fbpx

แค่มีอากาศก็มีโอกาส

วิกฤติวัยกลางคน หรือ Midlife Crisis ที่กำลังเกิดขึ้นกับผม ทำให้ผมเริ่มรู้สึกถึงเวลาที่เหลือน้อยลงบนโลกใบนี้ เริ่มรู้สึกถึงสุขภาพที่เสื่อมถอยลงไปตามวัย เริ่มกังวลใจกับเป้าหมายหรือความสำเร็จในชีวิตที่มีเวลาเหลือให้ไล่ล่าน้อยลงท่ามกลางคู่แข่งคลื่นลูกใหม่ใน Generation หลังที่เต็มไปด้วยพลังและฮอร์โมนที่เข้าใจเทคโนโลยีโดยสายเลือด


อย่างไรก็ตาม โชคดีที่คนเกิด Gen X อย่างผมเป็นกลุ่มคนที่อยู่ตรงรอยต่อระหว่างโลกใบเก่าแห่งความลำบาก กับโลกใบใหม่แห่งความสะดวกสบายภายใต้เทคโนโลยี คุ้นเคยกับการฟังเพลงผ่านเทปคาสเซต แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเองตะเกียกตะกายมาฟังเพลงผ่าน MP3 และแอปฯ ฟังเพลงอย่าง Joox หรือ Spotify วิกฤติวัยกลางคนนี้ทำให้ผมต้องลุกขึ้นมาริเริ่มทำสิ่งใหม่ เปลี่ยนแปลงตัวเองให้รู้เท่าทันโลกในยุคปัจจุบัน เพื่อทำให้ชีวิตยังสามารถเดินทางไปต่อได้ในรอบนักษัตรสุดท้ายของการทำงาน


คนคุ้นเคย hi5 อย่างผมที่ครั้งหนึ่งต้องมาเรียนรู้ Facebook เพื่อพร่ำเพ้อพรรณนาเวิ่นเว้อเรื่องราวในชีวิตของตนเองให้ใครต่อใครในโลกนี้ร่วมรับฟังเป็นหน้าๆ วันนี้ก็ต้องมาเรียนรู้ว่าผู้คนในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารไหลผ่านรอบตัวเป็นจำนวนมากย่อมมีความสนใจรับฟังเรื่องราวต่างๆ ในเวลาสั้นลง แพลตฟอร์มการติดต่อสื่อสารของเด็กวัยรุ่นทุกวันนี้จึงมีข้อจำกัดในการเรียกร้องความสนใจด้วยความยาวของข้อความเพียงแค่ 15 วินาที ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอสั้นใน Snapchat หรือ TikTok


เพราะยังไม่อยากตกยุค ยังไม่อยากรู้สึกแปลกแยกแตกต่างกับเด็กวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน ลุงอย่างผมที่ยังไม่อยากเป็นมนุษย์ลุงจึงต้องพยายามเรียนรู้วิถีชีวิตของวัยรุ่นในยุคนี้คงไม่มีวิธีไหนที่จะเข้าใจเด็กรุ่นใหม่ได้ง่ายเท่ากับการค้นว่าวัยรุ่นยุคปัจจุบันนิยมใช้ Social Media ช่องทางไหนบ้าง และนั่นเองที่ทำให้ผมตระหนักในความจริงที่ซ่อนไว้อีกด้านว่า ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันที่เข้มข้นก็ยังมีโอกาสใหม่ๆ เสมอ


จากที่ใครหลายๆ คนที่อยู่ในวัยเดียวกันกับผมอาจไม่เคยคิดว่าจะมี Social Media รายใหม่ใดเข้ามาเบียดแทรก Facebook หรือ Instagram ได้เลย แต่วันนี้จะเห็นได้ว่าทั้ง Snapchat และ TikTok ต่างก็ยังมีที่ยืนใน Play Store และ App Store แอปฯ ทั้งคู่นี้จะว่าไปก็มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างที่ทำให้เห็นว่ามีโอกาสอยู่ท่ามกลางอุปสรรคของยักษ์ใหญ่ที่ผูกขาดตลาดอยู่เสมอ และทำให้เห็นได้ว่าความสำเร็จก็อาจเกิดขึ้นได้ท่ามกลางความล้มเหลว


ขอเพียงเรายังหายใจเอาอากาศที่อาจจะบริสุทธิ์บ้างปนเปื้อน PM 2.5 บ้างเข้าไปได้ เราก็ยังมีโอกาสสร้างความสำเร็จท่ามกลางความล้มเหลวจากอุปสรรคได้เสมอ


