fbpx

ส่อง ‘ทางรอด’ SME ไทย

เรื่อง : Mr.Lens


PART 1

– ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 (COVID-19) ที่เริ่มต้นมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมปี 2562 ที่ผ่านมา ได้ลุกลามไปกว่า 160 ประเทศทั่วโลก
 สิ่งที่ COVID-19 ได้ลงมืออย่างรวดเร็ว คือ การพรากชีวิตคนบนโลกไปมากกว่า 2 แสนราย และมีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 2 ล้านคนในปัจจุบัน
 แต่สิ่งที่น่ากลัวควบคู่ไปกว่านั้นจากการเยือนของไวรัสตัวนี้ คือ แรงกระแทกที่กระเทือนระบบเศรษฐกิจและธุรกิจต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมในทุกๆ ประเทศ ซึ่งเป็นผลให้เกิดความกังวลต่อปากท้องของเจ้าของธุรกิจและบรรดาลูกจ้าง
– อย่างไรเสีย ในแต่ละอุตสาหกรรม และทุกกิจการ ก็ได้มีการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อได้ อย่างในไทยเอง ก็มีมาตรการการให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน การปรับลดเวลาการทำงานไปบ้าง แต่ถ้าเริ่มเห็นว่าภาระทางการเงินเริ่มแบกไม่ไหว ก็จะมีการปรับลดเงินค่าจ้าง หรือหยุดกิจการชั่วคราวไปเลยก็มี
 ถึงกระนั้น ภาพที่เกิดขึ้นนี้ ก็ทำให้อดห่วงบรรดากลุ่มธุรกิจอย่าง SME หรือกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็กไม่ได้จริงๆ เพราะว่ากันว่าหากวิกฤติเศรษฐกิจปี ’40 คือพิษภัยที่มากระทบกับคนรวยมากๆ แล้ว เจ้าโควิด-19 ก็ขอสวนทางด้วยการเล่นงานคนระดับกลางและรากหญ้าตรงๆ
 เพราะตอนนี้บางคนก็เริ่มคลั่ง เพราะไหนจะต้องทำตามมาตรการคุมเข้มการแพร่เชื้อจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ และไหนจะต้องหาทางรอดเพื่อปากท้อง
 ฉะนั้น หากธุรกิจ SME ที่ประกอบไปด้วยกิจการการผลิต การค้า และธุรกิจบริการ ซึ่งเป็นสายเลือดใหญ่กว่า 90% ของระบบเศรษฐกิจไทยเริ่มเจ็บหนัก อาจจะทำให้ระบบเศรษฐกิจพังแบบกู่ไม่กลับเลยก็เป็นได้ เพราะทุกคนก็ยังเหมือนแมลงเม่าที่โดน DDT ขนานหนัก
 แม้จะมีการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน เช่น การพักชำระหนี้ และการให้กู้ยืมจากสถาบันการเงินแก่ภาคธุรกิจไปบ้างแล้ว แต่นั่นก็เป็นเรื่องของการเปิด ‘พื้นที่’ ให้มีโอกาสได้หายใจยาวขึ้นหน่อย แต่ถ้าจะต้องคอยจนวิกฤติ COVID-19 หายไป และหวังว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม…คงไม่ง่าย
 แล้วแบบนี้…ธุรกิจ SME จะปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจนี้ได้อย่างไร?
 นั่นคือโจทย์ท้าทายที่ GM ฉบับนี้จะมัดรวมมาเป็นแนวทางเพื่อ SME ไทยได้ลองพิจารณากัน


PART 2 : BIZTORY

เทคนิคฝ่าวิกฤติ COVID-19 ‘SME ต้องรอด’

อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่า กลุ่มธุรกิจ SME ของไทยตอนนี้เริ่มได้รับผลกระทบจาก COVID-19 กันบ้างแล้ว ส่วนสำคัญก็คงมาจากผลภาพรวมเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ล้มลงแบบโดมิโน่ เช่น ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ไปเกือบสมบูรณ์ โดยข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ ‘TMB Analytics’ ได้ประเมินไว้ว่า COVID-19 พรากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมาไทยในปี 2020 (เทียบกับปีก่อน) ให้เหลือเพียงราว 18 ล้านคน หรือลดลง 54.6% กระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจไทย โดยคาดการณ์ GDP จะเหลือแค่ -0.8% จากเดิม +2.7% ในปี 2020 และคาดว่าสถานการณ์จะกลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4

ดังนั้นจากผลกระทบใหญ่ด้านการท่องเที่ยว และมาตรการจำกัดกิจกรรมภายนอกบ้านของประชาชน ได้ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลในการใช้ชีวิตของผู้บริโภค แล้วก็ลามไปกระทบต่อธุรกิจและรายได้ของผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจต้องหดหายไปตามกัน โดยบางรายถึงขั้นต้องปิดการดำเนินกิจการชั่วคราว เพราะไม่แน่ใจสถานการณ์ COVID-19 จะใช้เวลายืดเยื้อออกไปแค่ไหน

ฉะนั้นในเวลานี้ ทางรอดของ SME ไทย คือการหาทางปรับตัวตามหลักคิดและพื้นฐานของความเป็นจริง ผู้บริโภคอยู่ตรงไหน ผู้บริโภคต้องการอะไร ต้องหาทางเข้าถึงให้ได้มากที่สุด แม้จะไม่ทำให้รายได้ธุรกิจกลับมาเหมือนเดิม แต่ตอนนี้ต้องเติมพลังเท่าที่มี เพื่อให้ธุรกิจไม่ล้มไปเสียก่อน

