fbpx

ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา: กับย่างก้าวใหม่ในสินทรัพย์ดิจิทัลที่ ‘ยังคงหมุนไป’

มีไม่บ่อยครั้งนักที่ GM จะได้ทำการ ‘สัมภาษณ์’ ใครบางคนซ้ำ…
และการสัมภาษณ์ซ้ำนั้น เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ห่างกันเพียงแค่ 1 ปี…

ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์
หรือ ‘Bitkub’ แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล หรือ ‘Cryptocurrency’ ที่กำลังมาแรงในช่วงนี้

เมื่อปีที่แล้ว GM ได้พูดคุยกับหนุ่มคนนี้ในหัวข้ออันหลากหลาย ทั้งชีวิต ความฝัน มุมมองต่อเทคโนโลยี และความเชื่อมั่นที่มีต่อสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งจะมาเปลี่ยนแปลงโลกแห่งการเงิน เป็นเนื้อหาที่ต้องยอมรับว่า ช่วยเปิดโลกและความเข้าใจใหม่ๆ เป็นอย่างยิ่ง

มาในวันนี้ สถานการณ์โลกเปลี่ยน เศรษฐกิจเปลี่ยนผลกระทบจาก COVID-19 ที่เคยเป็นเพียง ‘ไข้ไร้ชื่อ’ กลายเป็นวิกฤติระดับโลกที่มวลมนุษยชาติอาจต้องอยู่กับการแพร่ระบาดนี้ไปอีกระยะหนึ่ง ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจใหญ่น้อย แต่เงินตราและสินทรัพย์ดิจิทัลกลับยังคงเคลื่อนตัวไปอย่างไม่หยุดนิ่งและรวดเร็ว นั่นคือเหตุผลที่ทางทีมงานกองบรรณาธิการได้เชิญท๊อป-จิรายุส มาพูดคุยกันอีกครั้ง หลังผ่านไปเพียง 1 ปี เกี่ยวกับความคืบหน้าในการบริหารงาน มุมมองที่มีต่ออนาคต ของเงินตราสกุลดิจิทัล และโลกทัศน์ เมื่อบริษัทเติบโตมากขึ้นและมีสิทธิ์ที่จะกลายเป็น ‘บริษัท Unicorn’ ตัวแรกของประเทศไทย

เขาคนเดิม กับมุมมองใหม่ๆ ที่ GM พร้อมใจนำเสนอในบทสัมภาษณ์บรรทัดต่อไป…

ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจาก Bitkub แล้ว ทำอะไรอย่างอื่นอีกบ้าง
ท๊อป-จิรายุส: หลักๆ จะเกี่ยวข้องกับ Bitkub เป็นส่วนใหญ่ครับ ซึ่งมีบริษัทในเครือ 4 บริษัท อย่างแรก เป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้ทุกคนมาซื้อขาย Cryptocurrency และ Digital Asset เป็นตลาดที่เปิดทุกวัน ตลอดเวลา ในอนาคตตั้งเป้าเอาไว้ว่า ทุกอย่างทุกสินทรัพย์จะสามารถถูก ‘Digitized’ หรือเก็บมูลค่าให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลให้ทุกคนมาร่วมกันเป็นเจ้าของได้ เช่น ห้องพัก คอนโดมิเนียม เพชร ทอง ที่ดิน เป็นต้น

ปัจจุบันถ้าวัดมูลค่าตลาดของบริษัท Bitkub แล้ว คิดเป็นมูลค่าเท่าไร
ท๊อป-จิรายุส: ของ Bitkub ในส่วนของการซื้อขาย ปี พ.ศ. 2561 ถึง 2562 ซึ่งเป็นปีแรก มีอัตราเติบโตอยู่ที่ 400 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคิดว่าเร็วแล้ว พอปีที่ 2 วางเป้าเอาไว้ว่าจะโต 600 เปอร์เซ็นต์ แต่กลายเป็นว่าโตขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทีนี้พอ เริ่มต้นปีนี้ ผมจึงตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะคงอัตราการเติบโตไว้ที่ระดับเดิม แต่พอเริ่มเปิดปีใหม่มา Bitkub โตขึ้นในอัตราที่คาดหวังภายใน 7 วัน

อัตราการเติบโตระดับนี้น่าจะกระเทือนถึงการรับพนักงานเพิ่มพอสมควร
ท๊อป-จิรายุส: ใช่ครับ การเติบโตในระดับนี้สำหรับบริษัท Bitkub ที่พึ่งเปิดมา 3 ปี เป็นอะไรที่เร็วมากๆ แต่ Bitkub Exchange เป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังและได้รับอนุญาตการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งมีเพียง 6-7 บริษัทในประเทศไทยเท่านั้นที่ได้รับการรับรองนี้ ซึ่งเราก็ต้องปรับปรุงการทำงานให้สอดคล้องกับแนวทางของหน่วยงานกำกับ ซึ่งทางหน่วยงานกำกับก็คาดหวังให้เรามีพนักงานและระบบที่ดีเพียงพอให้บริการลูกค้า และการเติบโตที่เราคาดไว้สำหรับ 1 ปี มันเกิดขึ้นภายใน 7 วัน ก็ทำให้เราต้องเพิ่มพนักงานอย่างเร่งด่วน รวมถึงขยาย Facility ในทุกๆ ด้านทันทีซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากๆ โชคดีที่คนรอบตัวผมเป็นคนที่เก่งทั้งหมดจึงทำให้เราก้าวข้ามสถานการณ์นั้นมาได้

