5G Era ‘ตื่นตัว’ แต่อย่า ‘ตื่นเต้น’
เรื่อง : Mr.Lens
ตอนนี้ประเทศไทยน่าจะเรียกว่าเป็นประเทศในกลุ่มแรกๆ ของโลก ที่มีโอกาสได้ใช้คลื่นความถี่ 5G หลังจากที่ กสทช. ได้จัดการประมูลคลื่นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งหลังการประมูลเสร็จสิ้น ก็คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้ 5G ได้จริงในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ของปีเดียวกัน เหตุผลในเชิงที่มีการเร่งรัดการประมูลให้เกิดคลื่น 5G ในไทย หลักๆ คือ ภาครัฐและเอกชนพยายามบอกว่า “5G เป็นเรื่องใหญ่ระดับพลิกประเทศได้” จะช่วยกระตุ้นภาคการลงทุน โดยเฉพาะต่างชาติที่มองว่าไทยเป็นอีกดินแดนที่น่าลงทุน เพราะปราศจากเงื่อนไขต่างๆ ดันเศรษฐกิจปี 2563-2573 เฉลี่ยปีละ 5.68% ของ GDP ประเทศ
นั่นก็เพราะนิยามของ 5G มันไม่ใช่อินเทอร์เน็ตที่จะมารันเพื่อประโยชน์แก่สมาร์ทโฟนอย่างเดียว แต่จะกลายเป็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงเครื่องจักรอุตสาหกรรมได้นับล้านชิ้น
-นิคมอุตสาหกรรมของเราจะมีกำลังการผลิตจากหุ่นยนต์ที่มากขึ้น
-ระบบไฟฟ้าบนท้องถนนของเราจะถูกสั่งการอัตโนมัติ
-โดรนจะสามารถตรวจสอบผลผลิตทางการเกษตรได้แทนการเดินสำรวจพื้นที่เอง
เหล่านี้ และอีกหลายเหล่าที่เกิดจาก 5G สร้างแรงขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรม อันนี้เข้าใจเลย… แต่การประมูล 5G ในไทย ที่ ‘เกิดขึ้นไว’ จนหลายคนก็อาจจะมีการตั้งคำถามว่า ‘บ้านเรา’ พร้อมแล้วจริงหรือเปล่านั้น มันจะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเลยหรือ? อันนี้คือคำถามตัวใหญ่ๆ
เพราะอย่าลืมว่า เมื่ออดีตก่อนที่เราจะมีโอกาสได้ใช้งาน 4G นั้น เราต้องรอจนเทคโนโลยีนิ่งในระดับหนึ่ง ซึ่งก็ใช้เวลาหลายปี และมันก็ทำให้เราเห็นประเทศที่ใช้ก่อนได้รับรู้ว่าข้อดีข้อเสียของมันเป็นอย่างไร
ทว่าตอนนี้เรากำลังจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ใช้งาน 5G ตามประเทศที่เพิ่งเปิดใช้งานจริงอย่างเกาหลีใต้ได้ไม่ถึงปี รวมถึงจีนที่มี Huawei ที่กำลังเร่ขายสิทธิบัตร 5G ซึ่งถ้ามองดูแล้ว การตามก้นเขาไปติดๆ (เราไม่ใช่ผู้พัฒนา เป็นแค่ผู้ใช้) อาจจะไม่มีโอกาสได้รับรู้เลยว่า 5G ที่จะเกิดขึ้นในไทย จะมีความสมบูรณ์พร้อมเพียงใด คุ้มค่าแค่ไหน (ในมุมผู้ประมูล) และในเชิงพาณิชย์จะนำมาปรับใช้ได้อย่างไรบ้าง
เพราะอย่างในเกาหลีใต้ เขามีกิจกรรมเชิงพาณิชย์บางอย่างที่วาง 5G ไว้เพื่อสร้างประสบการณ์เชิงพาณิชย์ เช่น มีการใช้งาน AR / VR กับกีฬาเบสบอล เพื่อดูมุมมองต่างๆ ในสนาม หรือในกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่น ก็เชื่อว่าจะมีการถ่ายทอดสดเป็นระบบ VR หรือมีกล้องในมุมต่างๆ ไว้ในสนาม และผู้ใช้งานจะสามารถเลือกมุมและองศาของสนามได้เอง เช่น ช่องทีวีถ่ายนักฟุตบอลคนหนึ่ง แต่เราสามารถมองนักฟุตบอล อีกคนหนึ่งได้ ซึ่ง 5G จะทำให้สิ่งนี้เป็นจริงได้มากกว่า 4G
แน่นอน, ในมุมของภาคใหญ่ของประเทศ อาจจะเป็นเรื่องเชิงนโยบาย โดยเฉพาะการเร่งรัดให้เกิดขึ้นในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ EEC ก่อนใครเพื่อน ก็เพื่อหวังให้ต่างชาติที่อยากลงทุนเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ใช้โรบอทแห่กันมา
แต่ในมุมของคนแบบเราๆ 5G จะเกี่ยวข้องขนาดไหน อันนี้ยังพูดยาก เพราะถ้าเอาเรื่องใกล้ตัว เช่น การรับชมความชัดของไฟล์วิดีโอแบบสตรีมมิ่ง สิ่งที่ 4G ให้อยู่กับความละเอียดแบบ 720 หรือ 1080p (Progressive Scan) เราก็อาจจะแยกไม่ได้ด้วยตาเลยด้วยซ้ำ แต่ถ้าจะบอกว่าช่วยให้ทราฟฟิกอินเทอร์เน็ตมีความเสถียรขึ้นจนไม่เกิดความรำคาญใจ อันนี้อีกเรื่องหนึ่ง
คำถามจึงเกิดขึ้นว่า ถ้า 5G มา เราจะต้อง ‘ตื่นเต้น’ กับมันขนาดไหน ก็คงอยู่ที่สภาพแวดล้อมมันเร่งให้ 5G มีบทบาทต่อชีวิตเร็วอย่างไร…
-อุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานมีไหม เราต้องเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเลยหรือเปล่า…อย่าเพิ่ง
-แอปพลิเคชันหรือบริการต่างๆ ต้องหันมาพัฒนาโดยใช้ 5G เป็นแกนหลักทันทีไหม…ก็น่าจะไม่ใช่ตอนนี้
-ราคาแพ็กเกจค่าเครือข่ายที่ต้องจ่ายเพิ่มล่ะ คุ้มกับสิ่งที่ได้รับแค่ไหน…ยังไม่จำเป็นมั้ง
-ความครอบคลุมของสัญญาณ ขยายได้ครอบคลุมจริงหลังการประมูลเลยหรือไม่…ฝันไปเถอะ
…ถ้าตอบคำถามเหล่านี้ยังไม่ได้ 5G ก็คงเป็นการ ‘ตื่นตัว’ ที่ยังไม่ควร ‘ตื่นเต้น’ กระมัง…
Part 2 Biztory
5 Revolution ทันสปีดยุคที่ 5
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเริ่มคุ้นเคยหรือได้ยินกับคำว่า ‘5G’ กันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังไม่รู้ว่า 5G คืออะไร และทำอะไรได้บ้าง?
