fbpx

ชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ชี้นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยาก แต่ต้องแก้ปัญหา “คน” เป็นหลัก

ผู้ว่ากทม.ยกคำนักประพันธ์เอกของโลก วิลเลี่ยม เชคสเปียร์ ที่ว่า “คนคือเมือง” เป็นแนวทาง ชี้ให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาเมือง ต้องให้คนเป็นศูนย์กลาง และแก้ปัญหาของคนเป็นหลัก โดยนวัตกรรมที่จะนำมาใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นไฮเทคโนโลยีหรือเรื่องยาก แต่ต้องสามารถตอบโจทย์ผู้คนได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ต้องทำด้วยความยุติธรรมและเข้าใจ หลายเรื่องมีบทพิสูจน์แล้วจากระยะเวลา 10 วันที่เข้ามารับตำแหน่ง

รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยายในหัวข้อ “Re-Imagination Mega-City: Bangkok towards City of Innovation” ในงาน SITE 2022 ที่จัดโดยเอ็นไอเอ NIA ยกตัวอย่างบประพันธ์ของวิลเลี่ยม เช็คสเปียร์ เป็นแนวทาง คนก็คือเมือง ถ้าปราศจากคน สภาพพื้นที่ที่แค่สิ่งก่อสร้างก็คงไม่มีความเป็นเมือง ฉะนั้นการพัฒนาเมืองต้องเน้นที่คนเป็นหลัก โดยเฉพาะแนวโน้มของการเป็นเมือง (Urbanization) ที่จะมีผลกระทบต่อคนในเมืองจำนวนมาก

พร้อมเปิดเผยว่า จากการพิจารณากรุงเทพฯในภาพรวมพบอินไซต์ที่เป็นความท้าทาย 3 เรื่องสำคัญได้แก่ หนึ่ง-ความหนาแน่นของเมือง สอง-การเป็นพื้นที่ทำงานเฉพาะทาง และสาม-ความไม่เท่าเทียม

ความหนาแน่นแบบไม่มีประสิทธิภาพ เป็นปัญหาที่นำมาซึ่งปัญหาอื่น ๆ ของเมืองอีกมาก เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง เพราะที่อยู่อาศัยในเขตเมืองมีราคาแพงบีบให้คนต้องซื้อที่อยู่อาศัยไกลขึ้น การเดินทางเข้าเมืองพร้อมกันในเวลางานก็ทำให้เกิดปัญหารถติดตามมา ฯลฯ ขณะที่ปัญหาการเป็นพื้นที่ทำงานเฉพาะทาง ส่งผลให้คนทำงานในเมืองมีสภาพเปรียบเสมือนฟันเฟืองตัวหนึ่ง เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กลายเป็นกลุ่มเปราะบางถ้าตกงานโอกาสหางานทำยาก

“ส่วนปัญหาของเมืองที่ไม่มีความเท่าเทียม ถ้าดูจากสภาพเมืองในกรุงเทพฯ จริง ๆ เรามีการเว้นระยะห่างก่อนจะมีโควิดเสียอีก สะท้อนจากชุมชนแออัดที่มีอยู่ทั่วไปซึ่งมักจะอยู่ติดกับย่านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสุขุมวิทต้น ๆ หลังสน.ทองหล่อ กรุงเทพฯมีภาพชุมชนที่มีแบ็กกราวด์เป็นคอนโดสูงให้เห็นมากขึ้น รวมถึงชุมชนที่อยู่ติดรั้วกำแพงสูงจากการพัฒนาโครงการต่าง ๆ หรือกรณีชุมชนบ่อนไก่ที่เกิดไฟไหม้ นั่นคือภาพสะท้อนหนึ่งของกรุงเทพฯที่คนส่วนหนึ่งจำเป็นต้องอยู่ในสภาพแออัดเพราะขาดความสามารถในการเดินทาง ต้องหาที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน ใกล้โรงเรียนลูก 3 เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่ท้าทายว่าจะมีนวัตกรรมอะไรมาแก้ไข”

