ผศ.ดร.พร วิรุฬห์รักษ์: Man of Digital Twin
เรื่อง : บุญรัตน์ ศักดิ์บูรณพงษา
ทศวรรษที่ผ่านมา โลกของอสังหาริมทรัพย์ก้าวกระโดดอย่างไม่เคยมีมาก่อน จะด้วยมิติของ Digital Disruption (ดิจิทัล ดิสรัปชั่น) หรือด้วยดีมานด์ของตลาดและผู้บริโภคที่มีความซับซ้อนมากขึ้นก็ตาม
ในยุคหนึ่งอาคาร-อสังหาริมทรัพย์ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองมากนัก มาสู่ยุคที่อาคารต้องวิวัฒน์ตัวเองเพื่อตอบสนองความต้องการและแข่งขันเพื่อครอบครองพื้นที่ทางการตลาด เช่น อาคารอัจฉริยะ หรือ Green Building อย่างที่เรียกว่า ‘อสังหาริมทรัพย์ 4.0’ (Real Estate 4.0)
การบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ด้วยโซลูชั่นเดิมๆ จึงไม่อาจตอบโจทย์อีกต่อไป ไม่แปลกที่ PropTech (Property Technology) จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการระบบต่างๆ ของอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ให้มีความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หนึ่งในพร็อพเทคที่น่าจับตามองและไม่ควรมองข้าม ณ เวลานี้ คือ ‘Digital Twin’ (ดิจิทัล ทวิน) เทคโนโลยีที่มีจุดกำเนิดมาจากนาซ่าใช้ในภารกิจกู้ภัย Apollo 13 และต่อมานำมาใช้วางแผนซ่อมบำรุงต่างๆ กรณีที่มีข้อจำกัดไม่สามารถเข้าตรวจสอบสถานที่จริงได้เมื่ออุปกรณ์นั้นอยู่นอกโลก
ถึงวันนี้ไม่จำเป็นต้องผลิตยานอวกาศ อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ที่มีความซับซ้อนสูงก็นำ Digital Twin มาใช้ ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ งานก่อสร้างสามมิติ และการแพทย์ ก่อนนำมาใช้ในงานบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่
โอกาสนี้มาทำความรู้จัก Digital Twin เพื่องานบริหารจัดการอาคารและอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ผ่านสายตา ผศ.ดร.พร วิรุฬห์รักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอสเซ็ท แอคทิเวเตอร์ (Asset Activator) ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี Digital Twin Thailand ที่รั้งตำแหน่งอุปนายกสมาคม BIM แห่งประเทศไทย
ดร.พร เป็นหนึ่งในผู้ที่คลุกคลีวงการอสังหามานาน ทั้งจากบทบาทนักวิชาการ อดีตอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความลึกซึ้งด้านเทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling), Green Building เป็นสถาปนิกที่มีใบประกอบวิชาชีพในรัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา ตลอดจนที่ปรึกษาด้านธุรกิจอสังหาและพร็อพเทค ที่อยู่เบื้องหลังงานก่อสร้างอสังหาฯชั้นนำของประเทศ
“ผมเริ่มเป็นที่รู้จักจากการขับเคลื่อนองค์ความรู้เรื่อง BIM คนแรกๆ ของประเทศไทย จนขณะนี้ BIM มีสมาคมของตัวเอง ต่อมาผมเห็นว่า BIM ในไทยเริ่มอิ่มตัวในมุมการใช้เพื่องานก่อสร้างและดีไซน์ แต่ไม่ใช่ในเชิงงานAsset Managementก็คือเป็น Beyond Construction ซึ่งจริงๆ เป็นโลกที่ใหญ่มาก เพราะนี่คือโลกของงานโอเปอเรต พูดง่ายๆ คือ งานหลังการเปิดตึกแล้วใช้”
“ทุกคนมักมองการบริหารอาคาร แค่ซ่อมบำรุง น้ำไหลไฟสว่าง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่…งานจัดการอาคารเป็นการบริหารให้เกิดรายได้สูงสุด เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจุดนี้ยังเป็นช่องว่าง” ดร.พร เกริ่นถึงจุดเริ่มต้นของก่อตั้ง Asset Activator ที่มาสู่การเป็น PropTechOps ที่ให้บริการเทคโนโลยี Digital Twin
