fbpx

อัพเดตคุณภาพอากาศโลก ไทยติดอันดับ 3 ของอาเซียน และเป็นที่เท่าไหร่ของโลก มาดูกัน

เรื่องของมลพิษทางอากาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยอีกต่อไป ทั้งยิ่งใกล้ตัวมากขึ้นหลังจากช่วงปลายปีที่ผ่านมาลากยาวจนถึงขณะนี้ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย พุ่งสูงเกินค่ามาตรฐาน

Reasons to Read

  • เรื่องของมลพิษทางอากาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยอีกต่อไป ทั้งยิ่งใกล้ตัวมากขึ้นหลังจากช่วงปลายปีที่ผ่านมาลากยาวจนถึงขณะนี้ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย พุ่งสูงเกินค่ามาตรฐาน 
  • เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา กรีนพีซได้เผยรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศโลก ประจำปี พ.ศ. 2561 จะมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง มาดูกัน 

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนเรา ทั้งด้านสุขภาพและการเงิน มีการประเมินค่าใช้จ่ายในการสูญเสียแรงงานทั่วโลกถึง 225,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และค่าใช้จ่ายทางการแพทย์หลายล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เราต้องการให้รายงานฉบับนี้สร้างความตระหนักให้กับประชาชนถึงอากาศที่เราหายใจ เพราะเมื่อเราเข้าใจถึงผลกระทบจากคุณภาพอากาศต่อชีวิตของเรา เราจะสามารถปกป้องสิ่งที่สำคัญที่สุดได้”

สถานการณ์ด้านคุณภาพอากาศของประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 23 ของโลก ในฐานะประเทศที่มีความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 มากที่สุด หากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีค่าคุณภาพอากาศที่แย่เป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม มี 10 จังหวัดในไทยที่ติดอยู่ในการจัดอันดับ 15 เมืองที่มีมลพิษ PM 2.5 สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข้อมูลในรายงานยังรวมถึง…

ในเอเชียใต้

  • 18 จาก 20 เมืองมีมลพิษมากที่สุดในโลก อยู่ในอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ โดยเมืองที่อยู่ในภูมิภาคนี้มีเมืองที่ผ่านเกณฑ์ค่าเฉลี่ยรายปี PM 2.5 ขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2561 เพียง 1.2% เท่านั้น ส่วนแหล่งกำเนิดมลพิษ PM 2.5 ในภูมิภาคนี้ผันแปรไปในแต่ละประเทศและเมือง แต่โดยทั่วไปผู้ที่มีส่วนก่อมลพิษทางอากาศมาจากยานพาหนะ การเผาในที่โล่ง การปลดปล่อยมลพิษของภาคอุตสาหกรรม และการเผาไหม้ถ่านหิน
  • เป็นที่น่าสนใจว่าบรรดาเมืองในเอเชียใต้แม้จะมีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อว่า ‘เดลี’ เป็นหนึ่งใน ‘เมืองหลวงแห่งมลพิษของโลก’ แต่เมืองดังกล่าวกลับติดอยู่เพียงอันดับ 10 ของเมืองที่มีความเข้มข้นรายปีของ PM 2.5 สูงสุด ในขณะที่เมืองอื่นๆ ในทางตอนเหนือของอินเดียและปากีสถานมีสถิติระดับ PM 2.5 แบบรายปีสูงกว่า และเมืองข้างเคียงอย่างกูรุครามมีความเข้มข้นรายปีของ PM 2.5 สูงสุดในบรรดาเมืองที่มีการบันทึกข้อมูลในปี พ.ศ. 2561

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

  • จาการ์ตา และฮานอย เป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเมืองที่รายล้อมด้วยโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค ในขณะที่กรุงปักกิ่งมีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นจึงส่งผลให้จาการ์ตามีความเสี่ยงที่จะมีมลพิษทางอากาศสูงแทนเมืองหลวงของจีนในไม่ช้า 
  • จ.สมุทรสาคร ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 3 ของภูมิภาคนี้ 
  • แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศในภูมิภาคนี้มีความแตกต่างระหว่างเขตชนบทและเขตเมืองในประเทศนั้นๆ โดยทั่วไปแหล่งกำเนิดมลพิษชั้นนำมาจากการเผาไหม้ในที่โล่ง จากยานพาหนะ การขนส่ง มลพิษทางอากาศที่พุ่งสูงในภูมิภาคนี้มักเกี่ยวข้องกับการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซีย และมีส่วนก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ในแถบตะวันออกกลาง

