fbpx

Surrogatesเมื่อการใช้หุ่นเป็นร่างทรงอาจไม่ใช่แค่คิด หลังวิกฤตโควิด-19

จากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่พลิกวิถีชีวิตคนทั้งโลก Work From Home อาจกลายมาเป็น New Normal ของชีวิตหลังโควิด พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้เอง ทำให้อดนึกถึง Surrogates ภาพยนตร์ที่ฉายเมื่อปี 2009 ขึ้นมาทันที 

​Surrogates เป็นภาพยนตร์แอคชั่นไซไฟ สร้างจากผลงานของนักเขียนการ์ตูนชื่อดัง โรเบิร์ต เวนดิตติ  ว่าด้วยเรื่องของโลกพัฒนาเทคโนโลยีสุดล้ำสามารถให้มนุษย์ใช้ชีวิตผ่านการเชื่อมโยงกับหุ่นยนต์สุดไฮเทคที่มีหน้าตาเหมือนมนุษย์ทุกกระเบียดนิ้ว วิทยาการใหม่นี้ปฏิวัติวิถีชีวิตมนุษย์โดยสิ้นเชิง มนุษย์ปฏิสัมพันธ์ติดต่อกับโลกทั้งใบผ่านหุ่นยนต์ที่เป็นเสมือนตัวแทน 

การเปิดรับหุ่นยนต์เข้ามาเป็นปัจจัยที่ 5 โดยผู้คนไม่ต้องออกจากบ้านด้วยตัวเอง (แอบรู้สึกบรรยากาศคุ้นๆ ) เพียงแค่นอนบนเก้าอี้ควบคุมหุ่นยนต์และรับความรู้สึกผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อ โดยใช้หุ่นออกไปทำกิจวัตรแทนทุกอย่าง จะช้อปปิ้ง เที่ยว แม้แต่เสพยาไปจนถึงเรื่องบนเตียง ก่อเกิดสังคมอุดมคติที่ทุกคนปลอดภัยจากโรคติดต่อ รวมถึงอาชญากรรมลดลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

จนเรื่องราวมาสะดุดเมื่อ ทอม ตำรวจผู้รับหน้าที่ไขคดีเหตุฆาตกรรมปริศนาที่หุ่นถูกทำลายพร้อมกับผู้ควบคุมตายไปพร้อมกัน คดีพาไปเกี่ยวพันกับผู้ริเริ่มสร้างหุ่นและเหตุการณ์คาดไม่ถึง 

แม้ตัวหนังดำเนินเรื่องไม่ต่างไปจากหนังแอคชั่นทั่วไปที่ดูสนุกเรื่องหนึ่ง เสพง่าย ไม่ซับซ้อน ยิ่งได้ บรูซ วิลลิส เจ้าพ่อหนังบู๊ มาแสดงนำ ยิ่งการันตีถึงความมันส์ระดับไฮเลเวล 

แต่ด้วยพล็อตเรื่องช่างสอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน จนพอทำให้ตั้งคำถามได้ว่า นี่อาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับโลกอนาคตหรือเปล่าที่มนุษย์จะหวาดกลัวโรคร้ายมากขึ้น แสวงหาทางออกหรือบางสิ่งมาเติมเต็มเพื่อให้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

​Surrogates จึงหมือนเป็นแฟนตาซีที่จำลองทางเลือกนี้มาให้แล้ว โดยเรื่องราวในภาพยนตร์สะท้อนประเด็นทางสังคมมากมาย เพราะในโลกที่เหมือนสมบูรณ์แบบ แต่ยังคงเต็มไปด้วยปัญหาคลาสสิคของสังคมมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเมือง-การแบ่งชนชั้นของกลุ่มน้อยที่ใช้ความรุนแรงเพื่อประท้วงเลิกการใช้หุ่น เพราะขัดกับแนวคิดเชิงศีลธรรม ในมุมกลับกันคนส่วนมากมองคนที่ใช้ร่างเนื้อออกจากบ้านแทนการใช้หุ่น เป็นพวกสังคมแปลกแยกล้าหลัง

ความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่ตัวหนังเล่าผ่านฉากช้อปปิ้งซื้อหุ่น ถ้ากระเป๋าหนักหรือเป็นชั้นชนอภิสิทธิ์ก็ได้ครองหุ่นสวยประสิทธิภาพเหนือมนุษย์ หรือการโฆษณาชวนเชื่อของบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ที่เฝ้าพร่ำบอกจุดขายต่างๆ นานา อาศัยหุ่นทำกิจกรรมต่างๆ แทนในจุดที่ขีดจำกัดมนุษย์ไปไม่ถึง, การยึดติดในรูปลักษณ์ ที่เล่าผ่านตัวละคร ‘แมกกี้’ ภรรยาของทอมที่ยึดอาชีพช่างเสริมสวยศัลยกรรมให้หุ่นเป๊ะไม่ต่างจากคน

ไปจนถึงประเด็นเชิงปัจเจก จากปัญหาชีวิตคู่ระหว่างทอมและแมกกี้ ที่แมกกี้เลือกปิดกั้นชีวิตจากโลกภาพนอกนับตั้งแต่เสียลูกชายไป โดยไม่ยอมออกจากห้องนอนและใช้ชีวิตผ่านหุ่นยนต์ตลอดเวลา แม้แต่จะคุยกับสามี จนเกิดเป็นรอยร้าวฝังลึกในชีวิตแต่งงาน

โดยรวมตัวหนังจินตนาการจุดดี-จุดด้อย-ช่องโหว่ง ของสังคมมนุษย์ที่พยายามจะตะกายไปให้ถึงคำว่าสมบูรณ์แบบ ที่มีการพึ่งพาเทคโนโลยีตัวตายตัวแทน (หุ่นยนต์) มากเกินไป ผ่านฉากแอคชั่นที่เล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมา

ที่ท้ายสุดแล้ว ทำให้กลับมาย้อนคิดว่า ‘ชีวิตผ่านร่างทรง’ จะเรียกว่า ‘การใช้ชีวิต’ หรือเปล่า?

#Gmlive #Entertainment #โควิด19 #Surrogates #ภาพยนตร์ #ดราม่าไซไฟ #workfromhome #NewNormal

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