สำรวจประเด็น LGBTQจาก 5 หนังน่าดูใน Netflix
Netflix บริการสตรีมมิงขวัญใจคอหนัง ที่เปลี่ยนโลกของการดูหนังไป และวันนี้เราขอแนะนำหนัง LGBTQ ที่ออกมาในปี 2018-2019
Reason To Read
- Netflix บริการสตรีมมิงขวัญใจคอหนัง ที่เปลี่ยนโลกของการดูหนังไปโดยไม่ต้องไปถึงโรงหนังก็มีความบันเทิงมาเสิร์ฟกันถึงหน้าจอโทรทัศน์ที่บ้าน แถมมีหนังหลากหลายแนวให้เลือกดูทั้งเก่าทั้งใหม่ และวันนี้เราขอแนะนำหนัง LGBTQ ที่ออกมาในปี 2018-2019 และมีให้ดูบน Netflix ว่าสนุกและมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง
- What Keep You Alive
เรื่องราวของ ‘จูลี่’ และ ‘แจ็กกี้’ คู่รักเลสเบี้ยนคู่หนึ่งที่เดินทางไปเที่ยวพักผ่อนในช่วงสุดสัปดาห์และฉลองวันครบรอบแต่งงาน 1 ปีที่บ้านกลางป่าหลังหนึ่ง แต่แล้วขณะที่ทั้งคู่กำลังเดินชมความงามของผืนป่าอันกว้างใหญ่และมาหยุดอยู่ที่หน้าผา เหตุการณ์ที่คนดูไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นแบบกระชากอารมณ์สุดๆ และนั่นก็เป็นจุดเปลี่ยนความสัมพันธ์ของพวกเธอทั้งสอง และเป็นจุดพลิกผันสำคัญที่พาคนดูเข้าสู่โหมดระทึก ทำให้คนดูอยากรู้ปมที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นั้น
ตัวละครหลักในเรื่องแทบจะมีแค่พวกเธอ 2 คน (มีตัวละครสมทบเป็นคู่สามีภรรยาชายหญิงอีก 2 คน) หนังมีฉากหลังเป็นบ้าน (กึ่งร้าง) กลางป่าใหญ่ที่เงียบสงัดและดูเวิ้งว้าง สร้างความรู้สึก ‘ไม่น่าไว้วางใจ’ ให้คนดูได้ตั้งแต่ต้นจนจบ
แม้จะมีตัวละครหลักเป็นคู่รักเลสเบี้ยน แต่เรื่องราวใน What Keep You Alive กลับไม่ได้ให้น้ำหนักกับประเด็น LGBTQ เลย ภาพของคู่รักเลสเบี้ยนที่ถูกนำเสนอออกมาราวกลับเป็นคู่รักธรรมดาคู่หนึ่ง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างพวกเธอทั้งสองก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคู่รักต่างเพศเช่นกัน
ประเด็นที่หนังถ่ายทอดออกมาจะเป็นการนำเสนอ ‘สันดานดิบ’ ของมนุษย์ที่ไม่มีใครหยั่งรู้ได้ ซึ่งทำออกมาได้อย่างพอดี ไม่ได้บ้าระห่ำจนดูยัดเยียดความมันความโหดให้คนดู แต่ก็ไม่ได้เรียบนิ่งจนน่าเบื่อ แม้จะไม่ใช่ชาว LGBTQ แต่เชื่อว่าถ้าเป็นคอหนังระทึกขวัญ ฆาตรกรโรคจิต เรื่องนี้น่าจะถูกใจไม่น้อยเลย
2. The Feels
ปาร์ตี้สละโสดควรจะเป็นอะไรที่สนุกแบบลืมโลก (เหมือนกับทุกปาร์ตี้) แต่ใน The Feels ที่ดำเนินเรื่องผ่านปาร์ตี้สละโสดของ ‘แอนดี’ และ ‘ลู’ คู่รักเลสเบี้ยนที่กำลังจะแต่งงานกันนั้น กลับเต็มไปด้วยความรู้สึกกระอักกระอ่วน จากบทสนทนาของกลุ่มเพื่อนทั้งสองฝั่งที่สามารถเป็นชนวนให้ผิดใจกันได้แทบจะทุกจังหวะที่พูดคุยกัน
และในที่สุดก็เป็นเรื่องจนได้ เมื่อลูโป๊ะแตกต่อหน้าคนรักว่าเธอไม่เคยถึงจุดสุดยอดเลย ที่ผ่านมาแค่แกล้งทำเป็นสุขสมอารมณ์หมายเท่านั้น แน่นอนว่าเรื่องนี้แอนดีก็ได้รู้พร้อมกันกับทุกคนและนั่นก็ทำให้เธอเครียดและพยายามหาทางแก้ไขเรื่องนี้เพื่อที่จะได้มีชีวิตคู่ที่ราบรื่น
ความพิเศษของหนังคือการดำเนินเรื่องสลับกับการสัมภาษณ์ประสบกามของตัวละคร และสิ่งที่หนังนำเสนอออกมาได้ดีคือเรื่องของ ‘ปัญหาชีวิตคู่’ แม้ว่าตัวละครหญิงแทบทุกคนในเรื่องนี้จะเป็นเลสเบี้ยน แต่เอาจริงๆ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นกับชีวิตคู่ เรื่องเพศก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเลย โดยเฉพาะเรื่อง ‘เสร็จ’ ‘ไม่เสร็จ’ ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคู่รักทุกเพศ