5G คือเทคโนโลยีใหม่ ‘ยุคที่ 5’ ของการสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือ (5th Generation of Cellular Mobile Communications) และจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรอย่างคลื่นความถี่ใหม่ที่มีขนาดแบนด์วิธกว้างมาก เทียบได้กับถนนที่มีเลนขนาดกว้าง และมีหลายเลนกว่า 3G และ 4G ซึ่งมาตรฐานเบื้องต้นของการพัฒนา 5G ทั่วโลกส่วนใหญ่จะถูกพัฒนาบนคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz
อย่างไรก็ตาม การประมูลคลื่น 5G ประเทศไทย กลับมีเพียงคลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบ คิดเป็นปริมาณคลื่นความถี่ 190 MHz ในขณะที่ปริมาณคลื่นความถี่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนา 5G ขั้นต่ำควรอยู่ที่ 100 MHz ขณะที่ปัจจุบัน ผู้ให้บริการเครือข่ายในประเทศไทยมี 3 ราย คิดเลขแบบตรงไปตรงมา หาก AIS, True และ dtac จะสามารถพัฒนา 5G อย่างมีประสิทธิภาพ ก็น่าจะต้องมีปริมาณคลื่นความถี่ 300 MHz (แต่ดูเหมือนจะไม่เพียงพอ)
ทั้งนี้เราข้ามประเด็นการประมูลไป…คำถามคือ 4G ที่มียังไม่เพียงพออีกหรือ? หรือ Wi-Fi ยังเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในชั่วโมงนี้หรือเปล่า?
ใครที่เคยใช้งาน 4G มาบ้าง อาจจะพอรู้ความสามารถในช่วงที่ไม่มีการแชร์สัญญาณจากผู้อื่น ซึ่งจะทำให้วิ่งด้วยความเร็วได้สูงหลายร้อยเมกะบิตต่อวินาที แต่สำหรับ 5G ความเร็วที่เสถียรจะอยู่ในระดับ 1 กิกะบิตต่อวินาที (1Gbps)
เปรียบเทียบง่ายๆ คือ หาก 4G ตอบสนองคำสั่งของเราภายใน 20 มิลลิวินาที เจ้าตัว 5G ก็สามารถตอบสนองคำสั่งเราภายใน 1 มิลลิวินาที (มิลลิวินาทีเท่ากับหนึ่งในหนึ่งพันของวินาที) ซึ่งเป็นความเร็วแบบชั่วพริบตา เพื่อให้สามารถใช้งานเทคโนโลยีที่ต้องการการเชื่อมต่อหนักๆ และรวดเร็วแบบ IoT (Internet of Things) ได้อย่างไม่สะดุด เช่น รถยนต์ไร้คนขับ ที่มีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยความแม่นยำ และการไปถึงจุดหมายปลายทาง
รวมถึงการใช้งาน IoT อื่นๆ ในอนาคตที่ต้องการการทำงานแบบอัตโนมัติ แต่เบื้องต้น ก็ต้องผสานรวมกับ 4G เพื่อช่วยให้การเชื่อมต่อมีประสิทธิภาพสูงสุด
ฉะนั้นความจำเป็นของเทคโนโลยี 5G ที่ถูกพัฒนาขึ้น ก็เพื่อรองรับอนาคตในยุคใหม่ ซึ่งหนึ่งในไฮไลต์ก็คงไม่พ้น IoT รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ นับชิ้นไม่ถ้วนให้สามารถทำงานเชื่อมโยงผ่านการสื่อสารไร้สายได้อย่างไร้รอยต่ออย่างโค-ต-รมีประสิทธิภาพ ลื่นไหล – เร็วรวด – ไม่ขาดตอน
-ในปี 2012 มีการใช้งาน IoT ทั่วโลก 142 ล้านการเชื่อมต่อ
-คาดการณ์ในปี 2020 จะมีเพิ่มเป็น 975 ล้านการเชื่อมต่อ ที่สำคัญการเชื่อมต่อจะใหญ่ขึ้นกว่าเดิม
-การใช้งานข้อมูลผ่านโมบายทั่วโลกเมื่อปี 2014 อยู่ที่ 2.6 EB ต่อเดือน (EB คือ Exabyte = ประมาณพันล้านกิกะไบต์)
-คาดการณ์ในปี 2018 จะเพิ่มเป็น 15.9 EB ต่อเดือน
อินเทอร์เน็ต 5G เร็วกว่า 4G ขนาดไหน?