ใครจะเชื่อว่าแอปฯ แชร์รูปแชร์วิดีโอจะสามารถทำให้ผู้คิดค้นพัฒนาเดินทางเข้าสู่ทำเนียบเศรษฐีพันล้าน (Billionaires) ดอลลาร์สหรัฐ ของ Forbes ได้อย่างง่ายดายภายในระยะเวลาไม่ถึง1 ทศวรรษ ทั้งนี้ในปัจจุบันคาดว่าจำนวนผู้ใช้งานไม่ซ้ำกันอย่างน้อย 1 ครั้งใน 30 วันที่ผ่านมา หรือที่เรียกว่า MAU (Monthly Active Users) ของ Snapchat จะอยู่ที่ 360 ล้านคน ในขณะที่จำนวนผู้ใช้งานเป็นประจำทุกวัน หรือที่เรียกว่า DAU (Daily Active Users) ของ Snapchat จะอยู่ที่ 210 ล้านคน ส่วน MAU และ DAU ของ ByteDance ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการ TikTok และแอปพลิเคชันอื่นๆ คาดว่าจะอยู่ที่ 1,500 ล้านคน และ 700 ล้านคน ตามลำดับ


หลายคนคงสงสัยว่าใครกันช่างคิดค้นและพัฒนาแอปฯ จนมีผู้ใช้งานเป็นหลักร้อยล้านหลักพันล้าน หลายคนคงอยากรู้ว่าอะไรที่เป็นสาเหตุแห่งความสำเร็จของคนคิดค้นแอปฯ ทั้งคู่ซึ่งมาจากคนละซีกโลกเลยทีเดียว ทั้งนี้ Snapchat ถูกพัฒนาขึ้นโดย อีวาน สปีเกล (Evan Spiegel) ชาวอเมริกันซึ่งเกิดในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1990 ที่ Los Angeles รัฐ California เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะดีภายใต้หลังคาบ้านที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีวานมีพ่อแม่จบการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในเครือไอวีลีกทั้งคู่


ในวัยเด็กอีวานเรียนในโรงเรียนชื่อดัง Crossroads School for Arts and Sciences ใน Santa Monica ซึ่งมีบรรดาศิษย์เก่าเป็นผู้มีชื่อเสียงมากมาย เช่น Jack Black, Kate Hudson, Gwyneth Paltrow และ Sean Rad เป็นต้น จนกระทั่งอายุ 16 ปี และได้รับใบขับขี่ อีวานก็มี Cadillac Escalade ป้ายแดงขับเป็นรถยนต์ส่วนตัว


ต่อมาเขาได้เข้าศึกษาต่อสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวกันกับที่พ่อของเขาเคยสำเร็จการศึกษามานั่นเอง แต่อีวานก็ไม่ได้ศึกษาต่อจนจบเนื่องจากเขาได้ตัดสินใจลาออกจากการศึกษามาก่อตั้งสตาร์ทอัพ (Startup) เพื่อพัฒนา Snapchat อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เขามีลูก ก็ได้ตัดสินใจเข้ารับการศึกษาใหม่จนจบ โดยต้องการสร้างแรงบันดาลใจกับลูกให้มีการศึกษาที่ดีเช่นเดียวกับเขานั่นเอง


การใช้ชีวิตอย่างหรูหราราวกับเจ้าชายของอีวานผู้พัฒนา Snapchat อาจแตกต่างจาก จางอี้หมิง (Zhang Yiming) ชาวจีนที่ดูเป็นชาวบ้านธรรมดาผู้พัฒนา TikTok ทั้งนี้จางอี้หมิงเกิดในครอบครัวข้าราชการในเดือนเมษายน ค.ศ. 1983 ในมณฑลฝูเจี้ยน ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน และสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์จากมหาวิทยาลัยหนานไค (Nankai University) ในเทียนสินหรือเทียนจิน หลังจากนั้นก็ได้สมัครงานเป็นพนักงานของเว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง ต่อมาจึงได้ไปสมัครและเข้าทำงานที่ Microsoft จนตัดสินใจลาออกมาก่อตั้งสตาร์ทอัพเพื่อเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง


ถึงแม้ทั้งคู่จะมีเชื้อชาติ ฐานะ และการศึกษาแตกต่างกัน แต่ความเหมือนกันบางประการที่เป็นจุดร่วมของทั้งคู่อาจเป็นประตูที่นำไปสู่ความมั่งคั่งที่ทำให้อีวาน สปีเกล กลายเป็นเศรษฐีหนุ่มในวัย 30 ที่มีความมั่งคั่งสุทธิ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่จางอี้หมิงก็เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 9 ของจีน ที่มีความมั่งคั่งสุทธิ 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในวัยเพียงแค่ 30 กว่า และทำให้บริษัทที่เขาก่อตั้งมีมูลค่ากว่า 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


