fbpx

ผู้หญิงกุมอำนาจในประวัติศาสตร์โลก

“ผมคิดว่าผู้หญิงโง่เขลาที่แสร้งทำเหมือนพวกเธอนั้นเท่าเทียมผู้ชาย เพราะว่าความจริงแล้วพวกเธอเหนือกว่ามาโดยตลอด เมื่อไรก็ตามที่คุณมอบอะไรให้ผู้หญิง เธอจะมอบสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า คืนกลับมาให้เสมอ แต่ถ้าคุณทำเรื่องแย่ๆ กับพวกเธอ ก็จงเตรียมพร้อมรับความพินาศได้เลย”

คำกล่าวอันลือลั่นของ William Golding นักประพันธ์ชาวอังกฤษเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี 1983 สะท้อนให้เราเห็นอีกมุมมองหนึ่งของบุรุษที่มีต่อสตรี ชวนให้มองย้อนกลับไปยังสายธารประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่านอกจากผู้หญิงจะมีความเป็นแม่แล้ว ยังมีรากของความเป็นผู้นำมาตั้งแต่อดีต แต่การอยู่ภายใต้ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ทำให้บางครั้งผู้หญิงต้องลดบทบาทลง และทำหน้าที่บริหารอำนาจอยู่เบื้องหลังผ่านตัวแทนหรือระบบต่างๆ อีกที

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีผู้หญิงก้าวขึ้นมามีอำนาจเลย เพราะในช่วงระยะเวลาหนึ่งอันเป็นบทสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์โลก ก็ปรากฏชื่อของผู้หญิงในฐานะผู้นำระดับสูงที่ถูกจารึกชื่อไว้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในตำแหน่งผู้เคียงข้างราชบัลลังก์ของผู้ปกครอง โดยบางครั้งก็ขึ้นมาปกครองเสียเอง ทว่าจุดจบของผู้หญิงเรืองอำนาจในอดีตกลับมีจุดจบที่ไม่ค่อยจะสวยงามเท่าไรนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในห้วงเวลาหนึ่ง พวกเธอช่างมีอิทธิพลและมีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การเมืองให้พลิกผันไปตามบริบทในแต่ละยุคสมัย

ในขณะที่ปัจจุบันท่ามกลางโลกทุนนิยม ผู้หญิงได้รับการยอมรับมากกว่าในอดีต ทำให้ผู้หญิงยุคใหม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ออกไปทำงานนอกบ้านเหมือนผู้ชายเพื่อหารายได้กลับมาเลี้ยงดูครอบครัว หรือหากจะอยู่ในสถานะภรรยา ก็ยังถูกกล่าวถึงในทำนองที่ว่า ‘เบื้องหลังความสำเร็จของผู้ชาย มักมีผู้หญิงคอยสนับสนุนอยู่เสมอ’ ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญมาโดยตลอด

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้หญิงในยุคนี้ยังมีความสามารถไม่น้อยหน้าชายหนุ่ม เพราะพวกเธอขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศและยืนทัดเทียมกับผู้ชายบนเวทีโลก จึงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงหากเราจะบอกว่าผู้หญิงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนโลกใบนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

คลีโอพัตรา

‘คลีโอพัตราที่ 7 ฟิโลพาเธอร์’ ได้ชื่อว่าพระราชินีแห่งอียิปต์โบราณที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นพระราชธิดาของทอเลมีที่ 12 ออเลติส นอกจากความงามอันเลอโฉมของพระนางเป็นที่เลื่องลือแล้ว พระปรีชาสามารถและความฉลาดหลักแหลม ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สตรีผู้นี้ก้าวไปสู่อำนาจ อีกทั้งยังทรงเชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศถึง 14 ภาษา ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากในการเจรจาต่อรองทางการเมือง และจบลงด้วยการเป็นผู้ปกครองอียิปต์คนสุดท้ายที่มีเชื้อสายกรีก

