fbpx

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร : ‘ก้าวสู่ปีที่ 70 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และยุคสมัยใหม่แห่งการขนส่งทางเรือ’

นับเนื่องตั้งแต่สมัยครั้งโบราณมา สิ่งที่เป็นความก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญแห่งมนุษยชาตินั้น คงต้องนับรวม ‘การเดินเรือ’ เข้าไว้ด้วย เพราะผืนทะเลไม่ใช่อาณาเขตกีดกั้น แต่เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อ ดินแดนใหม่ๆ นำพาความรู้ วิทยาการ และ ‘สินค้า’ จากภูมิภาคหนึ่ง ไปสู่อีกภูมิภาคหนึ่ง ก่อให้เกิดการค้าขายแลกเปลี่ยน สร้างความเจริญก้าวหน้าให้ทะยานไปด้วยกระบวนการของผู้กล้าหาญที่นับท้องทะเลเป็นอ้อมอก แห่งมารดา และปวารณาตนเป็นลูกชาวทะเล


และสำหรับประเทศไทย มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมาตั้งแต่โบราณกาล ต้องนับว่าได้ประโยชน์และความเจริญจากการเดินเรือค้าขายและการขนส่งสินค้าทางน้ำ พร้อมทั้งพัฒนาและเริ่มจัดตั้ง ‘การท่าเรือแห่งประเทศไทย’ ขึ้น เพื่อดำเนินงานท่าเรือ นโยบาย และกระบวนการขนถ่ายสินค้าอุปโภค-บริโภคอย่างต่อเนื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาเป็นเวลากว่า 7 ทศวรรษ


อย่างไรก็ตาม ในสภาวะที่วิกฤติ COVID-19 เชื้อร้ายได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก และเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนให้ไปสู่แนวทางใหม่ ออกนอกบ้านน้อยลง ติดต่อกันอย่างจำกัด แต่ความต้องการด้านสินค้ายังคงมีอยู่ต่อเนื่อง เรียกได้ว่าคนนิ่ง แต่สินค้าเคลื่อน ในสภาวการณ์เช่นนี้ นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง สำหรับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในการที่จะฝ่านาวาแห่งห้วงเวลาที่ไม่เป็นปกติ เพื่อรักษาสภาพการณ์ของเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นปกติ


ทั้งนี้ GM Magazine ได้รับเกียรติจาก เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย คนปัจจุบัน มาร่วมพูดคุย ทั้งแนวคิด วิสัยทัศน์ แนวทาง และแผนงานซึ่งพร้อมจะนำการท่าเรือฯ เดินหน้าผ่านปีที่ 70 และไปสู่อนาคตสายใหม่แห่งการขับเคลื่อนสินค้า ที่ยังคงจุดประสงค์เดิม แต่เพิ่มเติมด้วยประสิทธิภาพ และประสิทธิผลที่มากยิ่งขึ้น ดียิ่งขึ้น และเป็นสากลมากยิ่งขึ้น

สภาพการณ์ของการท่าเรือฯ ในปัจจุบันเป็นอย่างไร
เรือโท กมลศักดิ์: ในปัจจุบันทางฝ่ายบริหารก็ช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะเกิดวิกฤติ COVID-19 แต่ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี มีการเยียวยาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน สามารถบริหารได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ได้

ในวาระครบรอบ 70 ปี ในปี 2564 มีการวางแผนงานเพื่อสังคม สำหรับปีนี้และวาระนี้อย่างไรบ้าง?
เรือโท กมลศักดิ์: สำหรับปี 2564 จะครบรอบ 70 ปี วันที่ 16 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันสถาปนาการท่าเรือแห่งประเทศไทย เนื่องด้วยเป็นรูปแบบทศวรรษ ก็จะมีกรณีพิเศษ มีการดำเนินการกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข สุขภาพอนามัย อันเป็นโครงการที่ใหญ่มาก โดยการท่าเรือฯ จะมีการสนับสนุนงบประมาณ 33 ล้านบาท ซื้อรถ X-Ray มะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ของ มูลนิธิกาญจนบารมี สืบสานพระราชปณิธานของพระบาท-สมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสนับสนุนการดำเนินการทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงผู้ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร ห่างไกลโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลให้สามารถเข้าถึงการตรวจ คัดกรองมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะเป็นการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างดี


