fbpx

VOIDSCAPE : สะท้อนปัญหาแรงงานและสิ่งแวดล้อมผ่านงานศิลป์ในรูปแบบ Interactive VR

ในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของผู้คน ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงงานศิลปะ ขณะที่ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และนี่เองคือที่มาของนิทรรศการสุดล้ำภายใต้ชื่อ “VOIDSCAPE สะท้อนปัญหาแรงงานและ สิ่งแวดล้อมผ่านงานศิลป์ “ ซึ่งจัดแสดงในรูปแบบ Interactive VR โดยการจัดนิทรรศการครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในเครือเซ็นทรัล  รีเทล  กับศิลปินร่วมสมัย แพรว-กวิตา วัฒนะชยังกูร ที่ตั้งใจจัดขึ้นเพื่อโชว์ผลงานศิลปะสุดพิเศษให้คนไทยได้สัมผัส พร้อมออกเดินทางสู่โลกแห่งความอ้างว้าง ภัยพิบัติ และมลภาวะ ในบรรยากาศจำลองอนาคตอันใกล้ พร้อมเชิญชวนกันร่วมขบคิดและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งมลพิษทางน้ำและอากาศ ตลอดจนชวนตั้งคำถามถึงบทบาทของแรงงานมนุษย์ เพื่อมุ่งหวังให้คนในสังคมร่วมค้นหาแนวการแก้ไขอย่างจริงจัง

และที่สำคัญ VOIDSCAPE นี้ยังเป็นหนึ่งในไลน์อัพของเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติBangkok Art Biennale หรือ BAB 2022 ที่จัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปินร่วมสมัยมากมายตามแลนด์มาร์กสำคัญทั่วกรุงเทพฯ  โดยที่ปีนี้มาในธีม ‘CHAOS : CALM โกลาหล : สงบสุข’ โดยมี VOIDSCAPE จัดแสดงใน Box Space ที่ออกแบบขึ้นพิเศษ ณ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ (ฝั่งถนนพระราม 1) โดยทางผู้จัดมุ่งหวังว่า นิทรรศการนี้จะช่วยสร้างการรับรู้ถึงปัญหาในวงกว้าง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างยั่งยืน

โดยผลงานของกวิตา วัฒนะชยังกูร ครั้งนี้เป็นกาารสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับ ไซรัส เจมส์ คาน 3D Artist ผู้สร้างจักรวาล VOIDSCAPE ภายใต้ความร่วมมือของ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พร้อมด้วยทีมงานคุณภาพผู้อยู่เบื้องหลัง อาทิ สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ คิวเรเตอร์ประจำโปรเจ็กต์ และพัทน์ ภัทรนุธาพร นักเทคโนโลยี AI จาก MIT Media Lab ผู้มาเป็นที่ปรึกษาให้กับงานสำคัญชิ้นนี้ ร่วมผนึกไอเดีย วิสัยทัศน์และความเชี่ยวชาญ นำเสนองานรูปแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยีความจริงเสมือน (VR) เพื่อมอบประสบการณ์แบบอินเตอร์แอกทีฟให้ผู้ชมได้เข้าไปในโลกที่ไม่รู้จัก ด้วยการจำลองโลกอนาคตอันใกล้ที่ไม่น่าอภิรมย์ เพื่อให้ทุกตั้งคำถามเกี่ยวกับอนาคตของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับผลกระทบจากโลกทุนนิยมและการผลิตสินค้าที่เหมือนกันในปริมาณมาก

แพรว-กวิตา วัฒนะชยังกูร เป็นศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่ผู้สร้างสรรค์วิดีโออาร์ตและศิลปะการแสดงสดอันทรงพลังซึ่งเป็นที่รู้จักในเวทีระดับโลก โดยมักใช้ร่างกายของตนเป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องจักรและสิ่งของ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการการใช้แรงงาน สะท้อนขีดจำกัดของมนุษย์และผลกระทบของการบริโภคอันรวดเร็วที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ทุกคนหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและร่วมสร้างโลกที่ยั่งยืนกว่าเคย ผลงานของกวิตาจึงมักเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ไม่เพียงแต่ในแวดวงศิลปะเท่านั้น และ“VOIDSCAPE ยังเป็นผลงานศิลปะในรูปแบบ VR ครั้งแรกของเธออีกด้วย

 
สำหรับในตัว VR จะประกอบด้วยห้อง 4 ห้อง แต่ละห้องจะเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกัน  เมื่อเข้าไปอยู่ในโลก VOIDSCAPE ผู้มาเยือนจะได้รับการต้อนรับโดย “Kawitash” ซึ่งเป็น AI Assistant ที่จะพาทุกคนออกเดินทางสู่ห้อง 4 ห้อง ได้แก่