-ความเร็ว (Speed) ของ 5G จะมากกว่า 4G ในระดับ 10 เท่า
-การตอบสนองต่อสัญญาณ (Latency) ที่ดีกว่า 4G
ประมาณ 30 เท่า
-การเชื่อมต่อ (Connections) ที่รองรับการเชื่อมต่อ
ได้มากกว่าเดิมกว่า 100 เท่า
เปรียบเทียบกับการดาวน์โหลดภาพยนตร์ความยาว 2 ชั่วโมง
3G ใช้เวลา 26 ชั่วโมง4G ใช้เวลา 6 นาที5G ใช้เวลา 3.5 วินาที
-ต่อจากนี้ฝูงโดรนจะกลายเป็นฮีโร่ที่เข้ามาร่วมกันช่วยชีวิตผู้ประสบภัย
การทำงานที่เต็มประสิทธิภาพของรถยนต์ไร้คนขับ เนื่องจากสามารถรับข้อมูลจากสภาพแวดล้อมได้ทันที
-อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ เช่น สมาร์ทวอทช์ นอกจากจะตรวจวัดสัญญาณสุขภาพได้แบบ Real Time แล้ว ยังสามารถแจ้งเตือนแพทย์ได้ทันทีเมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น
ความเร็วที่มากกว่า สร้างโอกาสได้มากกว่า
ทั้งนี้ หาก 5G เกิดขึ้นจริง ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ดังนี้
-สร้างการเชื่อมต่อที่ไม่จำกัด
-สร้างสรรค์นวัตกรรมทางเศรษฐกิจ
-ขยายพลังอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
-สร้าง IoT และปฏิรูปอุตสาหกรรมทั้งทางกว้างและทางลึก
โอกาสทางการทำธุรกิจจะเกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะบนโลกโมบาย ยกตัวอย่างที่จะเห็นได้ชัดที่สุด คงเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริโภคข้อมูล ข่าวสาร อย่างการดู ‘วิดีโอ’ ที่มีบริการ Streaming จะสร้างโอกาสให้รายได้เติบโตขึ้น จากการเพิ่มปริมาณคนดูที่รับชมวิดีโอเอ็กซ์คลูซีฟได้อย่างจุใจในระดับคุณภาพ 4K ทำให้คนกล้าซื้อคอนเทนต์ดีๆ และบริษัทก็สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มได้ง่ายกว่าเดิม
หรือแม้แต่การเลือกสวิตช์ดูคอนเทนต์ขนาดใหญ่แบบสลับไปมา ก็ทำได้อย่างไม่สะดุด ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไม Facebook ต้องเร่งส่งเสริมเรื่องของวิดีโออย่างจริงจัง รวมถึง Netflix กับบริการที่เน้นควบหนังใหม่ๆ ที่มีความพรีเมียมระดับชนโรงเข้ามา
หรือแม้แต่การเลือกสวิตช์ดูคอนเทนต์ขนาดใหญ่แบบสลับไปมา ก็ทำได้อย่างไม่สะดุด ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไม Facebook ต้องเร่งส่งเสริมเรื่องของวิดีโออย่างจริงจัง รวมถึง Netflix กับบริการที่เน้นควบหนังใหม่ๆ ที่มีความพรีเมียมระดับชนโรงเข้ามา
นอกจากนี้ พลังของความเร็วและการเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ต 5G ที่ให้ดูวิดีโอที่มีความคมชัดระดับ 4K หรืออย่างน้อย Full HD 1080P ได้ง่ายๆ แล้วในทางการตลาดยังสามารถผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและความสร้างสรรค์จัดๆ ให้แก่แบรนด์หรือสินค้าได้ง่ายขึ้นด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ใครที่เคยดู YouTube และต้องเจอกับโฆษณา 5 วินาที ที่ไม่ถูก Skip แอบแทรกเข้ามาในคอนเทนต์โปรด ซึ่งยังเป็นช่วงเวลาที่คนรับได้ตามพฤติกรรมของคน นักการตลาด ก็สามารถที่จะทำให้โฆษณา 5 วินาที เป็น 5 วินาทีที่มีค่าที่สุด ถ้าสามารถนำเสนอประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการรับชม
เช่น คุณภาพโฆษณาที่คมชัดของวิดีโอระดับ 4K ได้ ผ่านเรื่องราวที่สุดครีเอทแบบเต็มแม็กซ์ และนั่นก็ต้องใช้ทรัพยากรทางด้านอินเทอร์เน็ตมหาศาลพอสมควร และจะเป็นแบบนั้นได้ ความเร็วของ 5G เท่านั้นที่จะมีส่วนช่วยให้เกิดขึ้น เป็นต้น
สถานการณ์ความพร้อมของ 5G ในประเทศไทย
แล้วตอนนี้ 5G มีการทดสอบในบ้านเราอย่างไรแล้วบ้าง?
ก่อนหน้านี้ เครือข่ายต่างๆ ทั้ง AIS Truemove หรือ dtac ต่างยังไม่มีคลื่นที่เหมาะสมในการพัฒนาเครือข่าย 5G ทำให้แต่ละเครือข่ายต่างต้องทำการขออนุญาตทาง กสทช. เพื่อทดสอบใช้คลื่นในช่วงความถี่ต่างๆ มาปรับใช้ให้เกิดความเข้าใจในการพัฒนาเทคโนโลยีกันก่อน
-AIS เริ่มทำการทดสอบครั้งแรก พฤศจิกายน 2018
-Truemove H เริ่มทำการทดสอบครั้งแรก ธันวาคม 2018
-dtac เริ่มทำการทดสอบครั้งแรก กันยายน 2019
ทดสอบ 5G กับอะไรไปแล้วบ้าง
การทดสอบ 5G ประเทศไทยมีการเริ่มครั้งแรกตั้งแต่ปลายปี 2018 และตลอดปี 2019 ที่ผ่านมา ยกตัวอย่างการทดสอบของ AIS ที่ได้ลองติดตั้งทดสอบกับคลื่นความถี่ [2600 MHz, 3500 MHz] และ mmWave [26 GHz] ที่มีความยากในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
-การทดสอบแขนกลเชื่อมต่อ 5G เพื่อใช้งานในงานอุตสาหกรรม Industrial 4.0
-สามารถสั่งควบคุมและตรวจสอบเครื่องจักร จากระยะไกลได้
-ควบคุมโดรนระยะไกล สั่งงานจากเชียงใหม่ไปยังเครื่องโดรนที่กรุงเทพฯ
-ควบคุมรถยนต์ไร้คนขับระยะไกล จากศูนย์ควบคุมที่กรุงเทพฯ ไปยังรถยนต์ที่หาดใหญ่
ในที่นี้ AIS เคยร่วมทดลองกับทาง SCG โดยให้พนักงานสามารถรีโมทเข้าไปขับรถโฟล์คลิฟท์ ควบคุมจากระยะทางไกลกว่า 130 กิโลเมตรไปแล้วด้วย ซึ่งผลการทดสอบถือว่าให้ผลตอบรับในประสิทธิภาพการใช้งานได้ดี
เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้น จากการผันแปรของ 5G