ย้อนกลับไปช่วงแรกที่เริ่มทำธุรกิจเกี่ยวกับ Cryptocurrency ยากหรือไม่กับการพิสูจน์ให้คนเข้าใจ ว่าสิ่ งนี้คือ ‘อนาคต’ ที่จับต้องได้ และเป็นจริง
ท๊อป-จิรายุส: ผมอยู่ในวงการนี้มา 7-8 ปี ต้องบอกว่าช่วง 4 ปีแรกคือความสาหัสอย่างถึงที่สุด อาจจะด้วยการที่ ผมเรียนจบจากมหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างดีอย่าง Oxford University ความคาดหวังของคุณพ่อคุณแม่ก็สูง ว่าลูกจะกลับมาทำงานบริษัทใหญ่ๆ รับเงินเดือนหลายแสน มีหน้ามีตาไม่ต่างอะไรกับเพื่อนๆที่จบมารุ่นเดียวกัน แต่ผมดันกลับมาเปิดบริษัท Bitcoin อยู่บนชั้นลอยของร้านขายเสื้อผ้าซึ่งเป็นธุรกิจของที่บ้าน มีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง นั่งทำงานไปคนเดียว เวลามีงานเลี้ยงรวมรุ่นหรือ OxBridge แล้วมีใครถามว่าผมทำอะไร พอบอกออกไปว่าทำ Bitcoin สายตาที่มองกลับมาเห็นเลยว่าไม่มีใครเชื่อว่าจะเป็นไปได้ ซึ่งเวลา ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งจดหมายมาว่า Bitcoin มีแนวโน้มจะเป็นแชร์ลูกโซ่ คุณพ่อคุณแม่ก็กลุ้มใจ ทะเลาะกันอีก ผมก็ดื้อเพราะได้เห็นโลกมาแล้วว่า นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกการเงินได้ทำมาได้ 10 เดือน เก็บเงินก้อนหนึ่ง รับสมัครพนักงานไม่มีใครอยากมา ประมาณว่าคนที่มาสมัครพอมาถึงเจอร้านเสื้อผ้าก็ผงะแล้ว นี่เหรอสถาบันการเงิน แถมผมเองก็อายุแค่ 23 ปี สุดท้ายพนักงาน 2 คนแรกก็เป็นญาติใกล้ตัว เอาเงินเก็บสำหรับจ้างพนักงานก้อนนี้แหละ มาจ้างญาติให้ช่วยทำงาน (หัวเราะ)

รับมือกับสภาวะความกดดัน ความไม่เข้าใจ และปัญหาที่เข้ามาอย่างไรบ้างในเวลานั้น
ท๊อป-จิรายุส: บอกเลยว่าเครียดมาก อย่างตอนที่ ปปง. ส่งจดหมายเรียกตัวผมไปรายงานตัว อธิบายเกี่ยวกับธุรกิจที่ทำ ผมไม่กล้าให้ใครเห็นจดหมายฉบับนั้นเลยนะ คือค่อนข้างแน่ใจว่า ถ้าทุกคนเห็นแล้วจะเหวอและวงแตกกันหมดแน่ๆ เอาเข้าจริงๆ ช่วงแรกทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ นั่นคือวาระที่พนักงานจะลาออกครึ่งหนึ่ง ปัญหามันถาโถมเสียจนผมต้องขับรถไปที่สนามบินดอนเมืองทุกเย็นวันศุกร์ ไปจิ้มเลือกไฟลท์บินที่จะออกในเวลานั้นที่ไหนก็ได้ แล้วบินไปพักที่นั่น ไปนั่งพักคิดทบทวนอะไรเงียบๆ คนเดียวพอวันอาทิตย์ก็กลับ เป็นถึงขนาดนั้นเลยแต่ผมก็กัดฟันสู้ “เพราะผมเชื่อ ยังคงเชื่อ ว่าคือสิ่งที่ใช่”

มาถึงจุดนี้ จุดที่บริษัทเก่าถูกซื้อไปโดยนักลงทุน และเป็นหนึ่งในCo-founder ของ Bitkub อยากให้ผู้อ่านมองภาพคุณอย่างไร
ท๊อป-จิรายุส: ส่วนตัวผมยังไม่มองตัวเองว่าประสบความสำเร็จนะครับ แต่ Bitkub Exchange ในตอนนี้มีมูลค่าที่สูงกว่าบริษัทเก่า ซึ่งถูกซื้อโดยนักลงทุนต่างประเทศไปแล้ว ผมยังแอบรู้สึกเสียดายเวลา 4 ปีที่ลงทุนลงแรงไปเหมือนกัน ถ้ามองแค่ในแง่ตัวเงินว่ามีบริษัทใหญ่มาซื้อไป เรา Exit ได้ ก็ถือว่าไม่เลวนะครับ นักลงทุนโอเค Venture Capital มีความสุข ผมได้เงิน ทุกคนที่ร่วมทางกันมาแฮปปี้ ไม่น่ามีอะไรเสียหาย แต่พอมาดูแล้ว เขาซื้อบริษัทเราไปแล้ว ‘เท’ เลย คือไม่ต่อยอด ไม่ทำอะไรเพิ่มเติม ไม่อะไรทั้งนั้น จนอยู่ในสถานะที่เรียกว่าจะมี บริษัทนั้นที่ผมสร้างมากับมืออยู่บนโลกหรือเปล่าก็ไม่ใช่ประเด็นอีกแล้ว ไม่สร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่มีคนใช้งาน ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ไม่ต่างกับซื้อไปปิดทิ้ง เป็น 4 ปีที่ลงทุนลงแรงไปเยอะ ผมแอบเสียดายอยู่เหมือนกัน แต่ตอนนี้กับ Bitkub ไม่ใช่แล้ว มีมุมที่ต่างออกไป ผมโฟกัสในเรื่องของการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมมากขึ้น ไม่ใช่แค่สร้างบริษัทขึ้นมาเพื่อเล่น Exit Game อีกแล้ว จะทำอย่างไรให้พนักงานเป็นคนที่เก่งขึ้น ทำอย่างไรให้ผมเก่งขึ้น ได้สร้างสรรค์สังคม ได้พัฒนาชีวิต ได้ผลักดันสิ่งดีๆ ส่งมอบออกไป