นอกจากนั้นการท่าเรือฯ ได้ดำเนินโครงการ 70 ปี การท่าเรือฯ ส่งเสริมเทคโนโลยี สร้างเด็กดีทั่วไทย เป็นการมอบคอมพิวเตอร์ให้แก่โรงเรียนบ้านเกิดของพนักงาน รวมถึงการดำเนินโครงการ ‘ฅน…เก็บน้ำให้แผ่นดิน’ สร้างฝายประชารัฐ ซึ่งฝายจัดอยู่ในโครงการเฉลิมพระเกียรติในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จ-พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ การท่าเรือฯเองสร้างฝายมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน เป็นการสร้างความยั่งยืนในลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน และล่าสุดได้ไปขอความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพราะต้องใช้ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน รวมถึงกรมป่าไม้ เข้าร่วมกันทำงาน โดยใช้งบประมาณของการท่าเรือฯ การสร้างฝายนั้นมีประโยชน์ ทำมาแล้วประมาณ 50 กว่าฝาย และในปีนี้ตั้งใจว่าจะทำให้ครบ 70 ฝาย ตามวาระครบรอบก่อตั้งการท่าเรือฯ

ในส่วนของนโยบายการบริหารงานในวาระครบรอบ 70 ปี การท่าเรือฯ
เรือโท กมลศักดิ์: การท่าเรือฯ ในฐานะที่เป็นประตูการค้าหลักด้านการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศและภายในประเทศ ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางน้ำ โดยการเร่งพัฒนาและบริหารจัดการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ให้มี ขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่ง (Intermodal Transport) ที่สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ (Transit & Transshipment) โดยมุ่งลดต้นทุนโลจิสติกส์ในองค์รวมและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการนำเข้า-ส่งออก เพื่อเป็นศูนย์กลาง โลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาระบบขนส่งที่ลดการใช้พลังงาน เพิ่มพลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 จะต้องเร่งผลักดันให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อขานรับนโยบายรัฐบาลในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development: EEC) ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนและเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคตต่อไป


ในส่วนของท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ก็มีแผนงานที่จะเร่งพัฒนาในการบริหารงานขององค์กรในเชิงธุรกิจ ด้วยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุค
ดิจิทัล และขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่ง ทางน้ำและระบบโลจิสติกส์ กระจายการขนส่งไปยังทางถนนและทางรางสู่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการพัฒนาสินทรัพย์ในเชิงธุรกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร เพิ่มรายได้จากสินทรัพย์ต่างๆ ที่สามารถก่อให้เกิดรายได้ รวมถึงเพิ่มผลตอบแทน และพร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพ
ในการใช้จ่ายและลงทุน พัฒนาและขยายบริการธุรกิจ มุ่งเน้นทำการตลาดเชิงรุก รวมทั้งการบริหารท่าเรือภูมิภาค ได้แก่ ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนและท่าเรือเชียงของ เร่งพัฒนา
โครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการ พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำ ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้มีมาตรฐาน มุ่งเน้นให้ท่าเรือระนองเป็นท่าเรือหลัก ฝั่งอันดามันที่ได้มาตรฐาน เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการขยายความ ร่วมมือกับท่าเรือพันธมิตร ยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสู่กลุ่มประเทศ BIMSTEC สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล
ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ของประเทศ

การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็น Gateway หรือประตูด่านหน้าการค้าหลักสำคัญของประเทศเลยก็ว่าได้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศกว่า 90% เป็นการขนส่งทางน้ำ

ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่ทุเลา การท่าเรือฯ มีนโยบายในการช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้คนที่อยู่โดยรอบการท่าเรือฯ อย่างไรบ้าง
เรือโท กมลศักดิ์ : ส่วนแรก คือประชาชน ที่เช่าอาคารพาณิชย์เพื่อเป็นที่พักอาศัย จุดนี้ไม่เก็บค่าเช่าเลยเป็นเวลา 3 เดือน ในส่วนที่เป็นธุรกิจ จะเก็บแค่เพียงครึ่งหนึ่ง ในส่วนของ
การผ่อนชำระ ถ้าไม่ได้ผ่อนชำระ ก็ยกเว้นค่าปรับเป็นเวลา 1 เดือน และในส่วน การเช่าพื้นที่ก็พิจารณาลดค่าเช่าให้ 20% รวมทั้งมาตรการปรับลดค่าภาระ ตู้สินค้าเปล่าขาเข้าที่ท่าเรือกรุงเทพ และมาตรการการชดเชยค่ายกตู้สินค้าให้แก่เอกชนที่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการเยียวยาเกือบ 400 ล้านบาท


ความได้เปรียบด้านการประกอบการของการท่าเรือฯ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อยู่ในจุดที่เด่นมากกว่าหรือ น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างไรบ้าง
เรือโท กมลศักดิ์ : การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็น Gateway หรือประตูด่านหน้าการค้าหลักสำคัญของประเทศเลยก็ว่าได้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศกว่า 90% เป็นการขนส่งทางน้ำ ซึ่งมี 2 ที่ คือ กรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง ในการนำเข้า-ส่งออก นอกจากนี้ยังมีท่าเรือในประเทศอีก 3 แห่ง คือ เชียงแสน เชียงของ และระนอง ที่พร้อมรองรับการขนส่งสินค้าทางน้ำ ซึ่งเป็นช่องทางการขนส่งสินค้าหลัก แม้ในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ COVID-19 ที่ประชาชนไม่สามารถเดินทางเคลื่อนย้ายได้ แต่ความต้องการสิ่งอุปโภค-บริโภคทั้งหลายก็ยังคงมีอยู่ การนำเข้า-ส่งออกสินค้าจึงยังต้องขับเคลื่อน


สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ก็คือที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ใจกลางของภูมิภาคอินโดจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งพื้นที่ทางภาคใต้ของไทยยังติดชายฝั่งทะเลทั้งสองฝั่ง โดยเฉพาะฝั่งอันดามันที่สามารถพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึกได้ ทำให้เรามีศักยภาพในการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางน้ำได้มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

ขีดความสามารถของการท่าเรือฯ ในการรับมือกับปริมาณตู้ขนส่งสินค้าหลังสถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลายลง
เรือโท กมลศักดิ์: เรื่องนี้หายห่วงครับ ท่าเรือกรุงเทพรับได้ 1.5 ล้าน ที.อี.ยู. แหลมฉบังรับได้ 11 ล้าน ที.อี.ยู. ซึ่งจากวิกฤติการณ์ COVID-19 ทำให้เกิดการลดลงของจำนวนตู้บ้างแต่ก็คิดเป็นตัวเลขที่ 5% ซึ่งก็จะค่อยๆ กระเตื้องขึ้นในทางที่ดี

แต่ในปัจจุบันการที่คนไม่เคลื่อนแต่สินค้ายังต้องเคลื่อน การท่าเรือฯ มีแนวทางที่จะผลักดันให้ท่าเรือไทย เป็น ‘Logistics Hub’ ของภูมิภาค เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
เรือโท กมลศักดิ์: ในแง่ของความพยายามที่จะเป็น Logistics Hub นั้น ทางการท่าเรือก็มีความพยายามที่จะเป็นศูนย์กลางในการ Transit และ Transhipment ซึ่งจุดนี้กระทรวงคมนาคมจะมีการประชุมในประเด็นดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาและอุปสรรคที่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่างๆ รวมถึงความร่วมมือกับกรมศุลกากร กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตร ซึ่งเกี่ยวเนื่องกันทั้งหมดถ้ามาดูข้อกฎหมายแล้วสามารถแก้ไขผ่อนปรนได้ ก็จะทำให้ย่างก้าวที่จะไปสู่การเป็น Hub ของภูมิภาคอาเซียน สามารถทำได้ดียิ่งขึ้น ต้องถือว่ามีการเริ่มต้นที่ดีแล้ว