อย่างที่บอกว่า 5G คงไม่ได้มาทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดีต่อเอ็นยูสเซอร์ทั่วไป แต่มันจะกลายเป็นการพลิกโฉมเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง ทำให้เชื่อกันว่า เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมต่างๆ จะต้องรับมือกับสมการใหม่ต่อการมาของ 5G พอดูกันเลยทีเดียว
-eSIM จะกลายเป็นเรื่องปกติ
ในปี 2020 เทคโนโลยี eSIM จะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคสัมผัสได้ในชีวิตประจำวันในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันอยู่ทุกวัน หรือพูดง่ายๆ ถ้าแต่ก่อนซิมมือถือมันจำกัดอยู่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือแท็บเล็ต แต่ต่อจากนี้ 5G จะทำให้ eSIM เข้ามาเป็นตัวเชื่อมต่อเพื่อควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านได้อย่างง่ายดาย
เช่น ทีวี ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ อื่นๆ ที่สามารถสั่งงานได้ดังใจตามสไตล์เทคโนโลยี IoT และเชื่อกันว่า 5G จะทำให้ eSIM มีการใช้อย่างแพร่หลายในปี 2020 และจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคแบบไม่เคยเป็นมาก่อน ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ได้ง่ายนิดเดียว หรือ IoT พอถึงเวลามีการแจ้งเตือนบนทีวี อีกหน่อยทุกอุปกรณ์จะมีซิมอยู่ในตัว จะไม่มีสายแลน ใช้เน็ตเวิร์กเลย แถมยังสามารถจัดเก็บข้อมูลการใช้งานจริง (Big Data) เพื่อกลับไปสร้างและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้เป็นกาลเฉพาะในมิติต่างๆ ด้วย
ความเป็นหนึ่งเดียวของร่างกายและอินเทอร์เน็ต
สำหรับเทคโนโลยี IoT ส่วนมากจะได้รับการพูดถึงในวงจำกัดอย่างอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ ภาคการผลิต และเกษตรกรรม ซึ่งยังนับว่าไกลตัวผู้บริโภค แต่ในปี 2020 ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะได้สัมผัสเทคโนโลยี IoT มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านสุขภาพและการแพทย์ เพราะเทคโนโลยี IoT จะถูกผนวกเข้าไปกับอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้สามารถจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับร่างกายได้อย่างเรียลไทม์
เช่น ความดันเลือด ปริมาณออกซิเจนในเลือด อัตราการเต้นของหัวใจ หรือแม้แต่การกรน ตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหาระดับอินซูลินในเลือด ซึ่งอุปกรณ์ IoT ที่ได้รับการพัฒนาจะลดเวลาระหว่างการอ่านค่าอินซูลินและการฉีดยาเข้าร่างกาย เพราะกรณีนี้ผู้ป่วยรอไม่ได้ ซึ่งเป็นบทบาทของ IoT ที่ผู้บริโภคอาจจะได้เห็นในเร็ววัน
คัดกรองความถูกต้องของโลกออนไลน์
ปัจจุบัน ข้อมูลบนออนไลน์เกิดขึ้นอย่างมหาศาลในทุกวินาที ขณะเดียวกัน ปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทในการคัดกรองข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง ฉะนั้นความน่าเชื่อถือจะได้รับการยกระดับให้มีความสำคัญยิ่งขึ้น เพราะ AI จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งกว่าเดิม
สมรภูมิ Streaming TV จะลุกเป็นไฟ
หลังจากที่ Netflix ประสบความสำเร็จและได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบความบันเทิงของผู้บริโภคไปอย่างสิ้นเชิง ผ่านรูปแบบสตรีมมิ่ง จนทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์และเจ้าของแพลตฟอร์มรายอื่นอย่าง AppleTV+ และ Disney+ ขอเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจสตรีมมิ่งมากขึ้น ก็จะมีความเป็นไปได้ว่าในปี 2020 วงการสตรีมมิ่งจะแข่งขันกันดุเดือดมากขึ้น
หาก 5G เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้บริโภค การเข้าถึงคอนเทนต์ที่ง่ายขึ้น และประสบการณ์ในการรับชมที่คมชัด หรือเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์แบบเรียลไทม์ที่ดียิ่งขึ้น ตรงนี้อาจจะเพิ่มคู่แข่งใหม่ๆ เข้ามาได้ด้วย ข้อดีคือเราๆ ท่านๆ จะได้รับอานิสงส์จากการสาดโปรโมชั่นแรงๆ ที่มาล่อใจกันทุกรูปแบบ
กำจัดการล่อลวงบนอุปกรณ์สื่อสาร
ในปีที่ผ่านมา Phone Scam หรือภัยที่เกิดจากการหลอกลวงผ่านโทรศัพท์มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งมาในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทิ้ง Miss Call การโทรฯ ออกผ่านหุ่นยนต์ ซึ่งวิธีการเหล่านี้ต่างเป็นเล่ห์กลที่มีจุดประสงค์ชัดเจน เพื่อหลอกล่อเอาเงินจากเหยื่อ แต่เพื่อลดและป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น ในปี 2020 Machine Learning ฉลาดขึ้นจากความเร็วของ 5G และจะเข้ามามีบทบาทเป็นเครื่องมือในการป้องกัน Phone Scam ที่เกิดขึ้น จนค่อยๆ ทำให้ภัยทางไซเบอร์นี้ลดลง
ผู้นำทางเสมือนจริง
ต่อจากนี้การเดินทางจะไม่หลง พูดแบบนี้มันก็ไม่แปลกอะไร เพราะทุกวันนี้ก็ใช้ Google Map กันอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่าความสามารถในการอ่านเส้นทางของคนไม่เหมือนกัน และความเร็วของอินเทอร์เน็ตเดิมก็พร้อมจะหน่วงหรือหลุดไปในพื้นที่ที่มีการใช้ปริมาณอินเทอร์เน็ตกันสูงได้ง่าย แต่เมื่อ 5G มา สิ่งที่เรียกว่า Virtual Navigation จะเข้ามาเติมเต็มตรงนี้
