fbpx

The New Wave of ‘Transformation’ in 2022:คลื่นแห่ง ‘การเปลี่ยนแปลง’ สำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2022

มีคำกล่าวที่ว่า ชีวิตกับ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ นั้น คือสิ่งที่อยู่เคียงคู่อย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้ ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคล หรือความเปลี่ยนแปลงในระดับสังคม ในทุกวินาที ทุกชั่วโมง ต่างมีการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว และชีวิตที่หยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง ก็เสมือนการเดินก้าวถอยหลัง เมื่อเทียบกับโลกทั้งใบที่กำลังรุดหน้า อย่างไม่รีรอ อย่างไม่หันกลับมา และกว่าจะรู้ตัว ความเปลี่ยนแปลงที่ว่า ก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แนบสนิท เป็น ‘ปกติวิสัย’

และในรอบระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือที่คุ้นหูกันว่า COVID-19 ความปกติที่หลายคนคุ้นเคย ถูกเขย่า และหมุนเข้าสู่ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ อย่างรวดเร็วฉับพลัน ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นไปในสเกลระดับสากล เมื่อโรคร้ายจำกัดพื้นที่ กีดกันระยะห่างระหว่างผู้คน และสร้าง ‘ความปกติใหม่’ ที่จำต้องน้อมรับ นั่นคือสถานการณ์ที่ความเปลี่ยนแปลงเข้ามาเคาะหน้าประตู หากใครไม่รู้ และไม่ปรับตัว ก็อาจจะถูกพัดพาตกหายไปกับสายธารแห่งกาลเวลา

ซึ่งความ ‘ปกติใหม่’ นี้เอง ที่ทำให้โลกและสังคม ได้เข้าใจ และมีวิถีชีวิตรูปแบบที่ต่างออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ ‘เทคโนโลยี’ ได้เข้ามาช่วยเติมเต็มในช่องว่างเหล่านั้น ไม่ว่าจะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน การพาณิชย์ค้าขาย การศึกษา ข่าวสาร จนถึงคุณค่าทางสังคมแบบดั้งเดิมที่ถูกตั้งคำถาม และตัวเลือกที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ ถูกนำเสนอเพื่อให้ทุกสิ่งสามารถดำเนินเดินหน้าต่อไปได้

ถึงอย่างนั้นแล้ว ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะไปจบลงที่ใด? คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงแบบไหนที่จะเข้ามาในปี 2022 ที่เหลืออยู่อีกไม่กี่วันข้างหน้า? ผู้คนและสังคมควรคาดหวังอะไรจากความเปลี่ยนแปลงที่ว่ามา? เหล่านี้ คือคำถามที่น่าสนใจ เมื่อพิจารณาว่า ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และมีแนวโน้มจะทวีความเข้มข้น และเสริมกำลังจากสิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่ง เรา ต้องเรียนรู้และเตรียมตัวให้พร้อมกับการมาของสิ่งต่างๆ นี้

และในบทความของGM Magazine เล่มส่งท้ายปี 2021 ขอยกตัวอย่าง ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ที่ได้เกิดขึ้น และจะต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ในแวดวงต่างๆ ของปี 2022 ที่อาจจะช่วยให้คุณได้เห็นภาพ ว่าสิ่งใดที่กำลังจะก้าวเข้ามา และเปลี่ยนปริทรรศน์รวมถึงการใช้ชีวิตของมนุษยชาติ ในเวลาที่กำลังจะมาถึง

เพราะ ‘คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลง’ ได้ตั้งเค้าก่อตัวอย่างเป็นรูปเป็นร่าง และสิ่งที่จะตามมา คือ ‘พายุ’ ลูกใหญ่ ที่ต้องเตรียมตัวพร้อมรับ จึงจะสามารถใช้ประโยชน์ และก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

The New Trends in ‘Commerce’ พื้นที่เสมือน ประสบการณ์ส่วนตัว และการบริโภคอย่าง ‘มีจุดยืน’

