fbpx

‘เสรีนิยมยืนขึ้น’ ฉบับลอกปราบดามาเล่า

เรื่อง : วรพจน์ พันธุ์พงศ์

1

ผมเลือก ‘เสรีนิยมยืนขึ้น’ ของ ปราบดา หยุ่น เป็นหนังสือน่าอ่านแห่งปี 2020

สำนัก The101.Word เป็นคนโยนคำถามมา พร้อมกำชับให้ระบุเหตุผลของการยกย่องเชิดชูประกอบ ซึ่งผมตอบไปว่า..

1 เนื้อหาเหมาะกับสถานการณ์ประเทศไทยตอนนี้

2 จากประสบการณ์ (ใกล้ห้าสิบปีเต็มที) พบว่าคนไทยเรากินข้าว แต่ไม่ค่อยรู้เรื่องราก สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ โดยเฉพาะคุณค่าของข้าว ใช่–สิทธิเสรีภาพก็เช่นกัน

3 พอไม่รู้ มันก็เป็นพวกกินไปวันๆ อยู่ไปวันๆ ตรงกันข้าม หากตระหนักรู้ เราย่อมกินข้าวอร่อยขึ้น และปวดร้าว เมื่อชาวนาต้องซื้อข้าว (ราคาแพง) บริโภค

4 สำหรับผม สิทธิเสรีภาพคือากาศ หากปราศจากเสียแล้ว หากถูกลิดรอนเสียแล้ว มนุษย์ก็กลายเป็นศพ นี่คือหนังสือที่เขียนขึ้นโดยคนที่เทคแคร์สิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่หลงละเมอ หากรักจริง รักด้วยความพยายามแสวงหาความรู้

5 หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ปราบดา หยุ่น หากอ่านหนังสือหนังหามาบ้าง คุณก็คงพอรู้ว่าเขาไม่ใช่คอการเมือง (เทียบกับพรรคพวกพี่น้องอย่าง วาด รวี ก็ต้องนับว่าห่างหลายไมล์) บุคลิกค่อนไปทางเสรีชนปัจเจก ไม่สุงสิงกับผู้คนนัก เดินทางบ่อย (เป็นพลเมืองโลก) หากปราบดาอดรนทนไม่ไหว ถึงขั้นนั่งลงค้นคว้าศึกษาประวัติศาสตร์เสรีนิยม ย่อมแปลว่ามันสำคัญ จำเป็น และอาการโคม่า ถ้าสังคมไทยยังเพิกเฉย ละเลย โลมเลียเพียงปลายยอด มืดบอดอดีต ต่อกรณีนี้ เราจะน่าเห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์ว่า เมื่ออดีตถูกทำให้มืดบอดเสียแล้ว ไยเราท่านจึงมองเห็นแสงสว่างในปัจจุบัน และอนาคต

2

“สำหรับพี่หนึ่ง สหายเสรีนิยมที่ผมนับถือ และคิดถึงเสมอๆ” ปราบดา หยุ่น ส่งหนังสือมาให้ พร้อมข้อความนี้บนปกใน เราเป็นเพื่อนกัน และอย่างไม่ต้องสงสัย, ผมไม่ได้ใช้ความเป็นธรรม เป็นกลาง และมีอคติแน่ๆ เมื่อเลือกงานเขียนเล่มนี้ตอบคำถามสื่อมวลชน

คนรักกันชอบกันก็ย่อมรู้สึกชื่นชมและอยากเชียร์เป็นธรรมดา

แต่นั่นมีน้ำหนักน้อย เป็นเหตุผลเบาบาง เพราะต่อให้ไม่ใช่เพื่อน กระทั่งต่อให้ปราบดาเป็นศัตรูทางหัวใจ เป็นเสี้ยนหนามแห่งชีวิตที่น่าเกลียดน่ากลัว น่าขยะแขยงเพียงใด ผมเห็นว่า ‘เสรีนิยมยืนขึ้น’ (ข้อสังเกตว่าด้วยแนวคิดเสรีนิยมในสังคมจารีต) แหลมคม กล้าหาญ และดีเด่นเพียงพอต่อการแนะนำ บอกต่อ

คำสารภาพประการถัดมา ผมไม่ใช่นักวิจารณ์หนังสือ ไม่มีความรอบรู้ในศาสตร์นี้ ฉะนั้น ผมขออนุญาตไม่วิเคราะห์วิจารณ์

