fbpx

Zero Waste ใช่แค่ปากพูด จะเท่ได้ต้องลงมือทำ

ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกมากที่สุดของโลก แถมใน 1 ปี มีวาฬตาย 3 ตัว จากปัญหาพลาสติกในทะเล ทั้งที่จริงแล้วเราลดการเกิดปัญหานี้ได้ มาดู 7 วิธี ที่ช่วยลดปัญหาการทิ้งพลาสติก อันเป็นต้นตอของปัญหาพลาสติกในทะเลนั้นได้แก่อะไรบ้าง

Reasons to Read

  • ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกมากที่สุดของโลก
  • ใน 1 ปี มีวาฬตาย 3 ตัว จากปัญหาพลาสติกในทะเล ทั้งที่จริงแล้วเราลดการเกิดปัญหานี้ได้
  • เรามาดูกันว่า 7 วิธี ที่จะช่วยลดปัญหาการทิ้งพลาสติก อันเป็นต้นตอของปัญหาพลาสติกในทะเลนั้นได้แก่อะไรบ้าง

เมื่อเดือนมิถุนายนเราเจอวาฬนำร่องครีบสั้นขึ้นมาเกยตื้นที่ในคลองนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา แพทย์พยายามช่วยชีวิตแต่ก็ไม่รอด เมื่อผ่าท้องออกมาเจอถุงพลาสติกจำนวนมากถึง 85 ชิ้น รวมแล้วหนักกว่า 8 กิโลกรัม ถัดมาไม่เท่าไหร่ในเดือนพฤศจิกายน ก็มีวาฬสเปิร์มตายอีกที่อินโดนีเซีย ด้วยสาเหตุเดิม พร้อมขยะอีก 6 กิโลกรัมในท้อง แค่ปีเดียวได้ยินข่าววาฬตายเพราะเรื่องขยะถึง 3 ตัว พร้อมตัวเลขที่ชวนขนลุกว่า มีถึง 4 ประเทศในอาเซียนที่มักง่ายจนติด Top 10 ทิ้งขยะลงในมหาสมุทร และแน่นอนมีประเทศไทยด้วย

ปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้ก็คือปริมาณพลาสติกจำนวนมากที่เราทิ้งและจัดเก็บไม่ดี จนมันไหลลงสู่ทะเล หากเพื่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อนร่วมโลก หากเราลดปริมาณการใช้พลาสติก และลดการเกิดขยะพลาสติกด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ก็จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งทั้งหมดนั้นเริ่มต้นได้ด้วยที่ตัวเราเอง มาดูกันดีกว่าว่ามีวิธีอะไรที่เราพอจะช่วยกันคนละไม้คนละมือได้บ้าง

1. พกถุงผ้า

อันนี้รณรงค์กันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกให้ช่วยยืดอกพกถุงผ้าพับเล็กๆ เก็บไว้ในกระเป๋า เวลาเข้าร้านสะดวกหรือไม่สะดวกซื้อก็ให้รีบชิงบอกพนักงานว่าไม่เอาถุง ยิ่งเดี๋ยวนี้ยิ่งดีใหญ่เหล่าห้างร้านหลายที่สนับสนุนนโยบายถุงผ้าด้วยการไม่เอาถุงแลกแต้มสะสม ได้แต้มเพิ่ม แถมยังได้ส่วนลดเพิ่มอีกด้วย

2. พกภาชนะไปด้วย

ต่อจากถุง ก็มาว่ากันที่ภาชนะอุปกรณ์ในการกินดื่มทั้งหลาย สิ่งที่ต้องเตรียมอาจมีเยอะหน่อย แต่พกไว้เถอะไม่เสียหายแน่นอน เริ่มที่ปิ่นโตอะลูมิเนียมหรือใส่กล่องอาหาร ใน 1 วันใช้ประโยชน์ได้ 2 รอบ คือมื้อเที่ยงกับมื้อเย็นที่ซื้อกลับไปกินบ้าน เมื่อมีกล่องแล้วต่อมาก็คือช้อนส้อม และตะเกียบก็อย่าลืมพกมาด้วยนะ ถัดมาก็คือแก้วส่วนตัวมีทั้งแบบซิลิโคนพับย่อขนาดได้ เหมาะกับคนที่ไม่อยากพกอะไรใหญ่โตเทอะทะ และที่กำลังนิยมคือแก้วเก็บความเย็นที่ดีกว่าแก้วพลาสติกอีก เพราะเก็บรักษาอุณหภูมิได้นาน