ชีวิตกับ ‘การค้าขาย’ นั้น เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ขาด ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือเป็นเพียงผู้บริโภคที่อยู่ปลายทางของกระบวนการ เพราะเมื่อมีการผลิตสินค้า ย่อมมีผู้ที่ต้องการใช้งาน ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น สายส่ง คนกลาง หน้าร้าน สร้างเป็นวงจรแห่งการแลกเปลี่ยน นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ตั้งแต่ในยุคโบราณที่ ‘สินค้า แลก สินค้า’ จนถึงเวลาที่กระดาษอย่างธนบัตรถูกให้มูลค่า โดยการรับรองของทองคำ และ/หรือ ความเชื่อมั่นที่มีต่อสกุลเงินนั้นๆ

เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ลดทอนขั้นตอนและความยุ่งยากของการแลกเปลี่ยนซื้อ-ขาย รวมถึงสร้างนิยามใหม่ให้กับสิ่งที่ใช้แทนเงินตรา หลายสิ่งที่ ‘จับต้องไม่ได้’ อย่างเช่นหุ้น หรือเงิน Cryptocurrency เริ่มมีมูลค่า อีกทั้งขั้นตอนแลกเปลี่ยนสินค้ามีความลื่นไหล และผู้บริโภคมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะกลายเป็น ‘ผู้ค้าขาย’ ได้เอง

นี่คือ ‘ความเปลี่ยนแปลง” ทางด้านการค้า ที่เกิดขึ้นในรอบสี่ถึงห้าปีที่ผ่านมา โดยล้อไปกับการเข้ามาของเทคโนโลยีด้านการติดต่อสื่อสาร ที่หลายคนคุ้นเคย การมาถึงของร้านค้าออนไลน์หลากหลายเจ้า การเกิดขึ้นของ บริภาคแบบ e-Service ที่ตอบสนองกับสถานการณ์จำเพาะเช่นการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่นธุรกิจ Delivery ซึ่งได้กลายเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ ที่ผู้ประกอบการจำต้องปรับตัว

แต่ในปี 2022 ที่กำลังจะมาถึง ความเปลี่ยนแปลงในวิถีใหม่ด้านการค้าขาย จะยิ่งมากขึ้น และรวดเร็วยิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การประกาศเปิดตัว Metaverse ของ Meta ที่ Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้งเครือข่ายโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ได้พร้อมถางทางไปข้างหน้า กับ ‘พื้นที่เสมือนจริง’ ที่ผู้ใช้งาน จะได้รับประสบการณ์ในอีกระดับ ไปจนถึงการแพร่หลายของ Cryptocurrency ที่จะยิ่งมากขึ้น และมีรูปธรรมอย่างชัดเจน

เหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะพื้นที่ ‘เสมือน’ นั้น จะยิ่งสอดคล้องกับแนวทางการค้าขายออนไลน์ที่วางรากฐานเดิมไว้แล้ว นั่นคือการตลาดที่เข้าถึงผู้บริโภคอย่างเป็นส่วนตัว การใช้ข้อมูลเป็นตัวคัดกรองหรือ Data Driven เพื่อคัดสรรสินค้าและบริการที่เหมาะสมกับผู้ใช้งาน และการก้าวไปสู่ประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งการตอบสนองของผู้ใช้ จะมีสัมพัทธ์กับพื้นที่ว่างไซเบอร์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้ประกอบการและบริษัทขนาดใหญ่เริ่มให้ความสนใจ และ ‘จับจอง’ พื้นที่เสมือนนี้ไว้ล่วงหน้า แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะคล้อยตาม หรือเชื่อว่าโลกแห่งการค้าแบบเดิมจะล้มหายตายจากไป ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ Google หนึ่งในผู้ให้บริการ Search Engine รายใหญ่เบอร์ต้นของโลก ที่ยังเชื่อว่า ระบบ Search Engine และฐานข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มี จะยังเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพสำหรับภาคธุรกิจ

รวมถึงความคิดเห็นของนักวิเคราะห์หลายราย ก็มองว่า Metaverse นั้น ยังเร็วเกินกว่าที่จะมาอยู่ในระดับที่สามารถใช้งานได้โดยทั่วถึงกัน ด้วยข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ หรือข้อกังขาในการสร้างระบบนิเวศทางการค้าและทางสังคม ที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า อาจจะไม่ได้ให้ประสบการณ์ที่ส่วนตัว และมีความปลอดภัยที่มากเพียงพอ

และเหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาเพิ่มอีกบริบท คือการที่ผู้บริโภคในยุคสมัยใหม่ จะมีความภักดีกับความเป็นแบรนด์น้อยลง ด้วยตัวเลือกที่มากขึ้น แต่จะบริโภคสินค้าและบริการ ที่ตอบสนองต่อ ‘จุดยืน’ ของตนเอง เช่น สินค้าที่ผลิตโดยให้ความใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม สินค้าที่ไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย บริการที่ให้ความเสมอภาคกับพนักงานในด้านต่างๆ และสิ่งเหล่านี้ จะยิ่งมีพลังในการขับเคลื่อนผู้บริโภคมากขึ้น และเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

Revised the concept of ‘Education’ เมื่อ ‘การศึกษา’ ไม่ได้อยู่ในกรอบบังคับ สถาบัน หรือแค่ ‘ใบปริญญา’ อีกต่อไป

‘การศึกษาคือเครื่องมือที่ดีในการยกระดับคุณภาพชีวิต’ คำกล่าวนี้ไม่เคยเกินจริงในทุกยุคสมัย เพราะคนที่มีความรู้ สายตากว้างไกล มองได้รอบด้าน จะยิ่งเห็นโอกาสในการพัฒนาชีวิตไปในทางที่ดี และถ้ามากกว่านั้น คือการเข้าใจความต่างระหว่างผู้คน เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม และพร้อมที่จะเป็นพลังที่ผลักดันให้เกิดการ ‘เปลี่ยนแปลง’ ที่ยิ่งใหญ่ตามมา

แน่นอนว่า การศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ในโลกแห่งการศึกษาที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตนั้น อาจต้องพูดถึงในระดับที่สูงขึ้นไปอย่างอุดมศึกษา และ ‘ใบปริญญา’ ซึ่งเป็นมาตรวัดในการเทียบเปรียบ ว่าคนผู้หนึ่ง จะสามารถสอดรับกับฟังก์ชันใดของสังคม สามารถมอบอะไรให้กับสังคม และจะต้อง ‘ได้รับค่าตอบแทน’ เพียงเท่าใด

แต่เช่นเดียวกับทุกความเปลี่ยนแปลง เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้า การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นไปได้อย่างทั่วถึง การจำกัดการศึกษาไว้แค่เพียงสถาบันหรือใบปริญญา ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป และโลกยุคใหม่ ก็เคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็ว เรียกร้องให้เกิดการเรียนรู้ ‘ตลอดชีวิต’ ที่หลายครั้ง สิ่งที่ได้เล่าเรียนมาจากสถาบันและระบบการศึกษา อาจจะมีประโยชน์น้อยกว่าสิ่งที่มาศึกษาเองในภายหลัง

ความเป็นจริงข้อนี้เห็นได้ชัดมากขึ้น โดยเฉพาะในห้วงเวลาการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ภาคการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัว ที่เห็นได้ชัดคือ การเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนมาอยู่ในแบบออนไลน์ รับกับแนวทางวิถีใหม่ในการใช้ชีวิตแบบเว้นระยะห่าง แต่เหนือสิ่งอื่นใด แนวคิดของการ ‘เรียนจากหลักสูตร จบจากสถาบัน แล้วทำงานประจำ’ ไม่อาจตอบโจทย์ของคนรุ่นใหม่ได้อีก พวกเขามีทางเลือกมากขึ้น มองเห็นสิ่งต่างๆ มากขึ้น มีศักยภาพมากขึ้น และ ‘เลือก’ เรียนรู้พร้อมมุ่งเป้าไปสู่การเรียนเพื่อตอบสนองต่อการประกอบวิชาชีพในทันที นั่นจึงทำให้ได้เห็นคนรุ่นใหม่เข้านั่งฟังสัมมนาออนไลน์อย่าง TedTalk หรือเสวนาต่างๆ มากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ไม่แต่เฉพาะคนรุ่นใหม่ แต่คนที่เคยถูกมองว่าเป็นชายขอบของการศึกษา และอยู่นอกวงจรของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งทางเลือกเดียวที่เคยมี คือการเรียนในระบบ ก็สามารถเข้าถึงชุดความรู้ได้เทียบเท่ากับคนทั่วไป นั่นทำให้กระแสของการเกิดสำนึกทางความเสมอภาค ทางการเมือง ทางการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม และการไม่ทนต่อความอยุติธรรม เป็นวงจรใหม่ ซึ่งคนที่ยังยึดติดกับภาคการศึกษาแบบเดิมๆ รู้สึกประหลาดใจ (และอาจจะหวาดกลัว…)