อย่างหน้าด้านๆ เลย, ผมลอกมาเล่า

ลอกมาบางส่วนบางข้อมูล ลอกจากเนื้อหาทัศนะบางประโยคที่ขีดเส้นใต้ไว้ ณ ขณะนั่งอ่าน ปกติผมไม่มีนิสัยนี้ อ่านเล่มอื่นๆ ก็ไม่ทำแบบนี้ แปลกดี–‘เสรีนิยมยืนขึ้น’ ทำให้ผมต้องลุกไปหยิบปากกามาวางใกล้ๆ สะดุดตาสะดุดใจตอนไหนก็คว้าขีด

ไม่เรียงลำดับก่อนหลังตามหน้าหนังสือ และไม่ยกมาทั้งดุ้น หากจงใจตัดทอนข้อความที่น่าร่วมพินิจพิจารณามาวางต่อๆ กัน ดังนี้

3

– ตั้งแต่รัฐประหารปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ตอกย้ำให้เห็นว่าอำนาจปกครองระบอบเผด็จการทหาร โดยการรองรับสนับสนุนของชนชั้นนำฝั่งจารีต คือปัญหาใหญ่สุดของการเมืองไทย

– ชนชั้นนำจำนวนมากไม่ได้ต้องการประชาธิปไตยในความหมายแท้จริงของมัน แต่ต้องการประชาธิปไตยที่ควบคุมด้วยจารีตนิยมและอภิสิทธิ์ชน นั่นอาจเป็นนิยามของสิ่งที่บางคนเรียกว่า ‘ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม’ ซึ่งแน่นอนว่าหมายถึง ‘ไม่ใช่ประชาธิปไตย’ ดังนั้น ระบอบการปกครองของไทยยามอยู่ใต้การควบคุมดูแลโดยทหาร หากจะเรียกให้ตรงกับทัศนคติและวิธีปฏิบัติ ต้องเป็น ‘ระบอบเผด็จการแบบไทยๆ’ หรือ ‘ระบอบเผด็จการไทยนิยม’ จึงจะสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่า

– ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน ย่อมต้องมีหลักการเสรีนิยมเป็นองค์ประกอบหลัก ที่สำคัญ ต้องได้รับความเคารพอย่างเคร่งครัดจริงจังจากฝั่งจารีตนิยม สังคมใดยังไม่ทำเช่นนั้น หรือยังทำไม่ได้ โอกาสที่จะสามารถขจัดความขัดแย้งทางการเมือง และพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นอารยะในมิติต่างๆ ย่อมมีเพียงน้อยนิด,ความเหลื่อมล้ำจะยังปักหลักลงลึก, การทุจริตจะยังคงแพร่ระบาด, การศึกษาล้าหลังเพราะมุ่งแต่จะรับใช้โครงสร้างทางอำนาจของชนชั้นนำ, การเติบโตของคนธรรมดาสามัญจะถูกบั่นทอนโดยวัฒนธรรมเล่นพรรคเล่นพวก ยังไม่ต้องกล่าวถึงความซบเซาและซ้ำซากของศิลปวัฒนธรรม ซึ่งต้องการพื้นที่ทางความคิดและจิตใจอันเปิดกว้างเสรีในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

– เสรีนิยมไม่ใช่ ‘ยาวิเศษ’ แต่ก็มั่นใจได้เช่นกันว่าการรับฟังและให้โอกาสกับความหลากหลาย จะเป็นก้าวสำคัญสู่อนาคตที่เต็มไปด้วยโอกาสใหม่ๆ มากกว่าการยึดถือชุดความคิดแบบจารีต ซึ่งมีจุดประสงค์เพียงแช่แข็งประเทศไว้ให้ชนชั้นนำสืบทอดอำนาจเท่านั้น

– การมีอยู่ของทุกแนวคิดและพฤติกรรมในสังคมมนุษย์เป็นเรื่องปกติธรรมดา ดังนั้น การยอมรับคุณสมบัติดังกล่าวของมนุษย์จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะสม สำหรับการแสวงหาเงื่อนไขในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ

– สำหรับผู้ที่อาจจะยังไม่มั่นใจในทัศนคติของตน แต่เห็นด้วยว่าสังคมไทยมีปัญหา ผมเชื่อว่าการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดเสรีนิยมจะให้ความเพลิดเพลินทางปัญญา และอาจสามารถมอบกำลังใจเล็กๆ น้อยๆ ให้แสงไฟสลัวๆ ในการแลไปข้างหน้าท่ามกลางภาวะมืดมิดหม่นมัวที่เราเผชิญอยู่,