เดินหน้าเจรจา ‘หา’ แหล่งทุน

ปัญหาที่โคตรใหญ่เลย คือ ธุรกิจ SME จำนวนไม่น้อยกำลังขาดสภาพคล่องทางการเงินในช่วงนี้ จนไม่สามารถชำระหนี้ได้นั้น ภาครัฐและสถาบันการเงินต่างๆ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือ อาทิ กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการเยียวยา เช่น
– ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งธนาคารออมสินเป็นผู้นำหลักในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ
– เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล
– เลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี
– สนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ส่วนธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ ต่างออกมาตรการพักชำระหนี้และขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้กับผู้ประกอบการ SME ตั้งแต่ 6-12 เดือน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ทุกธนาคาร

ฉะนั้นแทนที่จะก้มหน้ากุมขมับ ก็ลองขยับขาตัวเองเข้าไปเจรจากับสถาบันการเงินโดยด่วน เพราะทุกการเจรจาในตอนนี้เป็นสิ่งที่มีค่าต่อ SME จริงๆ

เปลี่ยนช่องทางหารายได้ ‘ออนไลน์’ คือทางรอด

แม้เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ประเทศ แต่ผู้คนก็ยังคงมีความต้องการบริโภคอยู่ เพียงแต่พฤติกรรมของผู้บริโภคอาจเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะในวิกฤติที่คนไม่ยอมออกจากบ้านเพื่อไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า

ฉะนั้นธุรกิจ SME ที่ไม่เคยทำอะไรบนช่องทางออนไลน์เลย ตอนนี้คือไฟต์บังคับแล้ว!!

SME ต้องเปิดใจศึกษาแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าออนไลน์ และการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเหล่านั้นอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือ Marketplace

เพราะถ้าคุณไม่อยากสูญเสียลูกค้าไปแบบถาวร การนำสินค้าและบริการมาลงในช่องทางต่างๆ และเริ่มทำการตลาด รวมถึงสื่อสารถึงลูกค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เกิด New Normal หรือความปกติแบบใหม่แก่ธุรกิจคุณในอนาคต ซึ่งปัจจุบันนี้แพลตฟอร์มในโลกออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมจากทุกประเภทธุรกิจ จะมี Facebook, Instagram, Twitter, Line, YouTube หรือแม้แต่ Pinterest ที่ยังแสดงศักยภาพให้โกยยอดขายเข้ามาได้อยู่ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ออกจากบ้าน แถมใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตแทบจะตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม นอกจากการโพสต์สินค้าด้วยข้อความและเรื่องราวที่น่าสนใจแล้ว ยังควรให้ข้อมูลความรู้อย่างอื่นๆ นอกจากการขายสินค้าเพิ่มเข้าไป เพราะยิ่งสื่อสารมากและแตกต่างแปลกใหม่ ยิ่งดึงดูดผู้คนเข้ามารู้จักธุรกิจของคุณมากยิ่งขึ้นด้วย

ทำการตลาดแบบ ‘เจาะ’ พื้นที่

นอกจากนี้ Hyperlocal Marketing หรือการทำการตลาดแบบเจาะพื้นที่ ก็อาจเป็นทางเลือกสำหรับธุรกิจ SME ที่อยู่ในระดับท้องถิ่นที่มีหน้าร้าน และสามารถให้บริการหรือส่งสินค้าถึงบ้านผู้บริโภคได้ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจร้านทำผม สามารถค้นหาร้านใกล้ตัวจาก Search Engine ด้วย Keyword ว่า ‘ร้านอาหารใกล้ฉัน’ หรือมีบริการใดใกล้ฉันก็ช่วยให้เจ้าของธุรกิจนั้นสามารถสร้างยอดขายได้ต่อไป

การทำสิ่งเหล่านี้ทันทีและถี่ๆ นอกจากจะช่วยให้มียอดขายได้แล้ว ยังเป็นการช่วยรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้อีกทาง เพราะ ‘ความผูกพัน’ สำคัญเสมอในช่วงวิกฤติ เมื่อมีใครสักคนมาคอยเสนอหน้าบ่อยๆ กลุ่มลูกค้าจะรู้สึกคุ้นชินและอยากกลับมาซื้อสินค้าของคุณ

อย่างไรก็ตาม หาก SME ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ ก็ต้องสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเก่า และมอบสิทธิพิเศษให้กับพวกเขาให้มากที่สุด อย่าทิ้งไปดื้อๆ ทำต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกภักดีแบบเหนียวแน่น เพราะเขาจะเป็นเกราะกันเหนียวที่พาเราผ่านสายน้ำที่เชี่ยวกรากไปได้ทุกสถานการณ์

ปรับลุคส์เปลี่ยนไลน์ ‘สินค้า-พนักงาน’

แม้จะใช้ออนไลน์เป็นตัวสร้างยอดขายใหม่ แต่ SME ในรายที่มีหน้าร้านก็ต้องปรับกลยุทธ์ เช่น ถ้าเป็นธุรกิจอาหาร ก็ต้องปรับการรับ-ส่งออร์เดอร์แบบ Take Away หรือการส่งสินค้าตรงไปถึงบ้านของลูกค้า (Home Delivery) ได้อย่างคล่องตัว

ยิ่งไปกว่านั้น ก็ควรจะปรับเปลี่ยนเมนูที่ใช้วัตถุดิบหายากหรือมีโอกาสเสียง่าย ให้เป็นวัตถุดิบที่หาง่ายขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงในการทำสต๊อก ขณะเดียวกันถ้าเราสามารถเปลี่ยนพนักงานเสิร์ฟให้เป็นพนักงานส่งอาหารไปถึงบ้านลูกค้าได้เลยก็จะยิ่งดี เพราะตรงนี้ถือเป็นการแสดงออกของเจ้าของ SME ถึงความมั่นคงในสถานภาพพนักงานว่า พวกคุณยังเป็นที่ต้องการขององค์กร และเชื่อได้เลยว่าพนักงานเหล่านี้จะตั้งใจทำงานเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ

รายจ่ายไม่จำเป็น ‘ตัดทิ้ง’