นั่นทำให้โลกแห่งการศึกษาจำต้อง ‘ปรับตัว’ และ ‘เปลี่ยนแปลง’ ขนานใหญ่ และความเปลี่ยนแปลงที่ว่า จะเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในปีถัดไปที่กำลังจะมาถึง สถาบันการศึกษาจะเริ่มจัดหลักสูตรที่ตอบสนองต่อผู้เรียน ‘ในรายวิชา’ และสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนในช่วงเวลาใด เพื่อสอดรับกับวิถีชีวิตกับการทำงาน และอาจจะเพิ่มในส่วนของ ‘การศึกษาหลังจบจากสถาบัน’ เป็นรายคอร์ส เพื่อต่อยอดให้กับผู้ที่สนใจ ได้เพิ่มเติมความรู้ได้ตลอดชีวิต ซึ่งแนวทางดังกล่าว ก็มีตัวอย่างให้เห็นแล้วในประเทศตะวันตก หรือในประเทศสิงคโปร์ที่กำหนดเป็นวาระระดับชาติ

อย่างไรก็ดี ปัญหา ‘การตกหล่น’ จากระบบการศึกษาในระดับต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องให้ความใส่ใจ เพราะแม้การศึกษาจะสามารถเข้าถึงได้สะดวก กว้างขวาง และรวดเร็ว แต่ก็เกี่ยวพันกับฐานะทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ดังเช่นตัวอย่างที่เห็นในช่วงระยะเวลาการระบาดของ COVID-19 ที่หลายครอบครัว ถูกบีบให้เผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์เพื่อรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้ ซึ่งสุดท้าย การเรียนในแบบปกติ ก็อาจจะเป็นคำตอบที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมี แต่ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ก็ไม่อาจมองข้ามไปได้

หรือแม้แต่ในระดับสากล ปัญหาด้านจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเอง ก็มีแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เพราะในการสำรวจของ National Student Clearinghouse ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า จำนวนนักเรียนชายที่จบการศึกษาระดับไฮสคูล และเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา มีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีเพียง 40.5% ที่ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและสูงขึ้นไป ด้วยหลากหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราการว่างงาน และค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในจุดนี้ การ Transform รูปแบบการศึกษา ลดภาระค่าใช้จ่าย และการจัดสรรตำแหน่งงานที่เหมาะสม จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้

There’s no second ‘Plan B’ for the Earth ‘สิ่งแวดล้อม’ ถูกยกระดับความสำคัญในเชิงปฏิบัติมากกว่าที่เคย

ปัญหาและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม กลายเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา ด้วยผล กระทบที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศที่เห็นได้อย่างชัดเจน จนทำให้เกิดเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐดำเนินการเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในการประชุมสิ่งแวดล้อม COP26 ที่กรุงกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์  ซึ่งเชิญผู้นำจากประเทศต่างๆ ร่วมหารือในความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ได้ก่อให้เกิดการบรรลุข้อตกลงที่จะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมหลากหลายประการ อาทิ ข้อตกลงร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนไดอ็อกไซด์ ให้อุณหภูมิคงที่ไว้ระดับ 1.5 องศาเซลเซียส, การลดการใช้ถ่านหินลง 40% ที่จะสอดคล้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก, การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