ในช่วงที่เถลิงอำนาจ พระราชินีคลีโอพัตราทรงปกครองอียิปต์ร่วมกับพระบิดา พระอนุชา และพระโอรส โดยทรงถืออำนาจอยู่เบื้องหลังผู้ปกครองบุรุษทั้งหลาย และได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบิดา ความงดงามและเสน่ห์ของพระนางทำให้กษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่อย่าง ‘จูเลียส ซีซาร์’ หลงใหล รวมไปถึง ‘มาร์ก แอนโทนี’ ผู้บัญชาการทหารแห่งโรมัน จนก่อเกิดเป็นเรื่องราวรักบันลือโลกท่ามกลางสมรภูมิการเมืองอันร้อนระอุ

ราว 30 ปีก่อนคริสตกาล หลังการเสียชีวิตของจูเลียส ซีซาร์ พระนางคลีโอพัตราหาขั้วอำนาจใหม่มาคุ้มครองโดยการหันไปหา มาร์ก แอนโทนี แต่ต่อมาเกิดเหตุการณ์สู้รบและยึดอำนาจขึ้นเมื่อ ‘อ็อกตาเวียน’ แห่งกรุงโรมยกทัพหวังมาพิชิตอียิปต์เกิดสงครามกับกองทัพเรือทหารโรมัน ทว่าอียิปต์ต้องพบกับความพ่ายแพ้เพราะสู้กองทัพเรือโรมันที่มีขนาดใหญ่กว่าไม่ได้ มาร์ก แอนโทนี หลบหนี และฆ่าตัวตาย ขณะที่พระนางคลีโอพัตราก็เลือกที่จะปลิดชีพตัวเองเช่นเดียวกัน

มารี อ็องตัวแน็ต

พระนามเดิมคือ มาเรีย อันโทเนีย โยเซฟา โยอันนา เป็นพระธิดาของพระจักรพรรดิฟรานซ์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา แห่งฮังการีและโบฮีเมียพระนางเติบโตขึ้นที่กรุงเวียนนา เมื่อพระชนมายุ 14 ชันษา มาร์กีแห่งดูร์ฟอร์ต ซึ่งเป็นหลานชายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส มาสู่ขอเพื่อหมั้นหมาย ทว่าเกิดกระแสต่อต้านจากคนฝรั่งเศส จึงทำให้ต้องล้มเลิกพิธีไป

ค.ศ. 1770 พระนางได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารฝรั่งเศส ณ พระราชวังแวร์ซาย เนื่องด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างฝรั่งเศสและออสเตรีย ท่ามกลางกระแสต่อต้านอีกเช่นเคย โดยชาวฝรั่งเศสต่างดูแคลนว่าพระนางเป็นผู้หญิงออสเตรีย

จากราชสำนักออสเตรียที่ไม่ได้เคร่งครัดขนบประเพณีใดมากนัก มาสู่ราชสำนักฝรั่งเศสที่เคร่งครัดและเข้มงวด พระนางต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับชนชั้นสูงในราชสำนัก แต่ขณะเดียวกันพระนางก็ได้ใช้ชีวิตอย่างหรูหราภายในพระราชวังแวร์ซาย ใช้เงินทองสิ้นเปลืองไปกับการจัดงานบันเทิงรื่นรมย์

จนกระทั่งปี 1774 พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 สวรรคต ทำให้มกุฎราชกุมารฯ พระสวามีทรงขึ้นครองราชย์ต่อ เป็น ‘พระเจ้าหลุยส์ที่ 16’ ขณะที่พระนางก็ได้รับการสถาปนาพระยศเป็น ‘ราชินีแห่งฝรั่งเศส’

ในช่วงเวลานี้เอง พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ใช้ชีวิตในราชสำนักอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย ท่ามกลางความแร้นแค้นของราษฎร อีกทั้งยังพยายามเข้ามามีอิทธิพลทางการเมือง จนเกิดกระแสต่อต้านอย่างหนัก มีการแจกใบปลิวปล่อยข่าวว่าพระนางมีชู้ และพัวพันกับคดีดังต่างๆ อีกมากมาย ถึงกับมีการตราหน้าว่าพระนางคือปีศาจร้ายผู้เป็นปฏิปักษ์กับกฎหมาย นอกจากนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่สุดๆ พระนางยังถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของประโยค ‘ไม่มีขนมปัง ก็ให้พวกเขา (ราษฎร) กินเค้ก’ จนนำไปสู่การปฏิวัติในที่สุด โดยไม่มีหลักฐานยืนยันว่าพระนางตรัสจริงหรือไม่

