเพียง ‘หนึ่งเดียว’ ในตลาดหรือไม่ รวมทั้งต้องมองช่องทางในขยับขยาย และเพิ่มโอกาสความสำเร็จต่างๆ อย่างเช่น สตาร์ทอัพที่จับมือกับองค์กรใหญ่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน
ดร.ธนา : คีย์เวิร์ดหนึ่งที่กำกับเอาไว้ในใจอย่างแน่นหนาของตนเองคือ การประสานความร่วมมือ เพราะโลกในปัจจุบัน ทุกสิ่งเชื่อมโยงถึงกัน และไม่มีใครที่จะสามารถทำทุกสิ่งได้ด้วยลำพังเพียงคนเดียว ถ้าค้นหาความร่วมมือที่จะช่วยเพิ่มความได้เปรียบและความแข็งแรงทางด้านธุรกิจ จะช่วยให้ธุรกิจนั้นๆ ไปได้เร็ว และไปได้ไกลกว่า
คำถามสุดท้าย คิดว่าตนเองประสบความสำเร็จแล้วหรือไม่ และมีเป้าหมายที่วางเอาไว้ในใจที่ปลายทางอย่างไร
จิตตินันท์ : ต้องบอกว่า จากจุดเริ่มต้นที่มีเพียงไม่กี่คน มาจนถึงทุกวันนี้ ต้องถือว่ามาได้ไกลพอสมควร และสิ่งที่ตั้งใจเอาไว้อย่างแน่นอนคือ การค้นหาคนที่มีแนวคิดและแรงผลักดันซึ่งไปในทางเดียวกัน รวมถึงการวางระบบการทำงาน การมีบุคลากรที่พร้อม และมีระบบที่พร้อมสำหรับการดำเนินงานอย่างเต็มตัวในปีถัดไป เพื่อไปถึงปลายทางคือการที่คนทั่วไป มีความเข้าใจกับสินทรัพย์ดิจิตอล การลงทุน และการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้น
ดร.ธนา : เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ คือการปลดล็อคศักยภาพด้านการเติบโตของบริษัทสตาร์ทอัพในเครือ และสร้างคุณค่าเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่และสร้างให้ได้ ซึ่งตอนนี้เห็นเป็นโครงคร่าวๆ ไว้แล้ว และน่าจะเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในปีที่จะถึงนี้
คุณจิตตินันท์ ชาติสีหราช
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโทเคน เอกซ์ (Token X)บริษัทในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะพาณิชย์ศาตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระดับปริญญาโทด้าน MSc in Financial Management จากมหาวิทยาลัย Exeter ประเทศอังกฤษ
พร้อมทั้งเคยรับผิดชอบงานในสายงานธุรกิจตลาดทุน มีความรู้ความเชี่ยวชาญในกลุ่มงานธุรกิจตลาดทุนมากว่า20ปี โดยเฉพาะในส่วนของการให้คำปรึกษาทางการเงินในโครงการขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายงาน Credit Product Origination ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในปี 2562
โดยก่อนที่จะร่วมงานกับ Token X ยังได้ดำรงตำแหน่ง Head of Finance & Accounting and Head of Strategic Investment and M&A ที่บริษัท SCB 10X ทำให้มีประสบการณ์ครอบคลุมต่อยอดถึงการลงทุนใน Startups ในหลากหลายธุรกิจและอุตสาหกรรม
ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์
ผู้จัดการทั่วไป AI and Robotics Ventures (ARV) บริษัทลูกของ ปตท.สผ.
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมเคมีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทและปริญญาเอก ในสาขาเดียวกัน จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งรัฐนิวเจอร์ซีย์ (New Jersey Institute of Technology – NJIT) โดยมีงานวิจัยเฉพาะทางในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในการควบคุมกระบวนการการเผาไหม้ (An Application of Artificial Neural Networks for Advanced Process Control of a Combussion System)
เข้าร่วมงานกับ ปตท.สผ. ในปี พศ 2548 ผ่านการดำรงตำแหน่งงานทางด้านเทคนิคและการบริหารหลายตำแหน่ง ในสาขาการจัดการโครงการการก่อสร้าง การพัฒนาเทคโนโลยี และการบำรุงรักษาและการตรวจสอบ นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันและพัฒนาระบบและกระบวนการทำงานทางวิศวกรรม อาทิ ข้อกำหนดทางวิศวกรรมของ ปตท.สผ. (PTTEP Engineering General Specification – PEGS) กระบวนการดำเนินการโครงการ ปตท.สผ. (Project Realization Process – PREP) และกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีของ ปตท.สผ. (Technology Development Process – TDP) ซึ่งระบบดังกล่าวได้ใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลการออกแบบวิศวกรรมของ ปตท.สผ. การบริหารโครงการทุนและโครงการเทคโนโลยีจนถึงปัจจุบัน
และปัจจุบันนี้ยังดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการอาวุโส สังกัดสายงานธุรกิจใหม่ บมจปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) นอกเหนือจากการได้รับมอบหมายให้ปฎิบัติงานสมทบในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ซึ่งดำเนินธุรกิจเพื่อเป็นแพลตฟอร์มของการ พัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ เพื่อรองรับความต้องการของธุรกิจ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ภาคการเกษตร และภาคสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้