สังคมไร้เงินสด
บางครั้งปัญหาของคนมีเงินแต่ใช้เงินไม่ได้ก็เกิดจากการ ‘มีแบงก์พันติดตัว’
ด้วยความรู้สึกเกรงใจที่จะต้องใช้แบงก์ใหญ่ซื้อของเล็กๆ น้อยๆ สุดท้ายเราก็ต้องไปหาแตกแบงก์ก่อน ซึ่งก็ไม่ได้ง่ายหากแถวนั้นไม่มีร้านสะดวกซื้อ
หรือในบางครั้งเวลาเจอของที่ถูกใจแต่เงินสดไม่พอ ไหนจะต้องเดินหาตู้ ATM ไหนจะต้องเดินย้อนกลับมาซื้อของ
ปฎิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเล็กน้อยอย่างนี้มันช่างเป็นอะไรที่ไม่สะดวกเอาเสียเลย
โชคดีที่ทุกวันนี้ชีวิตเราง่ายขึ้นมากเพราะต่อให้เงินไม่พอ ไม่มีตู้ ATM อยู่ใกล้ๆ หรือไม่มีเครื่องรูดบัตรเครดิต เราก็ยังสามารถชำระเงินผ่านการทำธุรกิจทางอินเทอร์เน็ตได้ แถมค่าธรรมเนียมก็ไม่มีด้วย
ภาพที่เราเห็นในปัจจุบันจึงไม่ใช่การหยิบเงินสดแล้วจ่ายเหมือนเมื่อก่อน แต่เป็นภาพที่ผู้คนถามพ่อค้าแม่ค้าว่า “มี QR Core ไหม” หรือ “ขอพร้อมเพย์หน่อย”
นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่คำประกาศของนักปรัชญาชาวเยอรมันคนหนึ่งกำลังเป็นจริง คำประกาศที่ว่า ‘พระเจ้า (เงินสด) ได้ตายไปแล้ว’
แม้ปัจจุบันเราจะยังไม่ได้เข้าสู่สังคมไร้เงินสุดโดยสมบูรณ์ แต่เป็นสังคมกึ่งไร้เงินสดอยู่
แต่ก็คงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อยหากได้สำรวจหน้าที่บทบาทของเงินที่มีผลต่อชีวิตประจำวันของเรา รวมถึงที่มา มูลค่า การเปลี่ยนแปลงต่างๆ และกระแสธารของโลกที่กำลังหมุนไป
แน่นอนว่า การมองรอบด้านอาจเป็นไปไม่ได้ แต่ยังดีกว่าการไม่พยายามชายตามอง
สำหรับแนวคิดสังคมไร้เงินสดนั้นสวีเดน เป็นประเทศแรกของโลกที่ประกาศยกเลิกการใช้เงินสด คือจากหลังมีนโยบายส่งเสริมการใช้จ่ายด้วยช่องทางดิจิทัล เช่น การใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ทางโทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันแม้แต่การชำระเงินค่ารถประจำทาง ยังเริ่มใช้รูปแบบดิจิทัลมากขึ้น สาเหตุมาจากเคยเกิดเหตุการณ์ปล้นเงินสดคนขับรถประจำทางมาแล้ว อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ในสวีเดนรู้สึกปลอดภัยกว่าการถือเงินสดเดินไปมา ทั้งยังสะดวกรวดเร็วอีกด้วย
ปี 2011 รัฐบาลสวีเดนเปิดตัวแอพพลิเคชั่น Swish Payment เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมในประเทศ โดยหลังจากเปิดตัวแอพฯ ร้านค้าและผู้ประกอบการหลายรายก็ได้ใช้ช่องทางนี้ในการชำระเงิน ถือเป็นจุดเริ่มต้นการใช้เทคโนโลยีซื้อขายแลกเปลี่ยนมากกว่าการใช้เงินสดจริงๆ
สวีเดนตั้งเป้าหมายว่า จะลดการใช้เงินสดลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่มีเหลือเลยภายใน 15 ปี และธนาคารในประเทศจะทยอยปิดการให้บริการตู้ ATM
ที่สำคัญก็คือ หลังจากสังคมสวีเดนไร้เงินสดแล้ว หากใครครอบครองธนบัตรเอาไว้เป็นจำนวนมาก อาจเข้าข่ายการทำผิดกฎหมายได้
นิคลาส อาร์วิดส์สัน รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชา Industrial Dynamics แห่ง Sweden’s Royal Institute of Technology ระบุว่ากว่า 4 ใน 5 ของการจับจ่ายใช้สอยในสวีเดนขณะนี้ เป็นการชำระเงินผ่านบัตร และกำลังจะกลายเป็น 100% ในอนาคต โดยชี้ว่า ธนาคารและร้านค้าต่างๆ ได้ลงทุนในระบบการชำระเงินผ่านบัตรอย่างหนักมาแล้วตั้งแต่ปี 1990 ทำให้บุคคลทั่วไปค่อนข้างคุ้นเคยกับระบบดังกล่าวเป็นอย่างดี