ทั้งคู่ต่างมองเห็นถึงโอกาสที่จะเข้าถึงผู้ใช้งานที่ถูกมองข้ามโดยโซเชียลมีเดีย ยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดในขณะนั้นๆ อีวานมองเห็นถึงโอกาสที่จะสร้างแพลตฟอร์มใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ยังอยู่ในวัยรุ่น จึงได้พัฒนาแอปฯ ที่ข้อความที่ส่งนั้นจะหายไปทันทีที่เปิดอ่านหรือภายในเวลาไม่กี่วินาทีที่กำหนด และจะไม่มีการเก็บข้อมูลใดๆ ไว้ในเซิร์ฟเวอร์ นั่นจึงเป็นที่มาของแอปฯ แชตที่ล้างข้อมูลอัตโนมัติอย่าง Snapchat

ในขณะที่จางอี้หมิงก็เห็นโอกาสในการพัฒนาแพลตฟอร์มจากช่องว่างของ Search Engine อย่างไป่ตู้ (Baidu) ที่แทรกโฆษณาในผลลัพธ์ของการค้นหาโดยไม่บอกผู้ใช้ ทำให้เขาหาทางประยุกต์ใช้ AI เข้ามาช่วยค้นหาผลลัพธ์ที่ทำให้ผู้ใช้มีความพึงพอใจมากขึ้น และเป็นที่มาของแอปฯ Toutiao เพื่อแนะนำข่าวที่เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นชาวจีน ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแรกของ ByteDance ซึ่งเป็นบริษัทที่จางอี้หมิงก่อตั้งขึ้น และจางอี้หมิงยังคงมองเห็นช่องว่างที่วัยรุ่นต้องการแพลตฟอร์มเพื่อแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของตนเอง และไม่ใช่แพลตฟอร์มที่พ่อแม่ใช้ นั่นจึงเป็นที่มาของ TikTok ที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลกในปัจจุบัน
ทั้งคู่ไม่เคยปล่อยให้ยักษ์ใหญ่ที่ผูกขาดธุรกิจอยู่เดิมครอบงำความคิดสร้างสรรค์ และกล้าที่จะคิดต่าง รวมทั้งพร้อมที่จะต่อสู้กับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น แม้ว่าแรกเริ่มเดิมทีความคิดที่จะพัฒนาแอปฯแชตที่ลบข้อความอัตโนมัตินี้จะเป็นที่หัวเราะเยาะของเพื่อนร่วมชั้นเรียนในครั้งแรกที่อีวานนำเสนอโครงการดังกล่าวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน แต่อีวานก็เชื่อมั่นในความคิดของตนเองและไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลว ถึงแม้ว่าการก่อตั้งบริษัทในช่วงแรกจะถูกนักลงทุนปฏิเสธและไม่ให้ความสนใจ แต่ในปัจจุบันความเชื่อมั่นและความมุ่งมั่นในแนวคิดที่แตกต่างดังกล่าว ทำให้อีวานกลายเป็นคนที่ปฏิเสธการติดต่อขอซื้อกิจการในมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก Mark Zuckerberg ซึ่งเป็น CEO ของ Facebook และต่อมายังได้ปฏิเสธการติดต่อขอซื้อกิจการในมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก Google อีกด้วย นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้ Facebook ตัดสินใจพัฒนาฟังก์ชัน Story ขึ้นมาให้บริการเองทั้งใน Facebook และ Instagram

จางอี้หมิงเองก็ประสบความล้มเหลวในการก่อตั้งสตาร์ทอัพบริษัทแรก แต่ความมุ่งมั่นในการสร้างความพึงพอใจในการใช้งานให้กับผู้ใช้ของจางอี้หมิง และความต้องการเอาชนะบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Tencent และ Google ก็ทำให้จางอี้หมิงตัดสินใจก่อตั้งสตาร์ทอัพอีกครั้ง ซึ่งก็ยังต้องผ่านความล้มเหลวที่ขาดผู้สนใจร่วมระดมทุนในช่วงแรกของการก่อตั้งบริษัทอย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นของจางอี้หมิงก็ทำให้เขามาถึงจุดที่ TikTok สามารถเข้าควบรวมกิจการกับ Musical.ly ซึ่งเป็นแอปลิปซิงค์ชื่อดังในอเมริกา และยังได้ปฏิเสธการติดต่อขอซื้อกิจการจาก Tencent พร้อมทั้งกล่าวว่าหากเขาต้องการเป็นเพียงแค่พนักงานของ Tencent ก็คงไม่ต้องมาก่อตั้งบริษัทของตนเอง นอกจากนั้นแล้ว ส่วนแบ่งในอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลในประเทศจีนของ ByteDance ก็มาถึงจุดที่เป็นที่สองรองจาก Tencent แต่ได้แซงหน้า Baidu เรียบร้อยแล้วการสร้างความสำเร็จอาจเป็นสิ่งที่ยาก แต่การรักษาและต่อยอดความสำเร็จก็อาจยากมากกว่า อุปสรรคยังตามมาพิสูจน์ความสามารถของอีวาน สปีเกล และจางอี้หมิงเสมอ ทั้งนี้อีวานได้นำหุ้นของบริษัทไปขายให้กับสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2017 ด้วยราคา 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ซึ่งต่อมาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 27 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น และลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากวิกฤติที่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงรูปแบบการใช้บริการของ Snapchat จนต่ำกว่า 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นในปี ค.ศ. 2018