หากเปรียบธุรกิจเป็นร่างกายของเรา ‘รายจ่าย’ ที่ไม่จำเป็นก็คงเหมือน ‘แผล’ ที่เลือดไหลไม่หยุด หากเราไม่ได้สมานแผลเหล่านี้ ความเจ็บปวดก็คงจะดำเนินต่อไป และธุรกิจก็อาจไม่รอดจนพ้นจากวิกฤตินี้ได้

ฉะนั้นการนำบัญชีรายรับและรายจ่ายมาวิเคราะห์ เพื่อหาว่ารายจ่ายตรงจุดไหนที่สามารถตัดออก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น สินค้าฟุ่มเฟือยประเภทต่างๆ หรือรายจ่ายที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งในบางครั้งการพูดคุยกับพนักงานโดยตรง ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อร่วมกันหาทางออกจากปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ เรียกว่าช่วยกันลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นกันคนละไม้คนละมือ

ในที่นี้อยากให้ SME ได้ลองจัดทำแผนการเงิน 3 เดือน ลองพิจารณาค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็นและไม่จำเป็นในช่วง 3 เดือนข้างหน้า และก็อย่างที่บอก พยายามเน้นตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก ลดต้นทุนให้มากที่สุด หรืออาจจะระบายของค้างสต๊อก ยอมตัดขาดทุนบางรายการเพื่อเรียกเงินสดกลับมา และชะลอการลงทุนใหม่ๆ น่าจะเป็นแผนที่ต้องใส่เข้าไป
ในธุรกิจโดยทันที เหล่านี้จะเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจ SME เดินหน้าและรอดพ้นจากวิกฤตินี้ได้

เบรกการลงทุน ‘ที่ไม่จำเป็น’

การเก็บเงินสดไว้เพื่อการหมุนเวียนธุรกิจในตอนนี้ น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ SME ต้องทำมากกว่าการนำเงินสดไปลงทุนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนผลิตสินค้าเพิ่ม การตกแต่งร้านใหม่หรือการซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มการผลิต เพราะบางท่านอาจจะได้ยินว่า ‘ในวิกฤติ มีโอกาส’ ต้องรีบทำสิ่งที่แตกต่างกว่าคนอื่น

ตรงนี้อาจจะมีเหตุผลที่ดี แต่อย่าลืมว่าในสถานการณ์ COVID-19 ระบาดครั้งนี้ มันเป็นกรณีศึกษาที่โลกไม่เคยพบมาก่อน เพราะมันมีปัญหาในเรื่องของสุขภาพและการเงินทับซ้อนกันอยู่ และ SME ก็ไม่สามารถควบคุมปัจจัยเหล่านี้ได้

ฉะนั้นการลงทุนของ SME อาจได้ไม่คุ้มกับสิ่งที่ต้องเสียไปแน่ แต่หากคิดจะลงทุนเพิ่มจริงๆ ควรมีสติในการลงทุนให้มาก โดยอาจไปลงทุนเพิ่มในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่ก็ต้องระวังในเรื่องของการเก็งกำไรสินค้า เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ด้วย

ลดล้างสต๊อก ขายสินค้า ‘เอาทุนคืน’

อย่าไปคิดว่าการที่เรามีสินค้าสต๊อกไว้ในคลัง จะเป็นการถือไพ่เหนือกว่าคนอื่น และคิดว่าคุณจะปรับราคาสินค้าได้เมื่อความต้องการล้น แต่ผลผลิตต่ำ เพราะในความเป็นจริง การแบกสต๊อกสินค้าเอาไว้มากๆ โดยไม่ยอมระบายสินค้าออกเท่ากับว่าคุณกำลังแบกรับค่าใช้จ่าย
ในการ ‘รักษาสต๊อกสินค้า’ นั้นๆ เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากต้นทุนของสินค้าที่คุณต้องแบกเอาไว้อยู่แล้ว

ฉะนั้นสิ่งที่ SME ต้องทำเพื่อรักษาธุรกิจในยามนี้ คือ ยอมขายสินค้าแบบลดราคาล้างสต๊อกไปก่อน เพื่อเอาต้นทุนบางส่วนกลับคืนมาเก็บไว้ในรูปแบบของเงินสดหมุนเวียน การปล่อยสินค้าบางส่วนออกเพื่อความอยู่รอด การยอมขายเท่าทุนดีกว่าการที่ต้องขายขาดทุน หรือการต้องแบกต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการรักษาสต๊อกสินค้าไว้ จะช่วยต่อลมหายใจให้แก่ SME ได้ดีกว่าหวังมาเก็งกำไรในช่วงวิกฤติ

‘เร่ง’ เพิ่มทักษะให้พนักงาน

การเลิกจ้างพนักงานควรจะเป็นทางเลือกสุดท้ายของบริษัท เพราะในยามนี้การเก็บรักษาพนักงานเอาไว้ และเพิ่มทักษะด้านต่างๆ ให้แก่พนักงาน เป็นการสร้างฐานอนาคตใหม่หลังวิกฤติซาลง ซึ่งในช่วงเวลานี้อาจจะให้พนักงานทำงานที่บ้านไปก่อน เป็นการลดต้นทุนในออฟฟิศได้ทางหนึ่ง และก็ยังเป็นการประคองธุรกิจเท่าที่ทำได้ ขณะเดียวกันก็ใช้เวลานี้ส่งเสริมให้พนักงานได้เรียนคอร์สออนไลน์ต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้แก่ตัวพนักงานเอง โดยเฉพาะการเรียนทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นกับธุรกิจ SME นั้นๆ ในอนาคต พอสถานการณ์กลับเข้าที่ นอกจากจะเริ่มรันงานได้เลย ยังเหมือนได้พนักงานใหม่ที่มีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจยุคใหม่กันเลยทีเดียว

เปลี่ยน ‘ศัตรู’ ให้เป็น ‘มิตร’