ต่อมาเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นในปี 1789 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ถูกคณะปฏิวัติจับตัว ก่อนที่พระนางจะถูกบั่นพระเศียรด้วยเครื่องกิโยตินในปี 1793 ปิดตำนานราชินีผู้ฟุ้งเฟ้อแห่งฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีนักประวัติศาสตร์บางส่วนที่ตีความพระนางด้วยมุมมองใหม่ หลังจากชื่อ ‘มารี อ็องตัวแน็ต’ มีภาพลักษณ์ย่ำแย่มานานหลายศตวรรษ โดยยกให้พระนางเป็นเจ้าหญิงที่ทันสมัย แฟชั่นของพระนางถูกนำมาศึกษาต่อยอด นอกจากนี้พระนางยังเป็นผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความเกลียดชังผู้หญิง (Misogyny) อีกด้วย

แอนน์ โบลีน

รู้จักกันในชื่อ ‘ราชินีแอนน์’ เป็นพระมเหสีพระองค์ที่ 2 ของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ แอนน์ โบลีน เคยทำงานรับใช้ราชสำนักอังกฤษ เนื่องด้วยแอนน์เป็นหญิงสาวที่หน้าตา รูปร่างงดงาม ทำให้พระเจ้าเฮนรีที่ 8 ทรงตกหลุมรัก แม้พระองค์จะทรงอภิเษกกับพระนางแคทเธอรีนแห่งอารากอนอยู่ก่อนแล้ว

ขณะเดียวกันแอนน์ก็มีคู่หมั้นเป็นท่านลอร์ด แต่พระเจ้าเฮนรีที่ 8 ทรงขัดขวางและทำทุกวิถีทางเพื่อเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับแอนน์และแต่งตั้งเป็น ‘สมเด็จพระราชินีแอนน์’ จนทำให้เกิดข้อวิจารณ์ทางศาสนาของคริสตจักรโรมันคาทอลิก

จุดเปลี่ยนของความรักหอมหวานเกิดขึ้นเมื่อสมเด็จพระราชินีแอนน์ให้กำเนิดพระราชธิดาแทนที่จะเป็นพระราชโอรสอย่างที่พระสวามีทรงหวังไว้ (ต่อมาคือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ) ภายหลังสมเด็จพระราชินีแอนน์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานราชการมากขึ้น ข้าราชบริพารในราชสำนักจึงแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย นำไปสู่การแย่งชิงขั้วอำนาจ สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่พระเจ้าเฮนรีที่ 8

ต่อมาสมเด็จพระราชินีแอนน์ถูกกล่าวหาว่าทรยศต่อราชบังลังก์และคบชู้กับพี่น้องสายเลือดเดียวกัน ก่อนจะถูกส่งไปกักตัวยังหอคอยแห่งลอนดอน และตัดสินลงโทษด้วยการตัดพระเศียรในปี 1536 ปัจจุบันมักมีเรื่องราวเกี่ยวกับวิญญาณของพระราชินีองค์นี้ว่ายังทรงสิงสถิตอยู่ ณ หอคอยดังกล่าว

ซูสีไทเฮา

หากกล่าวถึงสตรีที่เคยทรงอำนาจที่สุดในแผ่นดินมังกร คงจะเป็นใครไม่ได้นอกจาก ‘ซูสีไทเฮา’ แห่งราชวงศ์ชิง หญิงชาวแมนจูผู้เป็นพระมเหสีของจักรพรรดิเสียนเฟิง ในช่วงศตวรรษที่ 18-19 พระนางทรงช่วยเหลืองานราชการของจักรพรรดิเป็นอย่างดี และยังให้กำเนิดพระโอรสอีกด้วย จึงทรงเป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่ง

