fbpx

วิรัตน์ เอื้อนฤมิต : THE NEW CHAPTER อนาคตบทใหม่ ของ ไทยออยล์ สู่ ‘ปิโตรเคมีที่สร้างคุณค่าให้กับสังคม’

ในโลกยุคปัจจุบันความสำคัญทางด้าน ‘พลังงาน’ เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความมั่นคงของประเทศ ไม่ว่าจะในระดับครัวเรือนหรือระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ‘พลังงาน’ ที่การสันดาปของเชื้อเพลิงเปรียบเสมือนเส้นเลือดดำ ทำให้องคาพยพต่างๆ ดำเนินไปโดยไม่ติดขัด ‘พลังงาน’ จึงเป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ  ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจ สังคม จนถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดใดๆ จะเกิดขึ้น ปัจจัยนี้ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป  และชื่อของ ‘ไทยออยล์’ คือชื่อที่การันตีคุณภาพแห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นประดุจกระดูกสันหลังของการผลิตเชื้อเพลิง เป็นต้นน้ำแห่งอุตสาหกรรมพลังงานมาอย่างยาวนานกว่าหกทศวรรษ  อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21  บวกรวมกับวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่เข้ามากระทบ อย่างไม่คาดคิด กับการ ‘Shift’ หรือเปลี่ยนผ่านของกระแสเชื้อเพลิง สะอาด พลังงานหมุนเวียน ที่เริ่มถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย  ไทยออยล์ ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งหมายจะย่างก้าวไปสู่ระดับ ‘องค์กรร้อยปี’  จะต้องทำสิ่งใด คิดอย่างไร และเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปโฉมใด  ในวาระที่กำลังจะมาถึงนี้ 

GM Magazine ได้รับเกียรติจาก คุณวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)  ผู้อยู่กับแวดวงพลังงาน รวมถึงสายงานด้านบริหารมาอย่างยาวนาน  อีกทั้งยังมีความผูกพันกับองค์กรไทยออยล์มาหลายสิบปี  ได้มาร่วมพูดคุยถึงเส้นทางในสายอาชีพ สถานการณ์พลังงานในปัจจุบัน จนถึงทิศทางที่องค์กรต้นน้ำด้านพลังงานจะก้าวต่อไปถึงระดับภูมิภาคอาเซียน ด้วยความมั่นคง เข้มแข็ง และยั่งยืนสืบไป

โจทย์ยากหรือไม่ ที่จะทำให้ ‘ไทยออยล์’ ทันสมัยท่ามกลาง การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน 

วิรัตน์ : เป็นความยาก แต่ไม่ใช่เฉพาะแต่กับ ไทยออยล์ เพียงอย่างเดียว เพราะทุกอย่างเคลื่อนตัวไปเร็วมาก หลายวงการคุ้นเคยกับคำว่า ‘Disruption’ แต่ในธุรกิจน้ำมันนั้น การเปลี่ยนแปลงเข้ามาได้สักพักหนึ่งแล้ว ไทยออยล์ ที่เดินในเส้นทางความสำเร็จมากว่า 60 ปี เริ่มต้นจากโรงกลั่นน้ำมัน ภายใต้ชื่อ ‘ThaiOil Refinery Company (TORC)’ จนมาถึงปัจจุบันเรามีวิสัยทัศน์ที่ว่า ‘สร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน’ ซึ่งเปรียบเสมือน ‘The New Chapter’ หรืออนาคตบทใหม่ของไทยออยล์ คือเป็นบริษัทพลังงานที่สร้างคุณค่าให้กับสังคม โดยการบูรณาการต่อยอดจากน้ำมันดิบซึ่งเป็นปิโตรเลียมไปจนถึงธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นความท้าทายอย่างมากกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเข้ามา

จากประสบการณ์ทำงานทั้งสายการเงิน จนมาถึงไทยออยล์ แทบไม่เคยห่างจากธุรกิจพลังงาน อะไรคือเหตุผลในการเลือกเส้นทางดังกล่าว