Bitkub เติบโตได้อย่างรวดเร็วในอัตราเร่งขนาดนี้ เคยกลัวว่าจะผิดพลาดหรือล้มเหลวบ้างหรือเปล่า
ท๊อป-จิรายุส: นี่คือเหตุผลที่ Bitkub เป็น Startup ที่ไม่ใช้เงินของนักลงทุน แต่ดำเนินกิจการโดยใช้ผลกำไรเป็นหลัก เพราะถ้าหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา ผลกระทบจะไม่ร้ายแรงจนควบคุมไม่ได้แต่ยอมรับว่าการเติบโตเร็วขนาดนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะทำให้ในมุมของการบริการมีดร็อปลงไปบ้าง เนื่องจากอัตราการเติบโตระดับนี้ไม่ใช่น้อยๆ ผมมาถึงจุดที่ต้องรีบรับพนักงานเพิ่ม 250 คนให้ได้ภายใน 7 วันเลย

ทบาทของการเป็น Wartime CEO และ Peacetime CEO ในช่วงก่อนที่จะเติบโตนั้นเป็น Wartime CEO และน่าจะปรับกลับมาเป็น Peacetime ได้แล้ว แต่การเติบโตที่เพิ่มเข้ามาอย่างไม่คาดคิด นี่คือสภาวะที่ต้องกลับไปสู่ Wartime อีกครั้งใช่หรือไม่
ท๊อป-จิรายุส: ใช่ครับ มีคนกล่าวว่า การทำบริษัท Startup ก็เหมือน กับการที่คุณกระโดดลงหน้าผา แล้วต้องรีบประกอบ เครื่องบินที่บินได้ให้ทันก่อนที่จะตกกระแทกพื้น ซึ่งในรอบ 2 ปีแรก ทุก Startup นั้นไม่ต่างกัน CEO สวมหมวกผู้บัญชาการ Wartime ทำทุกอย่างให้บริษัทอยู่รอด ต้องทำเงินให้ได้ ต้องปิดตาบ้างในบางเรื่องเช่น การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร แต่พอบริษัทเริ่มอยู่ตัว หายใจคล่องขึ้น ก็จะเปลี่ยนหมวกมาเป็น CEO ในช่วง Peacetime ที่เน้นการสร้างวัฒนธรรมองค์กร การตั้งเป้าหมายและจุดประสงค์ของบริษัท ความชัดเจนในแนวทาง เรียกว่าเป็นการ ‘ฝึกซ้อม’ ให้ทุกคนพร้อมสำหรับวิกฤติใหม่ที่อาจจะเข้ามา

แสดงว่าบริษัทที่พร้อมก็ไม่ต้องอิงกับแนวคิดของ Wartime หรือ Peacetime
ท๊อป-จิรายุส: ตามหลักแล้วควรเป็นเช่นนั้นครับ แต่ยอมรับว่าบริษัท ของผมยังไปไม่ถึงในจุดนั้น อย่างบริษัทของผม ผมเองก็ เพิ่งเปลี่ยนจาก Wartime มาเป็น Peacetime ครั้งแรก เพิ่งกำหนดจุดมุ่งหมายร่วมกัน กำหนดจุดประสงค์หลัก ความชัดเจน แนวทาง และเป้าหมาย ซึ่งต้องมีการนำไปประยุกต์และปฏิบัติ โดยจุดนี้ จะแตกต่างกันไป ขึ้นกับแต่ละบริษัทว่ามีขนาดและโครงสร้างองค์กร แบบใด บางแห่งก็อาจใช้เวลา 5 ปี 10 ปี แตกต่างกัน ย้อนกลับมาที่บริษัทของผม การเติบโตอย่างมหาศาลในรอบต้นปี เป็นตัวบีบให้ผมต้องกลับมาสวมหมวก Wartime อีกครั้ง แนวคิดแบบเดิมของผมที่ ‘Slow Hire, Fire Fast’ คัดเข้าให้ช้า คัดออกให้เร็ว ก็ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะถ้าให้คน 250 คน ทำงานระดับของคน 600 คน อาจจะพังได้ในที่สุด ผมก็ต้องปรับแล้วคัดให้เร็วที่สุด