สิ่งหนึ่งที่ได้จากการดูหนังเรื่องนี้คือ คนรักกันเมื่อมีปัญหาต้องคุยกัน ต้องเปิดเผย ‘ความรู้สึก’ ของตัวเอง ไม่เพียงแต่เห็นได้จากคู่ของแอนดีและลูเท่านั้น แต่ยังสะท้อนผ่านชีวิตคู่ของพี่สาวลู ซึ่งเป็นคู่ชายหญิงแถมมีลูกด้วยกันตั้งสองคนที่อยู่ในช่วงตัดสินใจหย่า โดยมีสาเหตุมาจากการเก็บความรู้สึก ความต้องการของตัวเองไว้ แทนที่จะบอกอีกฝ่ายแล้วช่วยกันแก้ปัญหา
รวมๆ แล้ว The Feels ถือว่าเป็นหนังที่เหมาะกับคู่รักทุกเพศ โดยเฉพาะคู่รักที่รู้สึกว่าการเปิดอก บอกความรู้สึกของตัวเองต่อคนรักนั้นช่างเป็นเรื่องยากเหลือเกิน หนังเรื่องนี้อาจจะเปลี่ยนให้ชีวิตคู่ของคุณดีขึ้นก็ได้
3. Dear Ex
เรื่องราวตลกร้ายของครอบครัวหนึ่งที่ภรรยาถูกสามีบอกเลิกเพื่อไปคบกับผู้ชายที่เขารักก่อนที่จะมาแต่งงานมีลูกมีเมีย ยังไม่จบแค่นั้น หลังจากมาอยู่กินกับเกย์หนุ่มที่อพาร์ตเมนต์ซอมซ่อ ตัวสามีก็ป่วยหนักและเสียชีวิต และความพีกของเรื่องก็คือเหตุการณ์หลังการตายของตัวสามีนี่แหละ
เมื่อเรื่องเงินประกันเป็นเหตุให้ทั้งสองบ้านมาเจอกันก็ทำให้เรื่องราวมันชุลมุนมากพออยู่แล้ว แต่ด้วยความที่ตัวละครแม่เป็นแม่สไตล์มนุษย์ป้า ขี้บ่น จู้จี้ (แต่ก็มาจากความรักทั้งนั้น) สุดท้ายลูกชายทนไม่ได้เลยหนีมาอยู่กับคนรักชายของพ่อเลยยิ่งทำให้เรื่องไปกันใหญ่
ประเด็น LGBTQ ที่หนังนำเสนอได้น่าสนใจก็คือชีวิตของเกย์ในสังคมที่ไม่เปิดกว้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของครอบครัว หน้าที่การงาน หรือการยอมรับตัวเองก็ตาม เพราะสุดท้ายแล้วหนังก็ทำให้รู้ว่าการหนีความจริงด้วยเหตุผลเหล่านั้นไม่ได้สร้างผลดีต่อใครเลย เพราะถึงแม้ว่าตัวสามีที่เป็นคนผูกปมของเรื่องราวทั้งหมดจะจากไปแล้ว แต่คนรอบข้างที่ยังอยู่ทุกคนต่างเจ็บปวดทั้งนั้น และอีกประเด็นหนึ่งที่ประทับใจคือการนำเสนอภาพของคู่รักเกย์ที่คอยดูแลกันด้วยความรักในยามทุกข์ยากซึ่งเรียกน้ำตาได้ดีเลยล่ะ
แม้หนังเรื่องนี้จะออกไปทางดาร์กๆ หน่อย ตีแผ่สังคมผ่านเรื่องราวที่เจ็บแต่จริง ส่งมอบอารมณ์ที่หลากหลายให้คนดูมีทั้งดรามา ตลกร้าย และสุดท้ายก็ยังอบอุ่นหัวใจไปด้วย
4. Alex Strangelove
เรื่องราวของ ‘อเล็กซ์ ทรูเลิฟ’ หนุ่มไฮสคูล เรียนดี พ่วงดีกรีประธานนักเรียน ที่อยู่ในกลุ่มเพื่อนจอมหมกมุ่นเรื่องเซ็กซ์ ในขณะที่เขาเองยังเวอร์จินอยู่ ซึ่งมีที่มาจากปมในใจบางอย่างที่เขาไม่กล้ายอมรับและพยายามหาทางแก้ไขแบบผิดๆ มาตลอด
เขาพยายามวิ่งหนีปมนั้นด้วยการลองคบแฟนผู้หญิง ลงทุนเปิดโรงแรมเพื่อเปิดซิงตัวเองแต่ก็ไม่สำเร็จสักที หรือการพยายามมีเซ็กซ์กับสาวในปาร์ตี้ ซึ่งก็ไม่สำเร็จอีกตามเคย แต่สิ่งที่คอยกวนใจและทำให้เขาสับสนว้าวุ่นก็คือ ‘เอลเลียต’ เกย์รุ่นพี่ที่เขารู้จักโดยบังเอิญในปาร์ตี้
เอลเลียตทำให้เขาเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นในใจ และเขาก็ไม่สามารถหยุดคิดถึงมันได้ แม้แต่ตอนที่พยายามจะมีเซ็กซ์กับผู้หญิงยังแอบจินตนาการถึงรุ่นพี่คนนั้นเลย จนคิดไปว่า หรือตัวเองจะเป็น ‘ไบเซ็กชวล’ ?