วิรัตน์ : จริงๆ ต้องบอกว่า ส่วนตัวเดินทางครบถ้วน ทั้งตอนต้นที่จบปริญญาตรี แล้วไปต่อ MBA หรือบริหารธุรกิจ จากนั้นก็ไปเริ่มงานที่บริษัทน้ำมันเชลล์ประเทศไทย เป็นเวลาประมาณ 5-6 ปี ช่วงนั้นได้มีโอกาสทำโครงการใหญ่ที่สุดคือโรงกลั่นน้ำมันที่ระยอง อยู่ที่เชลล์ได้พักใหญ่ๆ เริ่มรู้สึกว่าไม่ท้าทาย เนื่องจากธุรกิจน้ำมันนั้นค่อนข้างจะมีเสถียรภาพสูง ก็ทำให้รู้สึกว่าเป็นโซนปลอดภัย และช่วงเวลาก่อนปี 2540 เป็นยุคที่คนเรียนสาย MBA จะหันไปทำงานด้านวาณิชธนกิจ เป็น ‘กลุ่มมนุษย์ทองคำ’ เป็นอะไรที่หวือหวามาก เงินเดือนสูง โบนัสไม่น้อย ก็เลยตัดสินใจกระโดดไปผจญกับงานด้านนี้ ทำอยู่หลายบริษัท หลากหลายสัญชาติ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ จนผู้บริหาร ปตท. ชักชวนให้มาทำงานด้วยกันหลายต่อหลายครั้ง จนถึงช่วงที่ผมอิ่มตัวกับงานวาณิชธนกิจ และมีความคิดว่าอยากทำงานเพื่อประเทศชาติสักหน ก็เลยหวนกลับมาสู่แวดวงพลังงานอีกครั้ง

แล้วประสบการณ์ทั้งในฐานะที่เป็นวิศวกร และผู้ที่ผ่านงานด้านสายการเงิน ตำแหน่งใน ปตท. ตอนนั้นคืออะไร 

วิรัตน์ : ตำแหน่งที่ได้รับตอนนั้น คือ Chief Financial Officer หรือ CFO จนได้มาเป็น Chief Operation Officer หรือ COO ดูแลกระบวนการต้นทางของอุตสาหกรรม อาจเรียกว่าได้ผ่านประสบการณ์ทั้งจากข้างในและนอก ทั้งเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ความหลากหลายต่างๆ มีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันทุกจุด นั่นคือประสบการณ์ที่ได้ตักตวงและเรียนรู้แทบทั้งสิ้น  

ทุกจุดคือประสบการณ์ แต่ละจุดจะต้องลากผ่านออกมาเป็นภาพมอง ภาพใหญ่จากการลากเส้นทางในการทำงานอย่างไร 

วิรัตน์ : ผมนึกถึงคำพูดของ สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Apple ที่บอกว่าชีวิตนั้นเกิดจากการลากจุดต่อกัน แต่ในวันที่เริ่มต้นนั้น ตัวคุณจะยังมองไม่ออกหรอก แต่ถ้ามองย้อนหลังกลับไปจะเห็นว่ามันเชื่อมโยงกันอย่างไร สำหรับผมเริ่มต้นจากความสนใจในธุรกิจพลังงาน จนมาถึงปัจจุบัน ผมมองตัวเองว่าเป็นตัวเชื่อมโยงของการเปลี่ยนแปลง จากบริษัทโรงกลั่นน้ำมันสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงานเต็มรูปแบบ ที่จะเพิ่มมูลค่า สร้างคุณค่าให้กับสังคมและประเทศ

ไทยออยล์ดำเนินธุรกิจมากว่า 60 ปี อะไรคือจุดแข็งขององค์กร ที่ทำให้สามารถยืนหยัดมาจนถึงปัจจุบัน

วิรัตน์ : ไทยออยล์ เป็นโรงกลั่นน้ำมันเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย และทำหน้าที่สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะผ่านวิกฤติการณ์หนักหน่วงสักเพียงใดก็ยังคงเป็นเสาหลักที่ค้ำยันความมั่นคงและเสถียรภาพด้านพลังงานเอาไว้เสมอ จากโรงกลั่นเล็กๆ ผลิตได้ 30,000 บาร์เรลต่อวัน ปัจจุบันมีปริมาณการผลิต 275,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นสิบเท่าของช่วงเวลาเริ่มต้น 