อีกประเด็นที่น่าสนใจในด้านสิ่งแวดล้อมจากการประชุม COP26 ที่ผ่านมา ยังรวมถึงความพยายามด้านความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีนในด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะสานต่อไปเพื่อให้ถึงการใช้พลังงานสะอาดในอีกทศวรรษข้างหน้า และนักวิเคราะห์ก็มองกันว่า ข้อตกลงที่บรรลุแล้วนี้จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างยิ่งต่อภาพรวมด้านสิ่งแวดล้อม เพราะกำลังการผลิต จนถึงภาคอุตสาหกรรมของจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ในระดับการเติบโตที่สูง และความร่วมมือของจีน จึงไม่อาจขาดไปได้ เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ที่เป็นประเทศผู้บริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิล และปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นลำดับต้นๆ การริเริ่มก้าวแรกจึงเป็นนิมิตหมายที่ดี

อย่างไรก็ตาม ไม่ทุกคนที่มองการประชุมสิ่งแวดล้อม COP26 ในทางบวก เหล่านักเดินขบวนด้านสิ่งแวดล้อมต่างเห็นพ้องว่า นี่เป็นเพียงการประชุมที่เกิดขึ้นแค่เพียงวาจา และเล่นฝีปากกันระหว่างผู้นำประเทศ แต่ปราศจากการตระหนักรู้และการลงมือทำอย่างจริงจัง อีกทั้งปัญหาเรื้อรังเช่นการสนับสนุนเงินให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ที่เคยตั้งเป้าไว้ว่าจะสำเร็จลุล่วงในปี 2020 ก็ประสบความล้มเหลว ด้วยปัจจัยหลากหลายประการ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า ในอนาคตข้างหน้า ผลลัพธ์จากการประชุมนี้ จะมีอยู่กี่ข้อ กี่ความตกลง กี่ความร่วมมือ ที่สามารถบรรลุผลได้ดังที่ตั้งใจไว้

ในปี 2022 อาจจะเป็นปีที่สำคัญอย่างมากสำหรับด้านสิ่งแวดล้อม เพราะแม้ว่าจะมีอุปสรรคและข้อจำกัดบางประการในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคสินค้าและบริการ และภาคผู้บริโภค ก็ได้รับแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน และการเดินหน้าจากจุดเล็กๆ ที่รวมตัวกัน ก็จะสามารถสานต่อไปสู่พลังที่ขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนได้ในปลายทาง

เพราะไม่มีโลกใบที่สอง ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมจึงได้ถูกยกระดับความสำคัญและให้ความใส่ใจอย่างยิ่ง

Transparency of News and the coming of ‘Citizen Journalism’ ‘สื่อพลเมือง’ กับโลกข่าวสารที่เปลี่ยนไป

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารสามารถเข้าถึงได้กับทุกคน ทุกระดับ ผ่านโครงสร้างโซเชียลมีเดียที่เกิดจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้เรื่องราวที่เคยเป็น ‘ข่าว’ ซึ่งถูกจำกัดเฉพาะแต่เพียงสำนักข่าวใหญ่ เป็นตัวกลางในการนำเสนอ ถูกเขย่าและเปลี่ยนแปลงไปครั้งใหญ่ เพราะในเวลานี้ ทุกคน สามารถเป็นทั้ง ‘ผู้รับสาร’ และ ‘ผู้ส่งสาร’ ได้

และการเกิดขึ้นของ ‘สื่อพลเมือง’ หรือ ‘Citizen Journalism’ ก็มาจากวิถีทางเช่นนั้น

ในวันนี้ แม้การนำเสนอข่าวใหญ่ และโลกแห่งวารสารศาสตร์จะยังมีบัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจน และคนทำงานด้านสื่อสารมวลชนก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในพื้นที่ของข่าวสาร แต่การเข้ามาของสื่อใหม่ ทั้งโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ และออนไลน์ สร้างภูมิทัศน์แห่งการนำเสนอที่แตกต่างออกไป ‘ความเร็ว’ กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ถูกพิจารณา และผู้ที่สามารถนำเสนอข่าวสารได้รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ในระดับรายชั่วโมง ก็จะสามารถคว้าความสนใจของผู้เสพรับได้แทบจะทันที