พัฒนาการ, และการล้มลุกคลุกคลานของแนวคิดเสรีนิยมในประวัติศาสตร์โลก อย่างน้อยก็เป็นเรื่องอ่านสนุก, เข้มข้นด้วยกระบวนการทางความคิด, หม่นเศร้าในยามถูกกระทำอย่างทารุณ และดาษดื่นไปด้วยประกายแห่งความหวัง

– หัวใจสำคัญของคำว่า ‘เสรีนิยม’ ในหนังสือเล่มนี้คือการตั้งคำถามต่ออุปสรรคของการเป็นปัจเจก ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีกรอบกำหนดอย่างเข้มงวดว่าบุคคลควรคิดและปฏิบัติอย่างไร โดยไม่ยอมรับในความแตกต่างและหลากหลายของความเป็นมนุษย์ หรือที่โหดร้ายกว่านั้น คือนอกจากไม่ยอมรับแล้วยังพยายามกำจัดความแตกต่างหลากหลายออกไปจากสังคม

– ศาสดาของทุกศาสนาใหญ่ในโลกล้วนมีจุดเริ่มจากความเป็นขบถต่อจารีตแห่งยุคสมัย

– ในบางสังคม, คนอาจนิยมกินข้าว, บางสังคมนิยมกินขนมปัง, แต่ทั้งหมดล้วนนิยมกินแป้ง ในความต่าง เรายังมีความต้องการพื้นฐานเดียวกันในทุกๆ ที่

– อำนาจของผู้ปกครองในอดีตมักมีที่มาจากการอ้างเชื้อสายวิเศษเหนือมนุษย์ ซึ่งทำให้ผู้อยู่ใต้ปกครองมีสถานะเป็นทาสเป็นบริวารโดยปริยาย

– มโนทัศน์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของแนวคิดเสรีนิยม และเป็นหัวใจสำคัญของยุคเรืองปัญญา คือความเป็นปัจเจก ดังเช่นในกรณีของ ‘ล็อก’ เมื่อมนุษย์สำนึกในความมี ‘ตัวเอง’ จึงเกิดคำถามมากมายตามมาถึงบทบาทและที่ทางของตนในสังคม ความเชื่อเรื่อง ‘สภาวะกระดานชนวนเปล่า’ นำไปสู่แนวคิดที่ว่า ‘มนุษย์เกิดมาเท่ากัน’ นั่นก็คือทุกคนมีศักยภาพเท่าเทียมกันในการเรียนรู้และพัฒนาอัตลักษณ์ของตน

– สิทธิในการครอบครองที่ดินอย่างสมเหตุสมผล ควรมาจากน้ำพักน้ำแรงของผู้ที่ใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้น ไม่ใช่จากการอ้างเป็นเจ้าของอย่างเลื่อนลอย

– แนวคิดเสรีนิยมต้องเชื่อมโยงกับความรู้สึกนึกคิดของสามัญชนอย่างกว้างขวางเสียก่อน จึงแข็งแกร่งพอที่จะมีแรงผลักดันไปสู่การปฏิวัติทางการเมืองในเวลาต่อมา

– การปกครองแบบเผด็จการเป็นระบอบทำลายตัวเอง ฝังไว้ด้วยระเบิดเวลา แต่น่าเศร้าตรงที่ว่าคนธรรมดาสามัญมักอยู่ใกล้รัศมีระเบิดมากกว่ากลุ่มคนที่สร้างมันขึ้น