การที่ต้องสวมหมวก Wartime และคัดคนให้เร็วที่สุดในสภาวะเช่นนี้ คิดว่าจะส่งผลเสียในระยะยาวที่ต้องตามแก้ไขในภายหลังหรือไม่
ท๊อป-จิรายุส: มีแน่นอน ทุกธุรกิจที่โตเร็วนั้นไม่สมบูรณ์แบบ 100% ไปเสียทั้งหมด ต้องปิดตาข้างหนึ่งในบางเรื่อง แต่ต้อง ‘รู้’ ว่าปัญหาไหนสำคัญที่สุด จัดลำดับความสำคัญ จัดการตรวจสอบแก้ไข อย่างเช่น ผมได้คนที่เก่งมากๆ เข้ามาร่วมทีม แต่เขาอาจจะไม่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรของผม เหมือนช่วงหนึ่งทีมฟุตบอล Real Madrid เป็นทีมรวมสตาร์ มีแต่คนเก่งๆ แต่เล่นไปแล้วไม่รุ่ง ทุกคนเป็น ‘One-Man Show’ กันหมด สุดท้ายก็ต้องปรับจูนกัน อย่างน้อยๆ มีแล้ว 11 คน ที่พร้อมลงสนามแน่ๆ ซึ่งอาจจะยังไม่ชนะถึงระดับ Championship ก็ต้องค่อยๆ เฟ้นหาคนที่ ‘ใช่’ ที่สุดด้วย ต้องใช้เวลาในการเทรนด้วย

ด้วยสถานการณ์ของ Cryptocurrency ปัจจุบันซึ่งเริ่มเป็นที่คุ้นเคยสำหรับคุณ มีมุมมองในความผันผวนของสินทรัพย์ตัวนี้ไว้อย่างไร เพราะดูเหมือนว่ายังค่อนข้างเปราะบางต่ออิทธิพลและปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก
ท๊อป-จิรายุส: สิ่งใหม่ทุกสิ่งมีความเสี่ยงเสมอครับ ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ อย่างเช่น อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ช่วงแรก ตอนมาใหม่ๆ ดูเสี่ยงมาก หรือเอาที่ใกล้ตัว ธุรกิจ ‘แชร์บ้าน’ กับคนแปลกหน้าอย่าง Airbnb ในช่วงแรกดูเสี่ยงมากๆ ต้องใช้เวลาพอสมควร กว่าที่สังคมจะเข้าใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป จะมีกฎหมายเพื่อช่วยควบคุม ให้ปัจจัยและอิทธิพลจากภายนอกส่งผลน้อยลง ผมยกตัวอย่างเช่นถ้าวันดีคืนดี Elon Musk อยากจะเล่น Twitter โพสต์ปั่นหุ้นราคาบริษัท Tesla นี่ ไม่ได้เลย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ของต่างประเทศเล่นงานยับไม่เหลือซากแน่ หรือ Warren Buffet นักลงทุนชื่อดัง ที่มีอิทธิพลกว้างขวาง พูดอะไรไปใครก็เชื่อ ก็ไม่ต่างกัน มันมีกฎหมายที่กำกับดูแลอยู่ แต่ในกรณีของ Cryptocurrency ยังใหม่มาก และยังไม่มีกฎหมายมาควบคุมในจุดนี้ ถึงมีเหตุการณ์ที่ Elon Musk โพสต์ Twitter แล้วราคาเหรียญพุ่งขึ้นเพราะคนแห่ซื้อตาม

โดยธรรมชาติของ Cryptocurrency คือ ‘การไม่รวมศูนย์ (Decentralized)’ แต่คุณบอกว่ายังไม่มีกฎหมายออกมาควบคุม คิดว่าจุดกึ่งกลางที่เหมาะสมระหว่างการควบคุม และการปล่อยเสรีของธรรมชาติ Cryptocurrency คือจุดไหนที่พอรับได้
ท๊อป-จิรายุส: ในวงการนี้จะแบ่ง Phase ในการพัฒนาออกเป็น2 ส่วน คือระยะสั้นกับระยะยาว ในระยะสั้นเงินส่วนใหญ่ที่ใช้ยังเป็นเงินกระดาษที่คุ้นเคยกันดี ก็ต้องเปลี่ยนจากเงินกระดาษมาเป็นดิจิทัล ซึ่ง Bitkub เป็นแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่ในจุดนี้ เป็นสะพานระหว่างโลกใหม่และโลกเก่า ต้องอยู่ในจุดที่ทาง ก.ล.ต. รู้สึกพึงพอใจ ปลอดภัย ในส่วนบริหารสำหรับเงินดิจิทัลหรือโลกใหม่ แพลตฟอร์มต้องใช้งานง่าย คนเล่น Social Media ต้องใช้ได้ ไม่วุ่นวาย ต้องแข็งแรงมากพอที่จะทำให้ธุรกรรมเกิดความคล่องตัว แต่ในระยะยาว เมื่อเงินตราเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นสกุลดิจิทัลหมดแล้ว ก็จะเข้าสู่รูปแบบกติกาของการไม่รวมศูนย์ หรือ Decentralized หรือเรียกอีกอย่างว่า
‘DeFi’ หรือ ‘Decentralized Finance’ เพราะเงินตราเป็น Cryptocurrency หมดแล้ว Bitkub ก็ไม่จำเป็น แต่ทั้ง 2 ระยะต้องพัฒนาไปพร้อมกันคุณต้องมีทั้งแพลตฟอร์มในการเปลี่ยนเงินกระดาษเป็นดิจิทัล และมีกติกาของโลกดิจิทัลมาควบคุมอีกที