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงแอปฯ ในครั้งต่อมาก็ทำให้ราคาหุ้นล่าสุดก่อนเกิดวิกฤติไวรัสโคโรนาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นกลับมาสูงกว่าราคาเสนอขายต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกอีกครั้ง เช่นเดียวกันกับความสำเร็จของ TikTok ที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เข้าทำการตรวจสอบการควบรวมกิจการกับ Musical.ly อันเนื่องมาจากความกังวลใจในระบบการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของ TikTok ที่อาจส่งมอบต่อไปยังรัฐบาลจีน และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาตินอกจากนั้นแล้ว ความสำเร็จของ TikTok ก็ยังนำไปสู่การบล็อกทุกลิงก์ที่มาจาก TikTok บน WeChat และ QQ ของ Tencent ในปัจจุบัน แต่จางอี้หมิงก็ยังคงแสวงหาแนวทางสร้างความเติบโตให้กับ ByteDance บริษัทที่ตนเองก่อตั้งขึ้นมาต่อไปความเชื่อหรือปรัชญาในการดำเนินชีวิตของอีวาน สปีเกล และจางอี้หมิงอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นำพาความสำเร็จของทั้งคู่มาจนถึงปัจจุบัน อีวานเชื่อว่าความสำเร็จเกิดขึ้นจากการตั้งคำถามใหม่ๆ และอุดช่องว่างที่มีอยู่ ในขณะที่จางอี้หมิงก็เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ต้องมีความอยากรู้อยากเห็น กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ อีวานเชื่อว่าคนเราต้องไม่ยอมแพ้ ในขณะที่จางอี้หมิงก็บอกว่าคนรุ่นใหม่ต้องมีความมุ่งมั่นในการลงมือปฏิบัติ อีวานเชื่อว่าความสำเร็จเกิดขึ้นจากความหลากหลายและการร่วมงานกับคนเก่งๆ รวมทั้งการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยม ในขณะที่จางอี้หมิงบอกว่าคนรุ่นใหม่ต้องตั้งมาตรฐานของตนเองให้สูงขึ้นกว่าคนทั่วไป อีวานยังเชื่อว่าความสำเร็จต้องเกิดขึ้นจากความศรัทธาในตนเอง แต่ในขณะเดียวกัน จางอี้หมิงก็บอกว่าต้องไม่หลงตนเอง จางอี้หมิงให้ความสำคัญกับการรู้จักคิดบวก ในขณะที่อีวานเองก็บอกว่าถ้าอยากเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ก็ต้องไม่กังวลใจกับการลอกเลียนแบบของคู่แข่ง เขายังได้กล่าวว่าถึงแม้ Yahoo จะมีเครื่องมือในการค้นหา แต่ Yahoo ก็ไม่ใช่ Google และอีวานเองก็ยังไม่ได้มองว่า TikTok เป็นคู่แข่งแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพื่อนเป็นพันธมิตรที่จะทำให้ผู้ใช้งานโทรศัพท์สมาร์ทโฟนมีการใช้งานเป็นเวลานานขึ้นอีกด้วย

เห็นอย่างนี้แล้ว ผมเชื่อว่าคงไม่สายเกินไปสำหรับทุกคนที่จะหันกลับมาศรัทธาในศักยภาพของตนเอง ค้นหาช่องว่างที่จะทำให้ลูกค้ารวมทั้งคนอื่นๆ มีความพึงพอใจ มีความสะดวกสบายที่ดีขึ้น และมุ่งมั่นทำความฝันให้กลายเป็นความจริง เพียงเท่านี้อากาศที่ยังทำให้เราหายใจต่อไปได้ก็ยังเปิดโอกาสให้เราก้าวเข้าสู่ทำเนียบของคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตเสมอครับ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