fbpx

แพทย์หญิงปิยะนุช รักพาณิชย์ : ว่าด้วยเรื่อง Long COVID ป่วยเรื้อรังที่ไม่ควรมองข้าม

ในเวลาปัจจุบัน อาจจะนับได้ว่าเป็นสองปีกว่าๆ ที่เราต้องอยู่ร่วมกับการแพร่ระบาดของเชื้ออุบัติใหม่อย่างเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต และการดูแลตนเองในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน การเฝ้าระวัง การรักษา และการรับวัคซีนที่ค่อยๆ กระจายสู่ผู้คน เป็นเหมือนทิศทางที่ดีขึ้น ของความหวังว่าเชื้อ COVID-19 จะหายจากไปในเร็ววัน

กระนั้นแล้ว การหายป่วยจากการติดเชื้อ ยังมีสิ่งที่เป็นอันตรายแอบแฝง และความ ‘เรื้อรัง’ ที่ยังเป็นปริศนาสำหรับทางการแพทย์ ที่อาจจะเป็นงานที่ต้องทำความเข้าใจ และดำเนินการป้องกันแก้ไข ซึ่ง แพทย์หญิงปิยะนุช รักพาณิชย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและการแพทย์ผสมผสาน สวนสุขภาพอรุณคลินิก จะมาไขข้อข้องใจ และให้ภาพที่ชัดเจนของความเรื้อรังจาก COVID-19 ที่เราไม่ควรมองข้ามนี้

โควิด-19 … เชื้อหาย แต่อาการยังอยู่

โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ และมีการระบาดใหญ่ทั่วโลก แม้ว่าปัจจุบัน มนุษย์เราจะรับมือกับการระบาดได้ดียิ่งขึ้น ด้วยวิธีการดูแลตนเอง วัคซีน และยารักษาไวรัสแล้วก็ตาม แต่ปัญหาใหญ่ยังตามมา เพราะทางการแพทย์พบว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อหายจากการเจ็บป่วยเฉียบพลันแล้ว จะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง ที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว คือ มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังต่อเนื่อง แม้ว่าจะตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในตัวแล้วก็ตาม ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร และใครบ้างที่จะประสบปัญหานี้ แต่พบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักมีอาการผิดปกติในร่างกายหลายระบบด้วยกัน เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบการไหลเวียนเลือด ระบบทางเดินอาหาร รวมไปถึงอาการทางระบบประสาทและความจำ ทางการแพทย์เรียกผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังหลังติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มนี้ว่า … ‘Long COVID’

Long COVID … คืออะไร รักษาได้หรือไม่

ตามคำจำกัดความแล้ว ผู้ป่วย Long COVID คือ ผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 และหายจากการติดเชื้อแล้ว แต่ยังคงมีอาการหลงเหลืออยู่ยาวนาน มากกว่า 4 สัปดาห์หลังการติดเชื้อ และอาการผิดปกตินี้ อาจจะยาวนานได้มากกว่า 6 เดือน ทั้งนี้ Long COVID มีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกันคือ ‘post-COVID-19 Syndrome’, ‘post-acute sequelae of COVID-19 (PASC)’, ‘chronic COVID Syndrome (CCS)’ และ ‘long term haul COVID’ เป็นต้น

Long COVID เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ และการแพทย์ยังไม่เข้าใจภาวะความเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต่อเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสโควิดนี้ดี แม้กระทั่งชื่อ Long COVID คนที่ตั้งชื่อนี้คนแรก ก็ไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นคนไข้ที่ติดโควิดชาวอิตาลี ที่โพสต์ลง Twitter เมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ถึงอาการผิดปกติเรื้อรังต่อเนื่องยาวนานของเธอ ซึ่งคงอยู่แม้ว่าการติดเชื้อ COVID-19 จะรักษาหายแล้วก็ตาม หลังจากนั้นจึงพบว่า มีผู้ที่ประสบปัญหาคล้ายกันเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งทางการแพทย์ต้องหันมาสนใจถึงปัญหาของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเรื้อรัง หลังติดเชื้อหรือ Long COVID นี้เอง

อาการเบื้องต้นของ Long COVID ที่สามารถสังเกตุได้ (อ้างอิง: ”Mandeep Garg, et al. The Conundrum of ‘Long-COVID-19ʹ: A Narrative review. International Journal of General Medicine 2021:14:2491–2506″)