ถ้าเช่นนั้นสามารถอนุมานได้หรือไม่ว่า เมื่อถึงเวลานั้นวันที่เงินตรากลายเป็นสกุลดิจิทัล การรับรู้ร่วมกันของผู้ใช้งานจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบในตัวของมันเอง เช่นเดียวกับทุก ความเปลี่ยนผ่านทางการเงินทุกครึ่งศตวรรษตามหลักทฤษฎีการเงิน
ท๊อป-จิรายุส: จะเป็นเช่นนั้นครับ ทุกอย่างในโลกย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างในยุคเก่า ทุกคนนั่ง รถม้าเดินทาง ต่อมามีคนคิดค้นประดิษฐ์ ‘รถยนต์’ ขึ้นมาแรกๆ คนใช้รถยนต์ยังน้อย ยังไม่รู้ว่าจะกำหนดกฎเกณฑ์อย่างไร แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่รถยนต์เต็มท้องถนน กฎหมายการจราจรก็ถูกร่างขึ้น เหมาะสมบ้าง ไม่เหมาะบ้าง ก็ต้องพัฒนาปรับแก้กันไปทีนี้กลับมาที่ Cryptocurrency ถ้าในอนาคตการเงินดิจิทัลเป็นที่ยอมรับแพร่หลาย ถูกใช้งานอย่างจริงจัง กฎหมายที่เหมาะสมจะถูกเขียนขึ้น ปรับตามครรลองไปครับ

ในฐานะที่คุณเป็น ‘ผู้คุ้นเคย’ กับแวดวงนี้มานาน มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่โลกทางการเงินจะไปถึงจุดที่ทุกอย่างกลายเป็นดิจิทัล เป็น Decentralized Finance
ท๊อป-จิรายุส: (ยิ้ม) ผมกล้ายืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์ครับ ทุกวันนี้ที่ตื่นนอน นั่นคือความเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าคุณจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม คุณหยุดกระแสเหล่านี้ไม่ได้ มันคือธรรมชาติ อะไรที่ดีขึ้น เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้ต้นทุนต่ำลง จะชนะแลแทนที่ของเก่าทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าคนที่เป็นเจ้าตลาดจะยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่ผู้บริโภคต้องการสิ่งที่ดีขึ้นเสมอและสิ่งเก่าที่เคยยิ่งใหญ่จะล้มหายตายจากไป นั่นคือการพัฒนาที่เกิดขึ้นในทุกวงการ แม้แต่เงินกระดาษ ในตอนนี้ จะจับเงินกระดาษก็กลัวแล้วว่าจะติด COVID-19 หรือเปล่า หรือการจะอัดฉีดเงิน 5,000 บาท ต้องไปร้องที่กระทรวงการคลัง ต้องไปต่อคิวที่ธนาคารพาณิชย์ ไหนจะธุรกิจ SME ที่ลมหายใจอ่อนแรงเต็มทน เงินช่วยเหลือเยียวยาก็ยังไปไม่ถึง แต่ถ้าเป็นเงินสกุลดิจิทัล ขยับนิ้วโป้งบนโทรศัพท์ครั้งเดียวไปถึงแล้ว เขียนโปรแกรมสร้างเงื่อนไขของผู้ได้รับการเยียวยาเพื่อความแม่นยำ ง่ายมากๆ ผมเชื่ออย่างมากว่า Cashless Society และ Decentralized Finance มาอย่างแน่นอนครับ

สำหรับประเทศไทย เท่าที่เห็นก็ยังไม่โอบรับเต็มที่ แม้จะมีข้อดีอยู่มากมาย ในมุมมองของคุณ คิดว่าเป็นเพราะอะไร
ท๊อป-จิรายุส: อย่างที่เรียนให้ทราบครับ ทุกอย่างต้องใช้เวลามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่แปลกนะครับ แสวงหาสิ่งที่ดีกว่า ใหม่กว่า แต่ในทางหนึ่ง เรา ‘กลัว’ สิ่งใหม่เสมอ อุตสาหกรรมรถยนต์อันตรายนะ มันเร็วจะชนคนตาย ไฟฟ้าอันตรายจะดูดคนตาย ใช้เทียนไขดีกว่า หรือมาในยุคนี้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติอันตราย จะเชื่อถือได้แค่ไหน คือจะมีรูปแบบของความกลัวสิ่งใหม่อยู่ตลอด ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเลยกว่าสิ่งใหม่ที่ว่าจะถูกยอมรับ และใช้งานอย่างกว้างขวาง การเงินและสกุลเงินดิจิทัลเองก็ไม่ต่างกัน ต้องใช้เวลา

คิดว่าการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ ของโลกการเงินดิจิทัลจะมาเมื่อไหร่ สำหรับประเทศไทย ถ้าอนุมานจากที่คุณบอกว่า มา ‘แน่ๆ’
ท๊อป-จิรายุส: จะเร็วขึ้น และเร็วขึ้นเรื่อยๆ ครับ เพราะการเงินดิจิทัลไม่ได้สร้างจากรากฐานเพียวๆ แต่ถูกสร้าง มาจาก ‘เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว’ กล่าวคือ มีการบันทึกเอาไว้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่กล่าวว่า ต้องใช้เวลาถึง 50 ปี ที่โทรศัพท์บ้านจะเข้าถึงคน 50 ล้านคน อย่างโทรทัศน์ ใช้เวลา 22 ปี พอมาเป็นอินเทอร์เน็ตเหลือ 14 ปี โทรศัพท์มือถือใช้เวลาแค่ 7 ปี Facebook ใช้เวลา 4 ปี แอปพลิเคชัน WeChat ใช้เวลาเพียง 1 ปี เกม Augmented Reality อย่าง Pokemon Go ใช้เวลาแค่ 1 เดือน เข้าถึงเล่นกันทุกหัวระแหง สังเกตหรือเปล่าครับว่า ความเร็วในการเข้าถึงเร่งแบบยกกำลัง ทีละครึ่ง ทีละครึ่ง ทีนี้ในเมื่อทุกสิ่งถูกสร้าง จากฐานของเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วอย่างอินเทอร์เน็ต, ระบบ Cloud Computing, ระบบฐานข้อมูลเชื่อมโยงแบบ Social Media ผมเชื่อเหลือเกินว่าในอนาคต การเข้าถึงจะแข่งกันเป็นหลัก ‘อาทิตย์’, ‘วัน’ หรือหลัก ‘วินาที’ ในแบบที่ ออกแอปพลิเคชันวันนี้ พรุ่งนี้ 50 ล้านคนเข้าถึงใช้งานเรียบร้อยแล้ว ถ้าดีจริง