การเดินทางคนเดียวในภาวะวิกฤติเช่นนี้ อาจจะเป็นภาระที่หนักหนาสาหัสเกินกว่าที่ SME จะยืนหยัดอยู่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ SME ควรจะทำก็คือการแสวงหาความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ SME ด้วยกันในรูปแบบของการจับมือเป็นพันธมิตร ลองนำสินค้าของตนมาทำการตลาดร่วมกัน หรือนำมาจัดโปรโมชั่นร่วมกันในลักษณะของการขายพ่วงสินค้าที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันดู เพราะการทำเช่นนี้ นอกจากจะทำให้ SME มีโอกาสรอดแล้ว ยังทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าตนเองได้รับประโยชน์จากการจัดโปรโมชั่นสินค้าร่วมกันระหว่าง SME อีกด้วย


PART 3 : BIZ UPDATE


ปรับลมหายใจกิจการ…คู่ขนานไวรัสระบาด

‘ข้าวแลกปลา’!! สู่วิถีไทยเดิม…เติม ‘รอยยิ้ม’ และ ‘น้ำใจ’ จากก้นบึ้ง

อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องเชยๆ ที่ตอนนี้เราเริ่มเห็นการนำแนววิถีชีวิตแบบคนไทยในอดีตกลับมาปรับใช้ในยุคนี้ เพื่อความอยู่รอด

เหตุเพราะปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง แถมยังเจอโรคระบาดอย่าง COVID-19 มากระหน่ำซ้ำ จนแย่กันไปทุกส่วนทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คน

แนวคิดแบบดั้งเดิม ใช้ชีวิตแบบพอมีพอกินตามแบบฉบับที่รุ่นปู่ย่าตายาย หรือบรรพบุรุษรุ่นก่อนหน้า อาจจะเป็นหนทางออกที่ดีที่สุดแก่สังคมไทยในยามนี้ก็เป็นได้

ยกตัวอย่างเช่น วิถีการแลก ‘วัตถุดิบ’ แลก ‘อาหาร’ กันระหว่างชุมชนหรือครอบครัวที่มีผลผลิตมากๆ ดั่งเช่นในอดีต แบบบ้านไหนมีข้าวมาแลกปลา มีผักมาแลกข้าว มีเสื้อผ้ามาแลกเนื้อ และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นต้น

ฟังดูแล้วอาจจะแปลกๆ ในยุคนี้ แต่มันก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ หากวันใดมูลค่าของสิ่งที่เรียกว่า ‘เงิน’ เริ่มหมดไป และวัตถุดิบเพื่อการดำรงชีวิตมีค่ามากกว่าเงินทองและของแบรนด์เนม

ความหมายของการกินอยู่ บนพื้นฐานชีวิตเกษตรและปศุสัตว์ อาจจะกลับมาเติมเต็มชีวิตคนยุคนี้ก็ได้ ใครจะไปรู้

อย่างตอนนี้มีการเริ่มแนวคิดดังกล่าวขึ้นที่ ‘หาดราไวย์’ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งยังถือว่าเป็นพื้นที่ไม่พบการติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพราะยังไม่มีคนในพื้นที่ออกไปในสถานที่เสี่ยง

แต่ที่นั่นกำลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจฝืดเคือง หลังภูเก็ตประกาศ ‘ล็อกดาวน์’ พ่อค้าแม่ค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงแรม ปิดกิจการเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการ

พี่น้องชาวเลราไวย์​ ที่มีพื้นฐานเป็นชาวประมงประมาณ 1,375 คน ได้รับผลกระทบไม่สามารถขายปลาทะเลที่หามาได้ ทำให้ขาดรายได้ไม่มีเงินซื้อข้าวสาร

พวกเขาต้องนั่งดูปลาที่หามาได้กองทิ้งไว้จนเน่าเสีย!!

ปัญหานี้ทิ้งไว้นานคงย่ำแย่ ทำให้ ‘มูลนิธิชุมชนคนไท’ ที่ดูแลชุมชนชาวเล 5 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ได้ยื่นมือเข้ามาช่วย

โดยมีการร่วมมือกับ ‘สมาคมชาวยโสธร’ (จังหวัดนี้อุดมไปด้วยข้าวนานาพันธุ์) ที่ยื่นมือเข้ามาให้การช่วยเหลือก่อตั้งโครงการ ‘ข้าวแลกปลา’ แลกเปลี่ยนสินค้าปลอดสารพิษจากชุมชนสู่ชุมชน โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

เป้าหมายโครงการนี้ ก็ชัดเจนตามชื่อ เพื่อฝ่าวิกฤติ COVID-19 ภายใต้แนวคิด ‘ชาวเลมีปลา ชาวนามีข้าว’ ในอัตราแลกเปลี่ยนข้าวหอมมะลิ 4 กิโลกรัม แลกกับ ปลาแห้ง, ปลาเค็ม และปลาหวาน 1 กิโลกรัม

แนวคิดนี้ได้หน่วยงานหลายแห่งทั้ง มูลนิธิชุมชนคนไท, ภาคสื่อมวลชน, เครือข่ายชาวเลอันดามัน, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร, เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กลุ่มจิตอาสา และกองทัพอากาศ มาช่วยกันคิด

ข้อสรุปที่เกิดขึ้น คือ การให้ชาวเลนำปลาที่ได้มาทำปลาเค็ม ปลาหวาน เพื่อแลกกับข้าวสารจากจังหวัดยโสธร โดยจะขนส่งผ่านกองทัพอากาศและนำมาแจกจ่ายชาวเลราไวย์

…และมีความเป็นไปได้ว่าแนวคิดนี้จะขยายต่อไปช่วยเหลือชุมชนอื่นๆ เช่น ชาวเลเกาะสุรินทร์, เกาะพยาม, เกาะช้าง, เกาะเหลา, เกาะพีพี และเกาะหลีเป๊ะ โดยเชื่อมต่อกับเครือข่ายภาคประชาสังคมต่อไป

ข้อดีของแนวคิดแบบนี้​ คือ…

…ประชาชนไม่ต้องรอภาครัฐให้มาแจกข้าวแจกน้ำแก่คนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

…เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนลุกขึ้นมาช่วยเหลือตัวเองอย่างมีศักดิ์ศรี

แล้วรู้ไหมว่า แนวคิดนี้ยังทำให้เกิดสิ่งที่ได้มากกว่าการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบระหว่างกันจากแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย…อะไรงั้นหรือ?