บียอร์น อัลเวอุส (นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ และสมาชิกวง ABBA) กล่าวว่าเงินสดคือสาเหตุหลักของอาชญากรรม การซื้อขายในตลาดมืดมักมีการใช้เงินสดด้วยกันทั้งสิ้น หากมีการเลิกใช้เงินสดก็จะช่วยบรรเทาปัญหาอาชญากรรมได้ ทั้งนี้ เขาเคยถูกโจรปล้นเมื่อหลายปีก่อน จนกลายมาเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนการใช้ระบบ e-Payment ในสวีเดนให้แพร่หลายมีการคาดการณ์ว่า สวีเดนจะไม่ใช้เงินสดเลย ภายในปี 2030
และไม่ใช่แค่ต้องการเป็นสังคมไร้เงินสดเท่านั้น แต่สวีเดนหวังจะเป็นสังคมไร้บัตรเครดิตด้วย เพราะเมื่อปี 2018 ประชาชนหลายพันคนหันมาฝังไมโครชิปขนาดเท่าเมล็ดข้าวใต้ผิวหนังตัวเองเพื่อใช้จ่ายเงินและทำกิจกรรมประจำวันโดยให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น อาทิ ไม่ต้องพกบัตรประชาชน, ใช้สแกนแทนคีย์การ์ดในการเข้าทำงานในออฟฟิศ, ซื้ออาหารจากตู้อัตโนมัติ, เข้ายิม, หรือแม้แต่ใช้แทนตั๋วรถไฟ
สำหรับการฝังชิปนั้นระบุว่ามีอาการเจ็บเพียงเล็กน้อยระดับมดกัดไม่ต่างจากการเจาะหู ซึ่งการฝังชิปแม้จะฝังไว้ที่ผิวหนังแต่ก็อยู่ในระดับชั้นที่ไม่ลึก ทำให้การอ่านค่าชิปรวมทั้งบันทึกข้อมูลจัดเก็บสามารถทำได้ง่ายและแม่นยำ โดยในปัจจุบันมีประชากรในสวีเดนเพียง 2% ที่ยังพกเงินสดติดตัว ขณะที่อีก 98% นั้นจ่ายผ่านบัตรเครดิตและสมาร์ทโฟน
กระแสของสังคมไร้เงินสดชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อชาวยุโรปกว่าครึ่งกล่าวว่าพวกเขาใช้เงินสดน้อยลงกว่าเดิม และอีก 78% บอกว่าพวกเขาตั้งเป้าไว้ว่าต่อจากนี้ จะจับจ่ายใช้สอยด้วยเงินสดให้น้อยลงไปกว่านั้นอีก
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ชาวยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย รู้สึกสบายใจในการใช้เงินสดให้น้อยลง เพราะกระเป๋าสตางค์เบาขึ้นมากเมื่อไม่มีเหรียญหนักกระเป๋า
สถานการณ์กลับตรงกันข้ามในเยอรมนี ที่ยังคงเป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่ยังใช้เงินสดกันอยู่มาก จากผลสำรวจของ The ING บอกว่ามีคนเยอรมันแค่ 10% ที่บอกว่าไม่ค่อยได้ใช้เงินสด ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก หากเทียบกับคนที่ไม่ค่อยใช้เงินสดในโปแลนด์ซึ่งมี 33% และฝรั่งเศส 35%
มองในอีกด้าน ชาวอิตาเลียน 19% บอกว่าพวกเขาไม่ค่อยได้ใช้เงินสด แต่ 41% ยอมรับว่าเขาก็ยังเต็มใจที่จะใช้เงินสดต่อไป คำตอบที่คล้ายกันนี้ เกิดขึ้นกับคนในตุรกี โรมาเนีย เชก สเปน หรือเยอรมนีด้วยเช่นกัน
ย้อนกลับมาในเอเชีย ที่ประเทศจีน ณ ขณะนี้ ทั้งรัฐและภาคเอกชนของจีนต่างสนับสนุนสังคมไร้เงินสดมากขึ้น สังเกตได้จากร้านค้าต่างๆ เริ่มรับชำระเงินผ่านทางแอพพลิเคชั่น ธนาคารบางสาขาได้ยกเลิกเมนูถอนเงินในตู้เอทีเอ็ม ระบบขนส่งสาธารณะก็ผนวกการจ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่นเข้ามา อย่างเมืองหางโจว กำลังติดตั้งระบบจ่ายค่าโดยสารผ่าน Alipay ในรถเมล์ทุกคันทั่วเมือง
ในอดีต การโอนเงินให้ผู้อื่นในประเทศจีนนั้น นอกจากการกรอกหมายเลขบัญชีแล้ว ยังต้องกรอกชื่อ-นามสกุล ธนาคาร และสาขาของผู้รับให้ถูกต้อง แต่ในปัจจุบัน แอปพลิเคชั่น e-Wallet ทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องง่าย เพราะแค่สแกน QR Code หรือส่ง ID ให้แก่กันก็สามารถโอนเงินได้ทันที โดยไม่มีค่าธรรมเนียมแบบโอนเงินปกติอีกด้วย
การใช้จ่ายผ่านแอพฯ ทางโทรศัพท์นั้น สะดวกรวดเร็วอย่างมาก แค่สแกน QR Code ก็สามารถจ่ายเงินได้ทั้งแบบร้านค้าและบุคคลทั่วไป ในด้านแอปพลิเคชั่น มี 2 เจ้าใหญ่ๆ ที่ครองตลาดอยู่ คือ Alipay ของ แจ็ค หม่า ซึ่งถือเป็นบุคคลที่ผลักดันการใช้จ่ายไร้เงินสดมาโดยตลอด และ WeChat Pay แห่ง Tencent
