fbpx

ใครกันที่ผิด ความไม่เท่าเทียมทางเพศทำให้ญี่ปุ่นประชากรลดลง

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ตรงกันข้ามกับประชากรแรกเกิดที่มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ รัฐบาลพยายามออกนโยบายกระตุ้นการเกิดหลายอย่าง ทว่าดูแล้วไม่ได้ผลเท่าไหร่นัก

Reasons To Read

  • ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ตรงกันข้ามกับประชากรแรกเกิดที่มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ รัฐบาลพยายามออกนโยบายกระตุ้นการเกิดหลายอย่าง ทว่าดูแล้วไม่ได้ผลเท่าไหร่นัก
  • เหตุหนึ่งที่สำคัญและขัดขวางการมีบุตรของคู่รักชาวญี่ปุ่นคือชีวิตการทำงาน และความจำเป็นทางเศรษฐกิจ 

ประเทศญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่วิกฤตประชากรเนื่องจากมีจำนวนคนในประเทศลดลงมากที่สุดเป็นครั้งประวัติศาสตร์ โดยปีที่ผ่านมามีจำนวนประชากรเสียชีวิตสูงเท่ากับช่วงหลังสงครามคือ 1.37 ล้านคน ทว่ามีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 921,000 คนท่ามกลางประชากรรวม 126 ล้านชีวิต เท่ากับว่าประชากรแดนปลาดิบหายไปกว่า 448,000 คน มากสุดเป็นประวัติกาล โดยรองนายกรัฐมนตรีออกมาให้ความเห็นว่า “อย่าโทษผู้สูงวัย เพราะผู้หญิงที่ไม่ยอมมีบุตรต่างหากคือปัญหาของเรื่องนี้”

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ตรงกันข้ามกับประชากรแรกเกิดที่มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ มาตั้งแต่ช่วงปี 2520 รัฐบาลพยายามออกนโยบายกระตุ้นการเกิดด้วยการมอบเงินสนับสนุน สร้างสถานรับเลี้ยงเด็กตอนกลางวันเพิ่ม รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกแม่และเด็กอื่นๆ โดยหวังให้คนในประเทศช่วยเพิ่มประชากร ทว่าดูแล้วไม่ได้ผลเท่าไหร่นักเพราะจำนวนเด็กเกิดใหม่ไม่มีท่าทีจะสูงขึ้น แถมตัวเลขปีที่ผ่านมายังต่ำสุดในประวัติศาสตร์อีก ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ขัดขวางการอยากมีบุตรของคู่รักชาวญี่ปุ่นนั้นก็คือ ชีวิตการทำงาน

อย่างที่รู้กันว่าญี่ปุ่นเป็นชาติที่ทำงานอย่างทุ่มสุดชีวิตเพื่อจะประสบความสำเร็จ ทำให้หลายคนกลัวว่าจะไม่มีเวลาให้ครอบครัว ผู้หญิงหลายคนที่ตัดสินใจมีบุตรจึงต้องยอมวางมือจากหน้าที่งานเพื่อออกมาเลี้ยงดูลูก แต่ปัญหาก็คือเมื่อกลับเข้าไปทำงานจะต้องเผชิญกับค่าแรงที่ต่ำกว่าเคย ความไม่ก้าวหน้าในตำแหน่ง หรือถูกปฎิเสธการจ้างประจำ และร้ายแรงสุดอาจต้องอยู่ในสภาวะว่างงาน แน่นอนว่ารายได้ที่น้อยลงแต่มีภาระเลี้ยงดูที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นมองว่าการมีลูกอาจทำให้เสียโอกาสในการเติบโตของชีวิต 

หากเปรียบเทียบกันจะพบว่าประชากรชายมีโอกาสได้รับจ้างงานและได้ค่าตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่ามากแม้จะเป็นตำแหน่งพนักงานไม่ประจำเหมือนกันก็ตาม ผู้หญิงจึงต้องทำงานนานกว่าเพื่อได้รับค่าตอบแทนที่มากขึ้น และหากต้องการทำงานประจำก็ต้องมีเวลามากพอตามที่กำหนด ทำให้ภาระการเลี้ยงดูบุตรเป็นข้อจำกัดให้ผู้หญิงหลายคนไม่สามารถทำงานประจำหรือใช้เวลาที่ทำงานมากขึ้นได้ ซึ่งเท่ากับว่ามีรายได้ที่ลดลงด้วย

เช่นนี้แล้วคงไม่น่าสงสัยเท่าไหร่หากผู้หญิงหลายคนเลือกรักษาตำแหน่งงานไว้แทนการออกไปสร้างครอบครัว เพราะดูเหมือนว่าสิ่งที่ทำให้ประชากรอยากให้ความร่วมมือกับรัฐอาจไม่ใช่ความสะดวกสบาย แต่เป็นความมั่นคงและภาวะแข่งขันทำงานที่ลดลงเพื่อให้ประชาชนได้มีเวลาเหลือกลับไปใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวมากขึ้น 

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