fbpx

Toxic Positivity: เมื่อโลกบังคับให้ต้อง ‘ฝืนยิ้ม’

ในสถานการณ์ต่างๆ ของชีวิต ย่อมหลีกหนีไม่พ้นความยากลำบาก ปัญหา หรืออุปสรรคที่ผ่านเข้ามา แน่นอนว่า ‘การมองโลกในแง่บวก’ ที่พร้อมเชื่อว่า ทุกสิ่งสามารถเป็นไปได้ สามารถคลี่คลายได้ และยิ้มรับกับมันโดยไม่หลีกหนี นับเป็นสิ่งที่ดี ทั้งกับตัวเอง และคนรอบข้าง สร้างบรรยากาศแห่งความเป็นหนึ่งเดียว การมุ่งไปข้างหน้า และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีตามมา

แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากการมองโลกในแง่บวกดังกล่าว มันกลายเป็น ‘ธรรมเนียมปฏิบัติ’ ที่จำต้องทำ? ถ้าการยิ้มรับกับปัญหา ไม่ได้มาจากทัศนคติภายใน แต่เป็นสิ่งที่ถูกบังคับโดยวัฒนธรรมองค์กรและคนหมู่มาก ถ้าหากการที่จะ ‘ไม่ยิ้ม’ แม้เพียงนิด มีราคาที่ต้องจ่าย ไม่ว่าจะในมุมมองของคนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน หรือสังคมโดยรวม? ความขุ่นมัวที่ตกค้างอยู่ในใจที่ไม่สามารถหาทางออก จึงกลายเป็นปัญหาที่ถูกซุกซ่อนเอาไว้ ไม่สามารถสลัดหลุดพ้นไปได้

ความเป็น ‘พิษ’ ของการมอง ‘จำต้องมองแง่บวก’ นั้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญของกลุ่มอาการ ‘Toxic Positivity’ ที่กำลังถูกให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้

ทำไมการมองในแง่บวก ถึงกลายเป็นพิษ และนำไปสู่อาการของ Toxic Positivity? ในจุดนี้ ในทางการแพทย์ ไม่ได้มีบันทึกเอาไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นผลพวงจากการซุกซ่อนปัญหาที่เกิดขึ้นไว้กับตนเอง วัฒนธรรมการมองบวกที่แพร่หลายอย่างมากที่ตอกย้ำว่าเป็นทางออกของทุกปัญหา ผลักภาระให้คนคนหนึ่งแบกรับทุกความรับผิดชอบไว้บนสองบ่า และการพูดถึงปัญหา กลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองว่า ทำให้บรรยากาศโดยรวมเสีย

และเมื่อบวกรวมกับภาพของความสุข ความสำเร็จ ที่มีอยู่มากมายในสังคมยุคปัจจุบัน ให้เกิดเป็นคำถามและความกังขาต่อตนเอง ซ้ำไปซ้ำมา ฉันดีพอหรือไม่ ฉันประสบความสำเร็จมากพอหรือยัง ฉันยังไม่ได้ทำอะไรเท่าคนอื่น ฉันพยายามไม่พออีกหรือ และมาถึงบทสรุปที่ว่า … ฉันมีความสุขแบบคนอื่นได้หรือไม่

อันที่จริง เมื่อเกิดปัญหา การมีผู้ช่วยเหลือเคียงข้าง อาจจะไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ในโลกที่ทุกอย่างหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว ทุกสิ่งต้องกระชับที่สุด ย่นย่อให้พร้อมใช้งานมากที่สุด บรรดาไลฟ์โค้ชและคำคมปลุกใจ กลายเป็นวจนะที่ถูกยึดถือ เฝ้ามอง และท่องไว้ในทุกเช้าที่ตื่นมาเจอกับอีกหนึ่งวันแห่งปัญหาที่จะประดังเข้ามา คำพูดว่าสู้สิ พยายามอีกนิด คิดบวกเข้าไว้ หรือการมองในแง่ดีเพราะอย่างน้อย ‘ปัญหาของเรายังเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคนอื่น’