  • ในปี พ.ศ. 2561 ไม่มีเมืองในภูมิภาคนี้ผ่านเกณฑ์ค่าเฉลี่ยรายปี PM 2.5 ขององค์การอนามัยโลก โดยเมืองส่วนมากมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง แต่มี 3 เมืองที่มีค่าเฉลี่ยสูงเกินกว่าข้อกำหนดรายปีขององค์การอนามัยโลกถึง 5 เท่า ได้แก่ มานามา ประเทศบาห์เรน คูเวตซิตี ประเทศคูเวต และดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  • ตัวการหลักของมลพิษทางอากาศในตะวันออกกลาง คือธรรมชาติจากพายุฝุ่น แต่กิจกรรมของมนุษย์ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างมลพิษทางอากาศในท้องถิ่นเช่นกัน รวมทั้งการปลดปล่อยของภาคอุตสาหกรรม โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล การขนส่งที่มีฐานจากการเผาไหม้ การใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลในปริมาณมาก และการเผาขยะในที่โล่ง

ในภูมิภาคอื่นๆ

  • กลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) จาก 34 ประเทศสมาชิกในกลุ่มประเทศ OECD พบว่า ในจำนวน 100 เมืองที่มีมลพิษ PM 2.5 สูงสุด เป็นเมืองในเกาหลีใต้ 44 แห่ง ในปี พ.ศ.2561 และ 43 แห่ง ในปี พ.ศ. 2560 ตามลำดับ
  • ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา แม้ว่าคุณภาพอากาศโดยเฉลี่ยจะดีเมื่อเปรียบเทียบกับทั่วโลก แต่ประวัติการเกิดไฟป่ามีผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพอากาศ ทำให้ 5 ใน 10 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลกในช่วงเดือนสิงหาคมอยู่ในอเมริกาเหนือ ส่วนประชากรจำนวนมากรวมถึงประชากรในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ยังไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการวัดคุณภาพอากาศที่เพียงพอ

กล่าวโดยสรุป การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ผลกระทบของมลพิษทางอากาศเลวร้ายลง โดยมีสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและการขยายบริเวณของไฟป่า นอกจากนี้ตัวขับเคลื่อนหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอีกอย่างคือการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้น การแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงสามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศของเราได้อย่างมาก

“ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาด้านมลพิษทางอากาศจากฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ซึ่งขณะนี้หน่วยงานท้องถิ่นและรัฐบาลระดับชาติสามารถช่วยจัดการกับผลกระทบของมลพิษทางอากาศได้โดยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานในการตรวจสอบและรายงานผลมลพิษทางอากาศได้ สิ่งที่แสดงให้เห็นชัดถึงต้นตอของปัญหามลพิษทางอากาศคือการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างเช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ และเลวร้ายลงจากการตัดไม้ทำลายป่า  สิ่งที่เราต้องการเห็นคือผู้นำของเรามีแนวความคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสุขภาพและสภาพภูมิอากาศโดยการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และในขณะเดียวกันต้องมีการรายงานคุณภาพอากาศที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพและสภาพภูมิอากาศ” ธารากล่าวเสริม

ทางกรีนพีซยังเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษและกระทรวจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการยกร่างมาตรฐานในบรรยากาศของ PM2.5 ขึ้นใหม่สำหรับประเทศไทยโดยกำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี พ.ศ. 2562 และกำหนดมาตรการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควัน HAZE-FREE 2020 อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

โดยเราสามารถร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้ดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้ที่www.greenpeace.or.th/right-to-clean-air

FYI

  • สิ่งที่ต้องกังวลก็คือผลกระทบของมลพิษ PM2.5 ต่อสุขภาพที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น มะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและโรคทางเดินหายใจรวมถึงโรคหืดหอบ 
  • รายงานจากเว็บไซต์ Air Quality Life Index ระบุว่า โดยเฉลี่ยช่วงชีวิตของคนทั่วโลกจะสั้นลงประมาณ 1.8 ปี อันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศ หรืออีกนัยหนึ่ง หากทุกคนมีชีวิตอยู่ในอากาศดี เราจะมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น 1.8 ปี
Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