แต่การเกิดขึ้นของสื่อพลเมืองในช่วงแรกเริ่มเมื่อหลายปีก่อนหน้า ยังคงเป็นไปในระดับที่ปราศจากความเข้าใจ และเน้นความฉับไวโดยละเลยถึงพื้นฐานสำคัญทางด้านจรรยาบรรณของการนำเสนอ สื่อหลายสำนักที่เกิดขึ้นในยุคเฟื่องฟูของข่าวสาร ผันตัวเองมาเป็นเพียงเว็บไซต์ตีหัวเข้าบ้านหรือคลิกเบท (Clickbait) ที่ก่อผลเสียมากกว่าผลดี บ่มเพาะความแตกแยก สร้างความสับสน และหันเหผู้คนออกจาก ‘ข้อเท็จจริง’ และอิงแอบกับความโฉบเฉี่ยว

แน่นอนว่า เว็บไซต์และสื่อเหล่านั้น ได้ล้มหายตายจากไปตามระยะเวลา เมื่อผู้คนเริ่มตระหนักได้ว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆ คือการนำเสนอข่าวสารที่เที่ยงตรง แม่นยำ และมีความเป็นมืออาชีพ และบทบาทของสื่อพลเมืองก็ยกระดับกับคุณภาพให้เพิ่มขึ้นตามระยะเวลา และหลายครั้ง เป็นกระบอกเสียงสำหรับกลุ่มฐานราก ในการส่งเสียงถึงความไม่พอใจต่อประเด็นที่เป็นปัญหาต่างๆ

ในทางหนึ่ง สื่อพลเมืองอาจถูกมองว่ามีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าสื่อใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง แต่นั่นเป็นวิธีคิดที่ออกห่างจากความเป็นจริงอยู่ไม่น้อย เพราะแท้จริงแล้ว การเกิดขึ้นของสื่อพลเมือง ก็คือวิวัฒนาการของศาสตร์สื่อสารมวลชนแบบดั้งเดิม ที่เดินหน้าด้วยหัวใจหลักแบบเดียวกัน

และภายใต้สถานการณ์ที่เปราะบางจากเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อร้าย COVID-19, การรายงานสถานการณ์สดจากการชุมนุม, การตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านการคอรัปชัน หรือการนำเสนอข่าวในภาคท้องถิ่น หลายครั้งทีเดียวที่สื่อภาคพลเมืองสามารถลงสนามได้ลึกกว่า แม่นยำกว่า และเหนือสิ่งอื่นใด สื่อใหญ่เองก็เริ่มรับแนวทางของสื่อพลเมืองมาปรับและปฏิบัติใช้แล้วในหลายๆ สำนัก แต่ระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ก็คือสิ่งที่ต้องมี เพื่อกำกับให้การนำเสนอนั้นเที่ยงตรงที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกโซเชียลมีเดียเริ่มมีอิทธิพลกับผู้คนมากขึ้น และพื้นที่โลกเสมือนกำลังจะก้าวเข้ามา โลกแห่งข่าวสารสำหรับสื่อพลเมืองก็จำเป็นจะต้องปรับตัว เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามา นับเป็นจังหวะสำคัญอีกครั้งที่จะพิสูจน์ถึงพลังของสื่อพลเมือง ที่มีการผสมผสานของสื่อหลากชนิดซึ่งจะช่วยยกระดับและเสริมพลังของสื่อพลเมืองให้สูงขึ้น และทั่วถึงกับทุกกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น

Not ‘Secure’ Enough ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความสำคัญของข้อมูลผู้ใช้งาน

ในเวลาถัดจากนี้ ซึ่งความก้าวหน้าและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อิงแอบกับเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลข่าวสาร ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเชื่อมต่ออินเตอร์เนท คือหัวใจสำคัญ เพราะในหัวข้อต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น ต่างพึ่งพากับระบบเครือข่ายเหล่านี้ด้วยกันแทบทั้งสิ้น