ทั้งหมด กลายเป็นการปลุกปลอบเพียงชั่วคราว เพียงเพื่อจะพบกับความเศร้า และปัญหาที่ยังค้างคาในซอกลึกของหัวใจ ตกค้าง ไม่หายไปไหน

เมื่อเวลาผ่านไป การปลุกปลอบใจเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เริ่มได้ผลน้อยลง ทบรวมกับปัญหาที่ไม่ได้การสะสาง ความเป็น ‘พิษ’ จึงลุกลาม กัดกร่อนอารมณ์ ความรู้สึก จนกลายเป็นความเศร้าและความเหนื่อยหน่ายที่ตามมา

ในทางหนึ่ง คงไม่ปฏิเสธถึงพลังของการมองในแง่บวก และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากทัศนคติที่มองทุกปัญหาว่ามีหนทางและความเป็นไปได้ในการแก้ไข แต่ชีวิตไม่ได้กระชับและย่นย่อได้เพียงแค่วลีปลุกใจสามบรรทัด หรือคำพูดของไลฟ์โค้ชเพียงไม่กี่ชั่วโมง มันมีความหลากหลาย มันมีความแตกต่าง และทุกปัญหา ต่างมีเอกลักษณ์ และไม่มีสิ่งใด ‘ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน’

บางที … สิ่งที่จะช่วยให้พ้นผ่านอาการเป็นพิษของการมองในแง่บวก อาจจะไม่ใช่การปลุกระดมใจ หรืออัดเพลิงไฟให้บวกขึ้นไปอีกเท่าตัว แต่อยู่ที่ ‘ความเข้าใจ’ จากใครสักคนที่อยู่เคียงข้าง พร้อมจะรับฟังปัญหาโดยไม่ตัดสิน รวมถึงแนะนำวิธีการที่จะแก้ไขปัญหา ‘จริงๆ’ โดยไม่ปัดมันไว้ใต้พรม

อีกทั้งมันคงไม่เสียหายอะไรนัก ถ้าหากเราจะอนุญาตให้ชีวิต ได้ ‘อ่อนแอ’ ลงในสักวันบ้าง ร้องไห้ในวันที่โศกเศร้า ปล่อยปละตัวเองในวันที่อ่อนล้า ขอเพียงแค่ยังรู้ตัวว่า ท้ายที่สุด เรายังคงมีปัญหา ที่รอให้กลับไปสะสาง แต่ขอเพียงเดินกลับไปหามันด้วยจังหวะก้าวที่ถูกต้อง นั่นอาจจะทำให้สิ่งที่ตามมา เบาบางลง

และเหนือสิ่งอื่นใด … ขึ้นชื่อว่า ‘ปัญหา’ แล้วนั้น ช้าเร็ว มันต้องได้รับการแก้ไข ไม่ว่าองค์กรจะเชิดชูการมองในแง่บวกเพียงเพราะมันดูสวยหรูหรือทำให้เกิดบรรยากาศของความสำเร็จสักเพียงใด แต่ถ้ามันมีปัญหา ก็ต้องมีใครสักคน ที่ต้องบอกกล่าว ชี้แนะ เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน เพราะการมองในแง่บวก มันสมควรที่จะถูกใช้ เมื่อทุกฝ่ายต่างยอมรับว่า มันเกิด ‘ปัญหา’ ขึ้นมาจริงๆ

และท้ายที่สุดนี้ เรายังเชื่อว่าการมองในแง่บวก คือสิ่งที่ดี แต่การบำรุงใจของตนเอง ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าต้นทางมันขุ่นมัวแล้วนั้น จะกี่คำคม จะกี่ชั่วโมงของไลฟ์โค้ช จะกี่บัญญัติวัฒนธรรมองค์กร ก็คงไม่ได้ช่วยสลาย ‘ความเป็นพิษ’ ของการ ‘ฝืนยิ้ม’ แบบหน้าชื่นอกตรมไปได้

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