แล้วอะไรที่ทำให้การท่าเรือฯ สามารถขึ้นเป็น Logistics Hub แทนที่จะเป็นการท่าเรือของประเทศเพื่อนบ้าน
เรือโท กมลศักดิ์: ในจุดนี้ต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศในกลุ่ม ‘ภาคการผลิต’ ครับ อย่างประเทศสิงคโปร์เองมีท่าเรือ แต่ก็เป็นแค่เพียงทางผ่านในกาเปลี่ยนถ่ายลำ แต่ของประเทศไทยจัดว่าเป็นท่าเรือ ‘ปลายทาง’ ซึ่งก็มีมุมมองว่า จะดึงตู้สินค้าจากท่าเรือบกของ สปป.ลาว ที่มีสภาพเป็น Landlocked ไม่มีทางออกทางทะเล การขนส่สินค้าจะต้องผ่านทางประเทศไทย ซึ่งถ้าสามารถ Secure ความร่วมมือตรงนี้ได้สำเร็จ ไทยก็จะมีปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้น การส่งออกก็จะดีขึ้นในภาพรวม และอีกข้อที่ต้องระลึกไว้เสมอ คือคู่เปรียบเทียบแข่งขันของไทยคือท่าเรือเวียดนาม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับหัวข้อที่แล้วว่า ถ้ามีคณะทำงานและแก้ไขข้อกฎหมายที่ไม่สะดวกบางจุดได้ ก็จะมีสภาพคล่องในการ Transhipment เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดหวังเอาไว้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะให้ความร่วมมือกับการท่าเรือฯ เพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้ และสนับสนุนให้การท่าเรือฯ ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

ในมุมมองของท่านผู้อำนวยการที่ดูแลการท่าเรือฯ มานาน เกี่ยวกับกฎระเบียบที่ค่อนข้างเก่าแก่ กฎหรือระเบียบใดที่เป็นตัวล็อกให้การท่าเรือไม่สามารถเดินหน้าไปสู่จุดที่ไกลกว่าที่ควรจะเป็น
เรือโท กมลศักดิ์: ก็อย่างที่เรียนให้ทราบก่อนหน้าครับเรื่องของกฎหมายและกฎระเบียบล้วนๆ เลย อย่างกฎระเบียบเรื่องการเปิดตู้สินค้าเพื่อตรวจสอบที่เป็นระเบียบของกรมศุลกากร บางทีสินค้านั้นไม่ใช่ปลายทางที่ประเทศไทยด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องทำตามระเบียบข้อบังคับ
ในจุดนี้เป็นที่เข้าใจได้ว่า เพื่อป้องกันสินค้าผิดกฎหมายที่อาจจะลักลอบมา แต่บางอย่างก็อาจไม่จำเป็นนัก หรือข้อกฎหมายเก่าที่ว่า มูลค่าของสินค้าในตู้เกิน 5 แสนบาทต้องเปิดตรวจซึ่งในปัจจุบันมูลค่าสินค้าเกินกว่ากฎระเบียบไปแล้ว เป็นหลักสิบ หลักร้อยล้าน ผมมองว่าอาจต้องมาทบทวนจุดนี้ เพราะกลุ่มผู้ส่งออกก็อาจไม่ชอบใจนักกับกฎระเบียบเหล่านี้

มุมมองของท่านในฐานะผู้อำนวยการการท่าเรือฯได้วางวิสัยทัศน์และแนวทางในการบริหารการท่าเรือฯเอาไว้อย่างไรบ้าง
เรือโท กมลศักดิ์: ในการดำเนินการ ผมวางวิสัยทัศน์โดยมุ่งที่จะพัฒนาการให้บริการของการท่าเรือฯ ให้มีมาตรฐานในระดับสากล รวมถึงการประเมินผลตามหลักสากลให้เหมือนท่าเรือสากลทั่วโลก ถ้าสามารถเอาเกณฑ์ต่างๆ มาใช้วัดและผ่านได้ ซึ่งตอนนี้ผมกำลังพิจารณาโครงการที่จะนำนวัตกรรมเชื่อมโยงกระบวนการต่างๆ แบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานด้านการขนส่งด้วยระบบ IT เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และถ้าประสบความสำเร็จก็จะยกระดับการท่าเรือฯ ขึ้นไปอีกขั้นได้ไม่ยาก ตลอดจนการเอาระบบ Semi-Automated ลดการใช้กำลังคน ซึ่งเริ่มแล้วที่ท่าเรือแหลมฉบังโดยการร่วมมือกับกลุ่ม Hutchinson และการขับเคลื่อนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ท่าเทียบเรือทุกท่าต้องเป็นระบบ Semi-Automated ซึ่งในจุดนี้กำลังรอการตัดสินใจจากท่านนายกรัฐมนตรี ว่าท่านจะตัดสินใจอย่างไรในการเดินหน้าโครงการนี้ เรามาถึงจุดสุดท้ายแล้ว ที่เรียกว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ ที่ตั้งเป้าจะเป็น ‘ศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่อาเซียนผมมุ่งหมายว่าจะไปให้ถึงมาตรฐานต่างๆ ที่วางเอาไว้ให้ได้

นอกเหนือจากข้อกฎหมายและเทคโนโลยี ในมุมมองของท่านผู้อำนวยการมีจุดใดที่ท่านมองว่ายังเป็นจุดที่สามารถปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงานได้อีกบ้าง
เรือโท กมลศักดิ์: นอกเหนือจาก 2 ข้อที่กล่าวไป ผมได้มีการจัดทำกลุ่ม Talented Group หรือกลุ่มพนักงานที่มีความสามารถ พร้อมทำงานเพื่อสร้างรายได้ให้กับองค์กร ซึ่งจะคิดโครงการต่างๆ ทั้งด้านโลจิสติกส์ ด้านตู้สินค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ตอนนี้ก็ได้มาแล้ว 2 โครงการ ต้องถือว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ดี ซึ่งน่าจะช่วยให้องค์กรเดินหน้าไปได้ เช่น ที่ท่าเรือแหลมฉบังเริ่มมีบริการซ่อมบำรุงตู้สินค้า เพราะการท่าเรือฯ มีพื้นที่อยู่ และอาจจะเซ็นลงนามความร่วมมือกับทาง ปตท.ในการขนตู้จากมาบตาพุดมาออกที่ท่าเรือแหลมฉบังของการท่าเรือฯ และกิจกรรมที่ว่าเป็นสิ่งที่เห็นพ้องต้องกันในด้านความต้องการ การท่าเรือฯ มีพื้นที่ ปตท. มีเงินทุน ก็น่าจะเกิดขึ้นได้สำหรับโครงการนี้

ในมุมมองของท่านผู้อำนวยการ ‘ความเสี่ยง’ สูงสุดที่อาจจะเกิดขึ้นในแง่ของการปฏิบัติการของการท่าเรือฯ คืออะไร
เรือโท กมลศักดิ์: คำถามนี้ค่อนข้างตอบยากนะ เพราะในส่วนของการท่าเรือฯ จะคิดพิจารณาเพื่อลดความเสี่ยงลงในทุกด้าน แบ่งออกได้เป็น 8 ด้าน ครอบคลุมทุกภาคส่วนของการบริหารจัดการ โอกาสที่จะเกิด Worst Case นั้น น่าจะเรียกว่าน้อยมาก จากประสบการณ์ที่อยู่กับการท่าเรือฯ มา 36 ปี