ภายหลังจีนเข้าสู่ยุคล่าอาณานิคม ชาติตะวันตกเดินทางเข้ามายังแผ่นดินจีน เกิดความวุ่นวายทางการเมืองและเกิดสงครามฝิ่นขึ้น ทำให้จักรพรรดิต้องเสด็จลี้ภัยและสิ้นพระชนม์ในที่สุด เจ้าฟ้าไจ้ฉุนทรงขึ้นครองราชย์ แต่เนื่องจากยังทรงพระเยาว์จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทน ทว่าซูสีไทเฮาทำการยึดอำนาจและสำเร็จราชการแทนพระโอรส เท่ากับว่าซูสีไทเฮามีอำนาจหลังม่านอย่างเต็มที่ ขณะที่พระโอรสที่ยังอยู่ในช่วงวัยรุ่นก็ไม่ได้ปกครองอย่างเต็มที่ หันไปหลงใหลสุรา และนารีจนประชวรและสิ้นพระชนม์ในวัยหนุ่ม

ซูสีไทเฮาจึงทรงแต่งตั้งหลานคือเจ้าชายไจ้เทียนขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิกวางสูองค์น้อย อายุเพียง 4 พรรษาเท่านั้น ส่วนตนเองก็เป็นผู้สำเร็จราชการเช่นเดิม ในช่วงรัชสมัยนี้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นมากมาย รวมทั้ง ‘ปฏิรูปร้อยวัน’ ที่จักรพรรดิหวังพาจีนเจริญทัดเทียมนานาชาติ ท่ามกลางการเข้ามารุกรานของประเทศตะวันตก แต่ซูสีไทเฮาก็ขัดขวางอีกจนได้

ปี 1908 จักรพรรดิกวางสีสิ้นพระชนม์กะทันหัน ซูสีไทเฮาแต่งตั้ง ‘ผู่อี๋‘ พระโอรสเป็นจักรพรรดิองค์ต่อไป ก่อนที่พระนางจะสิ้นพระชนม์ในปีเดียวกัน ปิดตำนานสตรีผู้อยู่เบื้องหลังบัลลังก์มังกรผู้ทรงอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์

เจียง ชิง

อดีตนักแสดงชาวจีน ภรรยาของ ‘เหมา เจ๋อตง’ ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน หรือที่เรียกกันว่า ‘มาดามเหมา’ เป็นหนึ่งในสมาชิก ‘แก๊งออฟโฟร์’ ที่มีอิทธิพลอย่างมากในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม โดยเฉพาะการช่วยประชาสัมพันธ์โฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์

เจ้าหญิงไดอานาแห่งเวลส์

พระนามเดิมคือ ‘ไดอานา ฟรานเซส’ เป็นพระชายาของเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฎราชกุมารอังกฤษ อีกทั้งยังเป็นพระมารดาของเจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี่ ต่อมาหย่าร้างกับเจ้าชายชาลส์ในปี 1996 ระหว่างที่ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์ เจ้าหญิงไดอานา ทรงพระกรณียกิจต่างๆ จนเป็นภาพคุ้นตาของชาวอังกฤษ ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 1997 เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นเมื่อพระองค์ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ สิ้นพระชนม์กะทันหัน กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก

มาร์กาเรต แทตเชอร์

เธอคือผู้นำพรรคอนุรักษนิยมและเป็นผู้หญิงคนแรกที่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราช-อาณาจักร ระหว่างปี 1979-1989 อังกฤษภายใต้การบริหารของแทตเชอร์ ทำให้ภาวะว่างงานต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี

นอกจากนี้ เธอได้รับยกย่องในฐานะนักการเมืองหญิงที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ของนโยบายต่างๆ โดยไม่หวั่นต่อเสียงวิจารณ์และเดินหน้าทำงานอย่างถึงที่สุด จนได้รับฉายาว่า ‘หญิงเหล็กแห่งอังกฤษ’

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