fbpx

นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์

นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ – GMLIVE

บุญรัตน์ ศักดิ์บูรณพงษา Photo: พิชญุตม์ คชารักษ์

  • หากนิยามความเป็นนายแพทย์ โอฬาริก มุสิกวงศ์ สามคำนี้คงเหมาะที่สุดเพราะสำหรับคุณหมอหนุ่มคนรุ่นใหม่วัยเลข 4 ต้นๆ ท่านนี้ ไม่ได้มองการจับมีดผ่าตัดเป็นแค่เครื่องมือรักษาผู้ป่วย แต่เขามองไกลไปยิ่งกว่า คือทำอย่างไรจะสกัดกั้นหรือลดความเจ็บป่วยของผู้คน ก่อนที่จะเกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยขึ้น เพื่อจะได้ไม่มีคนไข้มาหาหมออย่างเขา
  • ด้วยความคิดเช่นนี้จึงเป็นแรงผลักให้ นพ.โอฬาริก หรือ หมอโอที่คนไข้เรียกกันจนติดปาก ไม่หยุดอยู่แค่การทำหน้าที่แพทย์ แต่จุดประกายให้คิดนอกกรอบบูรณาการหลายๆ หนทาง หันไปสวมบทบาทนักการศึกษา, นักพัฒนา Health Tech,ไปจนถึงการเป็นนักพัฒนาเมือง เพื่อหวังยกระดับคุณภาพชีวิต ให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดี

จากตำแหน่งงานที่คุณหมอโอเข้าไปมีส่วนร่วมหลากหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่หลักอย่าง สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรและเป็นตัวตั้งตัวตีโครงการรณรงค์ท้องไม่พร้อม และอีกหลากหลายโครงการ ไปจนถึงบทบาทประธานแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพของแผนกสูติกรรม จังหวัดปราจีนบุรี, ประธานคณะอนุกรรมการการศึกษา ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย, คณะกรรมการการศึกษาต่อเนื่องของแพทย์ประเทศไทย, ที่ปรึกษาโครงการดิจิทัลฟอร์ไทยของเอไอเอส, ที่ปรึกษาสมาคม Health Tech Startup ประเทศไทย และยังไม่รวมตำแหน่งในองค์กรต่างประเทศ

การพาตัวเองเดินไปบนเส้นทางที่เหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน แต่คุณหมอโอบอกว่าทุกบทบาทเกิดขึ้นจากแก่นแท้เพียงเรื่องเดียว คือ ทำอย่างไรให้คนสุขภาพดี ไม่ต้องมาเจ็บป่วยที่โรงพยาบาล นั่นหมายถึงการยกระดับการดูแลความเป็นอยู่ด้านสุขภาพที่ดี (Healthcare)

“หลังจบด้านสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากนั้นไปต่อเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือผมเรียนสุดทางของสาขานี้จนไม่มีให้เรียน ออกตรวจเป็นสิบปี แต่คนไข้ก็ยังล้นโรงพยาบาลเหมือนเดิมทุกวัน คิวผ่าตัดผมยาวถึงปีหน้าแล้ว คือเรารู้สึกว่าโรคมันป้องกันได้ และเดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยมากมาย เพียงแต่ต้องรู้จักใช้” คุณหมอโอฬาริกเล่าถึงจุดเริ่มต้นให้หันมาสนใจงานในมิติอื่น

“ผมเป็นพวกสุขนิยม ไม่อยากเห็นคนป่วย”คือความรู้สึกลึกๆ ของคุณหมอโอที่อยากป้องกันความเจ็บป่วยก่อนที่จะเกิดขึ้น และยังเป็นเหตุผลให้ตัดสินใจเลือกศึกษาสาขาสูตินรีแพทย์ ด้วยเหตุผลว่าเป็นสาขาเน้น ‘ดูแล’ มากกว่า ‘รักษา’ อีกทั้งได้ทำหน้าที่ต้อนรับการเกิดใหม่ของชีวิต ต่างจากแพทย์อายุรกรรมหรือหมอกระดูก ที่มักเจอทุกข์จากความเจ็บปวดของโรค

นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ – GMLIVE

ความเป็นคนแอคทีฟที่คิดบวกอยู่เป็นทุน บวกกับสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ คุณหมอได้ชื่อว่าเป็นนักกิจกรรมตัวยง กวาดหมดทั้งนักกีฬามหาวิทยาลัย บาสเกตบอล ปิงปอง หมากกระดาน เกมครอส-เวิร์ด หลายรายการเป็นถึงตัวแทนระดับประเทศก็มี จึงเป็นแรงส่งให้คุณหมอโอเป็นคนยึดแนวคิด Collaboration ในการทำงานและแก้ปัญหา และเพื่อบรรลุความตั้งใจ จึงหันมาเริ่มจับงานโปรเจกต์หลากหลายมากขึ้น

