เมื่อเห็นโลกทั้งใบพังต่อหน้ามนุษย์จะตอบสนองต่อวันโลกาวินาศอย่างไร
เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้ว่าเราจะตอบสนองอย่างไรเมื่อเผชิญหน้ากับภัยพิบัติร้ายแรง เพราะความเครียดที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันนั้นแตกต่างจากความเครียดในเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องของความเป็นความตายอย่างมาก
Reason to Read
- เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้ว่าเราจะตอบสนองอย่างไรเมื่อเผชิญหน้ากับภัยพิบัติร้ายแรง เพราะความเครียดที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันนั้นแตกต่างจากความเครียดในเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องของความเป็นความตายอย่างมาก
- ปัญหาในโลกสมัยใหม่ก็คือคนจำนวนมากกำลังเผชิญกับความเครียดอย่างต่อเนื่องหรือเรื้อรังและสมองก็จะอยู่ในโหมดเอาตัวรอดตลอดเวลา ซึ่งทำให้สูญเสียความสามารถในการใช้เยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าไปอย่างมาก
หนังไซ-ไฟที่ว่าด้วยเรื่องของวันโลกาวินาศหรือภัยพิบัติร้ายแรงระดับโลกที่มักจะมีฉากต่อสู้หรือการทำลายล้างแบบวินาศสันตะโรที่ชวนตื่นตาตื่นใจ น่าจะเป็นหนังที่หลายคนชื่นชอบและไม่เคยเบื่อที่จะเห็นฉากเหล่านี้ในหนังเรื่องแล้วเรื่องเล่า แต่ถ้าฉากสุดโหดในหนังเรื่องโปรดเกิดขึ้นกับคุณจริงๆ คุณจะทำอย่างไร? จะเป็นฮีโร่ที่ดูแลคนอื่นๆ และหาทางรอดชีวิตจนได้ หรือจะเป็นคนที่ช็อกกับเหตุการณ์ตรงหน้าจนทำอะไรไม่ถูก?
คำถามด้านบนหลายคนอาจจะเคยลองคิดเล่นๆ มาแล้วตอนดูหนัง ก่อนจะพบว่าไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกันถ้าต้องเผชิญกับเหตุการณ์นั้นจริงๆ ซึ่งนั่นแหละคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับวันโลกาวินาศของคุณ
ศาสตราจารย์แซนดี้ แมคฟาร์เลน (Sandy McFarlane) ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาความเครียดจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ของมหาวิทยาลัยแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย และยังเป็นผู้มีประสบการณ์การทำงานในการรักษาบาดแผลทางใจมากว่าสี่ทศวรรษ อธิบายว่า
“หลายครั้งมันก็เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้ว่าเราจะตอบสนองอย่างไรเมื่อเผชิญหน้ากับภัยพิบัติร้ายแรง เพราะความเครียดที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันนั้นแตกต่างจากความเครียดในเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องของความเป็นความตายอย่างมาก บ่อยครั้งที่เราก็ไม่สามารถสร้างสถานการณ์เหล่านั้นขึ้นมาในใจได้ ดังนั้น เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ชวนสยองขวัญหรือน่าหวาดกลัวอย่างรุนแรง ก็จะไม่มีความเข้าใจหรือไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ที่เจอได้”
แม้แต่คนที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีสำหรับการรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ก็สามารถพบได้เช่นกันว่าพวกเขาไม่สามารถจัดระเบียบความคิดตัวเองได้เมื่อต้องเผชิญหน้ากับมันจริงๆ ถ้าอย่างนั้นลองมาดูกันว่าโดยทั่วไปคนเราสามารถตอบสนองในรูปแบบใดได้บ้างเมื่อต้องเผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรง
การตอบสนองแบบสู้หรือหนี (Fight-or-Flight Response)