ในปัจจุบันเชื่อว่ายังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจเกี่ยวกับ Cryptocurrency ในแบบที่ผิดอยู่ ในฐานะที่คุณเองก็เป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ด้านนี้ ความเข้าใจผิดที่พบเจอมากที่สุดของคนไทยเกี่ยวกับ Cryptocurrency คืออะไร
ท๊อป-จิรายุส: ถ้ายุคแรกก็จะบอกว่านี่คือแชร์ลูกโซ่ พอต่อมาก็เป็นการฟอกเงิน เงินมืด ซื้อขายสิ่งผิดกฎหมาย เงินของเล่น การพนัน
ความเข้าใจผิดบิดดัดไปได้เรื่อยๆ แต่ความเข้าใจที่ถูกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกันครับ ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ที่ผมเริ่มเปิด Startup เดินไปถามใครว่า รู้จัก Bitcoin ไหม เกือบทั้งหมดส่ายหน้า คืออะไร ไม่รู้จัก มาวันนี้ กลับไปถามแบบเดิม คำตอบเป็นอีกทางหนึ่งเลย คือต่อให้ไม่ลงทุนก็ต้องเคยได้ยินกัน มาบ้าง และในอนาคตความรู้ความเข้าใจก็จะยิ่งมากขึ้น เร็วขึ้น และความเข้าใจผิดก็น้อยลงเรื่อยๆ เพราะความจริงเกี่ยวกับ Cryptocurrency เป็นมาอย่างไรก็เป็นเช่นนั้นมาโดยตลอด คุณไปเปลี่ยนความจริงและธรรมชาติของมันไม่ได้ นั่นคือ ‘ความจริงขั้นมูลฐาน’ หรือ ‘Fundamental Truth’ แต่การจะเข้าถึงความจริงข้อนี้ได้ คุณต้องเรียนรู้ ศึกษาข้อมูล และให้เวลากับมัน เพราะมนุษย์จะทำความเข้าใจสิ่งใหม่ โดยใช้ความรู้และประสบการณ์เดิมมาตัดสินเป็นเรื่องปกติ ตราบจนกว่าจะได้ชุดข้อมูลใหม่ และได้ลองจับต้องจริงๆ ความเข้าใจผิดนั้นก็จะหายไป อย่างถ้าให้ผมไปอธิบายกับอากง อาม่า ว่ามีวิธีที่จะได้พูดคุยกับหลานซึ่งอยู่อีกฟากฝั่งของโลกแบบเห็นหน้า Real Time เลย สำหรับคนที่ทั้งชีวิตเติบโตมากับโทรเลขโทรศัพท์ เขาไม่เชื่อหรอกครับ วิธีเดียวที่จะทำได้คือให้ลองใช้เลย ใช้ Skype ใช้ Zoom พอเขาได้ลองและเห็นว่าเป็นไปได้นี่ ทีนี้เขาก็จะเชื่อ และก็จะใช้บ่อยมาก เพราะไม่เปลืองค่าโทรฯ ทางไกล หรือบางคนสนุกกับการสั่งของออนไลน์ เก็บเงินปลายทาง สั่งกันทั้งวันเลย (หัวเราะ)
ผมสรุปสั้นๆ เลยว่า ในช่วงแรกที่ไม่รู้ คือ ‘What ?’ แต่เมื่อไหร่ที่ได้เริ่มใช้ ไม่ว่าจะสิ่งไหน ไม่เว้นแม้แต่ Cryptocurrency คำถามจะเปลี่ยนไป กลายเป็น ‘How ?’ และจะไม่กลับไปใช้สิ่งเดิมอีกต่อไป

เรามีเป้าหมายเดียวกัน โอกาสที่จะเป็น Startup ระดับ Unicorn ตัวแรกของประเทศไทย เราเป็นกลุ่มคนที่ตั้งใจ และอยากพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า คนไทยก็ทำได้ คนไทยก็สามารถก้าวไปสู่ระดับสากลและถ้าทำได้ จะเป็นแรงกระเพื่อมที่จะส่งต่อให้คนอื่นๆ อยากจะลุกขึ้นมาทำสิ่งใหม่ๆ และถ้ามีความหวังมีเป้าหมายเดียวกันที่ชัดเจน