3. ผลิตภัณฑ์รีฟิล

เวลาซื้อสารพัดน้ำยาต่างๆ ให้เลือกของรีฟิลเอาไว้ก่อน ของเหล่านี้นอกจากจะลดการเกิดขยะแล้ว ยังประหยัดเงินไปได้เยอะ เพราะไซซ์เดียวกันบางทีแบบรีฟิลถูกกว่าหลายสิบบาทเลยทีเดียว หรือถ้าให้ดีนะ เดี๋ยวนี้พวกขวดที่ใช้วัสดุอย่างอื่นแล้วที่ไม่ใช่พลาสติกก็ถือว่าดี ใช้หมด ขายต่อได้อีกทอด หรือเดี๋ยวนี้มีบริการใหม่ถุงรีฟิลก็ไม่ต้อง เพราะที่ร้านเขามีให้เอาขวดไปใส่ได้เลย ลดปริมาณถุงพลาสติกไปได้อีกมาก

4. แยกขยะก่อนทิ้ง

การแยกขยะเป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดจำนวนขยะลงได้  หรืออย่างน้อยก็ทำให้การจัดการขยะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น การแยกขยะก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย เราไม่จำเป็นต้องแยกลึกถึงอณูขยะ เอาแค่แยกออกมาเป็นประเภทง่ายๆ ว่า ขยะอินทรีย์ หรือก็คือพวกเศษอาหาร 1 ถัง และขยะทั่วๆ ไป ในขณะที่สารพัดพลาสติก แก้ว และกระป๋องต่างๆ เราสามารถแยกเก็บสำหรับเป็นขยะรีไซเคิลได้

5. ไม่ต้องใส่ซองแยกทุกอย่างไป

เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็สะดวกซื้อ แบ่งขายได้ก็เลยต้องมีถุงเล็กถุงน้อยสำหรับใส่ของ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมันไม่ต้องแยกใส่ก็ได้นะ อย่างผลไม้ ไม่ต้องมีตาข่ายมาด้วยก็ได้ หรือกล้วยก็ไม่ต้องใส่ถุงแยกเป็นใบๆ ซื้อครั้งละเป็นหวีๆ เอาแบบที่ห่ามๆ หน่อย กล้วยหวีเล็กๆ กินสามสี่วันไม่ทันไรก็หมดแล้ว ได้ลดพลาสติกแถมประหยัดกว่าแบบที่เป็นลูกใส่ถุงอีก

6. Upcycling ขยะทุกชิ้นมีมูลค่า

จงคิดว่าขยะทุกชิ้นเป็นเงินเป็นทอง นี่คือไม่ได้ให้ขายทุกสิ่งอย่างนะ แต่ว่าขยะบางชิ้นก็สามารถดัดแปลงเอาไปใช้เป็นอย่างอื่นได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ขวดน้ำดื่ม 1 ขวด เป็นอะไรได้อีกมากมาย ง่ายๆ อย่างที่รดน้ำต้นไม้ หรือถ้าเป็นขวดจุกที่บีบน้ำได้ ขวดแบบนี้เหมาะมากกับการพกไปไหนต่อไหน เผื่อเจอห้องน้ำที่ไม่มีสายชำระ ก็ใช้ขวดแบบนี้ล่ะ บีบน้ำพุ่งปรี๊ดๆ

7. Ecobrick อิฐแข็งจากขยะ

ขยะบางจำพวกที่รียูสก็ยาก รีไซเคิลก็ไม่รับ ขายยิ่งไม่ได้ อย่างถุงแกงเอย ถุงขนมก๊อบแก๊บ พวกนี้จับยัดใส่ขวดน้ำให้แน่น เอาให้แข็งสุดๆ จากพลาสติกไร้ค่ามันจะเปลี่ยนเป็นก้อนอิฐแข็งๆ ที่เอาไปทำเป็นโครงสร้างของอะไรหลายๆ อย่าง เช่น กำแพงรั้ว โต๊ะ ตู้ได้เลยนะ อันนี้เจ๋งจริงๆ

ด้วย 7 วิธีดังกล่าวนี้ เพียงแค่ลงมือทำก็จะทำให้เป็นคนคูลๆ แถมยังช่วยให้ Zero Waste เขยิบเข้าใกล้ความจริงได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็จะเป็นผลดีกับโลกสีฟ้าใบนี้ของเรา

นักเขียน : พีริยา อากาศแจ้ง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