ประเพณีล่าวาฬ รุกผืนป่าแอมะซอน คว่ำบาตรรัสเซีย กรณีศึกษาชาตินิยมไม่สนใจชาวโลก
ไม่ว่าประชาคมชาวโลกจะรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ห่วงใยสภาพภูมิอากาศ หรือเป็นกังวลเรื่องห่วงโซ่อาหารกันมากมายแค่ไหน หากว่ามันเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณีที่ฝังรากลึกมายาวนาน หรือวาระสำคัญแห่งชาติแล้วละก็ ประชาชนหรือรัฐบาลของบางประเทศก็ไม่สนใจเหมือนกันว่าชาวโลกจะคิดหรือรู้สึกอย่างไร จะมีชาติไหนบ้าง มาดูกัน
ความเจริญรุ่งเรืองของญี่ปุ่นคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากความร่วมมือของสหรัฐอเมริกา และการส่งออกที่ล้นเหลือ แต่ประชากรของประเทศกำลังเข้าสู่วัยชรามากขึ้น เศรษฐกิจก็กำลังซบเซา ในขณะที่จีนกำลังก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจ ญี่ปุ่นกลับประสาทเสียกับการหาที่ยืนบนโลก ในเชิงเศรษฐกิจภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเอาตัวเข้าไปผูกกับประชาคมโลกมากขึ้น และเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศในแถบแปซิฟิก อาเบะจึงหันไปเจรจาทำสัญญากับสหภาพยุโรปแทน
อาเบะรู้ดีว่า ประเทศของเขาต้องพึ่งพาการเติบโตของโลก แต่กลับขายนโยบายกับประชาชนในช่วงหาเสียงว่าเขาจะนำความเป็นญี่ปุ่นกลับมา และแสร้งทำคล้ายกับว่าประเทศกำลังจะกลับมาเฟื่องฟูเหมือนช่วงปี 1990 นอกเหนือจากการเปิดการค้าเสรีแล้ว อาเบะยังให้ความสำคัญกับลัทธิชาตินิยมอีกด้วย เมื่อเดือนธันวาคม ญี่ปุ่นถอนตัวออกจากคณะกรรมาธิการการล่าวาฬนานาชาติ ก่อนหน้านี้เคยมีการยกเลิกคำสั่งห้ามล่าวาฬมิงค์ ซึ่งเคยออกกฎห้ามมาตั้งแต่ปี 1986 เนื่องจากมันรอดพ้นจากภาวะสูญพันธุ์แล้ว เมื่อประเทศสมาชิกลงมติคัดค้าน ญี่ปุ่นจึงใช้เหตุผลดังกล่าวในการถอนตัว หากมองอย่างเป็นธรรมแล้ว จะเห็นว่าญี่ปุ่นมีเหตุผล วาฬมิงค์ไม่ได้ถูกคุกคามจนถึงขั้นสูญพันธุ์อีกต่อไป แต่การยืนยันใน ‘ประเพณีการล่าวาฬ’ ของญี่ปุ่น และการให้เหตุผลเกี่ยวกับโปรตีนจากเนื้อวาฬเป็นเรื่องสำคัญนั้น ดูจะเป็นนโยบายประชานิยมเสียจนออกนอกหน้า ทั้งที่ความจริง แทบไม่มีใครในญี่ปุ่นนิยมกินเนื้อวาฬกันอีกแล้ว อุตสาหกรรมการประมงยังคงอยู่ได้โดยเงินอุดหนุนจากภาครัฐเท่านั้น
ตั้งแต่ฤดูร้อนเป็นต้นไป ญี่ปุ่นจะสามารถจับปลาเชิงพาณิชย์ได้โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากใครอีกแล้ว และญี่ปุ่นก็ไม่สนใจด้วยว่า ใครจะคิดอย่างไรเกี่ยวกับประเพณีการล่าวาฬของพวกเขา
ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีคนที่ 38 ของบราซิล ดูเหมือนพร้อมที่จะถูกโดดเดี่ยว เพราะเขามีความเห็นคัดค้าน ‘โลกาภิวัตน์’ เขายืนยันที่จะทำ “เพื่อบราซิล ไม่ใช่เพื่อกฎกติกาใดๆ ของโลก”
บราซิลถอนตัวออกจากสนธิสัญญาว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานขององค์การสหประชาชาติ และเรียกร้องให้มีการตั้งคำถามถึงความร่วมมือในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ของบริกส์ (Brics) เช่นเดียวกับในกลุ่มการค้าอเมริกาใต้ (Mercosur) ถึงกระนั้นโบลโซนารูได้เดินทางไปดาวอสเพื่อเข้าร่วมประชุม World Economic Forum ซึ่งเป็นศูนย์กลางการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ที่นั่นเขาก็ปราศรัยเรื่องทั่วไป และไม่เปิดแถลงข่าวเป็นการเฉพาะ