คำตอบ คือ การแลกเปลี่ยนสิ่งของจะนำไปสู่การใกล้ชิดกันของคนต่างถิ่นมากขึ้น และส่งผลให้เกิดการต่อยอดและเรียนรู้วัฒนธรรมดั้งเดิมของคนไทยในแต่ละจังหวัดกันได้แบบอัตโนมัติ ซึ่งวิถีเหล่านี้มันหายไปจากสังคมไทยนานมาก

แต่วันนี้จุดเริ่มต้นเล็ก จากผืนดินที่ห่างไกลกันอย่าง ภูเก็ต-ยโสธร อาจจะเป็นประกายแสงของโมเดลวิถีแห่งอดีตให้หวนคืนมา

ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้ ชุมชนคนไทยหลายๆ ชุมชน ที่มีกล้วย มีพริก มีพืชผัก ผลไม้ สัตว์เลี้ยง และอื่นๆ​ อาจจะทำการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันได้อย่างอิสระ​ โดยมิต้องพึ่งพิงสิ่งที่เรียกว่าเงินทองอีกต่อไปก็ได้

วิถีเก่าก่อนที่หอมหวน น้ำใจและรอยยิ้มบนช่วงเวลา​ 100​ ปีที่หายไป​ อาจจะกลับมาอีกครั้ง…

ทิ้งโรงแรม!! มาขายแกงถุง

…ผมมีโรงแรม
…โรงแรมผมไม่มีคนเข้าใช้บริการ
…ผมมีลูกน้องกว่า 100 คน
…ผมจะดูแลพวกเขาได้อย่างไร?

วิกฤติ COVID-19 งวดนี้ เรียกว่าโดนกันถ้วนหน้า ถ้าใครที่บอกว่าไวรัส COVID-19 ไม่ได้กระทบอะไรกับชีวิต นี่เรียกว่าเป็นบุญมากจริงๆ

แล้วรู้ไหมว่า ธุรกิจโรงแรมก็นับเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เจอหนักหน่อย เพราะเมื่อประเทศต่างๆ ในโลกปิด เมืองปิด ใครมันจะข้ามเขตมาเที่ยวกันได้

เจ้าของธุรกิจโรงแรมหลายๆ รายย่ำแย่ และก็อย่างที่เห็น…คนที่ ‘ล้ม’ และ ‘ยอมแพ้’ ก็ปล่อยร้างธุรกิจ และทิ้งคนที่อยู่กันมานานแบบลอยคอ ซึ่งมันก็ไม่ผิด เพราะเจ้าของทุกคนก็ต้องเอาตัวเองไว้ก่อน

แต่กับ…ณภพ ลายวิเศษกุล กรรมการผู้จัดการ โรงแรมลายทอง ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ที่ก่อตั้งมากว่า 20 ปี ในจังหวัดอุบลราชธานี ดูจะไม่คิดแบบนั้น

โรงแรมลายทองต้องเจอผลกระทบเหมือนกันกับโรงแรมอื่นๆ และจริงๆ ก็แย่มาจากพิษเศรษฐกิจตั้งแต่ปีที่แล้วแล้วด้วย ยิ่งพอมาเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 อีกระลอก ก็ทำให้ธุรกิจของเขาต้องหยุดแบบจริงจัง

…ห้องพัก 120 กว่าห้อง มีลูกค้าเข้าใช้บริการไม่ถึง 5 ห้อง
…ห้องประชุมและสัมมนาก็โดนยกเลิกอย่างไม่มีกำหนด
…บ้างก็เริ่มเตรียมงานไปแล้วแต่ก็ต้องยกเลิกไป
…ความเสียหายเกิดขึ้น
…รายได้ ‘หลักล้าน’ เหลือเพียงแค่ ‘หลักพัน’

หลังจากที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ณภพก็มีคำถามอยู่ในหัวมากมายพอๆ กับเจ้าของธุรกิจทั่วไป…จะเอาอย่างไรต่อดี? ปิดเลยไหม? สู้ดีหรือ? แล้วสู้ต่อยังไง?

แต่หนึ่งในคำถามที่มักแทรกเข้ามาในหัวตัวเองอยู่ตลอด คือ…แล้วทุกๆ การตัดสินใจ…จะทำให้ลูกน้องกว่า 100 ชีวิตเป็นอย่างไรต่อไป?

อย่างที่บอก ฝืนอะไรก็ฝืนได้ แต่เราฝืนความจริง โดยเฉพาะความจริงที่โลกตอนนี้มันเจอวิกฤติกันหมดไม่ได้

ถ้า ณภพ คิดจะประคองธุรกิจด้วยการกลับไปขายห้องพักขายห้องประชุมเหมือนเดิม มันก็ไร้ประโยชน์ เพราะคนออกมาทำกิจกรรมไม่ได้

ฉะนั้นพอลองมาคิดทบทวนแล้ว และมองไปรอบๆ ตัว สิ่งที่เขาสัมผัสได้ คือ ‘วิกฤติ’ มันไม่ได้เกิดขึ้นกับโรงแรมอย่างเดียว แต่เกิดกับคนทุกคน และยังมีคนที่แย่กว่าเขาอีกมาก

ระหว่างที่คิดเรื่องราวมากมายในหัว ณภพเหลือบไปเห็นด้านหลังของโรงแรมที่ยังมีพื้นที่ว่างอยู่

สิ่งแรกที่เขาคิดขึ้นมาได้ทันที คือ จุดแข็งของธุรกิจโรงแรม ไม่ใช่แค่เรื่องที่พัก แต่ยังมีจุดขายด้านอาหารอีกด้วย

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของณภพ กับการเลือกนำอาหารมาสร้างสะพานให้ตัวเขาและพนักงานกว่า 100 ชีวิตได้เดินต่อ

แนวคิดของ ‘เชฟ 5 ดาว’ จึงเกิดขึ้นมา!!