อย่างที่บอกไปแล้วว่าถ้าถึงคราวเคราะห์และต้องเจอกับตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายเรามักจะเลือกไม่ถูกว่าควรจะทำอะไร แต่ถ้าทำอะไรไม่ถูกจริงๆ การหนีจากภัยที่อยู่ตรงหน้าก็เป็นเรื่องเข้าท่าเหมือนกัน การตอบสนองแบบนี้เรียกว่า ‘การตอบสนองโดยการหนี’ ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Flight ที่แปลว่า บิน เปรียบเทียบว่าเป็นการบินหนี ก็คือเมื่อเกิดความกลัวต่อสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าก็ถอนตัวหนีไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย
แน่นอนว่าการตอบสนองด้วยการหนีไม่ได้มีประโยชน์เสมอไป โดยเฉพาะเมื่อคุณอยู่ในจุดที่ต้องรับผิดชอบหรือต้องเป็นผู้นำ แต่ศาสตราจารย์แมคฟาร์เลน อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อกระบวนการตัดสินใจและความสามารถในการจัดระเบียบสภาพแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่พังลง การหลบหนีเป็นทางออกเดียวที่ผู้คนจะตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นๆ
อีกหนึ่งวิธีในการจัดการกับความกลัวคือการพยายามต่อสู้กับภัยคุกคาม (Fight) ศาสตราจารย์แมคฟาร์เลนเรียกว่านี่คือการตอบสนองสัญชาตญาณ ในบางกรณีการหันหน้าเข้าสู้ก็เป็นสิ่งที่ดี เช่น ทหารที่ผ่านการฝึกอบรมมามักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่วงที่พวกเขากลัวที่สุดก็คือช่วงที่รอให้การสู้รบเริ่มต้นขึ้น และเมื่อพวกเขาเข้าสู่สนามรบและสามารถใช้ทักษะที่ฝึกฝนมาในการต่อสู้ พวกเขาจะรู้สึกถึงอารมณ์ที่สงบลง แต่บางกรณีการตอบโต้ด้วยการต่อสู้ก็ทำให้คนตอบโต้ในทางที่ไม่เหมาะสมได้เช่นกัน เช่น ความก้าวร้าวรุนแรง
นอกจาก Flight และ Fight แล้ว ก็ยังมี Freeze หรือการตอบสนองด้วยความนิ่ง เฉยชา เหมือนถูกแช่แข็ง หรือเป็นอาการที่กลัวจนร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนถูกแช่แข็งจริงๆ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เราสามารถตอบสนองต่อความเครียดที่รุนแรงมันได้ และยังเป็นวิธีตอบสนองสุดคลาสสิกของสัตว์โลก เช่น สัตว์ที่เป็นเหยื่อหลายชนิดมักจะนอนนิ่งๆ เหมือนแกล้งตายเมื่อถูกล่า
หากอยู่ในสถานการณ์ที่รุนแรงจริงๆ ก็อาจจะเป็นอันตรายต่อตัวคนที่ตอบสนองแบบนี้ได้ และศาสตราจารย์แมคฟาร์เลนยังบอกว่า บางคนอาจสูญเสียความทรงจำและพฤติกรรมบางอย่างได้โดยอัตโนมัติเมื่อมีความเครียดสูง
เกิดผู้นำและผู้ตาม
ในขณะที่บางคนอาจจะทำอะไรไม่ถูก แต่บางคนกลับมีความสามารถในการอยู่รอดในสถานการณ์ที่รุนแรงอย่างน่าทึ่งและยังมีความสามารถในการควบคุมและจัดการภัยคุกคามต่างๆ ได้ดี ซึ่งคนที่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ดีกว่าจะเป็นคนที่สามารถควบคุมวิธีการตอบสนองต่อความเครียดเฉียบพลันของร่างกายได้ ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า การตื่นตัวทางสรีรวิทยา (Physiological Arousal)
ศาสตราจารย์แมคฟาร์เลนได้ยกตัวอย่างของบุคคลที่มีความสามารถข้อนี้อย่างโดดเด่น นั่นคือ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) มนุษย์คนแรกที่ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์
“อาร์มสตรองสามารถคงความสุขุมและใจเย็นไว้ได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากและเป็นอันตรายถึงชีวิต และความสามารถด้านนี้ของเขาเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์ประสบความสำเร็จ
