ระเบียบโลกใหม่ สไตล์ “Donald Trump”
มันดูจะเป็นเรื่องปกติในสนามการเมืองโลก ที่การเคลื่อนไหวของประเทศอย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ จะถูกนำมาวิเคราะห์ ถกเถียง และกำหนดทิศทางของนโยบายประเทศอื่นๆ ในสเกลสากล เราคงต้องยอมรับความจริงกันว่า สหรัฐอเมริกา จะมากหรือน้อยนั้น ก็มีบทบาทในภาคส่วนต่างๆ และเป็นหนึ่งใน ‘ผู้เล่นรายใหญ่’ ของโลกการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการเมืองในสหรัฐฯ เปลี่ยนขั้ว และนโยบายต่างๆ ของผู้ที่เป็น ‘ประธานาธิบดี’ ถูกกางวางเอาไว้อยู่ตรงหน้า
และในตอนนี้ การเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ยิ่งทวีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เมื่อ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ได้กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวเป็นวาระที่สอง….
ในปี 2016 การเมืองสหรัฐฯ ได้สั่นสะเทือนครั้งใหญ่ไปแล้ว เมื่อม้ามืดอย่างทรัมป์ สามารถกุมคะแนนเสียงของประชาชน และเดินเข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดี พร้อมนโยบายที่ดูจะสวนทางกับสามัญสำนึกและความเข้าใจของใครต่อใครหลายคน และจบลงด้วยความโกลาหลจลาจลของฝั่งผู้สนับสนุน ที่บุกเข้าทำเนียบขาว จนกลายเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่สั่นคลอนรากฐานของการเมืองหลักของสหรัฐฯ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
แน่นอนว่า หลายต่อหลายคน ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง นักวิเคราะห์ ต่างลงความเห็นอย่างพ้องต้องกัน ว่าศักราชแห่งทรัมป์ จะมีเพียงแค่สมัยเดียว ผ่านแล้วก็ผ่านไป และเชื่อว่าทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ ‘รูปรอย’ อีกครั้งหลังการขึ้นตำแหน่งประธานาธิบดีของ โจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครต
แต่เหลือเกินกว่าจะเชื่อ ที่ทรัมป์ สามารถกลับมาอีกเป็นสมัยที่สอง ทิ้งห่างจากครั้งแรกถึงแปดปีเต็ม เฉือนเอาชนะผู้สมัครจากพรรคตรงข้ามอย่าง กมลา แฮร์ริส ไปแบบไม่เห็นฝุ่น
และทันทีที่ผลการนับคะแนนเสร็จสิ้น มาจนถึงวันนี้ ที่ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย นโยบายอันแข็งกร้าวของทรัมป์ก็ยิ่งดูจะเด่นชัดมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปในทั้งทางบวก และทางลบ
การจรดปากกาเซ็นพาประเทศออกจากองค์การอนามัยโลก, การเดินออกจากสนธิสัญญาปารีสว่าด้วยเรื่องโลกร้อน, การนำส่งผู้อพยพผิดกฏหมายออกนอกประเทศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์, การยกเลิกหน่วยงานด้านความเท่าเทียมทางเพศในทุกมิติองศาที่สามารถทำได้ ไปจนถึงเรื่องที่บ้าเกินคำบรรยายอย่างการเปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโก เป็นอ่าวสหรัฐอเมริกา และหมายตาแคนาดา จะให้กลับเข้ามาเป็น ‘รัฐ’ หนึ่งของประเทศ เหล่านี้ เป็นความบ้าบิ่น และความคาดเดาไม่ได้ที่ออกมาจากทรัมป์ ในรอบหลายต่อหลายวันที่ผ่านไป