วิกฤติ COVID-19 ส่งผลกระทบกับธุรกิจและภาคการเงินดิจิทัล, Cryptocurrency มากน้อยแค่ไหน
ท๊อป-จิรายุส: ส่งผลในด้านบวกอย่างมากครับ หลายวงการได้รับผลกระทบ ต้องลดจำนวนพนักงาน ลดเงินเดือน ปิดกิจการแต่ Cryptocurrency ถือได้ว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ประสบวิกฤตินี้ที่อยากหารายได้เพิ่ม ก็เปิดบัญชีและเริ่มทำการซื้อขายโดยเฉพาะช่วงที่ราคาขยับ จะเห็นเลยว่ามีอัตราการเติบโตที่สูงมาก เรียกว่าไม่เคยคาดคิดมาก่อน ว่าจะได้เห็นวันที่บริษัทเติบโตที่อัตรา 1,000 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลาแค่ 7 วัน ต้องเปิดรับพนักงาน 250 คน เพื่อให้ได้พนักงานเพิ่มขึ้นเป็นอีกเท่าหนึ่ง ผมเชื่อว่า Cryptocurrency เป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยากหารายได้เสริม แต่ในทางหนึ่งก็อยากจะ เตือนเหมือนกันครับว่าอะไรที่ขึ้นเร็วก็ลงเร็ว ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ ผมจะไม่แนะนำให้เอาเงินร้อนหรือเงินที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน มาลงทุนเด็ดขาด หรือกู้เงิน ขายบ้าน ขายรถ มาลงทุน นั่นไม่ใช่แนวทางการลงทุนที่ปลอดภัยเลย พอพูดถึงจุดนี้ ในคำถามก่อนหน้าเกี่ยวกับเรื่องความเข้าใจผิดของผู้คนเกี่ยวกับ Cryptocurrency มีอยู่อย่างหนึ่งที่เห็นบ่อยคือคิดว่า ‘ได้เงินแน่นอน’ แห่มาลงทุนโดยขาดความรู้ความเข้าใจ อยากให้ศึกษารอบด้าน อย่าใจร้อน มีสติในการลงทุนเสมอ

อายุเพิ่งเข้าสู่เลข 3 กับตำแหน่ง Co-founder ของกลุ่มที่มีบริษัทลูก ถึง 4 บริษัท เรียกได้ว่ามาไกลมากสำหรับคนอายุเท่านี้ คิดจะเปิด บริษัทหรือกิจการเพิ่มหรือเปล่า
ท๊อป-จิรายุส: มีความเป็นไปได้ครับ อย่างกิจการ Mutual Fund หรือกิจการให้คำปรึกษา Private Advisory ด้านการเงิน คนอาจจะเห็นผมออกสื่อบ่อย แต่ถ้าวัดกันจริงๆ ในกลุ่มคนรอบตัวผมมีคนที่เก่งกว่าผมเยอะมาก ผมไม่มีทางมาถึงจุดนี้ได้เลย ถ้าไม่ได้พวกเขาเหล่านั้น เหมือนกับแม่ทัพ ถ้ามีเพียงตัวคนเดียว ไม่มีทีมงานที่มีฝีมือก็แพ้ศึกได้ เรียกว่าโชคดีจริงๆ ที่มีคนเก่งๆ อยู่รอบตัว และผม
มองว่าจะเป็นการเสียโอกาสนะ ถ้ามีคนเก่ง แต่ไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นมากกว่านี้

คิดว่าอะไรในตัวคุณเป็นสิ่งที่ทำให้เหล่า ‘คนเก่งๆ’ ยังอยู่กับคุณ โดยเฉพาะคนที่คุณบอกว่าเก่งกว่ามากๆ
ท๊อป-จิรายุส: ผมไม่ใช่คนเก่งอะไรครับ ไม่ใช่คนสมบูรณ์แบบเคยล้มเหลว เคยผิดพลาด ผมมีข้อเสียเต็มไปหมดเลยนะ แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องของเคมีที่ตรงกัน ที่เสริมซึ่งกันและกัน ช่วยเติมเต็มในส่วนที่ขาดให้แก่กัน ผมโชคดีที่ได้เจอ Co-founder ที่เก่ง และมาเสริม
ส่วนที่ผมขาด และทุกๆ คนก็มีส่วนในการยึดเหนี่ยวโครงสร้างเหล่านี้ไว้ และที่สำคัญที่สุด คือเรามีเป้าหมายเดียวกัน โอกาสที่จะเป็น Startup ระดับ Unicorn ตัวแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นโอกาสที่น้อยมากๆ ที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์สำคัญนี้ นั่นคือความหวัง ผมมองว่า ประเทศไทยควรมีความหวังได้แล้ว เพราะช่วงหนึ่งถึง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเหมือนช่วงเวลาที่ขาดหาย ติดกับดักรายได้ปานกลาง ประเทศรอบข้างแซงหน้าไปประเทศแล้วประเทศเล่า เราเป็นกลุ่มคนที่ตั้งใจและอยากพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าคนไทยก็ทำได้ คนไทยก็สามารถก้าวไปสู่ระดับสากล สร้างบริษัทระดับ Unicorn ได้ และถ้าทำได้จะเป็นแรงกระเพื่อมที่จะส่งต่อให้คนอื่นๆ อยากจะลุกขึ้นมาทำสิ่งใหม่ๆ และถ้า มีความหวัง มีเป้าหมายเดียวกันที่ชัดเจน ‘ความไม่สะดวกใจในการทำงาน’ เพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นประเด็นเลย เพราะพวกเขาต่างรู้ว่าตนเองกำลังทำอะไร เพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอย่างมาก

