เดินริมน้ำ เยือนย่ำวัดย่านฝั่งธนฯ’
วันนี้ เป็นโอกาสและจังหวะที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ที่ผมอยากให้ทุกท่านลองมาสัมผัสกับวัดเล็กๆในย่านฝั่งธนบุรีกันครับ เพราะย่านนี้ไม่ได้มีแค่วัดอรุณราชวรารามรามวรมหาวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร หรือวัดที่มีชื่อเสียงคุ้นหูเท่านั้น ซึ่งถ้าหากไม่เลือกไปเที่ยวชมวัดที่ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ดูโดดเด่นเป็นสง่าแล้วละก็ ลองเปลี่ยนมาเป็นการค้นหาวัดที่ซ่อนตัวตามคลองต่างๆ ในย่านฝั่งธนบุรีกันดูบ้างครับ รับรองว่าได้เจอขุมทรัพย์ดีๆ อีกมากเหมือนที่ผมได้พบเจอมา
วัดเกาะ ตลิ่งชัน

ที่นี่คือวัดแรกที่ผมอยากแนะนำให้มาทำความรู้จัก หาไม่ยากครับ โดยเริ่มต้นค้นหาคำว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงเทพมหานคร แล้วนำรถมาจอดบริเวณนี้ได้ ซึ่งมีที่จอดรถของเอกชนแบบเสียค่าจอด แต่สามารถจอดรถไว้ได้อย่างสบายใจ จากนั้นขอให้เดินหรือจะปั่นจักรยานก็ได้ไม่ว่ากัน ข้ามสะพานเล็กๆ เป็นสะพานข้ามคลองบางเชือกหนัง แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางเดินผ่านชุมชน ก็จะพบกับ ‘วัดเกาะ’ ที่เป็นจุดบรรจบกันของคลองบางระมาดและคลองบางเชือกหนัง ซึ่งจากภาพที่เห็นนั้นประหนึ่งว่าวัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะเลยทีเดียว
วัดเกาะ ดูเหมือนวัดเก่าในชนบท แต่มีภูมิทัศน์ที่สะอาด และที่น่าสนใจสำหรับผม คือ ‘วิหารหลวงพ่อดำ’ ซึ่งคงความเรียบง่าย สวยงาม โดยที่หน้าบันมีตัวอักษร ‘ชุ่ม’ ซึ่งเป็นนามผู้สร้าง ภายในวิหารประดิษฐาน ‘หลวงพ่อดำ’ ซึ่งชาวบ้านนิยมมาบนบานศาลกล่าว โดยเฉพาะเรื่องการเกณฑ์ทหาร เมื่อสำเร็จก็จะมีการแก้บนด้วยไข่ 100 ฟอง

ไฮไลต์ของผมสำหรับที่นี่ไม่ได้อยู่ที่เรื่องการมาบนบานศาลกล่าวครับอย่าเพิ่งเข้าใจผิด แต่เป็นอุโบสถที่สร้างเมื่อ พ.ศ.2473 หลังคาประดับด้วยช่อฟ้าและใบระกา โดยมีการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2522 ซึ่งรูปแบบการก่อสร้างแม้ว่าจะไม่ได้มีอะไรที่โดดเด่นเมื่อมองจากภายนอก แต่เมื่อเข้าไปภายในอุโบสถ …แล้วมองไปบนฝาผนัง
ภาพพุทธประวัติที่ปรากฏให้เห็นนั้นต่างหากที่เป็นไฮไลต์สำหรับผม เพราะดูมีเอกลักษณ์อย่างมาก สอบถามได้ความว่าเป็นผลงานของนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสที่มาเที่ยวชมที่วัดแห่งนี้ และเห็นความทรุดโทรมของฝาผนัง จึงเสนอตัวกับเจ้าอาวาสในการทำภาพพุทธประวัติให้กับทางวัด ซึ่งผลงานที่เห็นนี้เป็นเทคนิคการผสมผสานในรูปแบบ ‘กราฟฟิตีอาร์ต’ หรือ ‘การพ่นสีบนผนังเป็นหลัก’ โดยผลงานภาพสไตล์นี้ ผมเชื่อเหลือเกินว่า ไม่น่าจะมีวัดใดในประเทศไทยที่จิตรกรรมพุทธประวัติบนฝาผนังวัดเป็นฝีมือชาวต่างชาติ และสร้างขึ้นมาด้วยการพ่นสีสเปรย์
วัดปากน้ำฝั่งใต้