‘เชฟ 5 ดาว’ เป็นการขายอาหาร หรือกับข้าวถุงที่มีรสชาติและมาตรฐานระดับโรงแรม เริ่มต้นขายราคาที่ถุงละ 20 บาท ไปจนถึงราคา 60 บาท แล้วแต่วัตถุดิบและเมนูที่แตกต่างกันไป มีเมนูอาหารหมุนเวียนประมาณ 10-12 รายการต่อวัน เพื่อให้ลูกค้าไม่เบื่อ

โดยเขาให้คนในแผนกครัวของโรงแรมลายทองมาปรุงอาหาร โดยที่กระบวนการทั้งหมดเป็นกระบวนการเดียวกันกับภัตตาคารโรงแรม เป็นการปรับใช้ความรู้ในการบริหารการโรงแรมเข้ามาใช้ด้วยกัน

นอกจากนี้ณภพก็ยังมีการนำผลไม้ น้ำสมุนไพร และขนมอื่นๆ มาขายอีกด้วย โดยสินค้าที่นำมาขาย ก็นำมาจากพนักงานที่มีพืชผลในสวนของตนเอง เช่น มะม่วง มาวางขายร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันสามารถขายไปได้ประมาณ 50-70 กิโลกรัม กลายเป็นรายได้ให้พนักงานเสริมไปในตัว

ส่วนพนักงานคนไหนที่มีฝีมือทางด้านการทำน้ำสมุนไพร ณภพก็ได้ให้คำแนะนำ รวมถึงช่วยสร้างแบรนด์ให้พนักงาน พร้อมทั้งช่วยพัฒนาสูตรพร้อมขาย หรือแม้แต่เมนูขนมหวานก็เช่นเดียวกัน

‘เชฟ 5 ดาว’ เปิดมาตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2563 ขายทุกวันตั้งแต่ 15.00-19.00 น. ด้านหลังโรงแรมลายทอง หลังเริ่มเจอวิกฤติ COVID-19 หนักขึ้น ผลตอบรับในวันแรกๆ ก็เริ่มต้นที่ยอดขายประมาณ 300-400 บาท

แต่ด้วยมาตรฐานอาหารแบบโรงแรม และพนักงานที่ยังมีแรงจากการที่เจ้าของไม่ทิ้ง ทำให้ปัจจุบัน ‘เชฟ 5 ดาว’ มียอดขายอยู่หลักหลายหมื่นบาทต่อวัน แม้รายได้หักแล้วจะเหลือไม่เยอะมาก

แต่ณภพก็ทำให้ลูกน้องกว่า 100 ชีวิตของเขามีรายได้ และได้มีโอกาสเผชิญและฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

ในอนาคต ณภพยังวางแผนที่จะทำให้ ‘แผนกแม่บ้าน’ อยู่รอดได้อีกหนึ่งแผนก โดยการเปิด ‘แม่บ้าน 5 ดาว’ ขึ้นมารับบริการทำความสะอาดโดยเฉพาะ โดยทางโรงแรมจะช่วยสนับสนุนพนักงานในด้านอุปกรณ์ เช่น เครื่องซักพรม เครื่องขัดพื้น และอุปกรณ์จำเป็น รวมไปถึงน้ำยาทำความสะอาดให้ทั้งหมด

นี่คือวิธีคิดของคน ‘ไม่เอามองก้มแต่ตีน แต่เลือกมองไปข้างหน้า และแหงนหน้าขึ้นฟ้าในบางเวลา’ เพื่อหวังให้พนักงานในโรงแรมลายทองที่มีอยู่นั้น…รอดไปด้วยกัน

เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า คนที่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งความเป็นจริงได้ และยอมรับมันได้ มักจะมองหาหนทางและเส้นทางเพื่อความอยู่รอดได้เสมอ ที่สำคัญก็ยังสามารถต่อยอดความสำเร็จใหม่ๆ ได้แบบไม่รู้ตัวอีกด้วย

สร้างรอยยิ้มด้วยไอเดียคุณหมอท้องอิ่ม…ร้านอาหารยิ้มออก

…ถ้ามัวแต่ท้อ ก็มีแต่ ‘จบ’
…ถ้ามัวแต่ ‘หลบ’ ก็ไม่ต่างอะไรกับการหนีไปทั้งชีวิต

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ‘เต้-พันชนะ วัฒนเสถียร’ หนึ่งในผู้ประสบภัยจาก COVID-19 ที่ได้รับผลกระทบยอดขายร้านอาหารที่ตกต่ำอย่างหนักหน่วง

พันชนะเปิดร้านอาหารที่เขาใหญ่ชื่อ ‘เป็นลาว’ ซึ่งปกติแล้วเป็นร้านที่ขายดีมาก โดยมีลูกค้านักท่องเที่ยวคนไทยเข้ามาแวะเวียนมากกว่า 70% แต่พอเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างหนัก ทำให้มีการปิดพื้นที่ของจังหวัดต่างๆ ร้านอาหารก็ถูกห้ามไม่ให้นั่ง คนก็หดหาย ยอดขายที่ร้านมีไม่ถึง 5% จากยอดขายในภาวะปกติกันเลยทีเดียว

แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ไม่รู้จะจบลงเมื่อไร และพอมานั่งคิดทบทวน เธอก็มองว่ายังมีคนในวงจรธุรกิจเดียวกันที่ลำบากกว่ามาก แล้วคนอื่นที่ลำบากนั้นจะอยู่กันอย่างไร

สิ่งที่เธอคิดดูจะใหญ่กว่าการมองแค่เรื่องของร้านตัวเอง แต่เธอมองไปไกลว่า ถ้าเหตุการณ์ยังเป็นแบบนี้ ‘เศรษฐกิจ’ จะหยุดชะงัก และนั่นจะยิ่งทำให้เหตุการณ์มันรุนแรงลากยาวขึ้นไปอีก

