บาป 7 ประการในทรรศนะของคานธี มีอะไรบ้าง?
หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแถลงจุดยืนลาออกจาก ส.ส. เนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมืองขัดกับมติของพรรค โดยยกเรื่อง บาป 7 ประการในทรรศนะของคานธี มาอ้างถึง หลายคนอาจจะนึกสงสัยว่า แล้วบาป 7 ประการดังกล่าวที่ว่านั้นได้แก่อะไรบ้าง GM Live มีคำตอบ
หลังจากที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแถลงจุดยืนลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมืองขัดกับมติของพรรค โดยยกเรื่อง ‘บาป 7 ประการในทรรศนะของคานธี’ มาอ้างถึง หลายคนอาจจะนึกสงสัยว่า แล้วบาป 7 ประการดังกล่าวที่ว่านั้นได้แก่อะไรบ้าง GM Live มีคำตอบ
มหาตมะ คานธี บิดาแห่งประชาชาติของชาวอินเดีย เคยกล่าวไว้เมื่อยังมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในวงการเมืองอินเดีย ถึง ‘บาป 7 ประการ’ แม้วันนี้เวลาจะผ่านมานับศตวรรษแล้ว แต่ทุกข้อก็ยังสากลและคงมีไว้ซึ่งความทันสมัยอยู่เสมอ ราวกับท่านเพิ่งพูดไปเมื่อวาน ยิ่งหากพิเคราะห์พิจารณาการเมืองไทยทุกวันนี้ก็ยิ่งรู้สึกน่าเศร้าเพราะเต็มไปด้วยบาปที่คานธีกล่าว โดยบาปทั้ง 7 ประการในทรรศนะของคานธี มีดังนี้
1.เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ
คือการเล่นการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองโดยไม่คำนึงถึงประชาชนหรือไม่ยึดหลักการของเสียงส่วนใหญ่ การเล่นการเมืองที่มีลักษณะส่งเสริมการรัฐประหารแต่ไม่ส่งเสริมการปกครองแบบประชาธิปไตย รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มบางคน
2. หาความสุขสำราญโดยไม่ยั้งคิด
หมายถึง ผู้ปกครองหรือนักการเมือง มุ่งเสพสุข หลงใหลอำนาจอิทธิพลเพื่อสร้างความเกรงกลัว โกงเงินจากประชาชนโดยวิธีที่แยบยล ทำให้ราษฎรไม่ได้รับผลประโยชน์จากผู้ปกครองหรือคนมีอำนาจ เพราะโกงกินจากงบประมาณไปจนหมด แถมยังสร้างภาระหนี้สินแก่ราษฎร
3. ร่ำรวยเป็นอกนิษฐ์โดยไม่ต้องทำงาน
หมายถึง ความร่ำรวยที่ไม่สุจริต ไม่ใช้ฝีมือหรือทักษะในการทำงานหาเงิน แต่หาเงินด้วยวิธีง่ายๆ คือการทำสิ่งผิดกฎหมาย เช่น ค้ายาเสพติด การรีดไถเงินจากประชาชน การใช้อิทธิพลซ่อนเร้นแสวงหา ผลประโยชน์ในทางมิชอบ ฯลฯ
4. มีความรู้มหาศาลแต่ความประพฤติไม่ดี
หมายความว่า ระบบการศึกษาอาจไม่สามารถสอนคนให้เป็นคนดีได้ เพราะการศึกษาส่วนใหญ่เน้นแต่การทำมาหากิน แต่ไม่เน้นการทำประโยชน์เพื่อสังคม ทำให้คนมีความรู้มุ่งแต่หาเงินจนไม่มีเวลาสนใจปัญหาของสังคม ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาน้อยไม่เท่ากับคนที่มีความรู้แต่อาศัยความรู้ทำสิ่งไม่ดี เช่น การคดโกง การเอาเปรียบสังคม การใช้อำนาจที่ไม่สร้างสรรค์ ฯลฯ หรือมีความรู้แต่ไม่ช่วยเหลือผู้ด้อยกว่า
5. ค้าขายโดยไม่มีหลักศีลหลักธรรม
คือ การเอาเปรียบแรงงานจนร่ำรวยโดยไม่ได้นึกถึงความถูกต้อง แทนที่จะเสียสละเพื่อสร้างคนงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี การเป็นเศรษฐีแบบนี้นับวันสังคมก็จะดูแคลน และไม่ให้ความเคารพนับถือ
6. วิทยาศาสตร์เลิศล้ำแต่ไม่มีธรรมแห่งมนุษย์
คือ คิดค้นวิทยาศาสตร์ทำให้มนุษย์ต้องเข่นฆ่ากัน เช่น การคิดระเบิดปรมาณู ผู้นำมาใช้ในสงครามเป็นผู้นำประเทศ แต่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ถึงกับหลั่งน้ำตา เพราะเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่คำนึงถึงเมตตาธรรม ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นอะไรมากมายก็อาจทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายธรรมชาติ
7. บูชาสูงสุดแต่ไม่มีความเสียสละ
หมายถึงบูชาพระ บูชาเทพเจ้า แต่ไม่มีธรรมะในใจ ไม่มีความเสียสละ จึงทำให้สังคมเดือดร้อนเพราะความหลงใหลไปในทางที่ผิด หลงผิดบูชาไสยศาสตร์เพื่อเป็นที่พึ่ง แต่ความเสียสละจะหมายถึงการยินยอมให้โอกาสเพื่อนมนุษย์ได้รับสิ่งดีสูงสุด ซึ่งเป็นวิถีแบบประชาธิปไตย
อ้างอิง : http://www.dhevil.com/crisiswatch/75%207sinofgandhi.pdf