ผู้ว่ากรุงเทพฯสรุปแนวทางแก้ไขว่า ในการปรับเปลี่ยนกรุงเทพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะต้องคิดถึง 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ หนึ่ง-ความยั่งยืน นั่นคือ การแก้ปัญหาหรือการเติบโตของเมืองจะต้องไม่สร้างปัญหาให้คนรุ่นต่อไป สอง-จะต้องแก้ปัญหาให้กับทุกกลุ่มในสังคมไม่ใช่แค่บางกลุ่ม ซึ่งจะทำให้ภาพความแตกต่างของเมืองกับคุณภาพของคนไม่ไปคนละทาง เช่น ภาพของสถานีรถไฟฟ้าที่ทันสมัยใหญ่โตแต่ในจุดที่ไม่ห่างกันกลับเห็นคนเมืองจำนวนมากเลือกอดทนรอรถตู้เป็นชั่วโมง ฯลฯ และสาม-เมืองต้องมีความยุติธรรมและเข้าใจ หมายความว่า การจะแก้ปัญหาใด ๆ ของเมืองต้องคิดวิธีแก้ที่เข้าใจวิถีชีวิตและคำนึงถึงผลลัพธ์ที่กลุ่มคนนั้นจะได้รับอย่างเหมาะสม เช่น ชุมชนที่สร้างบ้านล้ำแม่น้ำลำคลอง จะเลือกใช้กฎหมายแล้วไล่รื้อ หรือจะมีวิธีปรับเปลี่ยนหาที่อยู่ใหม่ในบ้านมั่นคง ฯลฯ

จากปัญหาและตัวอย่างที่เกิดขึ้น คือสิ่งที่ผู้ว่ากทม. พยายามย้ำให้เห็นว่า การเข้าใจปัญหาที่แท้จริง นอกจากจะหาวิธีแก้ไขได้ตรงสิ่งที่คนต้องการ และเมื่อจะใช้นวัตกรรมแก้ปัญหาเมือง คำว่า นวัตกรรมนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นไฮเทคโนโลยี

“นวัตกรรมในความหมายของผม จึงอยู่ที่การทำอย่างไรให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นสิ่งที่ทุกคนมีส่วนร่วมคิด โดยนวัตกรรมที่ว่าควรประกอบด้วย ไอเดีย(idea) โซลูชั่น(Solution) และการเพิ่มแวลู (Value)

โชว์นวัตกรรมจากจากการทำงาน 10 วันแรก

ทั้งนี้ ผู้ว่ากทม. โชว์ผลงานที่จัดเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนกรุงเทพฯหลังจากเข้ารับหน้าที่และทำงานได้ 10 วัน ที่เห็นผลแล้ว ได้แก่ โครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น เปลี่ยนจากโครงการปลูกป่าทั่วไปดึงเทคโนโลยีมากำหนดพิกัดจีพีเอสจุดที่ปลูก ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ เช็คในระบบได้ว่าต้นไม้ต้นไหนใครปลูก ถ่ายรูปอัพเดททุกปี ปลูกไปแล้วกี่เขตกี่ต้น จะครบเป้าหมายเมื่อไร เป็นนวัตกรรมที่เพิ่มคุณค่าให้กับกระบวนการผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนและสร้างการมีส่วนร่วม ถึงตอนนี้มีต้นไม้ปลูกไปแล้วมากกว่า 22,500 ต้น

นโยบาย 200 กว่าข้อที่ผู้ว่าฯประกาศไว้ ก็ทำให้เป็นนวัตกรรมง่าย ๆ ให้มาอยู่บนเว็บไซต์ หรือแม้แต่ทำเป็นบอร์ดในร้านกาแฟไม่จำเป็นว่าต้องเป็นดิจิทัล แต่ก็ทำให้เป็นนวัตกรรม ที่ผู้คนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมติดตามแนะนำการแก้ปัญหาหรือแจ้งปัญหาเมืองได้

