ชีวิตเหนือจินตนาการ เราจะอยู่กันอย่างไร หากปราศจากไฟฟ้า
ในเมืองไทย เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศครั้งประวัติศาสตร์เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2521 กินเวลา 9 ชั่วโมง 20 นาที เนื่องจากโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งเป็นกำลังผลิตสำคัญเกิดขัดข้อง
Reasons To Read
- ในเมืองไทย เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศครั้งประวัติศาสตร์เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2521 กินเวลา 9 ชั่วโมง 20 นาที เนื่องจากโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งเป็นกำลังผลิตสำคัญเกิดขัดข้อง
- แต่ทั้งหมดที่ประสบภัยจากไฟฟ้าดับไม่มีที่ไหนเกิดวิกฤตรุนแรงเท่าในเวเนซุเอลา ที่ผู้คนต้องใช้ชีวิตอยู่โดยปราศจากไฟฟ้านานหลายวัน ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต ความเชื่อมั่น และเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ซึ่งในอนาคตหากเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร
จะเป็นอย่างไร ถ้าหากว่าเราต้องนั่งอยู่ในความมืด อากาศร้อนหรือหนาว มีของเน่าเสียในตู้เย็น อุปกรณ์สื่อสารใช้การไม่ได้ เหตุการณ์เหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นจริงเมื่อเร็วๆ นี้ในเวเนซุเอลา ประเทศที่กำลังประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ และประชาชนประสบกับความลำเค็ญในชีวิต
ช่วงกลางสัปดาห์เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในพื้นที่ส่วนใหญ่ของเวเนซุเอลาเป็นเวลานานร่วมอาทิตย์ ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งต้องประสบภาวะโกลาหล เนื่องจากสถานพยาบาลหลายแห่งไม่มีเครื่องปั่นไฟ ตามรายงานขององค์กรอิสระระบุว่า เป็นเหตุให้มีผู้ป่วยที่กำลังฟอกเลือดต้องเสียชีวิตถึง 15 ราย
การต้องใช้ชีวิตโดยปราศจากไฟฟ้านานนับสัปดาห์ สำหรับประเทศส่วนใหญ่ในโลกตะวันตก หรือแม้แต่ในประเทศไทยเอง ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่จินตนาการได้ยาก แม้ว่าในบางประเทศจะเคยประสบกับวิกฤตไฟฟ้าดับมาแล้ว อย่างเช่นในเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม บ้านเรือนกว่า 30,000 หลังและบริษัทห้างร้านอีก 2,000 แห่งไม่มีไฟฟ้าใช้ เครื่องทำความร้อน รวมทั้งโทรศัพท์ไม่ทำงาน เป็นเวลานานถึง 30 ชั่วโมง
ในเดือนมีนาคมปี 2558 ระบบการเชื่อมต่อกระแสไฟฟ้าในตุรกีถูกตัดขาดจากยุโรป เหตุเพราะความผันผวนจากความล้มเหลวของโรงไฟฟ้าหลายแห่ง ทำให้ประชากรราว 76 ล้านคนในตุรกีไม่มีไฟฟ้าใช้นานถึง 9 ชั่วโมง เมื่อปี 2555 เกิดเหตุไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในอินเดียนานถึง 2 วัน ทำให้ผู้คนเดือดร้อนไม่ต่ำกว่า 600 ล้านคน หรือประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซียก็เคยเกิดเหตุไฟฟ้าดับทั่วประเทศเป็นเวลานานถึง 16 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2539 จากเหตุขัดข้องที่โรงไฟฟ้า PAKAR ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน มีกำลังผลิต 900 เมกะวัตต์ เกิดหลุดออกจากระบบขณะกำลังจ่ายไฟ และทางศูนย์ควบคุมไม่สามารถควบคุมการตัดจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ จึงทำให้ระบบจ่ายไฟล่ม โรงไฟฟ้าทั้งหมดหลุดออกจากระบบทันที และสายเกินกว่าจะแก้ไขได้ทันท่วงที
ส่วนในเมืองไทย เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศครั้งประวัติศาสตร์เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2521 กินเวลา 9 ชั่วโมง 20 นาที เนื่องจากโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งเป็นกำลังผลิตสำคัญเกิดขัดข้อง
แต่ทั้งหมดที่ประสบภัยจากไฟฟ้าดับ ไม่มีที่ไหนเกิดวิกฤตรุนแรงเท่าในเวเนซุเอลา ที่ผู้คนต้องใช้ชีวิตอยู่โดยปราศจากไฟฟ้านาน 4-5 วัน ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต ความเชื่อมั่น และเศรษฐกิจที่ย่ำแย่กลับทรุดไปอีก
มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุไฟฟ้าดับบ่อยขึ้นในอนาคต
การเพิ่มการพึ่งพาซึ่งกันและกันในกริดพลังงานของยุโรปอาจเป็นเหตุให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับพร้อมกันได้ในอนาคต นักวิชาการกล่าวเตือนว่า อาจจะเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า จากการใช้กระแสไฟฟ้ามากเกินไป เนื่องจากระบบทั้งหมดเริ่มมีความไม่แน่นอนมากขึ้น หากมีความผันผวนเกิดขึ้นหลายครั้งในระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า แม้จะเกิดเหตุขัดข้องเพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลให้ไฟฟ้าทั้งระบบดับได้ สาเหตุของภัยพิบัติไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์เดียว แต่จะเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ขนาดใหญ่
ส่วนในประเทศไทย สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อมูลระบุว่า เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศถือเป็นเหตุการณ์รุนแรง ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีสาเหตุจากระบบการผลิตไฟฟ้า คล้ายคลึงกับการแข่งขันชักเย่อที่มีผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจำนวนเท่าๆ กัน หากต่างฝ่ายต่างดึงด้วยกำลังใกล้เคียงกันจะทำให้การดึงนั้นอยู่ในสภาวะสมดุล แต่ถ้าผู้เล่นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดล้มลงกะทันหันเพียงคนเดียว ก็จะทำให้ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายล้มลง และถูกกระชากไปทั้งหมด
การผลิตไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาจะต้องสมดุลกับความต้องการใช้ในขณะนั้น ถ้าโรงไฟฟ้าแห่งใดแห่งหนึ่งเกิดเหตุขัดข้องและต้องหลุดออกจากระบบการผลิตอย่างฉับพลันทันที หากไม่มีระบบป้องกันที่ดีและมีประสิทธิภาพพอก็อาจทำให้ระบบการผลิตของโรงไฟฟ้าทั้งหมดหลุดออกจากระบบได้ และจะทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง หรือถึงขั้นเกิดไฟฟ้าดับทั่วประเทศเอาได้
นับตั้งแต่ปี 2521 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเล็งเห็นความร้ายแรงของปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการวางแผนและตั้งคณะทำงานขึ้น 3 ชุด เพื่อดูแลแผนการป้องกันไม่ให้เกิดไฟฟ้าดับทั่วประเทศ แผนการนำระบบกลับคืนสู่สภาวะปกติ และการเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ ซึ่งคณะทำงานทุกชุดมีการประชุม วางแผน วิเคราะห์สาเหตุ แก้ไขปัญหา รวมทั้งซ้อมแผนการนำระบบคืนสู่สภาวะปกติอย่างสม่ำเสมอทุกปี
การเตรียมตัวรับสถานการณ์ไฟฟ้าดับ
การรับมือกับปัญหาไม่ใช่ภาระของรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่คนในสังคมเองนั่นละที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ คนส่วนใหญ่ไม่นิยมซื้อของกินของใช้ที่จำเป็นเพื่อกักตุนไว้ยามฉุกเฉิน เพราะต่างคิดว่าตนสามารถเดินเข้าร้านค้าเพื่อซื้อหาเมื่อไหร่ก็ได้
คำถามง่ายๆ ว่า ‘คนยุคใหม่’ จะเอาตัวรอดได้อย่างไรหากว่าต้องอยู่โดยไม่มีไฟฟ้า? ซึ่งนั่นหมายความว่า จะไม่มีตู้เย็น เครื่องทำความร้อน หรือเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์สื่อสาร อินเทอร์เน็ต ฯลฯ
มีคำแนะนำจากนักวิชาการว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกคือน้ำ ปริมาณสามลิตรต่อคนต่อวัน สำหรับดื่ม หุงอาหาร และชำระล้างทำความสะอาด / ข้าวหรืออาหารเส้นสามารถเก็บได้นาน / ในเมื่อครัวใช้การไม่ได้ ควรที่จะหาเตาถังแก๊สที่ใช้เวลาแคมปิ้ง / เทียนและไฟฉายพร้อมถ่านจำนวนเพียงพอ เป็นตัวช่วยที่ดีในยามไฟฟ้าดับ / เงินสดควรมีติดตัวไว้ เพราะกรณีไฟฟ้าดับ ตู้เอทีเอ็มหรือเครื่องรูดบัตรจะใช้การไม่ได้เลย
หรือถ้าคิดให้ง่ายและเข้ากับไลฟ์สไตล์ของตนเอง ก็แค่ตอบโจทย์ว่า เวลาไปตั้งแคมป์กลางป่าจะต้องมีอะไรติดตัวไปบ้าง-เท่านั้นเอง