แต่ถ้าถามว่าอะไรคือจุดแข็งจริงๆ ของไทยออยล์ น่าจะเป็นในส่วนของ ‘บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ’ ไม่ว่าจะในตำแหน่งใด และไทยออยล์ก็เรียกได้ว่าเป็น ‘เจ้าแรก’ ในหลายๆ ด้านของประเทศไทย ทั้งโรงกลั่นเอกชนแห่งแรก ประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) รายแรกของประเทศไทย จดทะเบียนโรงกลั่นในตลาดหลักทรัพย์โรงแรกของประเทศ และเป็นโรงกลั่นที่ได้ Dow Jones Sustainability Index ระดับโลกต่อเนื่องถึงเจ็ดปี เป็นหนึ่งในความภูมิใจของไทยออยล์เลยก็ว่าได้ หรือแม้แต่น้ำมันคุณภาพสูงต่างๆ อย่างน้ำมันไร้สารตะกั่ว ก็เป็นไทยออยล์ที่พัฒนาและผลิตรายแรก ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้จากบุคลากรที่มีคุณภาพ และมีความเชี่ยวชาญ อีกทั้งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีมาโดยตลอดจากบริษัทคู่ค้า และผู้ถือหุ้นใหญ่ซึ่งก็คือ ปตท. โดยในภาพรวม ไทยออยล์ได้สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่และน่าจดจำเอาไว้ไม่น้อยเลยทีเดียว  

โจทย์ที่รอคอยไทยออยล์อยู่ภายใต้การ Disruption คืออะไร

วิรัตน์ : ในธุรกิจพลังงานและน้ำมันถือเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องพบเจอกับการ Disruption เป็นอย่างแรกๆ ซึ่งเชื่อว่าหลายท่าน น่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน’ หรือ Energy  Transition กันมาบ้าง คือการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด ที่จะเข้ามาแทนที่เรื่อยๆ ไม่ว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มาแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นตัวสันดาปภายใน เป็นทิศทางที่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ และหลายสำนักก็คาดการณ์ว่าจะเริ่มเห็นอย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอีกสิบปีจนถึงสิบห้าปีข้างหน้า แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าการใช้น้ำมันจะหายไปหมด เพราะยังมีความต้องการด้านการใช้งานอยู่ เช่น น้ำมันอากาศยานอีกด้านหนึ่งที่ไทยออยล์ได้รับแรงกดดันอย่างมากคือเรื่องกระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทิศทางของแนวคิดดังกล่าวเริ่มมีมากขึ้น ซึ่งในอนาคตการทำธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะยิ่งทำให้ต้นทุนในการดำเนินการสูงขึ้น และอีกเรื่องที่กระทบหนักมากๆ คือ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้การดำเนินธุรกิจเกิดการชะงัก เพราะความต้องการน้ำมันอากาศยานหายไปเลย แต่ทางไทยออยล์ก็ได้ทำการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เข้ากับสถานการณ์ของตลาดได้ อย่างไรก็ตาม ไทยออยล์ยังได้เตรียมตัวสำหรับ การ Disruption ไว้โดยได้ลงทุนโครงการใหญ่ นั่นคือ ‘Clean Fuel Project’ หรือโครงการพลังงานสะอาด งบลงทุนหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านบาท เพื่อให้ไทยออยล์สามารถก้าวไปสู่ New Chapter ได้อย่างไม่ติดขัด ทั้งในแง่ต้นทุน กำลังการผลิต และการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ดีและมากยิ่งขึ้น

ทุกการเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ไม่เคยง่าย โดยเฉพาะกับธุรกิจพลังงาน อะไรคือโจทย์สำคัญที่ไทยออยล์ต้องผ่านไปให้ได้

วิรัตน์ : สิ่งที่เรียกว่าความท้าทายของไทยออยล์จากโจทย์ ‘การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน’ และ ‘กระแสการใส่ใจ สิ่งแวดล้อม’ ทำให้เราต้องมีการปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือ  เราจึงได้วางแผนกลยุทธ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ที่เราวางไว้โดยอาศัยรากฐานที่มั่นคงจาก ธุรกิจหลัก (Building on Our Strong Foundation) ขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน (3V) นั่นคือ Value Maximization (การบูรณาการตลอดห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ จากปิโตรเลียมถึงปิโตรเคมี เพื่อเพิ่มมูลค่าสูงสุด), Value Enhancement (การบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่า ผ่านลูกค้าทุกส่วน เข้าถึงทุกความต้องการ เจาะเข้าไปในตลาดที่มีความต้องการสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดในภูมิภาคอาเซียนที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง) และ Value Diversification (กระจายการเติบโตสร้างความมั่นคงของพอร์ตการลงทุน เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงรองรับความผันผวนของธุรกิจรวมถึงแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ (New S-Curve) ที่สอดคล้องกับแนวโน้มของ Megatrends ในอนาคต)

