ทิศทางการร่วมลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพไทยหลังโควิด เว็บ 3.0 มาแรง
ภาพรวมและมุมมองเรื่องการลงทุนในสตาร์ทอัพในช่วงปีที่ผ่านมา ในฐานะ VC และ Angel Investor ประเด็นปัญหาจากประสบการณ์การลงทุน รวมไปถึงสิ่งที่ตามมาหลังโควิด-19 การทยอยเปิดเมืองต่างๆ ของทั่วโลกส่งผลอย่างไรต่อการลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งในไทยและต่างประเทศ อีกทั้งมุมมองการสร้างแรงดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศสำหรับธุรกิจนวัตกรรมในประเทศไทยจากนี้ไปจะเป็นเช่นไร นักลงทุนตัวจริงมีคำตอบ
ธนพงษ์ ณ ระนอง ประธานกรรมการบริหาร สมาคมไทยธุรกิจผู้ประกอบเงินร่วมลงทุน (Tvca) ให้ภาพรวมสตาร์ทอัพไว้ว่า บริษัทร่วมลงทุน ตั้งแต่ช่วงเริ่มจากแองเจิลฟันด์ ก่อนจะพัฒนามาถึงวีซีในซีรีส์ต่างๆนั้น เข้าใจดีว่าสตาร์ทอัพเป็นบริษัทที่มีความเสี่ยงสูง นักลงทุนส่วนใหญ่จึงใช้วิธีทยอยลงทุนเพื่อร่วมเติบโตไปกับสตาร์ทอัพตั้งแต่ระยะเริ่มต้นหรือศูนย์จนผ่านกระบวนการ Exit ก่อนที่วีซี (Venture Capital) จะมารับช่วงลงทุนต่อ ซึ่ง Tvca จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งจะนับเป็นการระดมทุนรอบใหม่ของสตาร์อัพ
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Tarad.Com และ E-Frastructure Group ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในฐานะแองเจิลฟันด์ว่า โดยส่วนตัวจะใช้วิธีลงปริมาณมากหรือหลายบริษัท ทั้งแบบพิจารณาความเป็นไปได้ของธุรกิจและจากความชอบ เพราะรู้ว่าอัตรารอดของสตาร์ทอัพมีน้อย ไม่ใช้ทุกบริษัทจะประสบความสำเร็จ แต่แองเจิลฟันด์จะใช้วิธีลงทุนร่วมหุ้นแต่น้อย และคอยให้คำแนะนำปรึกษา ซึ่งอาจจะไปด้วยกันได้เติบโตหรือล้มเหลว แยกย้าย แต่แองเจิลฟันด์รู้ดีอยู่แล้วว่าอัตราความสำเร็จของสตาร์ทที่จะเติบโตแบบทวีคูณ หรือ Exponential น้อยมาก บางรายอาจจะสำเร็จแต่ไม่โตก็ไม่เรียกว่าเป็นสตาร์ทอัพ
ดังนั้น ถ้าจะถามว่าก่อนหน้าจะมีโควิด แองเจิลฟันด์และวีซีไทยลงทุนไปกับสตาร์ทอัพในแพลตฟอร์มไหน นอกจากพิจารณาที่แนวโน้มของตัวธุรกิจ กลุ่มผู้ก่อตั้ง ทีมงาน และรูปแบบวิธี ของสตาร์ทอัพก็เป็นสิ่งที่ผู้ร่วมทุนให้ความสำคัญไม่แพ้กันด้วย
อภิชัย สกุลสุริยะเดช รองประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ Thailand Business Angel Network (Tban) ซึ่งถือเป็นกลุ่มแองเจิลฟันด์อีกกลุ่ม เล่าว่า ช่วงโควิดที่เห็นชัดว่าทำให้โลกดิจิทัลเติบโต คนอยู่บ้านต้องพึ่งพาดิจิทัลมากขึ้น ทำให้มีสตาร์ทอัพใหม่ๆ ที่อินโนเวท มีนออร์มอลไลเซชั่นใหม่ ๆ ที่เกิดช่วงโควิดที่กำลังเทสต์ไอเดียกันมากในช่วงนี้ เป็นที่น่าสนใจสำหรับแองเจิลฟันด์และวีซีที่จะเข้าร่วมลทุน โดยมากเป็นอะไรที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงโลกของการบริโภคพอสมควร”
ขณะที่ พาวุธ แชร์ประสบการณ์การลงทุนก่อนหน้าโควิดให้ฟังว่า ด้วยความที่ไม่มีใครคิดว่าจะมีโควิด การลงทุนของเขาก็กระจายไปยังสตาร์ทอัพที่น่าสนใจหลายรูปแบบ และหลายรายก็โดนผลกระทบจากโควิดเต็มตัว
“ผมลงทุนในอีบิสซิเนสโซลูชั่นของร้านขายมอเตอร์ไซค์ สนามกีฬา ที่เอาเทคโนโลยีเข้าไปใช้ ยังมีธุรกิจเช่ารถบัส พอโควิดมาพวกนี้ปิดหมด เราต้องปรับเข้าเซฟโหมด ลดการใช้เงิน สตาร์ทอัพกลุ่มนี้ตอนนั้นเขาก็ต้องหยุด แต่กลุ่มที่โตก็มี เช่น ธุรกิจเปย์เมนท์โตขึ้น 100% และโตต่อเนื่อง ซึ่งหลังโควิด จากโมเมมตัมของธุรกิจที่เริ่มกลับมาแล้วก็มีพวกบุ๊คกิ้งก็เริ่มกลับมา แต่ที่ผมสนใจลงทุนก็เป็นพวก Web 3.0 บล็อกเชน และพวกสมาร์ทคอนแท็ก ที่ถึงยุคที่พัฒนาต่อแล้วจริง ๆ” พาวุธ กล่าว
สอดคล้องกับ การลงทุนของกลุ่มวีซี ที่ธนพงศ์ ยืนยันตรงกันว่า หลังโควิด การลงทุนมากกว่าครึ่งในตอนนี้โฟกัสไปที่เรื่อง Web 3.0 และแน่นอนการลงทุนเป็นไปตามขั้นตอนเหมือนเดิม สตาร์ทอัพที่น่าสนใจจะต้องผ่านการลงทุนของแองเจิลฟันด์มาก่อน ถ้าประสบความสำเร็จได้ดี ก็จะเป็นหน้าที่วีซีที่จะเข้าไปต่อยอด ซึ่งเป็นเรื่องปกติ การลงทุนของวีซีที่ลงทุนกับสตาร์ทอัพที่ผ่านความสำเร็จมาแล้วในระยะแรกจะต้องจ่ายแพงกว่าแองเจิลฟันด์ แต่ก็จะมีข้อดีกว่าตรงความเสี่ยงน้อยกว่าแองเจิลฟันด์ที่รับความเสี่ยงไปก่อนมากกว่าเช่นกัน
“Web 3.0 สำคัญมาก เพราะรู้กันดีว่าโลกในอนาคตจะขับเคลื่อนด้วยดาต้า แต่ทุกวันนี้ดาต้าของคนไทยไปอยู่บนแพลตฟอร์มต่างประเทศ เพราะเราใช้แต่ของต่างประเทศ เป็นเรื่องที่ต้องระวังว่าถึงจุดที่เราจะต้องพัฒนาอะไรเองเราจะเอาดาต้าจากไหน” ธนพงษ์ กล่าว
ด้าน อภิชัย ก็ยืนยันว่า การลงทุนกับสตาร์ทอัพไม่ว่าก่อนหรือหลังโควิด สิ่งที่เหมือนกันคือ จะต้องลงทุนในหลากหลายธุรกิจ และหลายบริษัท โดยฐานะแองเจิลฟันด์ จะต้องเช็คแบ็กกราวด์กลุ่มก่อตั้งว่ามีศักยภาพ เมื่อร่วมลงทุนจะใช้ประสบการณ์ของผู้ร่วมทุนในการดันสตาร์ทอัพได้แค่ไหน เพราะจากประสบการณ์เขาเห็นว่าสตาร์ทอัพไทยขาดมุมมองการปั้น (Grooming) และวิชั่น(Vision) โดยต้องเริ่มจากเข้าใจโจทย์และรู้ก่อนว่ามายด์เซ็ตของเอสเอ็มอีที่คนไทยคุ้นเคยกันมาก่อนกับสตาร์ทอัพนั้นไม่เหมือนกัน