เมื่อออกจากวัดเกาะแล้วเดินย้อนกลับทางเดิม แต่อย่าเพิ่งข้ามสะพานนะครับ ขอให้ตรงไปอีกสักหน่อยจะพบกับ ‘วัดปากน้ำฝั่งใต้’ ซึ่งเมื่อเข้าไปภายในวัด จะได้กลิ่นหอมของขนมปังอบอวลมากครับ เพราะที่วัดนี้มีห้องทำขนมปังขนาดใหญ่ ซึ่งทางวัดสร้างขึ้นสำหรับทำขนมปังโดยเฉพาะและทำสดใหม่ทุกวัน เพื่อจำหน่ายสำหรับรับประทาน หรือจะให้เป็นอาหารปลากับวังปลาหน้าวัดเพื่อเป็นการทำทานกับปลาดุก ปลาสวายจำนวนมาก
ซึ่งนอกจากจะได้บุญได้กุศลแล้วยังได้ซึมซับกับบรรยากาศสองฝั่งคลองที่ดูเผินๆ ก็มีบรรยากาศคล้ายกับอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพียงแต่เล็กกว่า ทว่า ยังคงความดั้งเดิมมากกว่าด้วยวิถีชีวิตแท้ๆ ของคนท้องถิ่น ซึ่งมีมากกว่านักท่องเที่ยว และถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นหลักเขตริมน้ำที่เป็นการแบ่งสองฝั่งคลองระหว่างเขตตลิ่งชันและเขตภาษีเจริญ
วัดจำปา

จริงๆ ถ้าจะให้เล่าความประทับใจ และรายละเอียดของวัดในย่านฝั่งธนบุรี ยังมีอีกมากมายจริงๆ ครับ …แต่สำหรับในครั้งนี้ขอปิดท้ายด้วยวัดที่มีจระเข้บนหลังคา …ใช่ครับผมเขียนไม่ผิด และคุณก็อ่านไม่ผิดอย่างแน่นอน
ที่เห็นนี้คือ ‘จระเข้ปูนปั้นบนหลังคาระเบียงคด’ จากการสืบค้นและสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในย่านนี้ ต่างเล่าว่าบริเวณนี้ น้ำค่อนข้างนิ่งจระเข้ชอบนัก คนโบราณจึงปั้นจระเข้ไว้บนหลังคาเพื่อประกาศว่าที่นี่มีเจ้าถิ่นแล้ว จระเข้จากถิ่นอื่นจักไม่ขึ้นมา …ผมว่าเป็นกุศโลบายที่น่ารักทีเดียว

วัดจำปา ก่อตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. 2365 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2370 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แต่วัดน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมีอุโบสถหลังเก่าเป็นทรงวิลันดาที่นิยมสร้างกันสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

อุโบสถ วิหาร และระเบียงคด ตกแต่งด้วยถ้วยชามและตุ๊กตากระเบื้องเคลือบตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้าบันอุโบสถมีกระเบื้องอย่างฝรั่งเป็นชามล้างหน้าลายดอกไม้ขนาดใหญ่และประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นระบายสีถ้วยชามกระเบื้องเคลือบ ภายในอุโบสถมีฐานชุกชี มีราชวัติโลหะหล่อตั้งล้อมฐานพระประธาน ทำจากโลหะหล่อจากประเทศอังกฤษลายพรรณพฤกษาอย่างฝรั่ง ประดับตราแผ่นดินสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทำให้สันนิษฐานได้อีกว่าคงได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยดังกล่าว ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานนามว่า ‘หลวงพ่อโชคดี’ พร้อมภาพจิตรกรรมฝาผนังให้ดูเพลินตา
ทั้ง 3 วัดที่ผมพาเที่ยวพอสังเขปนี้น่าจะมีข้อมูลน้อยมากๆ ในโลกออนไลน์และน้อยคนนักที่จะรู้จัก แต่ถ้าหากได้มาสัมผัสสถานที่จริง ผมเชื่อว่าสามารถเก็บความประทับใจ กลับไปได้อย่างมากแน่นอน
อย่าเชื่อผม จนกว่าจะมาสัมผัสด้วยตัวเอง