การเล่าเรื่องของหนังมีความน่ารักสมวัยมัธยม แม้จะมีประเด็นเรื่องการบูลลี การค้นหาตัวเอง การยอมรับตัวเอง แต่หนังก็ไม่ได้นำเสนออกมาในทางที่ดราม่าหนักหน่วงขนาดนั้น ทำให้ดูได้เพลินๆ อมยิ้ม และไม่เครียดเลย ใครที่เคยผ่านช่วงค้นหาตัวเองน่าจะอินกับเรื่องนี้ได้ไม่ยาก หรือแม้แต่พ่อแม่ผู้ปกครองจะดูไว้เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจเด็กวัยว้าวุ่นยุคนี้ก็ไม่เสียหาย
5. Ek Ladki Ko Dekha Toh Aisa Laga
เรื่องนี้คือหนังบอลลีวูดเรื่องแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชาว LGBTQ ที่ออกฉายหลังจากที่อินเดียประกาศยกเลิกกฎหมายที่ถือว่าการรักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรมในประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา Ek Ladki Ko Dekha Toh Aisa Laga (แปลว่า ‘ความรู้สึกเมื่อแรกพบของเรา’) เป็นเรื่องราวของ ‘สวีตตี’ สาวเลสเบียนในอินเดียที่ครอบครัวกำลังสรรหาหนุ่มๆ มาแต่งงานกับเธอ แน่นอนว่าไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการเลยแม้แต่น้อย เพราะสาวเจ้ากำลังอินเลิฟกับหญิงงามนางหนึ่งที่เพิ่งย้ายไปอยู่ที่ลอนดอน ดังนั้น เธอจึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะหนีงานแต่งงานนี้ไปอยู่กับหัวใจของเธอที่อีกฟากฟ้า แต่ก็ถูกขัดขวางจากพี่ชายที่รู้ความจริงทั้งหมด
จริงๆ ก็คือพล็อตง่ายๆ ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ แต่ที่น่าสนใจก็คือการนำเสนอเรื่องราวของชาว LGBTQ ในสังคมอินเดียต่างหาก“ทำไมการรักกับผู้ชายถึงเป็นทางเลือกเดียวของฉัน” คำพูดของสวีตตีที่แสดงออกถึงข้อจำกัดของความรักของระหว่างคนเพศเดียวกันในสังคมอินเดียได้เป็นอย่างดี
เรื่องนี้ถือว่าทำหน้าที่ในการเป็นกระบอกเสียงสะท้อนความรู้สึกที่ถูกเก็บไว้ข้างในของชาว LGBTQ ได้ดีทีเดียว ฉาก come out ของนางเอก เธอก็ได้พูดในสิ่งที่เชื่อว่าคน LGBTQ อยากพูดกับครอบครัวตัวเองเหมือนกัน และการที่หนังเรื่องนี้ออกมาในจังหวะที่กฎหมายอินเดียเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้นก็ยิ่งทำให้สารที่หนังอยากสื่อออกไปนั้นทรงพลังมากขึ้น
ด้วยความที่หนังดำเนินเรื่องผ่านครอบครัวสวีตตีเป็นหลัก เน้นเล่าว่าเธอจะทำอย่างไรให้ครอบครัวเข้าใจและไม่บังคับเธอให้แต่งงานอีก มากกว่าจะเล่าถึงความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิง เรื่องนี้จึงน่าจะเหมาะกับทุกคนในครอบครัว ลองเปิดตาดูหนังเรื่องนี้ แล้วเปิดใจยอมรับความแตกต่างโดยไม่ต้องพยายามไปแก้ไขอะไร เพราะอย่างที่พ่อนางเอกบอกไว้ว่า “มันไม่ใช่อาการป่วยที่ต้องถูกรักษา มันคือ ‘ความรัก’ แค่นั้นเอง”