  1. The Red Hall of Injustice: ห้องที่หนึ่งพบกับ “หอแห่งความอยุติธรรม” เผยให้เห็นแรงงานที่กำลังแบกเมล็ดฝ้ายอย่างทุลักทุเล และแรงงานอีกกลุ่มที่ถูกมัดติดกับตาชั่งที่สุดท้ายต้องตกลงมากระแทกยังพื้นด้านล่าง บอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม Fast Fashion ในหลาย ๆ ประเทศ ที่แรงงานต้องทำงานอย่างหนักเพื่อผลิตเสื้อผ้าให้เพียงพอกับออเดอร์อันมหาศาล
  • Intoxicated River: ห้องที่สอง คือห้องที่เต็มไปด้วยน้ำสีน้ำเงินเข้มที่เจือปนสารพิษ สะท้อนถึงการย้อมผ้าด้วยสารเคมีของโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ชมจะได้เฝ้ามองมนุษย์ที่ถูกทำให้กลายเป็นเครื่องจักรในวงล้อการย้อมผ้า ในอีกมุมหนึ่งเป็นการนำเสนอภาพของแรงงานแห่งโลกอนาคต ที่เป็นกึ่งคนกึ่งเครื่องจักร (Cyborg) กำลังหมุนวงล้อเพื่อพยายามลดสารพิษในน้ำ อันเป็นผลของการกระทำในอดีตที่ผ่านมา
  • The Polluted Pink Prison called World: คุกสีชมพูพาสเทลที่เต็มไปด้วยหมอกควันสุดลูกหูลูกตา ปรากฏขึ้นเป็นหอแห่งฝุ่นควันไร้ทางออก เมื่อผู้ชมก้มลงหรือเงยหน้าขึ้น ก็จะเห็นแต่ฝุ่นควันทอดยาวหมุนวนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อีกฝากหนึ่งจะเห็น กวิตา กำลังพยายามใช้ปอดของตน สูดควันพิษสีดำเข้าไปในร่างกาย หวังดูดซับฝุ่นควันในคุกนี้ให้หมดไป นอกจากนี้ ยังมี Cyborg ที่พยายามกำจัดฝุ่นซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะหมดไปเช่นเดียวกัน
  • The Knitting Room: ปิดท้ายการทัวร์โลก VOIDSCAPE ด้วยห้องแห่งความหวัง ตลอดการเดินทาง ผู้ชมได้เห็นปัญหาแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภค ในห้องสีขาวแห่งนี้ ผู้ชมพบกับความเงียบสงบ ฝั่งหนึ่งปรากฎภาพแรงงานที่กำลังถักทอผ้าลักษณะคล้ายใยแมงมุม ในฝั่งตรงข้ามผู้ชมจะเห็นมือขนาดยักษ์ ที่ค่อย ๆ คลายปมปัญหาต่าง ๆ ไปทีละนิด เพื่อส่งสารไปยังผู้รับชมว่า หากมีคนมาร่วมกันลงมือแก้ปมปัญหามากขึ้น ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สะสมอยู่ก็สามารถได้รับการแก้ไขเมื่อทุกฝ่ายหันมาร่วมมือ

นอกจากนี้ ภายในบริเวณ ยังมีความร่วมมือจาก “เซ็นทรัล ทำ” ซึ่งเป็นโครงการด้านความยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัล โดยจัดแสดง ภายใต้ โครงการ “Journey to zero” เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งหวังการลดขยะสู่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ ภายใต้การดำเนินงาน ได้แก่ 1) Zero Waste to Landfill (ลดปริมาณขยะมูลฝอย) รณรงค์ลดและคัดแยกขยะจากต้นทาง เพื่อไม่ก่อให้เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การลดใช้พลาสติก (Plastic Reduction) การจัดการคัดแยกขยะ (Waste Segregation) ลดการสร้างขยะอาหาร (Food Waste) และ 2) Zero Carbon (ปราศจากการสร้างคาร์บอน) การลดปัญหามลพิษด้วยพลังงานสะอาด (Clean Energy) ซึ่งทุกคนสามารถติดตามกิจกรรมเพิ่มเติมได้จาก การ Scan QR code เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมในบริเวณจัดงาน

และเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 75 ปี ทาง “ห้างเซ็นทรัล” ยังได้จับมือกับ “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ชวนเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทย ผ่านนิทรรศการ VOIDSCAPE พร้อมสนับสนุนกิจกรรม “Central x Kawita ร่วมรักษ์ป่าใหญ่และสิ่งแวดล้อม” ด้วยการซื้อของที่ระลึกจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรหน้านิทรรศการหรือสแกนบริจาคผ่านQR code ในกรณีรับชมทางออนไลน์ โดยรายได้และเงินบริจาคทั้งหมดมอบให้กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรในการฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนต่อไป สำหรับผู้สนับสนุนของที่ระลึก มีสิทธิ์ลุ้นรับ Wearable Sculpture สุดลิมิเต็ดที่ออกแบบขึ้นมาอย่างประณีตงดงามในธีม VOIDSCAPE (จำนวนจำกัด)

VOIDSCAPE เปิดให้เข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. 2565 ถึง 23 ก.พ. 2566 ณ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ฝั่งถนนพระราม 1 ผู้ที่สนใจเข้าชมสามารถทำการจองรอบการเข้าชมได้ผ่านเว็บไซต์ www.entervoidscape.com พร้อมติดตามกิจกรรมดี ๆ และอัปเดตข่าวสารล่าสุดของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ผ่านช่องทาง https://www.facebook.com/CentralDepartmentStore

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