ความต้องการช่วยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการหาทางออกกับสถานการณ์นี้ จึงทำให้ไอเดียบรรเจิดของพันชนะเกิดขึ้น

ไอเดียที่ว่าจะเรียกว่าเป็นการ ‘ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว’ ก็คงไม่ผิด

โดยพันชนะเริ่มต้นมองหา ‘ทางออก’ จากการมองเห็นปัญหา ‘ทัพหน้า’ ของสังคมไทย ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับ COVID-19 อย่างหนัก หรือก็คือบุคลากรทางแพทย์ทั้ง ‘หมอและพยาบาล’ นั่นแหละ

ตามหลักการนั้น ‘กองทัพต้องเดินด้วยท้อง’ แต่หลายท่านคงทราบกันดีว่าบุคลากรแพทย์
ในตอนนี้ แค่หาเวลาพักผ่อนยังยาก หลายท่านแทบจะหิ้วท้อง ไม่ได้กินอะไรกันทั้งวันเลยก็มี

พันชนะจึงคิดโครงการหนึ่งขึ้นมาภายใต้ชื่อเท่ๆ ว่า ‘Food For Fighters’

หลักการง่ายๆ ของโครงการนี้ คือ ทำอย่างไรให้คุณหมอ หรือ ‘Fighters’ ของเราไม่ต้องลำบากในเรื่องอาหารการกิน แต่ได้อิ่มท้อง และมีแรงต่อสู้เพื่อคนไทยต่อไป

ขณะที่อีกมุมหนึ่งนอกเหนือจากการเติมพลังให้บรรดาคุณหมอ คือตัวพันชนะเองก็เข้าใจดีถึงความรู้สึกเถ้าแก่ร้านอาหารทั่วไป โดยเฉพาะรายเล็กๆ และยิ่ง ‘วง’ ของปัญหานี้ขยายขอบเขตไปเรื่อยๆ ทุกคนก็คงหมดพลังและหมดไฟ

ผลกระทบของมันจะรุนแรงแน่นอน เพราะร้านค้าจะไม่มีรายได้ พนักงานในร้านก็จะมีโอกาสถูกลดเงินเดือน เพื่อประคองธุรกิจของร้านไปพักหนึ่ง แต่ถ้าหนักหน่อยก็ปลดคนงาน และสิ่งที่กระทบไปยาวๆ ก็คือวงจรของธุรกิจอาหาร ตลาด และขนส่ง ก็จะย่ำแย่กันหมด เศรษฐกิจก็จะค่อยๆ พังทลาย

ฉะนั้นโครงการ Food For Fighters จะไม่สมบูรณ์ได้เลย ถ้าขาดสิ่งที่เรียกว่า ‘Food’ จากฝั่งผู้ประกอบการร้านอาหาร ซึ่งนั่นเป็นส่วนผสมสำคัญที่พันชนะอยากจะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการตัวเล็กๆ ที่ยังมีใจเป็น ‘นักสู้’ ยังยืนหยัดที่จะเปิดร้าน ยังอยากดูแลลูกน้อง ยังพร้อมเดินไปซื้อของที่ตลาด และยังเลือกใช้บริการรถตุ๊กตุ๊ก/มอเตอร์ไซค์วิน

เพราะถ้าสิ่งเหล่านี้หยุดเมื่อไหร่ เศรษฐกิจก็จะไม่หมุนเวียนทันที!!

‘Food For Fighters’ จึงจับเอา 2 ส่วนนี้มาเจอกัน คือ…
ความต้องการอาหาร = หมอ
ความต้องการขายของ = เจ้าของร้านอาหาร

ในเบื้องต้น Food For Fighters ตั้งเป้าจัดส่งอาหารราว 1,000-3,000 กล่องต่อวัน ไปให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในเครือข่ายของโครงการนี้ ได้แก่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า / โรงพยาบาลรามาจักรีนฤบดินทร์ สมุทรปราการ และศูนย์โรงพยาบาลสนามที่รังสิต

หลังจากจัดส่ง ทาง Food For Fighters จะมีหน่วยติดตามเพื่อคุยกับคุณหมอว่าอาหารที่ส่งไป มีอะไรต้องปรับปรุงบ้าง หรือต้องการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่

ส่วนร้านอาหารในโครงการนี้จะเลือกร้านที่สนใจเข้าร่วม 30 ร้านและนัดหมายเพื่อให้ร้านนั้นๆ จัดส่งอาหารกล่อง 50 กล่องต่อร้าน คิดราคาให้กล่องละ 50 บาท และขอเครดิตใน
การจ่ายเงิน 7 วัน เพราะจะต้องจัดหาทุนมาซื้ออาหารเหล่านั้น

หลายคนอาจจะสงสัยว่าพันชนะรับซื้อเองหรือ? เปล่าเลย แต่เธอใช้ไอเดียแบบ Startup มาเป็นแกนหลักเพื่อระดมทุนผ่านระบบ Cloud Funding ที่ใครสนใจก็เข้าไปร่วมสนับสนุนหรือบริจาคเงินได้ผ่านเว็บไซต์ >> https://social.sinwattana.com/viewCampaign/
9K0P8D1SV59813 และยังสามารถเข้าไปดูได้ว่ามียอดเงินบริจาคอยู่เท่าไร ใช้ไปกับอะไรแล้วบ้าง

แต่ถ้าใครไม่สะดวกวิธีนี้ สามารถร่วมสนับสนุนได้ที่บัญชี 003-2-916724 ธนาคารกสิกรไทย สาขาสุขุมวิท 33 ชื่อบัญชีออมทรัพย์ น.ส.พันชนะ วัฒนเสถียร

การขับเคลื่อนของ Food For Fighters จึงเหมือนเป็นการสร้าง ‘กำลังใจที่กินได้’ แถมยังช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจอาหารรายย่อยให้มีแรงลุกสู้ขึ้นอีกด้วย