ซึ่งจากกลยุทธ์ Value Maximization ไทยออยล์จึงได้ลงทุนโครงการขนาดใหญ่ นั่นคือ ‘โครงการพลังงานสะอาด : Clean Fuel Project’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย …ถ้าให้เทียบในกรณีที่เห็นภาพแบบชัดๆ ก็คงเป็นการที่ต้องซ่อมเครื่องบินในขณะที่บินอยู่บนน่านฟ้าระดับนั้นเลยครับ เพราะธุรกิจน้ำมันและพลังงานไม่สามารถหยุดกิจการได้เหมือนธุรกิจอื่นทั่วไป แม้แต่โครงการ ‘พลังงานสะอาด : Clean Fuel Project’ ก็เป็นการสร้างติดกับโรงกลั่นของเดิมที่มี และยังดำเนินการกลั่นอยู่ ซึ่งจะมีเรื่องของมาตรฐานการก่อสร้าง ความปลอดภัย และระเบียบปฏิบัติอีกมากมายเหล่านี้คือความท้าทายที่ต้องเผชิญ และยิ่งหนักซ้ำอีกตรงที่การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 มากระหน่ำ ก็ยิ่งทำให้ความยากลำบากเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ แต่ในจุดนี้ต้องชื่นชมบุคลากรของไทยออยล์ในทุกระดับครับว่ามีความสามารถอย่างมาก และไทยออยล์ก็ได้มองหาโอกาสทางธุรกิจเพิ่มเติม โดยไทยออยล์ได้ประกาศการร่วมทุนครั้งสำคัญกับผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ครบวงจรชั้นนำรายใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซีย เพื่อดำเนินการยกระดับธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และก้าวเข้าสู่ตลาดพลังงานในประเทศอินโดนีเซีย โดยได้เข้าไปถือหุ้นที่สิบห้าเปอร์เซ็นต์  

สำหรับนโยบายกับแผนดำเนินงาน ทางไทยออยล์ได้วางรากฐานเอาไว้อย่างไร 

วิรัตน์ : มีแผนวางเอาไว้ทั้งหมดสี่จุดด้วยกัน คือ หนึ่ง : บุคลากร สอง : กลุ่มลูกค้า ที่ทางไทยออยล์จะเน้นมากยิ่งขึ้น สาม : บริษัทคู่ค้า ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทยออยล์ ที่มีส่วนช่วยในการขยายธุรกิจ และกำลังการผลิตในระยะเวลาที่ผ่านมา รวมไปถึงผู้ถือหุ้นอย่าง ปตท. และสี่ คือ แพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มด้านธุรกิจ แพลตฟอร์มด้านองค์ความรู้ โดยไทยออยล์จะประเมินจากปัจจัยทั้งสี่ด้านนี้ในการพิจารณาการเติบโตแทบทุกครั้ง 

ในมุมการตลาดของประเทศและอาเซียนกับศักยภาพที่มี จะดำเนินธุรกิจบนฐานของความยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง 

วิรัตน์ : ต้องบอกว่า ภูมิภาคอาเซียนถือเป็นชัยภูมิที่ดีในด้านธุรกิจ และเชื่อว่าจะยังคงความสามารถกับศักยภาพการเติบโตในระดับโลก ฐานของไทยออยล์อยู่ในประเทศไทยแต่ตลาดนั้นคือทั้งอาเซียน อย่างการที่ไทยออยล์ได้ไปลงทุนในอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตและความต้องการด้านพลังงานสูง สอดคล้องกับประเทศไทยที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก สามารถส่งออกตอบสนองความต้องการต่อตลาดนี้ได้ อีกทั้งทิศทางด้านอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน ที่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเหล่านั้น ไทยออยล์ ก็สามารถเป็นผู้รองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นได้อย่างพอเหมาะ เช่นนั้นแล้วในอนาคตจะมองเพียงแค่ในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมองไปยังระดับภูมิภาคด้วย เป็นการขยายฐานธุรกิจให้กว้างออกไปเพื่อให้ธุรกิจโตและอยู่ได้อย่างยั่งยืน

การเปลี่ยนผ่านไทยออยล์ไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง จะทำให้เกิดการแข่งขันในองค์กรของเครือ ปตท. หรือไม่