สำหรับคุณ นิยามของคำว่า ‘ความสำเร็จ’ เป็นอย่างไร
ท๊อป-จิรายุส: (ยิ้ม) เอาเข้าจริงๆ ผมยังรู้สึกอยู่เสมอนะว่า ผมทำสิ่งที่ผิดพลาดอยู่บ่อยๆ เกือบทุกวัน มีสิ่งที่ล้มเหลว อยู่โดยตลอด ไม่น่าพูดแบบนี้ออกไปเลยนะ ไม่น่าตัดสินใจแบบนี้แต่สิ่งที่ขับเคลื่อนให้ผมเดินหน้า คือทุกเช้าที่ตื่นมาผมอยากจะเป็น‘ท๊อป-จิรายุส ที่เก่งขึ้นและดีขึ้น’ อยากจะมองตัวเองหลังจากเวลาผ่านไป 1 ปี แล้วบอกกับตัวเองว่า เรามาไกลเหมือนกันนะ และสำหรับผมคำว่า ‘ล้มเหลว’ คือกระบวนการของการพัฒนา ถ้าคุณไม่ล้มเหลว แสดงว่าคุณกำลังหยุดอยู่กับที่ คุณอยู่ใน ‘โซนปลอดภัย’ นั่นละ คุณจะไม่มีทางล้มเหลว แต่ถ้าเมื่อไหร่คุณก้าวขาออกจากโซนปลอดภัย คุณต้องล้มเหลว มันผลักศักยภาพของคุณไปทุกครั้ง และความล้มเหลวคือเครื่องวัดที่ดีที่บอกผมว่า ผมมาถูกทางแล้ว ถ้าตอนไหนที่ผมไม่ล้มเหลวสักพักหนึ่ง ผมจะรู้สึกแล้วว่าตัวเอง เข้าโซนปลอดภัย ไม่ได้…เราต้องผลักตัวเองขึ้นไปอีก ต้องกล้าทำสิ่งใหม่ๆ ให้มากขึ้นอีก ซึ่งข้อดีคือพอเรากล้าทำมากขึ้น มีความสามารถมากขึ้น โซนปลอดภัยก็จะใหญ่ขึ้น เพราะเรามีความชำนาญที่มากขึ้น แต่ถ้าถามว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง ในตอนนี้คิดว่ายังนะครับ แต่ถ้าถามว่าล้มเหลวจนถึงขั้นลุกขึ้นมาไม่ได้เลยหรือเปล่า ก็ไม่นะครับ เพราะผมมีความคืบหน้า มีความก้าวหน้าของตัวเองในทุกๆ วัน

และถ้าถามผมว่านิยามความสำเร็จคืออะไร ผมคิดว่าน่าจะเป็นการได้สร้างอะไรบางอย่างที่มีคุณค่ากับผู้คนรอบข้าง ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น เป็นที่นิยมจากประสิทธิภาพที่ดีในแบบที่เพียงแค่พูดชื่อทุกคนก็นึกออก ไม่ต้องแนะนำอะไรให้มาก ทุกคนต่างใช้งาน นวัตกรรมของเรา รวมถึงการสร้างสังคมของ Bitkub เป็นสังคมที่ดี ที่พร้อมสร้างชีวิตที่ดีให้กับพนักงาน ซึ่งเมื่อทำงานผ่านไป 2-3 ปี
เขาเก่งขึ้น เชี่ยวชาญมากขึ้น ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีเป้าหมายในชีวิต และอยากจะ ‘เก่ง’ ขึ้นโดยตลอด อยากจะพัฒนา
ตัวเองให้เป็นคนที่ดีขึ้นตลอด ให้มองย้อนกลับมาแล้วรู้สึกเหมือน ที่ผมรู้สึก ว่ามาได้ไกลจากจุดแรกเริ่มจัง ให้เขารู้สึกภูมิใจเวลา
บอกใครว่าทำงานที่ Bitkub แล้วทุกคนต่างชื่นชม ว่าต้องเก่งจริงๆ นะถึงทำงานที่นี่ได้ ผมต้องทำให้พนักงานรู้สึกแบบนั้นให้ได้ นั่นคืออีกหนึ่งความสำเร็จของผม

จากวันที่เริ่มต้น อายุ 23 คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ตัวคนเดียว ไม่มีใครเข้าใจ Cryptocurrency ถึงวันนี้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด รับพนักงานเพิ่มอีกเท่าตัวใน 7 วัน และมีแนวโน้มจะเป็น Unicorn ตัวแรกของประเทศ ถ้าให้คุณย้อนกลับไปบอกตัวเองในวันแรกได้ คุณอยากจะบอกกับ ท๊อป-จิรายุสคนนั้นว่าอะไร
ท๊อป-จิรายุส: ต้องขอบคุณเด็ก 23 คนนั้นจากใจ ที่ยังไม่ยอมแพ้ เพราะในวันนี้ ที่อายุ 31 ผมยังจำความรู้สึกแรกเริ่ม ได้เหมือนว่าเป็นเมื่อวาน ที่ต้องเดินข้ามสะพานลอยไปร้านขายเสื้อผ้า นั่งชั้นลอย ทำงานคนเดียว ต่อคิวฝากเงินที่ธนาคาร ต้องทำเองทุกอย่าง ประสบการณ์แบบนี้ หาซื้อที่ไหนไม่ได้ ไม่มีสอน ทุกอย่างคือ ‘ประสบการณ์ชีวิต’ ของแท้ แต่ถ้าถามว่าให้ทำแบบนี้อีกรอบเอาไหม ไม่เอานะครับ ขอผ่านละกัน เจ็บปวดครั้งเดียวก็เกินพอแล้ว (หัวเราะ)

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