ทำความรู้จัก ‘เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์’ เครื่องหมายแห่งราชาและ ‘เครื่องราชูปโภค’ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีที่มีมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล การประกอบพระราชพิธีแต่ละขั้นตอนล้วนมีความความศักดิ์สิทธิ์ แสดงถึงวัฒนธรรมอันดีงามและการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งหนึ่งในขั้นตอนสำคัญในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือการถวาย ‘เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์’ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชา และ ‘เครื่องราชูปโภค’ 4 อย่าง ที่ออกแบบมาอย่างประณีตสวยงาม ให้เหมาะสมเป็นไปตามพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชา ซึ่งพราหมณ์ผู้ทำพิธีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในวันที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นเครื่องแสดงว่าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ประกอบด้วยพระมหาพิชัยมงกุฎ, พระแสงขรรค์ชัยศรี, ธารพระกร, วาลวิชนี (พัดและแส้) และฉลองพระบาทเชิงงอน ซึ่งแต่ละอย่างมีลักษณะและความหมายดังนี้
พระมหาพิชัยมงกุฎ
เป็นพระมหาพิชัยมงกุฎทองคำลงยาราชาวดีประดับเพชร สูง 66 เซนติเมตร น้ำหนัก 7.3 กิโลกรัม สร้างขึ้นเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในรัชกาลที่ 1 ในครั้งนั้นยอดพระมหาพิชัยมงกุฎยังเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับเพชรเม็ดเล็กๆ จนถึงรัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยไปเลือกสรรหาซื้อเพชรขนาดใหญ่มาจากประเทศอินเดีย นำมาประดับยอดมงกุฎแทนพุ่มข้าวบิณฑ์ พระราชทานเพชรเม็ดนี้ว่า ‘พระมหาวิเชียรมณี’ เพชรเม็ดนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.6 เซนติเมตร สูงประมาณ 1.4 เซนติเมตร
พระแสงขรรค์ชัยศรี
เป็นพระขรรค์โบราณ เชื่อกันว่าเป็นพระราชศาสตราคู่บ้านคู่เมืองเขมร สมัยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ จมอยู่ในทะเลสาบเมืองนครเสียมราฐ มาเป็นเวลานานเท่าใดไม่มีใครทราบ ชาวประมงไปทอดแหติดขึ้นมา องค์พระขรรค์ยังดีไม่มีสนิมผุกร่อน ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองและนครเสียมราฐ จึงได้มอบให้พระยาพระเขมรเชิญเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อปี พ.ศ. 2327 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำด้ามพระขรรค์หุ้มทองคำลงยาราชาวดีลายเทพนม ทำฝักหุ้มทองคำลงยาราชาวดีประดับมณีขึ้นด้วยฝีมืออันประณีตงดงาม
เสร็จแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. 2328 พระแสงองค์นี้ เฉพาะองค์ยาว 64.5 เซนติเมตร ที่สันตอนใกล้จะถึงด้ามคร่ำด้วยทองคำเป็นลวดลายงดงาม ด้ามพระขรรค์ยาว 25.4 เซนติเมตร สวมฝักแล้วยาว 101 เซนติเมตร หนัก 1.9 กิโลกรัม
ธารพระกร
เป็นไม้ชัยพฤกษ์ หุ้มทองคำตลอด ปลายสุดของธารพระกรทำเป็นซ่อมสามง่าม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายไว้ว่า “ลักษณะก็เหมือนกับไม้เท้าพระภิกษุที่สำหรับใช้ในการชักมหาบังสุกุล” ธารพระกรองค์นี้สร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑
วาลวิชนี (พัดและแส้)
ของเดิมสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นพัดใบตาลแบบที่เรียกกันว่า ‘พัชนีฝักมะขาม’ ที่ใบตาลปิดทอง ขอบขลิบทองคำ ด้ามก็ทำด้วยทองคำ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริว่า ตามพระบาลีที่เรียกว่า ‘วาลวิชนี’ นั้นไม่ควรจะเป็นพัดใบตาล ควรจะเป็นเครื่องโบกปัดที่ทำด้วยขนจามรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแส้จามรีขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ภายหลังใช้ขนหางช้างเผือกแทน เรียกว่า ‘พระแส้ขนหางช้างเผือก’ แต่ก็ไม่อาจที่จะเลิกใช้พัดใบตาลของเดิมได้ จึงโปรดให้ใช้ควบคู่กัน โดยเรียกของสองสิ่งรวมกันว่า ‘วาลวิชนี’
ฉลองพระบาทเชิงงอน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามแบบอินเดียโบราณ เป็นฉลองพระบาทเชิงงอน ทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีฝังเพชร มีน้ำหนัก 650 กรัม สร้างเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหาราชครูวามหามุนีเป็นผู้สวมถวาย
เครื่องราชูปโภค
นอกจากเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์แล้ว ยังมีเครื่อง ‘เครื่องราชูปโภค’ ที่เป็นเครื่องใช้สอยประกอบพระบรมราชอิสริยยศ โดยทอดไว้ในที่พระมหากษัตริย์ประทับ ซึ่งพระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น ประกอบด้วย พานพระขันหมาก, พระมณฑปรัตนกรัณฑ์, พระสุพรรณศรีบัวแฉก และพระสุพรรณราช ปัจจุบันเครื่องราชูปโภคใช้ตั้งแต่งประกอบในการพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
พานพระขันหมาก
ลักษณะเป็นพานสองพานตั้งซ้อนกัน พานชั้นต้นลักษณะและรูปทรงคล้ายตะลุ่ม สัณฐานสี่เหลี่ยม มุมทั้ง 4 ย่อไม้ 12 ตั้งแต่เชิงถึงปากพาน ทำด้วยทองคำ จำหลักลวดลายลงยาราชาวดี ประดับอัญมณี พานชั้นบนตั้งอยู่บนลิ้นพานชั้นต้น มีสัณฐานสี่เหลี่ยมทรงสูง มุมทั้ง 4 ย่อไม้ 12 มีคันทวยรูปนาคประกอบมุมเชิงพานทั้ง 4 มุมขึ้นไปรับตัวพาน พานชั้นบนจำหลักลวดลายลงยาราชาวดีประดับอัญมณี
พระมณฑปรัตนกรัณฑ์
คือภาชนะสำหรับใส่น้ำเสวย มีจอกทองคำเกลี้ยงลอยอยู่ข้างใน พระมณฑปรัตนกรัณฑ์ลักษณะเป็นรูปหยั่งโถฟักตัด มีเชิงและฝาครอบ ทำด้วยทองคำยกเป็นภูเรียงรายรอบฝาชั้นต้น สัณฐานเป็นอย่างบัวคว่ำ ส่วนยอดสัณฐานเป็นทรงมณฑป ประกอบด้วยมาลัยรักร้อยอกไก่ซ้อนเป็นเถา 3 ชั้น ปลายสุดทำเป็นรูปบัวตูม พระมณฑปรัตนกรัณฑ์ตั้งบนพานกลมปากกลีบบัว ทั้งพระมณฑปและพานรองทำด้วยทำด้วยทองคำลงยาราชาวดี ประดับอัญมณี
พระสุพรรณศรีบัวแฉก
คือกระโถนเล็ก ลักษณะเป็นกระโถนทรงกลม สัณฐานอย่างกระทายทรงสูง ปากทำเป็นอย่างกลีบบัว เรียงโดยรอบเป็นแฉกๆ มีลิ้นรูปทรงกระบอกสอดอยู่ในพระสุพรรณศรีบัวแฉก สำหรับรับพระเขฬา (น้ำลาย) พระสุพรรณศรีนี้ทำด้วยทองคำ จำหลักลวดลายลงยาราชาวดี ประดับอัญมณี
พระสุพรรณราช
คือกระโถนใหญ่สำหรับบ้วนพระโอษฐ์ ลักษณะเป็นอย่างกระโถนทรงรูปฟักทอง มีเชิงกลม ปากผายกว้าง สัณฐานอย่างใบบัวหงาย ทำด้วยทองคำ จำหลักลายแต่น้อย ส่วนใหญ่เป็นอย่างทองเกลี้ยง