“ย้ำเลย นวัตกรรมไม่ต้องหรู ไม่ต้องเทคโนโลยีก็ได้ แต่ให้เพิ่มคุณค่า อีกตัวอย่างจาก โอเพ่นแบ็งคอก ก็เป็นนวัตกรรมง่าย ๆ ที่ใช้แค่ไอเดีย เรานำข้อมูลงบประมาณทั้งหมดของกทม.มากางให้ประชาชนเข้าถึง ดู และนำไปใช้ต่อได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการทุจริตเพราะสามารถเช็คได้ว่างบประมาณกระจายไปส่วนไหนอย่างไร”

ล่าสุดคือการสร้างแพลตฟอร์ม Traffy Foudue ที่จัดทำโดย สวทช. เพื่อแก้ปัญหาการแก้ปัญหาล่าช้าและกระจุกตัว โดยให้ประชาชนแจ้งเรื่องต่าง ๆ เข้ามาในแพลตฟอร์ม ทุกเขตทุกหน่วยงานสามารถเข้ามาตรวจเช็คได้ทุกเวลา เพื่อนำปัญหาไปแก้ไขได้โดยไม่ต้องรอเรื่องส่งมาที่ผู้ว่าฯให้สั่งการลงไป เป็นนวัตกรรมที่คนเมืองตอบรับล้นหลาม เพราะแค่วันแรกที่เปิดแจ้งเหตุมีเรื่องแจ้งเข้ามา 2 หมื่นกว่าเรื่องจนเว็บล่ม จนถึงตอนนี้มีการแจ้งปัญหากว่า 4 หมื่นเรื่อง และมีปัญหาที่ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว 2 พันกว่าเรื่อง

“ก็ถือว่าแพลตฟอร์มนี้เป็นนวัตกรรม ช่วยให้ปัญหาถูกแก้โดยที่ผู้ว่าฯไม่ต้องสั่ง ทุกคนเข้ามาดูแล้วไปแก้เลย แถมยังนำไปวัดผลได้อีกว่าเขตไหนมีเรื่องตกค้าง และยังมีผลดีทำให้ข้าราชการทุกเขตมีความกระตือรือร้น”

ผู้ว่ากทม. ย้ำว่า ความหมายของนวัตกรรมในการพัฒนาเมือง ถ้าให้คนเป็นศูนย์กลาง ไม่ยึดเทคโนโลยีมากเกินไป แต่สามารถแก้ปัญหาเพิ่มคุณภาพชีวิตคนเมืองไทย กทม.ในฐานผู้ปฏิบัติงานและคอยอำนวยความสะดวก พร้อมจะตอบรับนวัตกรรมจากประชาชน เอกชน ที่มีอิสระในการคิดนวัตกรรมแบบนอกกรอบได้มากว่า สามารถนำเสนอโซลูชั่นเข้ามา กทม.ก็ยินดีที่จะร่วมพัฒนากรุงเทพฯสู่เมืองนวัตกรรมระดับโลกในอนาคตไปพร้อมกับทุกหน่วยงาน

ร่วมพบกับการเชื่อมสู่โลกแห่งนวัตกรรมในงาน “STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2022” หรือ SITE 2022 จัดโดย NIA สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภายใต้แนวคิด “Reconnecting the World เชื่อมเรา เชื่อมโลก กลับมาเจอกัน”

ครั้งแรกในไทย! ที่คุณสามารถเข้าร่วมงานได้ในแบบไฮบริดทั้งทางออนไลน์ Metaverse เต็มรูปแบบ เปิดประสบการณ์ใหม่ในการเข้าร่วมงานผ่าน อวาตาร์ (Avatar) หรือไปสัมผัสโลกจริงด้วยตนเอง ณ อาคารอุทยานนวัตกรรม (ซอยโยธี) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 #เข้าร่วมฟรี ดูรายละเอียดงานเพิ่มเติมได้ที่ https://site.nia.or.th

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