เรียกว่าหมออิ่มท้อง และธุรกิจร้านอาหารก็รอดไปพร้อมๆ กัน แถมเศรษฐกิจยังเคลื่อนหมุนได้ ร้านค้าไม่ต้องปิดกิจการ พนักงานไม่ต้องตกงาน พ่อค้า แม่ค้า ยังขายวัตถุดิบได้ คนทำงานขนส่งยังมีรายได้

อย่างว่าแหละ วิกฤติครั้งนี้มันหนักหนานัก ถ้าไม่คิดจะทำอะไรที่ควรทำตั้งแต่ตอนนี้ เราก็อาจจะไม่มีวันพรุ่งนี้ให้แก้ตัว แต่ถ้าช่วยกันวันนี้แบบคนละไม้คนละมือ ก็เชื่อว่าวันรุ่งขึ้น ย่อมต้องดีกว่าเมื่อวานอย่างแน่นอน


PART 4


สังคมแห่งการแบ่งปัน คนไทยไม่ทิ้งกัน

ช่วง COVID-19 หลายคนอาจคิดว่าบรรดาร้านตึกแถวข้างทาง ที่ขายทั้งอาหาร, ขายของทั่วไป อาจได้ผลกระทบไม่รุนแรงเท่าไรนัก

เพราะถึงจะมีกฎเข้มจากรัฐบาลที่ไม่ให้คนเข้าไปกินในร้านอาหาร แต่ก็ยังสั่งซื้อไปกินที่บ้านได้ ขณะเดียวกันบรรดาร้านอาหารก็อาจจะได้อานิสงส์จากบรรดา App Food Delivery ที่มีอยู่เต็มไปหมด

แต่ก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ด้วยปัจจัยจากการ ‘ให้ปิดร้านเร็วขึ้น’ ตามกำหนดเคอร์ฟิว 4 ทุ่มถึงตี 4 นั้น อาจจะทำให้ยอดขายบางร้านไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายแบบปฏิเสธไม่ได้เหมือนกัน

เพราะอย่าลืมว่า ทางเลือกในออนไลน์ช่วงนี้ มันก็มีมากกว่าเดิม คนที่เคยซื้อร้านใดร้านหนึ่งได้ในสถานการณ์ปกติ เมื่อเปลี่ยนมาซื้อแบบออนไลน์ ก็อาจจะเจอตัวเลือกอื่นที่น่าสนใจกว่าแย่งลูกค้าไป

ตรงนี้ส่งผลให้บางร้านมีจำนวนคนซื้อน้อยลง ยอดขายไม่เหมือนเดิม แต่ในเวลาเดียวกันต้นทุนในร้านทั้งวัตถุดิบและเด็กในร้าน ค่าเช่าที่ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ยังมี

แต่ปัญหาที่น่ากลัวไปกว่านั้น คือ บางคนที่เคยเป็นลูกค้าประจำร้านนั้นๆ ก็อาจจะไม่รู้ว่าร้านที่ตนเคยชื่นชอบยังเปิดอยู่ด้วยอีกหรือไม่

ไอเดียในโลกออนไลน์ที่ดูแสนจะธรรมดา แต่มันไม่ธรรมดาจึงเกิดขึ้น…

เราได้เห็นเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง หรือแม้แต่เพจต่างๆ ได้เปิดช่องทางของตน โดยให้ร้านอาหารชุมชน ร้านอาหารข้างทาง และตามตึกแถวเข้ามาโปรโมตร้านในเพจชื่อดังต่างๆ แบบฟรีๆ และไม่มีค่าแบบ ‘ฝากร้าน’ สมัยก่อน

คนดังและเพจเหล่านี้ก็น่ารัก เพราะบางรายไม่แค่ให้พื้นที่โปรโมต แต่ยังรับซื้ออาหารจากร้านนั้นๆ ด้วย แถมบางรายไม่แค่รอร้านค้ามาขอโปรโมต แต่ไปไล่หาร้านที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ แล้วเอามาโปรโมตให้เลยด้วยซ้ำ

อย่างไรเสีย ก็จะมีร้านค้าชุมชนที่ไม่ได้ถนัดกับโลกโซเชียลฯ ซึ่งอาจจะลงข้อมูล ดีไซน์กราฟิกสวยๆ ของร้านและอาหารมาเสนอแบบร้านที่ทำเป็น นั่นจึงทำให้เราได้เห็นเสน่ห์ของการเขียนด้วยมือบนกระดาษแผ่นเดียวกันมา แปะโปรโมตให้เห็น เรียกว่า ‘บ้านๆ’ แต่ได้ใจความ

หลายเจ้าถ่ายรูปตัวเองถือกระดาษ A4 ที่หน้าร้านค้า หรือถ่ายคู่อาหารจากบ้าน ใส่ข้อความแนะนำร้าน ชื่อร้าน ที่ตั้งร้าน เบอร์โทรฯ และประเภทอาหารที่พร้อมรับออร์เดอร์แล้วก็เอาไปแปะดื้อๆ ในเพจเลย ซึ่งมันอาจจะดูเหมือนเชย แต่จริงๆ สะดุดตาใช้ได้เลยนะ

แม้การรวมตัวกันของคนดังและเพจดังที่มาช่วยเหลือบรรดาผู้ประกอบการร้านอาหารในหนนี้ จะไม่ได้ทำให้ร้านค้าได้รับยอดขายที่เทียบได้กับสถานการณ์ปกติ แต่อย่างน้อยๆ เมื่อเหตุการณ์กลับคืนสู่ภาวะเดิม ร้านค้าข้างทางเหล่านี้ ก็น่าจะยังไม่หายไปจากความทรงจำของลูกค้าง่ายๆ แน่นอน

ก็คงต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายในโลกโซเชียลฯ ที่ช่วยเหลือและไม่ทิ้งคนไทยในยามนี้

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