ท่านผู้อำนวยการมองภาพการท่าเรือฯ ในการบริหารงานของท่านในปีนี้ไว้อย่างไร
เรือโท กมลศักดิ์: ในแง่การบริหารงาน ผมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร พนักงานทุกภาคส่วน เมื่อเกิดความเข้าใจ การขับเคลื่อนองค์กรก็สามารถไปได้ ที่ผ่านมาผมใช้กลยุทธ์ตัวนี้เป็นสิ่งขับเคลื่อนทั้งกลุ่มสหภาพฯ พนักงานภาคปฏิบัติ และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ท่าเรือแหลมฉบังซึ่งได้ความร่วมมือทำให้ขับเคลื่อนองค์กรไปได้ด้วยดี และถ้าไม่เลวร้ายเกิดวิกฤติ COVID-19 ระบาดรอบ 3 ขึ้นมาอีก ก็คาดว่าน่าจะไปสู่เป้าหมายที่วางเอาไว้ในแง่ของการสร้างรายได้และผลกำไร

ท่านผู้อำนวยการคาดหวังว่าปลายปี 2564 การท่าเรือฯจะเป็นอย่างไร
เรือโท กมลศักดิ์: ถ้าถามว่าผมคาดหวังอะไร ผมคาดหวังเอาไว้ว่าอย่างน้อยที่สุด อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า ให้มีผลงานสัก 10-20% ของที่วางแผนงานไว้ ก็ถือว่าเป็นความคืบหน้าที่น่าพึงพอใจครับ ไม่ว่าจะทั้งการเอาระบบ IT มาช่วยในการขับเคลื่อน การผสานระบบ Semi-Automatedให้เป็นส่วนหนึ่งของท่าเรือสมัยใหม่ รวมถึงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่เป็นความเร่งด่วนสำคัญในระยะ 4-5 ปีข้างหน้า เป็นสิ่งที่เราทุ่มเทอย่างมาก เพราะต้องทำความเข้าใจว่า การดำเนินงานระดับเมกะโปรเจกต์นั้นไม่ใช่แค่ปีหรือสองปีจะแล้วเสร็จ 4 ปีนี่คือน้อยที่สุด ซึ่งจะเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ และถ้าไม่รีบตัดสินใจดำเนินงาน ผลกระทบที่ตามมาจะต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะมหาศาลมาก

ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งที่มีส่วนสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่านผู้อำนวยการรับมือกับความกดดันในการทำงานอย่างไร
เรือโท กมลศักดิ์: เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญนะ เพราะผมกำลังแบกเศรษฐกิจของประเทศไว้บนบ่า ความกดดันนั้นมหาศาลมาก ผมใช้ว่า ผมไม่หนีจากปัญหา แต่ผมจะไม่ ‘หมก’ ปัญหาเอาไว้แค่กับตัวเองคนเดียว ปัญหามันคือโจทย์และความท้าทายที่เข้ามา ก็ต้องมีการระดมสมองจากทีมบริหารและทุกภาคส่วนในองค์กรร่วมขับเคลื่อนเพื่อฝ่าฟันไป ว่าง่ายๆ ถ้าการทำงานไม่มีทีมเวิร์กแต่คุณพยายามจะแก้ด้วยตัวคนเดียว มันแทบเป็นไปไม่ได้ และจะจบแค่นั้นเลย ซึ่งผมถือว่าที่ผ่านมา ผมมีทีมงานที่ดีมากๆ อย่างปี 2563 ที่ผ่านมาก็ต้องขอบคุณอย่างมาก

จัดสรรเวลาว่างนอกเหนือจากการทำงาน ทำกิจกรรมอะไรบ้างหรือไม่
เรือโท กมลศักดิ์: ส่วนมากงานนี้ไม่ค่อยอนุญาตให้ผมกลับบ้านได้เร็วเท่าไรนะ (หัวเราะ) เงยหน้าอีกทีก็มืดแล้ว ซึ่งถ้าพอมีเวลาจะดูแลเรื่องสวน ต้นไม้ แต่ถ้าพักผ่อนจริงๆ ก็เล่นกอล์ฟในวันเสาร์-อาทิตย์ครับ เคยเป็นประธานชมรมกอล์ฟการท่าเรือฯ มาก่อนนะ (หัวเราะ)

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