อาการของ Long COVID

อาการของ Long COVID ค่อนข้างจะหลากหลาย และเป็นได้หลายระบบของร่างกาย แต่ที่พบบ่อย คือกาการอ่อนเพลียไม่มีแรง ซึ่งอาจจะพบได้มากถึง 70% ในบางงานวิจัย อาการไอและเหนื่อยเวลาทำกิจกรรมต่างๆ สมองมึนงง คิดอะไรไม่ออก ความจำบกพร่อง ไม่มีสมาธิ หรือที่เรียกว่า ‘Brain Fog’ ซึ่งพบได้ถึง 30-50% ที่สำคัญคือ คนไข้ที่มีอาการเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นมากจนไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิต ทำงาน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ที่อยากทำ นอกจากนี้ อาการอื่นๆ ที่พบได้บ่อย เช่น ปวดตามตัว ข้อ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ผื่นคันตามตัว ซึมเศร้า วิตกกังวล และเมื่อรวบรวมแบบสอบถาม พบว่าคนไข้ Long COVID มีอาการที่แตกต่างหลากหลายมากกว่า 60 อาการด้วยกัน อาการที่พบได้บ่อยของ Long COVID

อาการที่พบได้บ่อยของ Long COVID

  • Neurologic: อาการทางระบบประสาท/สมอง คิดไม่ออก หลงลืม (Brain Fog)
  • Pulmonary: อาการทางระบบทางเดินหายใจและปอด ไอเรื้อรัง เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก
  • Cutaneous: อาการทางผิวหนัง ผื่น ลมพิษ ปลายมือปลายเท้ามีสีเขียวคล้ำ ม่วงหรือดำ
  • Psychiatric: อาการทางจิตใจ ซึมเศร้า วิตกกังวล เบื่อ แยกตัว ไม่อยากเข้าสังคม
  • Cardiovascular: ระบบหัวใจและหลอดเลือด ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก มึนงงศีรษะ เวลาเปลี่ยนท่าทางจะเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้
  • General Symptoms: อาการทั่วไป เหนื่อย อ่อนเพลียด ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ เจ็บแปลบหรือชาตามตัว รู้สึกมีไข้ต่ำ ไม่สบายตัว

พบได้บ่อยแค่ไหน

สำหรับคนไทย ยังไม่มีสถิติว่าหลังจากติดเชื้อโควิด-19 แล้ว มีผลกระทบต่อเนื่องจาก Long COVID ที่เห็นได้ชัด แต่รายงานจากต่างประเทศพบว่า Long COVID พบได้ถึง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และบางรายงานพบว่า อาการผิดปกติอย่างน้อย 1 อาการ ที่คงอยู่หลังติดเชื้อโควิดนั้น มีมากถึงร้อยละ 90

Long COVID เกิดจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องหลังจากติดเชื้อหายแล้ว อาจจะเนื่องมาจากหลายอย่าง เช่น ภาวะอักเสบเรื้อรังที่เกิดต่อเนื่องจากการติดเชื้อโควิด-19, ระบบภูมิคุ้มกันทำงานต่อเนื่องตั้งแต่ติดเชื้อ ทำให้เกิดการทำลายอวัยวะต่างๆ และระบบประสาททำงานผิดปกติ เซลล์ผนังหลอดเลือดถูกทำลายและอักเสบ ร่วมกับการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย และเนื่องจากสาเหตุมีหลากหลาย และเป็นกับระบบทั่วร่างกาย เช่น หลอดเลือดและภูมิคุ้มกัน ทำให้อาการ Long COVID สามารถกระจายอยู่ได้ในหลายระบบ

Long COVID รักษาได้หรือไม่

เนื่องด้วยสาเหตุที่ยังไม่แน่ชัด และอาการที่หลากหลาย การรักษาจึงมักเป็นการรักษาตามอาการ ซึ่งจะแตกต่างไปในแต่ละคน แต่ยังไม่มีการรักษาที่เป็นจำเพาะของผู้ป่วย COVID เรื้อรัง แต่ทั้งนี้ เริ่มมีงานวิจัยทางการแพทย์ที่พบว่า น่าจะช่วยให้ผู้ป่วย Long COVID มีอาการที่ดีขึ้น เช่น เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาพร่างกาย ด้วยการออกกำลังกาย ในคนที่มีการอ่อนเพลียไม่มีแรง หรือการฝึกสมองในกรณีที่มีอาการทางสมอง หรือฟื้นฟูปอดและระบบทางเดินหายใจ ในกรณีที่เหนื่อยหอบ เป็นต้น

นอกจากนี้ เริ่มมีรายงานทางการแพทย์ ว่าการรักษาแบบผสมผสานอื่นๆ อาจจะช่วยลดอาการผู้ป่วย Long COVID ได้ เช่น การฝังเข็ม การใช้เครื่องนวดขากระตุ้นการทำงานของหลอดเลือด (EECP) การรักษาด้วยเครื่องออกซิเจนบำบัดแรงดันสูง (HBOT) การรับประทานยาหรือวิตามินเสริม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วถึง 219 ล้านคน เสียชีวิตถึง 4.5 ล้านคน ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้ที่หายจากการติดเชื้อ แต่ยังประสบภาวะ Long COVID ในจำนวนที่ไม่น้อย ดังนั้น อาการนี้ จึงนับเป็นปัญหาใหญ่ ที่อาจจะต่อเนื่องยาวนาน จนกว่าทางการแพทย์จะเข้าใจสาเหตุของการเกิด Long COVID และค้นพบวิธีรักษาบรรเทาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