สำหรับปัญหายิบย่อยต่างๆ ในการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด เช่น ความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟน ซึ่งมักมีปัญหาแบตเตอรี่ที่หมดเร็ว จึงมีการติดตั้งตู้ชาร์จแบตฯ ได้ฟรีตามจุดต่างๆ รวมถึงการกระจายสัญญาณ WiFi ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนหรือทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
ประเทศจีนจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างรวดเร็ว ในเมื่อเทคโนโลยีทำให้ชีวิตง่ายขึ้น พวกเขาก็ต้อนรับ เราจึงได้เห็นการส่งอั่งเปาผ่านทางแอพฯ และร้านขายของริมทางที่เต็มไปด้วยการจ่ายเงินทาง QR Code และแอปฯ
ถึงกระนั้น ปัญหาอย่างการโจรกรรมบัญชีทางออนไลน์ หรือติดตั้งโปรแกรมแฮกข้อมูลตามจุดชาร์จไฟต่างๆ ก็ได้เริ่มเกิดขึ้นแล้วในประเทศจีนเช่นกัน เราควรแน่ใจแค่ไหนในความปลอดภัยของสังคมไร้เงินสด ที่แม้จะสะดวกสบาย แต่มันอาจนำพาปัญหาใหม่ๆ มาสู่เราก็เป็นได้
แล้วสังคมไร้เงินสดนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง ?
Good
• สร้างความสะดวกสบายในทำธุรกรรมทางการเงิน อีกทั้งประหยัดเวลา และสามารถตรวจสอบการใช้จ่ายของตนเองได้อย่างถูกต้องในทุกเวลาที่ต้องการ
• อัตราการปล้น อาชญากรรมที่กระทำต่อร่างกายจะลดน้อยลง ทำให้ภาระของตำรวจลดน้อยลง และความปลอดภัยต่อชีวิตของประชาชนสูงขึ้น อีกทั้งยังหมดปัญหาเรื่องธนบัตรปลอม
• การหลบเลี่ยงหลีกหนีภาษีจะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากข้อมูลการใช้จ่ายจะได้รับการบันทึกเอาไว้ตลอด ทำให้รัฐสามารถทำฐานข้อมูลรายได้และค่าใช้จ่ายของประชาชนได้
• ลดภาระค่าใช้จ่ายในการผลิตเงิน อาทิ ธนบัตร เหรียญ ทำให้ประหยัดทรัพยากร รวมถึงต้นทุนการผลิต และดูแลรักษาของธนาคาร
• การใช้จ่ายผ่านทางออนไลน์ สามารถใช้โปรโมชั่นต่างๆ ได้มากกว่าการใช้เงินสด อีกทั้งสะดวกในการรวบรวมข้อมูลเพื่อสะสมคะแนนต่างๆ
Bad
• อาชญากรรมทางดิจิทัลอาจเพิ่มมากขึ้น อาชญากรอาจหาวิธีการโจรกรรมรูปแบบใหม่ในทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเสียเงินจำนวนมากกว่าการพกเงินสด
• ความเป็นส่วนตัวลดลง เนื่องจากรายรับ รายจ่าย เส้นทางการเงินสามารถถูกตรวจสอบได้โดยง่าย
• อาจทำให้เกิดหนี้ส่วนบุคคลมากยิ่งขึ้น การใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากความสะดวกรวดเร็วในการจับจ่ายใช้สอย
• รัฐอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาระบบอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการเงินมากยิ่งขึ้น
• ระบบไร้เงินสดยังพึ่งพาบริการทางออนไลน์อยู่เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น สัญญาณ 4G หรือ WiFi จึงเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ ซึ่งหากประชาชนในประเทศยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ย่อมทำให้การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไร้เงินสดประสบปัญหา
• ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยรวมอาจน้อยลง เนื่องจากข้อมูลส่วนบุคคลมักผูกติดอยู่กับบัตรและธนาคาร ดังนั้น หากมีการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้ จะทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีได้รับรู้ข้อมูลทั้งส่วนบุคคลและการเงินในเวลาเดียวกัน
ตอนนี้สังคมไร้เงินสดของเรายังเป็นในรูปแบบทำธุรกรรมผ่านทางอินเทอร์เน็ตและใช้บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต แต่ในอนาคตเราอาจจะมีเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอยู่ในรูปชิปฝังในร่างกายอยางสวีเดนก็เป็นได้