– ผู้มีแนวคิดเสรีนิยมในสังคมไทยมักถูกมองว่าเป็น ‘ตัวปัญหา’ เป็นพวก ‘น่ารำคาญ’ หรือ ‘น่าหมั่นไส้’ ในสายตาจารีตนิยม วาทกรรมที่ปัญญาชนไทยฝั่งจารีตนิยมใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือการอ้าง (โดยไม่ให้เหตุผลใดๆ) ว่าเสรีนิยมเป็นแนวคิดที่ ‘ไม่เหมาะกับคนไทย’ เป็นโลกทัศน์ของชาวตะวันตกที่คนไทยเอามาเห่อโดยไม่ดูบริบทของความเป็นไทย นอกจากนั้น ดูเหมือนจะมีความเข้าใจผิดแบบเหมารวมอยู่อย่างกว้างขวางในฝั่งจารีตนิยมไทย ว่าแนวคิดเสรีนิยมกับคอมมิวนิสม์และสังคมนิยมคือกลุ่มเดียวกัน ความเข้าใจผิดเช่นนี้สะท้อนว่าจารีตนิยมไม่ได้รังเกียจและกีดกันเสรีนิยมโดยเฉพาะเจาะจง แต่ความจริงคือปฏิเสธทุกแนวคิดที่ไม่ปกป้องหรือสนับสนุนแนวคิดจารีตนิยมเท่านั้นเอง

– รัฐใดที่อ้างว่าเป็น หรือต้องการเป็นประชาธิปไตย แต่ยังยอมให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญโดยกลุ่มเข้ามายึดอำนาจด้วยการใช้กำลังและอาวุธ หลักนิติรัฐนิติธรรมยังสามารถถูกละเมิดโดยอภิสิทธิ์ชน กลุ่มอำนาจเก่ายังมีอิทธิพลชักใยกลไกสำคัญต่างๆ ในการปกครอง ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญไปจนถึงการทำงานของกระบวนการยุติธรรม และแนวคิดเสรีนิยมยังถูกกีดกันข่มเหงอย่างเป็นระบบในทุกมิติ อำนาจอธิปไตยในสังคมนั้นย่อมไม่ได้อยู่ที่ประชาชนอย่างแท้จริง การแบ่งซีก ‘ซ้าย–ขวา’ ในประเทศที่มีลักษณะดังกล่าวจึงอาจเปรียบได้ว่าใกล้เคียงกับสถานการณ์ในฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติ นั่นคือการแยกระหว่างกลุ่มสามัญชนผู้ต้องการสิทธิอันเท่าเทียม (ซ้าย) กับกลุ่มผู้สนับสนุนการรักษาอำนาจของชนชั้นสูง (ขวา)

– หากประวัติศาสตร์สอนเราว่าความหลากหลายในสังคมนั้นย่อมมีจารีตนิยมรวมอยู่ด้วยเสมอ เสรีนิยมอาจต้องหาทางสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อจารีตนิยมมากกว่าการยืนยันจะเอาชนะ

– แนวคิดจารีตนิยมหลีกเลี่ยงการเผชิญกับความเป็นเหตุเป็นผลเชิงประจักษ์ และมักมีทัศนะต่อต้านข้อเท็จจริงที่เป็น ‘สากล’ โดยเฉพาะจารีตนิยมในสังคมที่ยังไม่เป็นสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าจารีตนิยมปฏิเสธหลักการเชิงเหตุผลหรือการใช้ตรรกะ เพียงแต่การใช้เหตุและตรรกะแบบจารีตมีที่มาจาก ‘เรื่องเล่า’ (narrative) ที่สรรค์แต่งขึ้นเอง แนวคิดจารีตนิยมสร้าง ‘จักรวาล’ หรือฟองอากาศให้กับชุมชนของพวกตน และด้วยเหตุนี้ ความผิดแผกแตกต่างต่อความหย่อนยานในการมีศรัทธาต่อจักรวาลนั้น จึงเป็นภัยต่อชุมชนที่เปราะบางอยู่แล้วแต่ต้น ความเปราะบางดังกล่าวเป็นผลลัพธ์โดยตรงของการเมินความจริงในการสร้างจักรวาลจารีตที่ปฏิเสธจักรวาลอื่น ในแง่นี้ แนวคิดจารีตนิยมจึงมีคุณสมบัติมากกว่า ‘เมินความจริง’ แต่เริ่มจากความเป็นกระบวนการ ‘สร้างแต่งความจริง’ ขึ้นมาก่อนจะปฏิเสธความจริงเชิงภววิสัยในธรรมชาติ

แนวคิดจารีตนิยมจึงเป็นทั้ง ‘pre-truth’ และ ‘post-truth’ ในตัวเอง

– ในสายตาจารีตนิยม สิ่งที่เป็นภัยต่อความมั่นคงที่สุดไม่ใช่จารีตนิยมต่างประเภท แต่เป็นการเสนอว่าความจริงไม่ได้อิงอยู่กับความเชื่อของพวกตน