รัฐบาลของโบลโซนารูได้ทำลายกฎเกณฑ์และการปกป้องสิ่งแวดล้อมสำหรับชนพื้นเมือง ทั้งยังเรียกร้องให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจของป่าแอมะซอน ซึ่งมีความสำคัญต่อสภาพภูมิอากาศโลก ในหลายพื้นที่มีการปะทะกันระหว่างคนตัดไม้กับคนพื้นเมืองรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
แต่แนวร่วม “เราไม่สนใจว่าโลกจะคิดอย่างไร” ของโบลโซนารูไม่ได้มีแค่ในคณะรัฐบาล หากยังมีในกองทัพด้วย โดยเฉพาะทหารที่ต้องการเหตุแนวทางการเมืองที่เป็นรูปธรรม และไม่สนใจการถูกโดดเดี่ยว แนวโน้มการรุกล้ำป่าแอมะซอนเริ่มมีความเป็นไปได้สูง ระหว่างที่โบลโซนารูไปปรากฏตัวที่ดาวอส รองประธานาธิบดีของเขาก็ให้การต้อนรับนักลงทุนจากทั่วโลกอยู่ที่บ้าน
ภายหลังเหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ในปี 2014 ประเทศมหาอำนาจได้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ฝั่งสหรัฐอเมริการะงับการส่งออกสินค้า บริการ และเทคโนโลยี ส่วนสหภาพยุโรปไม่อนุญาตให้รัฐวิสาหกิจพลังงานหลายแห่งของรัสเซียระดมเงินทุนหรือกู้ยืมในตลาดการเงินยุโรป ครั้งนั้น วลาดิเมียร์ ปูติน ก็มีนโยบายตอบโต้เช่นกัน โดยระงับการนำเข้าสินค้าเกษตร อาหาร และวัตถุดิบต่างๆ
ร่วมห้าปีมาแล้ว มาตรการคว่ำบาตรยังคงดำเนินต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนจะเข้าทางของรัฐบาลรัสเซีย ถึงขั้นว่า ปูตินประกาศยืดเวลาการนำเข้าสินค้าจากตะวันตกไปจนถึงสิ้นปี 2019 ก่อนที่กลุ่มประเทศในตะวันตกจะตัดสินใจเลื่อนระยะเวลาการคว่ำบาตรรัสเซียเสียด้วยซ้ำ เพราะเมื่อมีการระงับการนำเข้าสินค้าเกษตร ทำให้เกษตรกรภายในประเทศได้รับการสนับสนุนให้เพิ่มกำลังการผลิต กระทั่งว่าในเวลาเพียงไม่กี่ปีรัสเซียกลายเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรเสียเอง
ในปี 2017 รัสเซียสามารถขายสินค้าธัญพืชได้มากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ มากกว่าสินค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทำรายได้ให้กับรัสเซียเพียง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ อุตสาหกรรมนม การผลิตเนื้อไก่และหมูก็เช่นกัน หรือแม้กระทั่งมะเขือเทศซึ่งได้รับการสนับสนุนให้เพาะปลูกทางตอนใต้ของประเทศก็สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างถ้วนหน้า ส่วนผลผลิตอย่างข้าวสาลี ยามนี้รัสเซียมีการส่งออกแซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปแล้ว
รัสเซียพลิกวิกฤติให้กลายเป็นโอกาสได้สำเร็จ ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรได้แถลงออกสื่อว่า ถ้าสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะยืดระยะเวลาการคว่ำบาตรรัสเซียออกไปอีกสิบปีก็จะดีไม่น้อย