เพราะ Virtual Navigation จะเป็นรูปแบบการนำทาง โดยมีกราฟิกนำทางที่ขึ้นเป็นป็อปอัพ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็มีให้ใช้แล้วใน Google Maps กับฟีเจอร์ AR ที่เปิดกล้องและนำทางได้แบบตลอดเวลา แต่ยังมีข้อจำกัดที่เป็นระบบสำหรับการเดินเท้าเท่านั้น และอย่างที่บอก ข้อมูลพวกนี้ต้องใช้พลังของอินเทอร์เน็ตเยอะมาก แค่ 4G ไม่พอ จะกระตุกแน่ๆ แต่ด้วย 5G ที่จะช่วยส่งข้อมูลได้มากขึ้นมากกว่าเดิม (4G) เป็นล้านเท่า คิดเป็น 50 EB (5 พันล้านกิกะไบต์) การส่งข้อมูลจะไวขึ้น และยังสามารถนำไปใช้นำทางในการขับรถ หรือนำทางไปร้านค้าได้ง่ายๆ และแม่นยำอีกด้วย
หมอเทวดาจากแดนไกล
แนวคิด Tele Medicine หรือการรักษาแบบไม่ต้องพบเจอแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะใช้ได้จริงมากขึ้น เพราะ 5G จะทำให้คุณแค่เปิดจอ ก็รักษากับหมอได้จริงๆ อย่างที่ประเทศจีนตอนนี้มีการพัฒนาระบบแพทย์ทางไกล ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ห่างไกล หรือคนที่ไม่อยากไปโรงพยาบาล หรือแม้แต่ใครก็ตามที่พบเหตุฉุกเฉิน
โดยเราสามารถให้คุณหมอช่วยวินิจฉัย รักษา และผ่าตัดได้ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และดึงข้อมูลจากบิ๊กดาต้า ซึ่งเจ้า 5G จะเข้ามาช่วยส่งข้อมูลต่างๆ ไปให้โรงพยาบาล หรือส่งไปตามแพทย์เฉพาะทางได้ทันที ลดการเหลื่อมล้ำในการรักษาได้ง่าย และยังเป็นการกระจายตัวให้แพทย์ไม่ต้องมากระจุกอยู่ในเมืองหลวง เพราะต่อให้ไปประจำการในสถานีอนามัยต่างๆ พวกเขาก็จะรักษาคุณได้จากทุกที่
โดรนจะไม่ใช่แค่ของเล่น
ทุกวันนี้การใช้งานโดรน ในมุมของการทำงาน จะเป็นโปรดักชั่นของการเก็บภาพต่างๆ จากมุมสูง แต่อนาคต โดรนจะกลายเป็น Smart Drone หรือไม่ใช่แค่กล้องบินได้ แต่จะมีประโยชน์มากกว่านั้นเมื่อ 5G มา เพราะจะทำให้การควบคุมโดรนไร้ข้อจำกัดด้านแนวคิดของ Smart Drone จึงจะมีประสิทธิภาพที่เด่นชัดขึ้น
จุดจบสถาบันสอนภาษา
จริงๆ การมีภาษาที่ 2 หรือ 3 หรืออื่นๆ ยังไงก็คงจำเป็น แต่ถ้าใครที่ไม่มีทักษะด้านนี้ ความรวดเร็วของ 5G ก็จะนำไปสู่การพัฒนาระบบ Real Time Translator ที่จะรวบรวมและดึงเอาความหมายและความจำเป็นด้านภาษามาสู่แอปพลิเคชันแปลภาษาที่จะแสดงศักยภาพได้สูงกว่าเดิม
เนรมิตกิจกรรมเสมือนจริง
แนวคิดของ Hologram Meeting น่าจะถูกใจคนทำงานยุคใหม่ คนข่าว หรือแม้แต่นักปั้นอีเวนต์ เพราะภาพที่สร้างขึ้นมา ซึ่งมีมิติเหมือนของจริงนั้น จำเป็นต้องใช้ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมหาศาล ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้เกิดมิติการทำงานเชิงพรีเซนต์ใหม่ๆ คนทำงานอยู่บ้านสร้างโฮโลแกรมเพื่อนำเสนองานต่อลูกค้าได้เหมือนจริง คนข่าวสร้างกราฟิกที่เหมือนอยู่ในสถานการณ์ข่าวจริง คนทำอีเวนต์สร้างประสบการณ์ให้คนที่มาร่วมงานได้ประสบการณ์ที่มากกว่าความแบนราบของงานแถลงข่าวที่มีแค่เนื้อหา แต่นึกภาพไม่ออก
ร้านค้าไร้พนักงาน
แม้ Amazon Go จะเป็นร้านค้าต้นแบบที่จะช่วยให้คนไม่ต้องพกเงินสด และไม่ต้องเสียเวลาในการต่อคิวจ่ายเงิน แต่เหมือนว่ามันก็ยังไม่พร้อมที่จะเป็นแนวคิดขยายไปสู่วงกว้างมากนัก เพราะลองนึกภาพว่า กล้องจากหน้าเชลฟ์ เซ็นเซอร์ ที่จะคอยจับว่าใครซื้ออะไรไปบ้าง หรือแม้แต่ระบบการคิดเงินและตัดเงิน มันต้องพึ่งพาทรัพยากรอินเทอร์เน็ตพอดู ซึ่ง 4G ได้พิสูจน์แล้วว่า เบื้องต้นยังไม่เพียงพอกับการรองรับลูกค้าปริมาณมากๆ ที่พร้อมจะมาใช้งาน Smart Retail นั่นเอง
รถยนต์ไร้คนขับ
สุดท้าย คงไม่พูดถึงเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะ 5G จะเติมเต็มสิ่งที่มนุษยชาติน่าจะรอคอยอยู่ นั่นก็คือรถยนต์ไร้คนขับ รวมไปถึงรถบินได้ ซึ่งเหล่านี้ต้องใช้ทราฟฟิกความเร็วอินเทอร์เน็ตในระดับที่พลาดไม่ได้แม้แต่เสี้ยววินาทีเดียว ซึ่งเราก็คงเห็นกันแล้วบ้างว่า 4G ไม่สามารถรองรับตรงจุดนี้ได้ หลังเกิดเหตุรถยนต์ไร้คนขับเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาเป็นระยะ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากตัวรถเอง แต่ทราฟฟิกของเน็ตที่ขาดช่วงก็มีมหันตภัยของรถยนต์อัจฉริยะเหล่านี้ ที่จะไม่เกิดหากการประมวลผลไม่เสถียรในระดับเสี้ยววินาที
อันที่จริง สิ่งที่ว่ามา ใช่ว่า 4G จะทำไม่ได้ แต่ทำได้ไม่สุดมากกว่า เพราะกิจกรรมบางอย่าง หากต้องการก้าวไปไกลในโลกที่เทคโนโลยีเกิดใหม่ทุกวันนั้น จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อแบบที่เขาเรียกเก๋ๆ ว่า ‘ไร้รอยต่อ’ นั่นแหละ
การปรับตัวครั้งใหญ่ของภาคอุตสาหกรรม อาชีพเดิม เพิ่มเติมสกิลใหม่
