fbpx

ชุมชน​กับบทบาทสำคัญ​ในการพลิกโฉมประเทศ​ไทยสู่​เมือง​นวัตกรรม​

จากภาพความเป็นเมืองของกรุงเทพมหานคร มาสู่การพัฒนาระดับประเทศ ภายใต้กรอบของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ชุมชนจะมีบทบาทอย่างไรต่อการพัฒนาด้านสังคม วิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) มาร่วมชี้ให้เห็นชุมชนทั่วไทยที่จะมีบทบาทอยู่ในเกือบทุกมิติและกระบวนการพลิกโฉมไทย ตามหมุดหมายการพัฒนาที่ปักธงไว้ ในหัวข้อ “ชุมชนกับการพัฒนาด้านสังคม ภายใต้กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13” ในงาน SITE 2022

“แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่จะพลิกโฉมประเทศไทย ในอีก 5 ปีข้างหน้าไปสู่สังคมก้าวหน้าและมีคุณภาพอย่างยั่งยืน ภายใต้การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ประเทศไทยจะต้องก้าวทันพลวัตของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นั่นหมายความว่าคนไทยจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพเป็นที่มาให้มีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาครอบคลุมหลายมิติ ซึ่งมีชุมชนเป็นส่วนสำคัญที่จะมีบทบาทต่อการพัฒนามิติเหล่านั้นในหลาย ๆ ด้าน” วิโรจน์ กล่าว

ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 กำหนดการพลิกโฉมประเทศแบ่งเป็น 4 มิติการพัฒนา รวม 13 หมุดหมาย ได้แก่ มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย 6 หมุดหมาย โดยมีสองหมุดหมายที่ชุมชนจะมีบทบาทโดยตรงและถือเป็นเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจหลักของประเทศในเรื่อง การท่องเที่ยวที่จะเน้นพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและยั่งยืน และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้นชุมชนในฐานะเจ้าของสถานที่จะมีบทบาทโดยตรงในการร่วมคิดร่วมพัฒนา กับเป้าหมายด้านการเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าชุมชนของประเทศส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรม

มิติที่ 2 ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดไว้สองเป้าหมายในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ กับการลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

มิติที่ 3 โอกาสและความหลากหลายทางเศรษฐกิจและสังคม จากเดิมที่มีเป้าหมายเรื่องการพัฒนาเอสเอ็มอีที่มีอยู่ทั่วไทยกว่า 3 ล้านรายให้เข้มแข็ง มีศักยภาพสูงและแข่งขันได้ มีการกำหนดหมุดหมายอีก 2 ด้านในมิตินี้คือการพัฒนาพื้นที่และเมืองอัจฉริยะ กับปัญหาความยากจนข้ามรุ่นและการคุ้มครองทางสังคม ขณะที่มิติที่ 4 เป็นเรื่องปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศไทย

“ในมิติของชุมชนที่จะมีบทบาทในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ที่เห็นชัดคือ ภาคเกษตรกำหนดให้มีเป้าหมายหลักที่จะเติบโต 4.5% ต่อปี บทบาทของชุมชนคือกลยุทธ์ในการสร้างโครงสร้างและระบบบริหารจัดการภาคเกษตร โดยชุมชนต้องมีความมั่นคงด้านอาหาร มีบทบาทผ่านกลไกของสถานบันด้านการเกษตร ขณะที่ มิติของการท่องเที่ยว เรากำหนดเป้าหมายว่าจะมีค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10% ชุมชนก็ต้องมีบทบาทในการดูแลแหล่งท่องเที่ยวโดยตรงเพราะนอกจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เรายังเน้นพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนและสนับสนุนการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่จะรองรับการท่องเที่ยวของคนไทยด้วยกันเองมากขึ้น”

วิโรจน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีอีก 4 หมุดหมายที่ชุมชนจะเข้ามามีบทบาทโดยตรง ได้แก่ ความยากจนข้ามรุ่น ซึ่งชุมชนจะได้รับพัฒนาเพิ่มโอกาสของครัวเรือนยากจน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งเรื่องรายได้ การถือครองทรัพย์สิน และการเข้าถึงบริการภาครัฐ รวมถึงสร้างโอกาสและความเสมอภาคให้กับคนทุกวัย การพัฒนาพื้นที่และเมืองอัจฉริยะ ที่มีเป้าหมายพัฒนากระจายให้ทั่วประเทศ ชุมชนจะเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจ สถาบันการเงินระดับชุมชน การสร้างตลาดหรือเศรษฐกิจที่ชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมสร้างโดยตรง เรื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือสังคมคาร์บอนต่ำ ตามเป้าหมายที่จะให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเติบโตไม่น้อยกว่า 1% จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าชุมชนไม่ร่วม หรือไม่มีความร่วมมือระหว่างชุมชนกับผู้ประกอบการในพื้นที่ในการลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นให้เป็นศูนย์ และสุดท้าย การลดความเสี่ยงจากผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อสิ่งบนโลกจึงเป็นอะไรที่ทุกชุมชนก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะมีส่วนร่วมโดยทั่วกัน

“ปี 2570 จะเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฯ ที่ทุกหมุดหมายจะต้องไปสู่เป้าหมาย นอกจากชุมชนที่จะต้องมีส่วนร่วมอย่างมาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเองก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนในแผนด้วยเช่นกัน เพราะเป้าหมายในหลายมิติและหมุดหมาย การพัฒนาต้องอาศัยนวัตกรรมมาเป็นตัวช่วยที่สำคัญ รวมไปถึงเป็นเครื่องมือให้กับชุมชนในการเดินหน้าให้บรรลุตามเป้าหมายในหลาย ๆ ด้านนั่นเอง”  วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมพบกับการเชื่อมสู่โลกแห่งนวัตกรรมในงาน “STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2022” หรือ SITE 2022 จัดโดย NIA สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภายใต้แนวคิด “Reconnecting the World เชื่อมเรา เชื่อมโลก กลับมาเจอกัน”

ครั้งแรกในไทย! ที่คุณสามารถเข้าร่วมงานได้ในแบบไฮบริดทั้งทางออนไลน์ Metaverse เต็มรูปแบบ เปิดประสบการณ์ใหม่ในการเข้าร่วมงานผ่าน อวาตาร์ (Avatar) หรือไปสัมผัสโลกจริงด้วยตนเอง ณ อาคารอุทยานนวัตกรรม (ซอยโยธี) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 #เข้าร่วมฟรี ดูรายละเอียดงานเพิ่มเติมได้ที่ https://site.nia.or.th 

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