“ถ้าคิดในกรอบเหมือนเดิม ปัญหาจะไม่ถูกแก้ ต้องหาพาร์ทเนอร์ชิพ ทำงานร่วมกับคนอื่น เลยเป็นที่มาว่าทำไมผมดึงคนนอกวงการแพทย์มาช่วย พอได้ผู้ที่ชำนาญเรื่องนั้นจริงๆ ปัญหาแก้ได้ง่ายมาก เพราะเมื่อก่อนเวลาประชุมแก้ไขปัญหาโรงพยาบาล จะมีแต่หมอ พยาบาล ลักษณะการแก้ไขปัญหาก็จะเป็นกรอบของเรา”

คุณหมอโอย้อนถึง ‘ก้าวแรก’ ของการริเริ่ม Collaboration ก่อนปูทางไปสู่โปรเจกต์อื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโปรเจกต์แนว DesignThinking ชื่อ ‘24 hackathon’ ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี ดึงนักศึกษาสาขาวิศวกรรม, สถาปัตยกรรม, ไอที มาระดมสมองช่วยกันแก้ปัญหาความแออัดของคนไข้ในโรงพยาบาลและปัญหาขยะ ผลลัพธ์ที่ออกมา คือ แนวทางการแก้ปัญหาที่ใช้ได้จริงเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย ไปจนถึงโครงการยิบย่อยอีกสารพัด เช่น เชิญวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญมาบรรยาย หรือริเริ่มโปรเจกต์เชิงสร้างสรรค์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์สิงห์ อินทรชูโต,รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของแป้งหอมศรีจันทร์ หรือพระมหาสมปอง

และเมื่อมาถึงยุค Digital Transformation มีหรือที่คุณหมอหัวสมัยใหม่จะปฏิเสธ ไม่เพียงเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการผ่าตัด-รักษา แต่ยังส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในวงการแพทย์ โดยการเปิด Health Tech แพลตฟอร์มใหม่ๆ เข้ามาใช้พื้นที่โรงพยาบาล หรือประสานหน่วยงานในปราจีนบุรี เพื่อนำร่องระบบ

ที่ผ่านมาให้การสนับสนุนหลายโครงการมีโครงการเด่นๆ อย่าง อสม.ออนไลน์ แอปพลิเคชันเครือข่ายสังคมออนไลน์สำหรับ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) และ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ซึ่งเป็นโครงการที่เอไอเอสพัฒนาขึ้น ด้วยแนวคิดที่ต้องการส่งเสริมให้ชุมชนพื้นฐานมีโอกาสเข้าถึงการรักษา ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดความทั่วถึงและเท่าเทียม

“Pain Point ของ Health Tech คือมีไอเดีย แต่ไม่มีพื้นที่ทดสอบระบบ ก็ไม่ก่อให้เกิดการใช้จริง อย่างล่าสุดคือการทดสอบ อสม.ออนไลน์ ทดลองใช้ Telemedicine (การรักษาผ่านระบบทางไกล) ซึ่งเรานำร่องใช้ใน 3 ชุมชนจังหวัดปราจีนบุรี ทั้งในอำเภอเมือง, นิคมอุตสาหกรรม, อุทยานแห่งชาติ ทำให้สามารถเก็บ Big Data ที่เป็นประโยชน์มาพัฒนาการเข้าถึงการรักษาได้เป็นอย่างดี”

อสม.ออนไลน์ เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนานานกว่า 3 ปีแล้ว มาเห็นประโยชน์สูงสุดช่วงโควิด-19 ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จมาก โดยในมุมมองทางการแพทย์หมอโอเห็นว่า Telemedicine เป็นเทคโนโลยีที่น่าส่งเสริม เพราะช่วยให้ผู้ป่วยห่างไกลไม่ต้องเสียเวลา ลดค่าใช้จ่ายการเดินทางมาที่โรงพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียมและทันท่วงที แต่ควรทำในผู้ป่วยเฉพาะโรค อย่างผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน เป็นต้น

นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ – GMLIVE

แต่ อสม.ออนไลน์ ยังมีอุปสรรคตรงที่กระบวนการนี้เป็นเพียงเฟสแรก ซึ่งได้รับการตอบรับดีมากจากผู้ป่วยทุกคน มีแนวโน้มอยากใช้ต่อ แต่จากการสำรวจผู้ป่วยจ่ายไหวเพียงรายละ 100 บาท ดังนั้นหากจะดำเนินการต่อในเฟสต่อไป ต้องมีเจ้าภาพเข้ามารับช่วงต่อ บริหารค่าใช้จ่าย ทั้งค่าบริหารจัดการ ค่าแพทย์ที่ปรึกษาผ่านแพลตฟอร์มและค่าอุปกรณ์ จึงจะเกิดการใช้งานจริงได้ทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน อสม.ออนไลน์ ได้ถูกนำไปทดสอบกับพื้นที่จังหวัดปัตตานี, นครราชสีมาเพื่อพัฒนาโซลูชันต่อ

เมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทในการรักษา ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า AI จะเข้ามาแทนที่แพทย์หรือไม่ อนาคตหมอจะตกงานไหมหมอโอเฉลยข้อสงสัยนี้ว่า