“Digital Twin นับเป็นเมกาเทรนด์ของโลกที่องค์กรชั้นนำต่างประเทศใช้ แต่ในไทยการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในงานบริหารอาคารยังเป็นเรื่องใหม่มาก ความทรงอานุภาพของ Digital Twin สามารถช่วยให้องค์กรรับมือกับการบริหารจัดการอาคารได้ง่ายขึ้น ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนอย่างที่คาดไม่ถึง แต่ยังช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจได้ (Profit Center) อีกด้วย”
ทั้งนี้นิยามของ Digital Twin (ดิจิทัล ทวิน) คือ ฝาแฝดดิจิทัล หรือการสร้างแบบจำลองเสมือนสามมิติของสินทรัพย์ในโลกดิจิทัล (Digital Model) ที่จะสะท้อนข้อมูลถูกต้อง-ตรงกัน-แม่นยำ เหมือนกับ ‘ของจริง’ แบบเรียลไทม์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการของอาคาร-อสังหาริมทรัพย์ หรือสินทรัพย์ใดๆ
“ในอดีตการสร้างอาคารมองในมุมประติมากรรมเพื่อความสวยงาม ต่อมายุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมีเครื่องจักรเข้ามาอยู่ในอาคาร พอเข้าสู่ยุค ’90 – ยุค’2000 อาคารกลายเป็นคอมพิวเตอร์ เมื่อมีการต่อยอดเทคโนโลยี วันนี้อาคารกำลังก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือ กลายเป็น Device เป็นเครื่องมือที่ใช้ประโยชน์ได้ตามที่เราต้องการ เหมือนรถยนต์ที่ตอนนี้กลายเป็น Device เป็น Autonomous Car ที่ควบคุมได้โดยมือถือ”
“การเป็น Device ต่างจากคอมพิวเตอร์ในเชิงการควบคุม ต่อไปอาคารจะสามารถรวบทุกอย่างให้ง่ายขึ้น จริงๆ ไม่ใช่แค่อาคาร แต่อาจหมายถึงอาณาจักรหรือเมืองทั้งเมืองที่สามารถสั่งการ-ควบคุมได้โดยคนๆ เดียว นั่นคือ ผู้บริหารหรือเจ้าของนั่นเอง การเป็นแบบนั้นได้ต้องมีเทคโนโลยี Digital Twin เป็นรากฐาน เพราะ Digital Twin ต่อยอดจากสิ่งที่เราทำมาตลอด คือ BIM มาผสมผสานกับ IoT และ Data Analytics” ดร.พร ชี้ให้เห็นบทบาทของอาคารจากอดีตสู่อนาคต
ปัจจุบันองค์กรยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศนำ Digital Twin มาใช้ขับเคลื่อนงานบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์กันอย่างแพร่หลายแล้ว ตั้งแต่อาคารพาณิชย์, สนามบิน, สวนสนุก เป็นต้น
“อย่าง สิงคโปร์ แอร์พอร์ต แทบไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่เลย เพราะคนเหล่านั้นมาประมวลผลอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมภาพใหญ่แล้ว ที่เหลือเป็นออโตเมชั่นหมด ถ้าพื้นที่โซนไหนมีปัญหาเรื่องความชื้นก็ซูมเข้าไปดูในแบบ Digital Model ซึ่งเป็นฐานข้อมูลของ Digital Twin ได้ ว่าแอร์ตัวไหนของอาคารมีปัญหา หรือเช็คว่าส่วนไหนของอาคารทำงานผิดปกติ เพื่อให้ช่างเข้าไปตรวจเช็ค”
“การใช้ Digital Twin เป็นสื่อกลางในการคุยกันของระบบทั้งหมด จะไม่มีทางสับสน เพราะบางครั้งช่างอาจไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ แต่ถ้าดูโมเดลของ Digital Twin (ซึ่งมีความถูกต้อง-ตรงกัน-แม่นยำ กับของจริง) เทียบจะช่วยให้เข้าไปจัดการกับปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น” ดร.พรอธิบายภาพ Digital Twin ในงานซ่อมบำรุง
มาถึงบรรทัดนี้ทำให้พอเข้าใจได้ว่า หลักการที่กล่าวมาเป็นวิธีการเดียวกับที่นาซ่าใช้ซ่อมยานอวกาศ เมื่อยานลำจริงอยู่นอกโลก แต่ช่างเทคนิคสามารถใช้โมเดล Digital Twin ที่อยู่บนพื้นโลกอ้างอิงแบบที่มีความซับซ้อน เพื่อช่วยแนะนำนักบินอวกาศที่อยู่ในห้วงอวกาศได้
“การใช้ Digital Twin ในต่างประเทศ ไม่ใช่แค่โอเปอเรตดูแลอาคาร แต่โอเปอเรตบิสเนสได้ด้วย อย่างดิสนีย์แลนด์นำ Digital Twin มาจำลองการเซ็ตแสง เงา บรรยากาศ มุมมอง ซึ่งสมัยก่อนจะออกแบบอะไรแบบนี้ต้องสเก็ตซ์มือ หรือทำเพอร์สเปคทีฟบนกระดาษ แล้วมานั่งฝันว่าใช่หรือเปล่า? ต่อมามี VDO และ 3D แต่วันนี้เรามี VR มาช่วยเข้าใจความรู้สึกว่าแบบนี้ใช้ได้ไหม? ถ้าไม่ใช่ก็บอกได้ว่าต้องแก้จุดไหน?”