วิรัตน์ : ถ้าถามว่าจะเกิดการแข่งขันกันภายในหรือไม่ ต้องบอกว่าแนวโน้มจะเป็นไปในทางส่งเสริมซึ่งกันและกัน หรือ ‘Convergence’ จากเดิมที่เป็นธุรกิจต่างคนต่างทำ จะเริ่มเบนเข้าสู่สิ่งที่ใกล้เคียงมากยิ่งขึ้น ซึ่งไทยออยล์และ ปตท. เองก็มีภาคธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน และการเปลี่ยนผ่านของไทยออยล์จะตอบโจทย์ กระบวนทัศน์และแนวทางทั้งสามข้อที่กล่าวไปก่อนหน้านั้น อันจะนำไปสู่เสถียรภาพและความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ชื่อของไทยออยล์อาจดู ‘ไกลตัว’ ในความรู้สึกของคนไทย วิธีใดที่ทำให้รู้สึกใกล้ชิดกับไทยออยล์มากขึ้น

วิรัตน์ : แม้ว่าที่ผ่านมา การดำเนินธุรกิจของไทยออยล์จะเป็นไปในลักษณะ ‘B2B’ หรือ ‘ธุรกิจสู่ธุรกิจ’ และไม่ได้สัมผัสกับผู้บริโภคโดยตรง แต่น้ำมันกว่าหนึ่งในสามที่ใช้ในประเทศก็กลั่นจากโรงกลั่นไทยออยล์ ซึ่งก้าวต่อไปของไทยออยล์เรื่องปิโตรเคมีก็จะทำให้ไทยออยล์ ใกล้ชิดและร่วมสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตของคนในสังคมและประเทศมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเติบโตกับกลุ่มคู่ค้าและธุรกิจที่ใกล้เคียงกันที่ยังคงดำเนินแนวทางการเติบโตที่ก้าวไปพร้อมกัน

ด้วยบุคลิกของคุณวิรัตน์เป็นคนเก่งและมองทุกอย่างรอบด้าน โจทย์ขององค์กรกับทิศทางในภายภาคหน้าจำเป็นหรือไม่ที่คนในองค์กรต้องรอบด้านเช่นเดียวกัน

วิรัตน์ : ส่วนตัวมองว่าไทยออยล์มีวัฒนธรรมองค์กรเกี่ยวกับบุคลากรที่ค่อนข้างดี มีคนเก่งๆ อยู่มากมาย องค์ความรู้เป็นเลิศ แต่ในอนาคตอาจต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติมคือถ้าพูดในเชิงเทคนิคไทยออยล์สอบผ่านมาตรฐานในระดับที่น่าจะเรียกว่า 25 อันดับแรกอยู่แล้ว แต่ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องกว้างมากขึ้น รอบด้านมากขึ้น กระจายให้หลากหลาย และลงลึกในส่วนของกลุ่มลูกค้ามากขึ้น 

เรียกว่าไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่เปลี่ยนแปลงไปตามข้อมูล ถ้าแบบนั้นในธุรกิจน้ำมันจะเป็นการยากหรือไม่

วิรัตน์ : ลูกค้าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากครับ คือหลายครั้งไม่ได้สนใจผลิตภัณฑ์ แต่มองหา Solution หรือวิธีการที่เหมาะสมเพื่อช่วยแก้ปัญหามากขึ้น เช่น อาจจะไม่ซื้อรถถ้าสามารถแชร์รถร่วมกันได้หรือระบบขนส่งมวลชน ระบบธุรกิจแบบ Share Economy เรียกว่าขอให้ตอบโจทย์ได้ก็เพียงพอ ซึ่งผู้ดำเนินธุรกิจก็ต้องค่อยๆ พัฒนาไปตามความเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ โชคดีที่ไทยออยล์ครบรอบวาระ 60 ปี มีคนรุ่นใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับแนวคิดใหม่ๆ ที่เท่าทันมากขึ้น พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ซึ่งไทยออยล์ก็จะค่อยๆ พิจารณาเก็บส่วนที่ดี และเพิ่มเติมส่วนที่ใหม่เข้าไป 