“อยากให้คุณหมอทุกท่านมองว่า เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น หน้าที่ของเทคโนโลยีมีแค่ 2 อย่าง 1. ช่วยทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น 2. คนไข้ได้รับประสบการณ์การรักษาที่ดี ยกตัวอย่าง Telemedicine ด้านคนไข้ไม่ต้องมาโรงพยาบาล ในฝั่งหมอคือลดความแออัดของโรงพยาบาล

“ดังนั้นเทคโนโลยีไม่ได้มาแทนหมอ เพราะอย่างไรเรา (หมอ) ก็ต้องเป็นคนใช้เทคโนโลยี ฉะนั้นสิ่งที่หมอต้องทำ คือ เรียนรู้การมาของเทคโนโลยี อยู่กับเทคโนโลยี และใช้งานให้เป็น เหมือนกับที่เราใช้มีดผ่าตัดนั่นแหละครับ”

นอกเหนือจากการมีส่วนผลักดันงานด้าน Health Tech แล้ว คุณหมอโอ ยังเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ในการร่วมขับเคลื่อนปราจีนบุรีให้เป็น Wellness City ด้วยความรู้สึกของคนพื้นที่ ที่มีพื้นเพเติบโตมาในจังหวัดปราจีนบุรี จึงมีความตั้งใจอยากพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองในจุดที่เขาจะทำได้

“ปราจีนบุรี เป็นหนึ่งในแผนการพัฒนา Wellness City ตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ โชคดีที่มีโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นแกนนำ และมีความพร้อมครบทุกมิติด้านการพัฒนาเมือง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรจังหวัดที่มีจุดเด่นด้านข้าว-อาหารออร์แกนิค ศูนย์การศึกษาอย่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี ที่เข้ามาช่วยทำงานวิจัย และมีอุทยานแห่งชาติ

“ถ้าพูดถึงความเป็น Wellness City ผมว่าตัวปราจีนบุรีตอนนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมาได้สัก 30% แล้ว แต่ยังมีความยากในการผลักดัน เนื่องจากขาดความต่อเนื่องของระบบการประสานงาน ทำให้ตอนนี้การเตรียมจัดตั้งปราจีนฯ พัฒนาเมืองขึ้น โดยดึงเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง”

ทำงานหลายบทบาทจนเหมือนเวลา 24 ชั่วโมงจะไม่เพียงพอ สำหรับคุณหมอสายไฮเปอร์แล้ว ความรู้สึกเหนื่อยย่อมต้องมีบ้างเวลาที่พบเจออุปสรรค หรือแม้แต่คนไม่เห็นด้วยในแนวคิดของเขา ซึ่งคุณหมอโอยอมรับว่าก็มีท้อบ้าง แต่ไม่นำมาคิดมาก เพราะเขาเชื่อว่า ทุกอย่างที่ทำมีเพียงเป้าหมายเดียว คือ ต้องการให้คนไทยสุขภาพดีขึ้น

“ทำไมผมต้องทำด้วย ผมดูเฉยๆ ก็ได้ เช้าไปตรวจ เย็นกลับบ้านแต่นั่นไม่ได้แก้ปัญหาของสังคมจริงๆ ผมโตมากับที่นี่ ก็อยากให้บ้านของตัวเองมีความสุข

“ทุกโปรเจกต์ ไม่ว่าพัฒนาสวนสาธารณะ สอนนักศึกษาแพทย์ออกตรวจรักษา หรือเรื่อง Health Tech จุดหมายก็เพื่อสร้าง Lifelong Learning เมื่อเกิดสิ่งนี้คนในชุมชนจะเกิดการเรียนรู้ คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น สุขภาพก็จะดี เมื่อคนไทยแข็งแรง เมืองไทยก็แข็งแรง”

เรียกว่าอานุภาพคิดบวกพาให้ใจมีพลังพร้อมก้าวต่อไป และด้วยผ่านการทำงานมาสารพัดโครงการ ติดต่อประสานงานกับผู้คนมากหน้าหลายตา เคล็ดลับความสำเร็จของแต่ละโปรเจกต์ คุณหมอยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องมีองค์ประกอบของ PACK หมายถึงP = Passion, A = Authority, C = Compensation, K = Knowledge

“P = Passion คือ มีแรงผลักดัน แรงบันดาลใจที่จะทำสิ่งนั้นA = Authority ต้องมีคนให้อำนาจ สั่งการ C = Compensation ไม่ได้หมายถึงเรื่องเงินอย่างเดียว แต่ต้องมีเวลา เพราะคนเหล่านี้ต้องสละเวลามาร่วมกันพัฒนาโครงการ K = Knowledge คือ คนคนนั้นต้องมีความรู้ที่จะมาทำงานนี้ ไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญ เพราะเรื่องความรู้สามารถหาได้ แต่อย่างน้อยต้องมีพื้นฐาน หรือใช้คนให้ถูกกับงาน”

และสุดท้าย คุณหมอโอสรุปออกมาเป็นคาถาอย่างอารมณ์ดีว่า“ทำด้วยใจ ไปด้วยเท้า ไม่ก้าวก่าย จ่ายตังค์ครบ จบแน่นอน”

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