“ผมเองก็เป็นแองเจิลฟันด์ที่ลงเสร็จแล้วไม่ปล่อย เป็นแบบครูถือไม้เรียว บางทีอยู่กับoperationของเขาเลย บางกลุ่มเชื่อ บางกลุ่มไม่เชื่อ บางกลุ่มให้โจทย์ไปไม่ทำ เรื่องพวกนี้เราบังคับไม่ได้ถึงจุดหนึ่งก็ต้องปล่อยถ้าเขาไม่ศรัทธาในคำแนะนำของเรา ทำให้ในพอร์ตการลงทุนที่ลงไปจำนวนมากเพราะเราต้องเน้นปริมาณก่อน มีทั้งที่ไม่โต ล้มหายไป หรือโต 200-300% จนเป็นที่สนใจของวีซี” พาวุธ เสริม
อย่างไรก็ตาม นอกจาก แองเจิลฟันด์ วีซี ที่คอยหนุนส่งสตาร์ทอัพแล้วนั้น ปัจจุบันภาครัฐของไทยก็เริ่มให้ความสำคัญและมีการปรับกฎหมายให้เอื้อต่อการสร้างสตาร์ทอัพภายในประเทศมากขึ้น เช่น การยกเว้นเรื่องของภาษีกำไรจากเงินลงทุน (Capital Gain Tax) ก็เพิ่มทางเลือกให้ไทยเป็นตัวเลือกของการลงทุนสตาร์ทอัพจากต่างประเทศมากขึ้นหรือแม้แต่สตาร์ทอัพไทยเองมากขึ้น ฯลฯ
ผลลัพธ์ดังกล่าวเกิดเป็นรูปธรรมอย่างมาก โดย ธนพงษ์ เปิดเผยว่า เพียงแค่เดือนแรกที่ไทยเปิดประเทศ ก็มี สตาร์ทอัพจากสิงคโปร์ติดต่อเข้ามานำเสนอบริษัทกับ (Tvca) นับสิบราย แต่ที่น่าเป็นห่วงกลับไม่มีสตาร์ทอัพไทยสักรายเข้ามานำเสนอ
“เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่สตาร์ทอัพไทยส่วนใหญ่ต้องพยายามก้าวข้ามให้ได้ คือเรื่องของภาษา และการมองสเกลที่ใหญ่กว่าประเทศไทย ยังไม่รวมถึงทักษะพื้นฐานทั่วไปทั้งวิธีการนำเสนอ และวิธีการปั้นธุรกิจ ซึ่งนอกจากหลายฝ่ายร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดสตาร์ทอัพแล้ว ทั้งวีซี และแองเจิลส่วนใหญ่ ก็พยายาม encouraged ให้สตาร์ทอัพมีมายด์เซ็ตระดับโกลบอล แม้จะเริ่มที่ไทย สเกลอัพที่ไทย แต่ถึงจุดหนึ่งเราต้องออกไปในระดับโลก ให้สวนทางกับทุกวันนี้ที่คนไทยรับเอาเทคโนโลยีต่างชาติมาใช้เยอะมาก” อภิชัย กล่าว
ทั้งนี้โดยสรุปแล้ว นอกจากสตาร์ทอัพที่พัฒนาในเรื่อง Web 3.0 จะเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจหลังโควิดอย่างมากแล้ว สำหรับสตาร์ทอัพไทยยังมีกลุ่มธุรกิจที่ทั้ง 3 คน เห็นตรงกันว่าสตาร์ทอัพไทยน่าทำได้ดี และมีโน้มที่จะมาแรงและพัฒนาไปได้อีกไกล ได้แก่ ธุรกิจในกลุ่ม อาหาร เกษตร สุขภาพและเวลเนส ท่องเที่ยว ไฟแนนซ์ โบโอเทคโนโลยี รวมถึงฟินเทคที่ไทยถือว่ามีความแข็งแกร่งในธุรกิจนี้แล้วระดับหนึ่งด้วย
เนื้อหาบางส่วนจากในงาน “STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2022” หรือ SITE 2022 จัดโดย NIA สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภายใต้แนวคิด “Reconnecting the World เชื่อมเรา เชื่อมโลก กลับมาเจอกัน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ดูรายละเอียดงานเพิ่มเติมได้ที่ https://site.nia.or.th