อันที่จริงเทคโนโลยีได้แทรกซึมเข้าไปสู่ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ภาคธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ยังไม่รับผลกระทบเช่นกันจาก 5G / AI / Big Data และการวิเคราะห์ (Analytics) ที่ช่วยผลักดันการตัดสินใจให้ดียิ่งขึ้น จะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะจะส่งผลในภาคส่วนอุตสาหกรรมต่างๆ
อาชีพเก่าหลายๆ อาชีพกำลังจะค่อยๆ หายไป…
1.การเงิน การธนาคาร / ธนาคารในยุค 4G เริ่มทยอยปิดสาขาไปเป็นจำนวนมาก บางรายมีนโยบายจะลดสาขาลงกว่าครึ่งหนึ่งจากเดิมที่มี นั่นเพราะทุกคนรู้แล้วว่าหากเทคโนโลยี 5G มาจริง จะสร้างความเสถียรและความเร็วในการทำธุรกรรมมากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้งานผ่านมือถือกันอย่างแพร่หลาย และในอนาคต 5G ก็จะช่วยให้การทำงานของ AI สูงส่งขึ้น วิเคราะห์ผลลัพธ์ทางการเงินได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ พนักงานสาขามีสิทธิ์ตกงานกันครั้งใหญ่
2.ตลาดแรงงาน / หลายๆ อุตสาหกรรมหนักในอนาคตอาจจะหันไปพึ่งพาหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมมากขึ้น และลดแรงงานคนลง เนื่องจากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่จะทำให้คนหนุ่มคนสาวที่เป็นกลุ่มคนชั้นแรงงาน ต้องปรับเปลี่ยน โดยการเพิ่มความรู้ให้กับแรงงานคนให้มีความรู้ ความสามารถในการดูแลระบบอัตโนมัติแทน
3.เกษตรอัจฉริยะ / อุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทยยังเป็นจุดแข็งของประเทศ เป็นแหล่งผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก เมื่อมีระบบ IoT / AI หรือเทคโนโลยีเข้ามา ภาคเกษตรก็จะต้องปรับตัว โดยการเพิ่มมูลค่าการผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะใช้ IoT มาช่วยปรับสภาพแวดล้อมให้สามารถนำพืชชนิดใหม่เข้ามาปลูก และดูแลเพื่อส่งออกได้ ในรูปแบบของ Smart Farming มากขึ้น
4.โลจิสติกส์ / เมื่อมี 5G จะเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระบบการขนส่ง อย่างตอนนี้เราก็เริ่มเห็นแท็กซี่เดิมๆ เปลี่ยนสภาพไปเป็นการเรียกแกร็บแท็กซี่มากขึ้น และในอนาคตก็อาจจะมีการใช้คาร์แชร์ริ่ง ตามมา ขณะเดียวกันในการขนส่งสิ่งของหรือพัสดุ ก็จะช่วยให้โดรนมีประสิทธิภาพในการส่งระยะไกลเกินขีดจำกัดอีกด้วย
5.วิทยาการทางการแพทย์ / เทคโนโลยีใหม่ในการรักษาทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การผ่าตัดแบบสื่อสัมผัส ที่ทำให้หมอ พยาบาล สามารถตรวจรักษาคนไข้ทางไกลได้ คนไข้จะลดการเดินทางไปพบแพทย์ พบพยาบาลลง
6.วิถีพนักงาน / ที่ประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มนำระบบ Telework มาใช้ การทำงานที่บ้าน สามารถส่งงาน ส่งข้อมูลให้หัวหน้างานได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ออฟฟิศในการทำงานอีกต่อไป การทำงานที่บ้านก็สามารถทำงานได้เหมือนเดิม ทำให้โครงสร้างของสังคมในการทำงานต้องมีการปรับตัวอาคารที่เปิดให้เช่าเป็นออฟฟิศ จะต้องมีการปรับตัว เพราะทุกคนจะอยู่ทำงานที่บ้านมากขึ้น
7.ค้าปลีกยุคใหม่ / ทำเลที่ตั้ง ทำเลทองจะเปลี่ยนไป เพราะทำเลทองจะไปอยู่ในโลกออนไลน์ในการขายสินค้าทุกอย่างต้องมีการปรับตัว โลกยุคใหม่ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องไปเช่าซื้อพื้นที่เพื่อเปิดร้านค้าอีกต่อไป แต่จะไปเปิดร้านค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น และในอนาคตผู้ซื้อจะสามารถลองเสื้อผ่านระบบ VR ความจริงเสมือนได้ เหมือนลองเสื้อผ้าได้จริง โดยไม่ต้องเดินทางไปร้านอีกต่อไป
เทคโนโลยี 5G ที่จะเข้ามาในอนาคตอันใกล้ ถ้ามองในแง่ดี ก็คือการเข้ามายกระดับความสะดวกสบายของชีวิตในยุคดิจิเทคได้แบบ พลิกโฉม แต่ในเวลาเดียวกัน ก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมคนอย่างรวดเร็วและรุนแรงยิ่งกว่า คนไทยคงต้องยอมรับและหาทางปรับตัว ให้เท่าทัน และสามารถนำเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น มาใช้ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น แต่ก็อย่างว่า ตื่นตัวได้ แต่อย่าไปตื่นเต้น จนเกินไป เพราะหลายสิ่งที่รองรับ 5G คงยัง ไม่ใช่ในช่วง 1-2 ปีนี้หรอกกระมัง…
Part 3 Trend Biz Update
จีนก้าวสู่เบอร์ 1 ด้าน 5G
China Daily รายงานถึงผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน 5G โดยปัจจุบันเชื่อว่า Huawei คือผู้นำของตลาด ตามคำอ้างอิงของ เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย ที่เคยบอกว่าอีกหลายปีกว่าสหรัฐฯ จะตามทัน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ กังวลว่าความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ จะเสียเปรียบจีน เพราะใครที่กุมเทคโนโลยี 5G หรือยึดครองพื้นที่การเซ็นสัญญาได้ ผู้นั้นจะเปรียบเสมือนว่าได้กุมอนาคตยุคใหม่ไว้ในมือ เหมือนกับยุคที่อังกฤษเป็นเจ้าโลกอย่างการคิดค้นเครื่องจักรไอน้ำ และสหรัฐฯ เป็นผู้นำด้านอินเทอร์เน็ตในอดีต
ทั้งนี้สิ่งที่เชื่อกันว่า Huawei คือผู้นำของ 5G นั้น เป็นเพราะบริษัทสร้าง 5G ตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานจนถึงผลิตภัณฑ์ผู้บริโภค ซึ่งเรื่องนี้ทาง วิลเลียม สวี กรรมการบริษัท Huawei และประธานบริหารของสถาบันแห่งการวิจัยยุทธศาสตร์ เคยบอกเหตุผลหลักๆ ไว้ว่า…
เพราะหัวเว่ยวางแผนไว้นานมาก โดยเริ่มค้นคว้าวิจัยก่อนตั้งแต่ปี 2009 อีกทั้งยังทุ่มงบฯ ลงทุนรวมกันถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาตามศูนย์วิจัยทั่วโลก (Leveraging Global Resources) จนทำให้ผลงานนวัตกรรมของ 5G จีนสามารถคว้าสัญญา 5G กว่า 50 ฉบับทั่วโลก ประกอบด้วย ยุโรป 28 ฉบับ, ตะวันออกกลาง 11 ฉบับ, เอเชียแปซิฟิก 6 ฉบับ, อเมริกา 4 ฉบับ และแอฟริกา 1 ฉบับ ทำให้ Huawei นำคู่แข่งเจ้าสำคัญอย่าง Nokia และ Ericsson ซึ่งสำนักข่าว CNBC รายงานว่าตัวเลขสัญญาเมื่อกลางปีก่อนของ Nokia อยู่ที่ 45 ฉบับ ขณะที่ Ericsson อยู่ที่ 24 ฉบับ
ออฟฟิศสุดอ้างว้าง ในวงกว้างของเครือข่าย 5G
จากผลการศึกษาวิจัยของ Johnson Controls ในหัวข้อ Smart Workplace 2040: The Rise of the Workspace Consumer พบว่า ภายในปี 2040 บ้านหรือที่พักอาศัยจะกลายเป็นสถานที่ในการเรียน และการทำงานอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม เช่น Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) จะทำให้มวลมนุษยชาติทำงาน และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดและเวลาใดก็ตาม เนื่องจากการทำลายกำแพงของเวลาและช่องว่างระหว่างกัน ด้วยการเชื่อมต่อถึงกันได้ทั่วโลก จะทำให้ระยะทางและเวลาไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป
สอดรับกับเทรนด์ลูกจ้างที่เป็นคนรุ่นใหม่จะปฏิเสธการเข้าทำงานกับองค์กรรูปแบบดั้งเดิม ที่ไม่สามารถยอมรับการทำงานที่อิสระจากสถานที่และเวลาได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่พวกเขาได้เติบโตมาจากการร่วมมือทำงานกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่เกิด จึงทำให้องค์กรทุกองค์กรจะต้องปรับตัว และจะต้องยอมรับการผสมผสานกับลูกจ้างที่มีหลายเจเนอเรชั่นอย่างกลมกลืน
ส่วนหนึ่งเพราะเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออย่าง 5G จะทำให้พวกเขาได้ใช้ความเชื่อมโยงของข้อมูลและของผู้คนทั่วโลกในชีวิตประจำวันที่ไม่เคยมีในคนยุค Gen X และ Baby Boomers นอกจากนี้ 5G ก็จะทำให้บ้านหรือสถานที่พักผ่อนและบันเทิงต่างๆ กลายเป็นสถานที่ในการเรียนและการทำงานมากขึ้น
เพราะเทคโนโลยี Mobile Internet, AI, Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) จะทำให้มวลมนุษยชาติสามารถเรียนรู้ ทำงาน และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด และเวลาใดก็ตาม จึงทำให้เกิดการจ้างงานแบบทำงานที่ใดก็ได้ ด้วยเวลาที่ยืดหยุ่น และกำลังจะทำให้การจ้างงานเปลี่ยนแปลงไปที่นายจ้างหรือบริษัทจะต้องคำนึงถึงความสุขของลูกจ้างมากขึ้น รวมไปถึงการตั้งบริษัทเล็กๆ ที่ลงทุนต่ำ แต่มีประสิทธิภาพด้วยตัวพวกเขาเอง
คราบน้ำตาจากความล้ำยุค ของเทคโนโลยี
แม้เทคโนโลยีจะสร้างความสะดวกสบายและสร้างประสบการณ์ใหม่ แต่ในบางครั้งก็อาจจะทำร้ายสภาพจิตใจของคนไปในเวลาเดียวกันได้ด้วย
สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ได้อัปโหลดคลิปรายการในชื่อ ‘I Met You’ ขึ้นยูทูบ โดยเป็นเรื่องราวของการนำเสนอการกลับมาพบกันอีกครั้งของคุณแม่กับลูกสาวที่เสียชีวิตด้วยโรคที่รักษาไม่ได้ไปในปี 2016 ด้วยอายุเพียง 7 ขวบ
แต่ 3 ปีต่อมาเธอได้กลับมาพบกับลูกสาวอีกครั้งในโลกเสมือนจริงหรือ VR ซึ่งทำให้ลูกสาวของเธอได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยในโลกแห่งความเป็นจริง เธอสวมแว่น VR Headset พร้อมถุงมือ VR ยืนอยู่หน้าฉาก Backdrop ในสตูดิโอ เมื่อเธอเข้าสู่โลก VR ก็ได้พบกับการปรากฏตัวของลูกสาวและคำพูดของลูกสาวที่ทักทายเธอ
เรียกว่าเทคโนโลยีได้สร้างความทรงจำที่ทำเอาเธอกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เพราะชุดกรอบแว่น VR และถุงมือ VR นี้ทำให้ผู้ที่เข้าสู่โลกเสมือนนี้สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับโลกจำลองได้สมจริงมากขึ้น เช่น เมื่อเอามือลูบผม ภาพที่เห็นเส้นผมของหนูน้อยก็จะลู่ไปตามมือ หรือแม้แต่การแตะมือก็ทำได้
ทีมงานใช้เวลากว่า 8 เดือนในการทำโปรเจกต์สะเทือนอารมณ์นี้ ทั้ง การจำลองเสียงของลูกสาวเธอและเพื่อความสมจริง ได้มีการใช้นักแสดงเด็กและเก็บข้อมูลการแสดงเพื่อสร้างโมเดลออกมา เอาเป็นว่าใครอยากรู้ถึงว่าความรู้สึกของคุณแม่ท่านนี้ลองคลิกที่ https://www.youtube.com/watch?v= uflTK8c4w0c&t=11s ได้เลย หรือค้นหาคำว่า ‘I met you vr’ เตรียมผ้าเช็ดน้ำตาไว้ด้วยนะ…
Part 4 บทปิด
ทักษะแห่งสปีดยุคที่ 5 กับการเปิดตำรา ‘นักทายอนาคต’
ตอนนี้เรื่องของทักษะอะไรที่จะทำให้เราอยู่รอดในยุคของเทคโนโลยีแห่งอนาคต คงจะมีออกมาให้ตามติดกันเต็มไปหมด
แต่เชื่อไหมว่า ยังมีอีกหนึ่งทักษะที่เราไม่ค่อยได้ยิน แต่มันกำลังสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ ‘ทักษะนักทำนายอนาคต’ อะไรคือทักษะทำนายอนาคต?
ก่อนหน้านี้ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เคยเล่าให้ฟังว่า ประเทศชั้นนำอย่างสิงคโปร์ ฟินแลนด์ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงมาเลเซีย ต่างให้ความสำคัญกับ ‘การมองอนาคต’ ให้มาเป็นเครื่องมือกำหนดนโยบายการพัฒนาระยะยาว
รวมถึงบรรดาองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนหลายแห่ง ต่างก็ให้ความสนใจกับการมองอนาคตและฝึกฝนทักษะให้กับนักยุทธศาสตร์และนักนโยบายในการนำมาปรับใช้
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ NIA หันมาจัดตั้ง ‘สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม’ (Innovation Foresight Institute: IFI) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบนิเวศด้านการมองอนาคตในประเทศไทยให้เข้มแข็ง รวมถึงการนำมาใช้ระบุโอกาสและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อช่วย
ในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และการจัดการระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศ อย่างว่าแหละ ตอนนี้อะไรๆ ก็เปลี่ยนไปเร็ว หน้าที่หลักของคนจึงไม่ใช่แค่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง แต่ยังต้องมองอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงให้ได้ด้วย
อันที่จริงแล้ว การทำนายนี้ไม่ได้หมายถึงหมอดูดวงหรือโหราศาสตร์ แต่ทักษะการทำนายอนาคตที่ว่านี้คือการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก เพื่อทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำ
“สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ ความไม่แน่นอน” ประโยคนี้สื่อภาพในอนาคตได้ดี แต่ยิ่งมีความไม่แน่นอนเท่าไร มนุษย์ก็ยิ่งโหยหาคำทำนายอนาคตมากเท่านั้น เพราะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มนุษย์ชอบคาดการณ์สิ่งต่างๆ เช่น สภาพอากาศ, การเติบโตทางเศรษฐกิจ, ผลประกอบการบริษัท และทิศทางตลาดหุ้นในอนาคต
แต่เมื่อโลกของเรามีความซับซ้อน และเชื่อมโยงกันมากขึ้น โดยเฉพาะการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี เลยทำให้ภาพของอนาคตที่เราหวังจะได้เห็นมันแบบชัดเจน กลับเบลอลงเรื่อยๆ
ทักษะการคาดเดาหรือทำนายอนาคต จึงเป็นอีกทักษะสำคัญของคนในยุคใหม่ เพื่อมีไว้รับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่แน่นอนได้ดียิ่งขึ้น
ดังนั้น ทักษะแห่งการทำนายอนาคต หรือเรียกกันในเชิงทฤษฎีว่า ‘อนาคตศาสตร์’ นั้นจะมาสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการวางแผนรับมือ และกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
การคิดถึงอนาคต เป็นสิ่งที่มนุษย์ชอบทำมากที่สุดตั้งแต่อดีตมา แต่จากสถิติและประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา บอกได้ว่าคนเรามักคาดการณ์อนาคตผิด แม้แต่กลุ่มคนที่ฉลาดที่สุด ก็ทายผิดบ่อยๆ เช่นกัน
อาจเป็นเพราะมนุษย์ยังมีข้อจำกัดหลายๆ อย่างอยู่ และส่วนใหญ่แล้ว เวลาพิจารณาเรื่องอะไร มนุษย์มักมองโลกในแง่ดีเกินไป หรือร้ายเกินไปเสมอ
แต่ต่อไป…การทำนายอนาคตจะมีความแม่นยำมากขึ้น มีความลำเอียงน้อยลง ด้วยเทคโนโลยี AI เพราะเรากำลังเข้าสู่ยุคที่ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา การแพทย์ และทุกเรื่องในระบบต่างๆ และในชีวิตเรา จะถูกตัดสินใจด้วยข้อมูลที่ถูกประมวลผลด้วย AI
ตัวอย่างที่จะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดคือเมื่อเร็วๆ นี้ AI ของบริษัท BlueDot สัญชาติแคนาดา ได้ทำนายการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่ และข้อมูลการจองตั๋วเครื่องบินของสายการบินทั่วโลก และได้แจ้งเตือนให้ลูกค้าของบริษัทหลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง เช่น อู่ฮั่น ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา ก่อนที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ และองค์การอนามัยโลก (WHO) จะแจ้งเตือนในวันที่ 6 และ 9 มกราคม ตามลำดับเสียอีก
รู้หรือไม่ว่าคนที่อยู่ในสายของนักอนาคตศาสตร์ เคยทำนายไว้ว่า ไม่ช้าก็เร็ว เราจะสร้าง AI ที่มีสติปัญญาและความสามารถเทียบเท่าหรือเหนือกว่ามนุษย์ มีพลังประมวลผลระดับควอนตัมคอมพิวเตอร์ ซึ่งแรงกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไปกว่า 100 ล้านเท่า มีอัลกอริทึมอันซับซ้อน สามารถเรียนรู้และแก้โจทย์ได้ทุกปัญหา และมีฐานข้อมูลมหาศาลให้เข้าถึง ซึ่งตั้งแต่ระดับ DNA ของเรา จนถึงข้อมูลระดับนอกโลก แถมยังอัปเดตแบบเรียลไทม์
การคาดเดาอนาคตโดยอาศัยประสบการณ์ในอดีต จะไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะการพยากรณ์ทุกอย่างจะขับเคลื่อนด้วย ‘ข้อมูล’ ที่มี AI อยู่เบื้องหลัง
…คำทำนายที่แม่นยำกว่าที่เคยมีมา อาจจะถูกกำหนดด้วย ‘นักทำนายอนาคต’ ที่ร่วมมือกับผู้มิใช่มนุษย์