– จินตนาการอาจไม่สำคัญเท่าความรู้ แต่อย่างไรเสีย จินตนาการก็ดูจะน่าหลงใหลกว่าความรู้ เพราะจินตนาการไม่ต้องรับผิดชอบความผิดพลาด หรือระแวงความเปลี่ยนแปลงใดๆ เรื่องเล่าตามสูตรของจารีตนิยมจึงคือเรื่องฝันที่ถูกกำหนดให้หวานได้ตลอดเวลา

– ‘ความไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย’ ของคนไทยทั่วไป ก็คือ ‘ความไม่พร้อมที่จะเสียอำนาจและอภิสิทธิ์ของชนชั้นนำไทย’ ผ่านระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง

– เบงจาแมง คองส์ตอง เคยเสนอไว้ว่าเสรีภาพทางการเมืองคือปัจจัยอันทรงพลังและมีประสิทธิภาพที่สุด เท่าที่สวรรค์ได้มอบให้กับเราในการพัฒนาตัวเอง หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า การมีสิทธิและเสรีภาพคือการเปิดประตูสู่การเรียนรู้ดีที่สุด

– ทุกวันนี้ชนชั้นนำไทยส่วนใหญ่ใช้ชีวิต ‘แบบตะวันตก’ เต็มที่ และคงไม่ผิด หากจะตั้งข้อสังเกตว่าแม้แต่ในหมู่ชนชั้นนำไทยฝั่งจารีตนิยมก็มีรูปแบบการสังสรรค์และปฏิสัมพันธ์ในชีวิตตาม ‘เสรีนิยมตะวันตก’ อยู่ตลอดเวลา

– คำว่า ‘ตะวันตก’ เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่นำความสะดวกมาให้กับการผลิตอคติ และการสร้าง ‘ผู้ร้าย’ ในสงครามทางจินตนาการของชนชั้นนำฝั่งจารีตเพื่อรักษาอำนาจ ในขณะที่ไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้นกับความเป็นตะวันตกในชีวิตประจำวันของพวกเขาเอง

– การถือกำเนิดบนแผ่นดินไทยถูกกำหนดโดยปริยายว่า ‘เป็นหนี้บุญคุณ’  และมีหน้าที่ต้อง ‘ตอบแทนบุญคุณ’

– การปกครองระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการสูญสลายไปของ ‘สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจแบบดั้งเดิม’ และคนสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยมีความเห็นต่าง, ปฏิบัติต่าง, เข้าใจต่าง, ปรารถนาต่าง, นั่นคือภาวะปกติธรรมดาของการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าแห่งหนใดในโลก จะมีก็แต่กลุ่มคนที่ต้องการมีอำนาจเหนือคนอื่น, ต้องการครองอภิสิทธิ์, ต้องการยึดพื้นที่ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้พวกตนเท่านั้น ที่ไม่อยากเห็นสังคมอยู่ในภาวะปกติธรรมดา

วิธีเดียวที่จะทำเช่นนั้นได้คือการใช้กำลังบังคับ และผลิตสร้างความกลัว

– แนวคิดเสรีนิยมไม่ได้ปราศจากที่อยู่ที่ยืนในสังคมไทย หากแต่คอยถูกขัดขาให้ล้มลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า

– คนไทยไม่น้อย ทั้งผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองและสามัญชนที่ทำเพียงใช้สิทธิโดยชอบธรรมของตน ต้องถูกกดดันให้ออกนอกประเทศ, ลี้ภัยไปด้วยตัวเอง, ถูกจับขัง ,ถูกไล่ล่าทำร้าย, กระทั่งถูกฆาตกรรมโดยไม่มีความผิดมากไปกว่าการแสดงทัศนะ หรือจัดกิจกรรมวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นนำฝั่งจารีต

– การแสดงความคิดเห็นไม่ใช่ความผิด ตรงกันข้าม การแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งถูกต้องและควรทำอย่างยิ่งสำหรับสังคมประชาธิปไตย