“คนที่สามารถรับมือได้ดีในสถานการณ์ที่ยากลำบากมักจะเป็นผู้นำที่ดีที่สุด พวกเขามักจะเชื่อมต่อกับผู้อื่นได้อย่างดีเยี่ยมและมักจะรวมผู้คนเข้าเป็นกลุ่มเดียวกันได้ เพราะพวกเขาไม่เพียงแต่มองเห็นสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่เท่านั้น แต่คนเหล่านี้ยังสามารถใช้ประโยชน์จากกลุ่มที่ตัวเองอยู่ได้ด้วย” ศาสตราจารย์แมคฟาร์เลนกล่าว
ทั้งนี้ การเพ่งความสนใจไปที่คนมากกว่าภัยคุกคามจากภายนอก จะช่วยให้คนเหล่านี้หลีกเลี่ยงความท้าทายของสถานการณ์ที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ได้ และการสนับสนุนผู้ที่มีความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามได้มากกว่าก็สามารถช่วยให้กลุ่มเอาตัวรอด
สมองอยู่ภายใต้ความเครียด
ดร.ลีล่า แลนดอวสกี (Lila Landowski) นักประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย กล่าวว่า เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ตึงเครียดร่างกายของเราปล่อยฮอร์โมนสามชนิดที่แตกต่างกัน เริ่มจากฮอร์โมนอะดรีนาลน (Adrenaline) ตามด้วยฮอร์โมนนอเรพิเนฟริน (Noradrenaline) และฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol)
ฮอร์โมนทั้งสามชนิดนี้จะมีผลต่อส่วนต่างๆ ของร่างกายที่แตกต่างกัน ส่วนแรกที่ได้รับผลกระทบคือ อมิกดาลา (Amygdala) ซึ่งเป็นส่วนเนื้อเยื่อประสาทของสมองที่มีลักษณะเหมือนอัลมอนด์ เป็นส่วนของสมองที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสัญชาตญาณการอยู่รอดขั้นพื้นฐานที่สุดและปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ของมนุษย์
“สมองส่วนนั้น (อมิกดาลา) จะถูกกระตุ้นก่อนที่เราจะมีโอกาสได้คิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราเผชิญอยู่ตรงหน้าเรา และอมิกดาลาก็จะเป็นผู้ให้แนวทางกับส่วนอื่นๆ ของร่างกายว่าจะต้องวิ่งหนี หยุดชะงัก หรืออะไรก็ตามที่เราสามารถแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบได้ ปัญหาในโลกสมัยใหม่ก็คือคนจำนวนมากกำลังเผชิญกับความเครียดอย่างต่อเนื่องหรือเรื้อรัง และสมองก็จะอยู่ในโหมดเอาตัวรอดตลอดเวลา ซึ่งทำให้สูญเสียความสามารถในการใช้เยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าไปอย่างมาก” ดร.แลนดอฟสกีกล่าว
ถ้าคุณมีทักษะในการตัดสินใจที่ต่ำ หรือมีปัญหาอย่างมากในการนำตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ของคนอื่นและทำความเข้าใจกับมุมมองของพวกเขา ดร.แลนดอฟสกีแนะนำว่านั่นไม่ใช่ลางดีของความสามารถในการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เลวร้ายอย่างมีเหตุผลของคุณ
ผู้ใฝ่หาความระทึกอาจรับมือได้ดีกว่า
การท้าทายตัวเองให้ได้เรียนรู้และจัดการกับความกลัว เช่น การดิ่งพสุธา การเล่นกีฬาที่ได้ใช้ร่างกายปะทะกัน หรือกิจกรรมที่สร้างความระทึกอื่นๆ อาจทำให้คุณอยู่ในสถานะที่ดีกว่าเมื่อต้องรับมือกับสถานการณ์เลวร้าย นั่นเป็นเพราะคุณได้ทำให้ตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายกันมาก่อน เหมือนเป็นการฝึกอบรมตัวเองเพื่อจัดการกับความกลัว
และเมื่อเคยผ่านความระทึกมาแล้ว ก่อนเผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรง ศาสตราจารย์แมคฟาร์เลนอธิบายว่า ร่างกายก็จะนำพฤติกรรมเหล่านั้นมาปรับใช้ในสภาพแวดล้อมที่คล้ายกันได้ แต่ก็ย้ำว่ามีความเป็นไปได้ที่ทุกคนจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ตรงหน้าได้อย่างเหมาะสม เพราะไม่มีใครคาดการณ์ว่าความกลัวจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการตัดสินใจของตัวเองได้