50 ปี Apollo 11กับกระแสคลั่งดวงจันทร์ในยุค 60 ที่ยังมีลมหายใจ
เด็กหญิงในชนบทที่ชื่นชมและหลงใหลในประโยคทองของ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) เมื่อ 50 ปีก่อน ในเดือนนี้เธอจะกลายเป็นนักโบราณคดีอวกาศที่มหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย
Reasons to Read
- เด็กหญิงในชนบทที่ชื่นชมและหลงใหลในประโยคทองของ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) เมื่อ 50 ปีก่อน ในเดือนนี้เธอจะกลายเป็นนักโบราณคดีอวกาศที่มหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย
- ภารกิจกลับขึ้นไปบนดวงจันทร์อีกครั้งจะเป็นเรื่องยากลำบากมาก เนื่องจากมีปัญหาเรื่องฝุ่นบนดวงจันทร์ที่มีความสามารถในการกัดกร่อน ฝุ่นนี้ไม่ได้มีผลกระทบมากมายต่อปอดมนุษย์ แต่มันก็มีผลอย่างมากต่อวัสดุที่ผลิตยาน
ก่อนปี ค.ศ. 1960 ถ้าบอกว่ามนุษย์จะขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์คงไม่มีใครเชื่อ แต่มันก็เกิดขึ้นจริงไปแล้วเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ปี ค.ศ.1969 ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ เมื่อ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) มนุษย์คนแรกได้ประทับรอยเท้าบนดวงจันทร์ และยังทำให้เกิดกระแสคลั่งดวงจันทร์หรือ ‘Moom Mania’ ไปทั่วโลก
กระทั่งวันนี้กระแสคลั่งดวงจันทร์ก็ยังไม่ได้เลือนหายไปจากมนุษยชาติ ซึ่งนอกเหนือจากความพยายามในการนำยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ให้ได้อีกครั้งของชาติมหาอำนาจต่างๆ แล้ว เราก็ยังเห็นร่องรอยของกระแสดังกล่าวได้ผ่านตัวเด็กในวันนั้นที่วันนี้เติบโตขึ้น และอยู่ในแวดวงอาชีพที่พวกเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากภารกิจอพอลโล 11 (Apollo 11)
ดร.อลิซ กอร์แมน (Alice Gorman) วันนั้นอายุเพียง 5 ขวบ เธอเป็นเด็กหญิงที่เติบโตขึ้นมาในย่านชนบทของรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เธอเป็นคนไม่เคยกลัวความมืด ในความเป็นจริงเธอตั้งตารอคอยมันด้วยซ้ำ เพราะในเวลากลางคืน แม้ไม่มีแสงสีจากเมืองใหญ่ แต่บ้านไร่ของเธอก็ไม่เคยมืดมิด เพราะมีดวงจันทร์สาดแสงลงมาทั้งคืน และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ปี ค.ศ.1969 ก็ได้สร้างความประหลาดใจให้กับอลิซอย่างมาก ที่มนุษย์สามารถขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จ ดวงจันทร์ที่สาดแสงลงมาที่บ้านไร่ของเธอนั่นแหละ
“ฉันชอบดวงดาวมาตลอด และอยากศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับดาวเสมอ ดังนั้น ฉันจึงจำวันที่ยานอวกาศสามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้อย่างชัดเจน ตอนนั้นฉันอายุห้าขวบ ฉันกับเพื่อนๆ ไปบ้านครูใหญ่ที่อยู่ในโรงเรียนเล็กๆ เพราะครูมีโทรทัศน์ ภาพที่เห็นในโทรทัศน์ดูเหมือนจะพร่ามัวและมีรอยขีดข่วน แต่มันก็เป็นอะไรที่น่าสนใจ และจากนั้นเราก็ได้ยินประโยคที่บอกว่า ‘ก้าวเล็กๆ ของมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ’ ” อลิซเล่า
เด็กหญิงในชนบทที่ชื่นชมและหลงใหลในประโยคทองของ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) เมื่อ 50 ปีก่อน ในเดือนนี้เธอจะกลายเป็นนักโบราณคดีอวกาศที่มหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ซึ่งความสนใจพิเศษของเธอคือเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบของการสำรวจอวกาศที่มีต่อวัฒนธรรมของมนุษย์ และผลกระทบของมนุษย์ที่มีต่อสภาพแวดล้อมในอวกาศ เพราะมีไม่กี่คนที่ตระหนักว่ามีขยะอวกาศจำนวนมากที่กำลังโคจรอยู่รอบโลก
ความทรงจำของ Moon Mania ที่ยังมีลมหายใจ