ในฐานะที่อยู่ในตำแหน่งรับผิดชอบทั้งองค์กร ช่วงเวลาวิกฤติต่างๆ ถาโถมเข้ามา

วิรัตน์ : น่าจะครึ่งหนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดไว้ เรียกว่าต้องคาดการณ์ถึงสิ่งที่ไม่คาดว่าจะได้เจอไว้ก่อนเลย ปรากฏการณ์แบบนี้เรียกว่า ‘Black Swan’ หรือหงส์ดำ ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่ได้เจอกันง่ายๆ แต่ปีที่แล้วเรียกว่า ‘เจอหงส์ดำเต็มไปหมด’ ทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ทั้งสงครามการค้าระดับโลก ทั้งปัญหาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดังนั้น วันนี้ต้องมีการเตรียมตัว และผู้บริหารยุคปัจจุบันจะต้องมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ และมี ‘ภูมิคุ้มกัน’ ที่สามารถรับกับสิ่งที่เข้ามากระทบได้ อย่างไทยออยล์ช่วงที่ผ่านมาก็ยังรักษาแผนระยะยาว แต่ก็วางแผนในระยะกลางกับสั้นควบคู่กันไป เพราะยังเชื่อว่าในทุกวิกฤติไม่ว่าจะหนักหน่วงแค่ไหนมันมี ‘โอกาส’ ใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ

ในส่วนไลฟ์สไตล์ เป็นคนเล่นกีฬาแบบใด เพราะมีคำกล่าวว่า ‘กีฬาที่เล่นจะสะท้อนกระบวนการคิดของผู้บริหาร’ 

วิรัตน์ : ส่วนตัวเป็นคนที่เล่นกีฬาหลายชนิดครับ เช่น กอล์ฟ เทนนิส หมากรุก ปั่นจักรยาน โดยส่วนตัวก็จะวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ก่อนลงมือทำอะไร ไม่ได้รีบลงแรงไปจนหมด อย่างการปั่นจักรยาน บางคนก็เร่งความเร็วปั่นจนหมดพลังไปเลย แต่บางคนก็ค่อยๆ เร่งจังหวะ ปรับระดับในแต่ละช่วง เพื่อให้ได้ระยะทางที่มากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเปรียบกับแนวทางของตนเองคือจะพยายามสังเกต รวมถึงหาข้อดีของแต่ละสิ่งแล้วหยิบมาใช้ในสถานการณ์ต่างๆ

มีใครที่น่าสนใจสำหรับการเป็นต้นแบบหรือไม่ 

วิรัตน์ : อย่างที่บอกไปครับ ส่วนตัวจะพิจารณาข้อดีของแต่ละสิ่ง อันนี้รวมถึงบุคคลด้วย ซึ่งก็หลากหลายไม่ต่างกัน จึงไม่อยากชี้ชัดเจาะจงเป็นคนๆ ไป แต่จะตีโจทย์ให้แตกในการมองว่า คนนั้นประสบความสำเร็จหรือมาถึงจุดนี้ได้เพราะอะไร อย่างคนในองค์กรเอง ผมก็จะมองข้อดีของแต่ละท่านว่ามีจุดดี ข้อเด่นอย่างไร และค้นหา ‘จุดแข็ง’ เพื่อเสริมให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป เรียกว่าถ้าคุณมีความหลากหลายเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นเรื่องดีมากเท่านั้น 

จัดสรรเวลาในชีวิต ระหว่างการทำงาน กับกิจกรรมพักผ่อนอย่างไร

วิรัตน์ : ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนทำงานยาวหลายชั่วโมงนะครับ แต่พอจบงานก็หยุดไว้เท่านั้นไม่เอากลับมาที่บ้าน โชคดีที่ครอบครัวเข้าใจโดยเฉพาะภรรยาที่คอยสนับสนุน  ทำให้ผมสามารถทุ่มเทสมาธิกับการทำงาน และสามารถใช้เวลากับที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มองภาพไทยออยล์ในวาระ ‘หนึ่งร้อยปี’ ไว้ในแบบใด

วิรัตน์ : ไทยออยล์จะเป็นบริษัทพลังงานที่มั่นคง ต่อยอด เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ไกลกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ในระยะอันใกล้สิ่งที่จะได้เห็นจากไทยออยล์คือ เราจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันอย่างเดียว แต่ขยายไปยังธุรกิจปิโตรเคมีมากขึ้นและต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง จนถึงการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็น New S-Curve เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทพลังงานที่ยั่งยืน เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และสร้างคุณค่าให้กับสังคม ตามแนวทางวิสัยทัศน์ที่ว่า ‘Empowering Human Life through Sustainable Energy and Chemicals’ หรือ ‘สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน’

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