4

คล้ายๆ ตอนอ่านบันทึกจากเรือนจำ ‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’ ของ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ผมเห็นว่า ‘เสรีนิยมยืนขึ้น’ ไม่ควรต้องถูกเขียนขึ้น ไม่ควรมีอยู่ หากสังคมไทยอยู่ในภาวะปกติธรรมดา เป็นสังคมที่สมาทานสิทธิเสรีภาพไว้ประหนึ่งศีลธรรมแห่งชีวิต ยิ่งเมื่อมองรสนิยม ตัวตน และความสนใจของปราบดาแล้ว แทบไม่น่าเชื่อว่าทั้งเราและเขาเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร สำหรับผม ปราบดาเป็นนักเขียน fiction (ศิลปะภาพยนตร์ที่เขาเดินเข้าไปรำร่ายป่ายปีนเป็นอีกหลักฐานหนึ่ง) แม้จะเขียนความเรียงได้ดี แต่ดูเขาจะสนุกกับเรื่องแต่งมากกว่า เริงละเล่น ล่องใหล จมอยู่ในโลกและจินตนาการส่วนตัว

ต้องชี้นิ้วไปที่เหตุบ้านการเมืองโดยแท้ โดยเฉพาะการรังแกกดขี่และความอยุติธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ทำให้ปราบดาย้ายสายตา และโยกเวลามาทำงานสายความจริงเชิงประจักษ์ ไม่หลบหรือสยบยอมก้มหน้า แต่เลือกรุกเข้าปะทะ เผชิญหน้าทางความคิด เอาเหตุผลข้อมูลมาวางบนโต๊ะ เปิดไฟ และเชิญชวนให้ทุกฝ่ายออกมาคุยกันในที่แจ้ง

อาจกล่าวได้ว่าจากคอนโดฯ ปราบดากดลิฟต์มา ‘ลงถนน’ จากคนไม่ชอบสุงสิงกับใคร ขยับย้ายมาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์กับผู้เสียเปรียบ ผู้ถูกกระทำ และคนชั้นล่างใต้ถุนสังคม

ผมรู้สึกขอบคุณ ที่นอกจากไม่นิ่งเฉยดูดาย เขาใช้จุดแข็งในเรื่องความเป็นผู้คงแก่เรียน ใช้ประสบการณ์การอ่านมาชำแหละ แยกแยะ ย่อยประวัติศาสตร์โลกให้เราฟัง ร่วมๆ ยี่สิบปีที่รู้จักคบหากันมา ปราบดาไม่ใช้เวลาฟูมฟาย อวดอ้าง หรือแค่บ่นในวงเหล้า เขาเอาวิชาการมาสู้ ใช้การทำงานโอบไหล่จับมือมิตรสหายให้ลุกขึ้นยืน

ไม่ใช่ประกาศปาวๆ ว่าฝักใฝ่เสรีนิยม แต่เอออวยอ่อนไหวไปส่งเสริมวัฒนธรรมทาส เช็กอินเข้าเป็นพรรคพวก เพิ่มอำนาจบารมีให้กับฝ่ายอภิสิทธิ์ชนจารีตนิยม

คงเป็นตลกร้ายอยู่เหมือนกัน หากวันหนึ่งหรือมุมหนึ่ง ปราบดา หยุ่น จะถูกจัดให้เป็นนักเขียนเพื่อชีวิต เพื่อสังคม อย่าทำเป็นเล่นไป ประเทศนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ สำนวนวัยรุ่นเขาบอกว่า–ที่เห็นหลายเรื่องเหี้ยๆ มันยังเหี้ยได้กว่านี้อีก

เรื่องไม่ตลกก็คือ ไม่ว่าเหี้ย ไม่ว่าแย่ หรือเลวร้ายแค่ไหน หากมันคือความจริงที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินนี้ ในฐานะคนร่วมสมัย จำเป็นที่เราต้องเปิดตาเปิดใจ ให้เวลาเรียนรู้

จำเป็นจริงๆ ที่ต้องตามเกมให้ทัน ขยันเกาะติดสถานการณ์

เสรีนิยมมีทางเลือกเท่านี้จริงๆ หรือพูดให้ถูกกว่านั้น เสรีนิยมยามนี้ไม่มีทางเลือก ต้องเปิดหูเปิดตาให้กว้างขวางเท่านั้นจึงจะยังคงเสรี และลุกขึ้นยืนได้

ผลพวงจากการอ่านงานของปราบดา ผมคิดว่า–สำหรับประเทศไทย หากใครเอาแต่นอนอยู่ในห้อง ปิดประตูทุกช่องทางการรับรู้ นอกจากในที่สุดความมืดบอดจะส่งผลให้เป็นคนใจร้าย เลือดในร่างกายของคุณจะค่อยๆ เย็นขึ้นๆ.

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