ปรากฏการณ์ทำงานแบบนี้ จะทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เริ่มควบคุมความเป็นไปของอาคารได้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ยิ่งกว่านั้นเมื่อโลกเข้าถึงเทคโนโลยี AR (Augmented Reality : เทคโนโลยีเดียวที่ pokemon go ใช้) ได้ง่ายขึ้น ก็ยิ่งช่วยเติมเต็มประสบการณ์และความแม่นยำในการใช้ Digital Twin ได้มากขึ้นไปอีก
“ผู้บริหารจะจินตนาการได้เลยว่าจะต่อเติมอาคารอย่างไร จะเห็นเลยว่าอาคารเดิมเป็นแบบนี้ แล้วอาคารใหม่ซึ่งเป็นแบบ Digital Model ที่อยู่ติดกันจะเป็นอย่างไร โลก Digital Twin จะทำให้เกิด Freedom of Thought เกิดอิสระในการตัดสินใจ”
เมื่อหันกลับมามองเมืองไทยที่เพิ่งเริ่มนับหนึ่งเรื่อง Digital Twin ในการบริหารอาคาร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ดร.พร วิเคราะห์ให้เห็นว่า Digital Twin จะเข้ามาพลิกโฉมงานบริหารจัดการสินทรัพย์ประเภทอสังหาฯ ออกเป็นประเด็นใหญ่ ๆ ได้แก่
ประการที่ 1 Paperless Building Management : ปัญหาคลาสสิคของการบริหารอาคาร คือ แบบอาคารไม่อัปเดต-ไม่ตรงกับอาคารจริง, คู่มือหรือแบบแพลนกระดาษที่ใช้งานยาก การมาถึงของ Digital Twin จะก่อให้เกิดก้าวกระโดดของ Fully Digital Building Management เพราะทุกอย่างเปิดดูได้บนคลาวด์ ทำให้แก้ปัญหาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ประชุมออนไลน์เป็นเรื่องปกติ แต่การเข้าถึงข้อมูลออนไลน์ยังมีข้อจำกัดอยู่ ยังต้องเอาช่างไปเดินหน้างาน แต่ Digital Twin จะช่วยขจัดอุปสรรคเรื่องระยะทาง (Distance) และข้อจำกัดเชิงกายภาพ (Physical limitation) จะสามารถใช้ผู้เชี่ยวชาญจากสวีเดน หรือที่ไหนก็ได้ในโลกนี้มานั่งแก้ปัญหาที่ไทยได้ โดยเขาไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมา เพราะเขามี Reference Base จากต้นแบบจริงๆ หรือก็คือ Digital Twin ที่ดูออนไลน์ได้หมดและถูกต้องตรงกัน”
เรื่องที่ 2 ช่วยคาดการณ์อนาคต ลดกระบวนการตัดสินใจ : Digital Twin จะสามารถทำการจำลอง (Simulation) สถานการณ์เพื่อการคาดการณ์อนาคตได้ ขึ้นอยู่กับโจทย์ของเจ้าของพื้นที่ เช่น จำลองการหนีไฟในอาคารหรือสถานีขนส่ง เพื่อทดสอบความปลอดภัย, จำลองการติดโซลาร์ฟาร์ม เพื่อทดสอบระบบประหยัดพลังงาน
“สมัยก่อนอยากทำอะไรแบบนี้ต้องรอ 2 อาทิตย์ ให้สถาปนิกเขียนแบบก่อน ปัจจุบันนี้ไม่ต้องแล้ว Digital Twin จะช่วยจำลองสถานการณ์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ช่วยเร่งความเร็วในการตัดสินใจและการแก้ปัญหาได้อย่างมหาศาลถึง 5 เท่า ซึ่ง ‘การตัดสินใจ’ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของกระบวนการพัฒนาอสังหา”
เรื่องที่ 3 Flow Information นำไปสู่การประหยัดทรัพยากรอาคาร : Digital Twin จะช่วยลดการใช้แรงงานระดับล่างที่เป็นงานรูทีน ลดค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงเครื่องจักร เพราะระบบสามารถตรวจตัวเองได้ตลอดเวลา ตลอดจนช่วยประหยัดพลังงาน เนื่องจาก Digital Twin สามารถจำลองสถานการณ์ได้ จึงนำมาใช้ค้นหาทางเลือกเพื่อเป็นข้อมูลหาแนวทางประหยัดพลังงานที่มีประสิทธิภาพได้
“แค่ 3 หัวข้อหลักๆ นี้ก็พลิกโฉมการบริหารอาคารได้มหาศาลแล้ว แต่จะเพิ่มอีกประการ สำหรับอาคารประเภทรีเทล คือ ช่วยส่งเสริมการขาย-ต่อยอดธุรกิจใหม่ เพราะถ้าอาคารมี Digital Model จะนำไปประยุกต์ใช้เชิงมาร์เก็ตติ้งได้มโหฬาร ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา, รีเทล หรือเกมออนไลน์ต่างๆ เช่น ให้ลูกค้ามาวิ่งจับตุ๊กตาผ่าน AR ในห้างคุณไหม? หรือขายของออนไลน์ซ้อนลงไป ที่เรียกว่า O2O Marketing ไหม?”
ฟังๆ ไปเหมือน Digital Twin คล้ายกับ Metaverse (เมตาเวิร์ส) เทคโนโลยีสร้างโลกเสมือนในพื้นที่ดิจิทัลที่กำลังเป็นกระแสฮอตอยู่ในขณะนี้ ซึ่งดร.พร อธิบายว่า Digital Twin เป็นศัพท์เซ็ตของ Metaverse มากกว่า ต่างตรงที่ Digital Twin ต้องมี ‘วัตถุจริง’ อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ Metaverse คือโลกเสมือนแท้ๆ ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งนั้นในโลกจริงก็ได้
สมมติว่ามี Digital Twin ของสุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต แสดงว่าต้องมีสนามบินสุวรรณภูมิจริงๆ และมีสนามบินสุวรรณภูมิบนในโลกดิจิทัลคู่ขนานกันไป โดยทั้งสองโลกจะเชื่อมต่อกันด้วย 3 เทคโนโลยี คือ BIM, IoT และ Data Analytics
“Metaverse เป็นโลกที่ใหญ่กว่า Digital Twin เพียงแต่มีวัตถุประสงค์การใช้งานต่างกัน อย่าง Metaverse ที่นำมาใช้ทุกวันนี้ยังเน้นการสร้างประสบการณ์ (Experience) ไปอีกขั้นหนึ่ง ต่างจาก Digital Twin ที่ใช้ในเชิงบริหารข้อมูล (Information) เป็นคนละวัตถุประสงค์ แต่มีความเกี่ยวข้องกัน”
ก่อนลาจาก ดร.พร ยังทิ้งท้ายถึงเป้าหมายสูงสุดในฐานะผู้คลุกคลีการใช้เทคโนโลยีพัฒนาอสังหาว่า “ในฐานะมนุษย์ ไม่ใช่นักธุรกิจ อยากเห็นการจัดสรรทรัพยากรที่มีความเป็นธรรม เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะถ้ามองว่าทั้งหมดนี้มุ่งไปสู่ความเป็นเมือง ซึ่งความเป็นเมืองใช้ทรัพยากรเปลืองมากนะ”
“มีคนบอกว่าต้องให้มนุษย์ตัดสินใจเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม แต่ศักยภาพสมองมนุษย์ไปไม่ถึงหรอก มนุษย์มีอารมณ์ มีอคติ ควรต้องให้คอมพิวเตอร์ช่วยแนะนำ เราต้องการ Autonomous Environment ที่มีชีวิตจิตใจ ตัดสินใจอย่างเป็นธรรม แล้วมนุษย์ค่อยมาเซย์เยส เซย์โน อีกที นั่นคือสิ่งที่เราต้องการที่เรียกว่า Smart City แต่เราต้องเป็นคนสร้างมันขึ้นมา”