อนึ่ง การกลับเข้ามาของทรัมป์ ใช่ว่าจะปราศจากซึ่งเหตุและผล ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่ตกค้างจากยุคสมัยของไบเดน สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนชาวสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก และเสียงของการโหยหากลับไปสู่ ‘รากเหง้าที่เราใฝ่ฝัน’ แบบ ‘อเมริกันดรีม’ คือธงชัยที่ทรัมป์นำเสนอขายได้อย่างเชี่ยวชาญและแม่นยำ ไม่มีตกหล่นเลยแม้แต่น้อย
แต่อเมริกันจะกลับไปสู่วันวานอันหอมหวาน ที่ประเทศเป็นใหญ่ในเวทีโลก เป็นที่เกรงขามคร้ามครั่นของมหามิตรอันหลากหลายหรือไม่ สิ่งนี้ ยังเป็นความท้าทายที่รอคอยการพิสูจน์ในอีกสี่ปีนับจากนี้
เพราะภูมิทัศน์การเมืองโลกได้เปลี่ยนไปอย่างมากในรอบแปดปีที่ผ่านมา การรุกคืบของจีนแผ่นดินใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน สงครามรัสเซียยูเครน จนถึงความขัดแย้งทางแนวคิดระหว่าง ‘ซ้ายจัดขวาจัด’ ที่เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก กลายเป็นบททดสอบอันสำคัญอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลของทรัมป์จะต้องพิสูจน์ให้ได้ ว่าจะสามารถทำได้ตามที่กล่าวอ้างถึงวันวานที่ดีเลิศอย่างที่โฆษณาเอาไว้หรือไม่
แต่ทรัมป์ก็ยังคงชัดเจนอย่างมาก ในการ ‘ตัดขาด’ และ ‘แยกเดี่ยว’ คิดถึง ‘ประโยชน์’ ของสหรัฐฯ เป็นตัวนำอันดับหนึ่ง ถ้าให้ลองวิเคราะห์อย่างคร่าวๆ แล้วนั้น เชื่อว่าในสี่ปีถัดจากนี้ ความเกี่ยวพันของสหรัฐฯ ที่มีต่อนานาประเทศในโลก จะยิ่งเป็นไปในทางที่ผ่านการพินิจพิเคราะห์มากยิ่งขึ้น สิ่งใดที่สหรัฐฯ ได้ประโยชน์สูงสุด จะถูกนำมาพิจารณาเป็นอันดับแรก และสิ่งใดที่สร้างความ ‘ไม่เป็นน้ำหนึ่งในเดียวกัน’ ของคนในชาติ จะถูกจัดการอย่างเบ็ดเสร็จและเด็ดขาด
นี่คือ ‘โลกทัศน์แห่งสหรัฐฯ’ ใหม่ ภายใต้การนำของทรัมป์วาระสอง ที่จะยิ่งทวีความท้าทาย ทั้งในประเทศ และในภูมิภาคต่างๆ ของโลก
‘นี่คือยุคทองของสหรัฐอเมริกา ที่ผลประโยชน์หลักของชาติจะต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง’ สปีชของทรัมป์หลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ กล่าวอย่างแข็งกร้าวและชัดเจนยิ่ง แต่ยุคทองในโลกทัศน์แบบทรัมป์ที่ ‘เดินหน้า แล้วขวาหัน’ นี้ ก็ค่อนข้างอันตรายอย่างยิ่งยวด
มันคือการเมืองที่อิงแอบข้างใดข้างหนึ่งอย่างไม่ประนีประนอม และเป็นการเมืองที่อันตรายทั้งการบริหารงานหลักในประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก
เราคงต้องรอดูกันต่อไป ว่าในอีกสี่ปีนับจากนี้ บทบาทของสหรัฐฯ ที่มีต่อเวทีโลก จะยังคงแข็งแกร่ง เป็นที่ครั่นคร้ามเกรงใจอยู่หรือไม่ หรือมันจะกลายเป็นลิ่มตอกสุดท้าย ที่ทลายความเป็นหนึ่งเดียวของสหรัฐฯ จนแตกเป็นเสี่ยงๆ
และไม่ว่ามันจะจบลงเช่นไร มันก็เป็นสิ่งที่ประเทศน้อยใหญ่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดไม่แตกต่างกัน