แม้จะเป็นวันครบรอบ 50 ปี ของภารกิจอพอลโล 11 แต่เชื่อเถอะว่ามวลความคิดถึงในวันครบรอบในปีนี้ เทียบไม่ได้เลยกับกระแส Moon Mania ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1969 ยุคนั้นนักการตลาดหัวแหลมและบริษัทสื่อต่างก็ปล่อยสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภารกิจดวงจันทร์ ออกมาทำกำไรก่อนที่ภารกิจจะสำเร็จเสียอีก มีทั้งแพตช์หรือแผ่นแปะที่เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ สำหรับตกแต่งเสื้อผ้า เหรียญที่ระลึก แม้แต่ผู้ผลิตอาหารเช้าซีเรียลก็ยังทำโมเดลพลาสติกของยานอวกาศเป็นของแถมไว้ในกล่องด้วย
ของที่ระลึกจำนวนมากไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากนัก โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในมือเด็กข้าวของบางชิ้นก็เสียหายไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังอีกจำนวนมากที่ถูกเก็บรักษาไว้มาจนถึงทุกวันนี้และส่วนหนึ่งก็อยู่ในมือของ คริส ออสโซวิซ (Chris Ossowicz) ผู้ชำนาญด้านจุลชีววิทยา ที่เมืองแอดิเลด ออสเตรเลีย ซึ่งเรื่องนี้ต้องยกความชอบให้กับคุณแม่ของเขา
“แม่ผมเป็นนักสะสมของที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นบนโลก เพราะฉะนั้น แม่เธอจึงเก็บของให้ห่างจากเด็ก กระทั่งผมโตขึ้นและย้ายออกจากบ้านมา แม่ถึงมอบของสะสมทั้งหมดให้ ของเหล่านี้ก็เลยยังอยู่รอดมาได้”
น่าเศร้าที่โมเดลของยานที่ลงจอดบนดวงจันทร์อันทรงคุณค่าไม่มีเหลืออยู่แล้ว แต่ออสโซวิซก็ยังคงมีหนังสือพิมพ์ฉบับวันนั้น รวมถึงเหรียญที่ระลึก แผ่นแปะ และจุลสารเล่มเล็กๆ ที่ชื่อว่า ‘Lunar Logbook’ ซึ่งรับรองโดยองค์การนาซาอย่างเป็นทางการ เก็บไว้อยู่ ซึ่งนั่นอาจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเขา
อพอลโล 11 กับการเป็นส่วนหนึ่งของ ‘สิ่งที่สำคัญ’
บรรดาของสะสมที่ทำมาจากกระดาษและพลาสติกของเด็กๆ เมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งที่พิเศษ เช่นเดียวกับที่ แมรี-แอน เดมป์ซีย์ (Mary-Anne Dempsey) และเดวิด (David) พี่ชายของเธอที่นับว่าเหตุการณ์นั้นเป็นหนึ่งในความทรงจำแรกที่มีความหมายต่อพวกเขา
“ฉันดีใจมากที่ฉันได้มีชีวิตอยู่ในช่วงที่เรื่องนี้ (ภารกิจอพอลโล 11) เกิดขึ้น มันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ฉันคิดว่าความทรงจำแรกเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญของลูกๆ เดวิด น่าจะเป็นเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน (กลุ่มอัลกออิดะฮ์จี้เครื่องบินสี่ลำพุ่งชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และอาคารเพนตากอน) และฉันรู้สึกเศร้ากับพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องนั้นนะ”
สำหรับเดวิด เขาอายุเพียง 9 ขวบ ในตอนที่อพอลโล 11 ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ และเหตุการณ์นั้นก็มีส่วนเป็นตัวกำหนดอาชีพวิศวกรในปัจจุบันของเขาด้วย “ผมเป็นวิศวกรป้องกันประเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเหตุการณ์นั้นเป็นเชื้อไฟให้ผม ทำให้ผมกระตือรือร้นในการตั้งคำถามว่า ‘เราจะทำอะไรได้อีก’ เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตผมเป็นรูปเป็นร่างได้”
การเดินทางไปดวงจันทร์อีกครั้งจะเป็นเรื่องยาก
เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ความสำเร็จในการลงจอดบนดวงจันทร์เกิดขึ้นได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันกลับยังไม่สามารถทำได้ ซึ่ง ดร.กอร์แมนได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า
“ภารกิจกลับขึ้นไปบนดวงจันทร์อีกครั้งจะเป็นเรื่องยากลำบากมาก เนื่องจากมีปัญหาเรื่องฝุ่นบนดวงจันทร์ที่มีความสามารถในการกัดกร่อน ฝุ่นนี้ไม่ได้มีผลกระทบมากมายต่อปอดมนุษย์ แต่มันก็มีผลอย่างมากต่อวัสดุที่ผลิตยาน เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันอากาศ และนั่นก็เป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น ฉันก็เลยมองโลกในแง่ร้ายนิดหน่อยในการที่มนุษย์จะขึ้นไปบนนั้นอีกครั้งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า”