และในด้านหนึ่ง ด้วยโครงข่ายระบบอินเตอร์เนทที่จับต้องไม่ได้นี้เอง มีการไหลบ่าของข้อมูล ‘สำคัญ’ อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน จนถึงตัวเลขบัญชีบัตรเครดิต และ ‘ตัวตนจริง’ ที่ฝั่งร่างอยู่ภายใต้ของหน้าจอ และนั่น ทำให้ ‘ความปลอดภัยทางไซเบอร์’ คือสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง

จากผลการสำรวจด้านความปลอดภัยไซเบอร์ของเว็บไซต์ PurpleSec ปี 2021 พบสถิติที่น่าตกใจว่า ในระยะเวลาตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปี 2018 มีการแพร่กระจายของไวรัส Malware ที่สูงขึ้นกว่าเดิมหลายสิบเท่า จาก 12.4 ล้าน ไปที่จำนวน 812.67 ล้าน และส่วนมากจะพบในโปรแกรมใช้งานที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้จนกลายเป็นความเคยชิน อาทิ โปรแกรมสั่งซื้อของออนไลน์, อีเมล์น่าสงสัย จนถึงการแทรกแซงในรูปแบบเว็บโฆษณา เป็นต้น

นอกจากนั้น โปรแกรมไวรัสประเภท ‘เรียกค่าไถ่’ หรือ ‘Ransomware’ ที่จะหยุดการทำงานของเครื่อง ขโมยข้อมูล และ ‘เรียกร้องเงินค่าไถ่’ จากเหยื่อปลายทาง ก็พุ่งสูงอย่างเป็นประวัติการณ์ เพราะทะยานไปที่ 350% และคิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่มากถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในปีถัดๆ ไป

แม้แต่แวดวง Cryptocurrency เองก็ไม่พ้นปัญหาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพราะแม้จะเป็นระบบที่ไม่รวมศูนย์ (Decentralized) แต่การจู่โจมเพื่อขโมยคีย์กระเป๋าเงินของผู้ใช้งาน ผ่านการใช้โปรแกรม Malware ก็สะท้อนถึงความบกพร่องในด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เพราะจะมีประโยชน์อะไร ถ้าหาก ‘กุญแจกระเป๋าเงิน’ ถูกขโมย ต่อให้ระบบป้องกันดีแค่ไหน ก็ไม่เพียงพอ

หรือในกรณีประเทศไทยที่ผ่านมา กับข่าวข้อมูลสาธารณสุข และข้อมูลผู้ใช้งานหลายล้านบัญชีหลุดไปอยู่ในส่วนซื้อขายของเว็บมือหรือ Dark Web ที่ผิดกฎหมาย ก็เป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านอินเตอร์เนท ประเทศไทยมีศักยภาพที่ดีไม่แพ้ประเทศใดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ความปลอดภัยทางไซเบอร์ อาจจะเป็นสิ่งที่น่ากังขาสำหรับนักลงทุน ผู้ประกอบการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนทั่วไป ที่ไม่อาจรู้ได้เลยว่า ข้อมูลที่ฝากไว้กับแอพลิเคชันของภาครัฐ ได้หลุดรั่วไปมากน้อยแค่ไหน

ความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นฐานรากที่สำคัญ เป็นหลังบ้านที่ต้องแน่นหนา ในการพัฒนาโครงสร้างเพื่อต่อยอดเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จะตามมา ภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความไว้วางใจว่าในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์  จะต้องรัดกุมพอ เพื่อเป็นแรงหนุนสำหรับก้าวถัดไปที่จะตามมา

ท้ายที่สุดนี้ การเริ่มต้นของปี 2022 ที่กำลังจะมาถึง และตลอดสามร้อยกว่าวันจึงมีความน่าสนใจ มีนวัตกรรม และมี ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ที่จะเขย่าโลกกับวิถีการใช้ชีวิต ที่สอดรับกับแนวทางใหม่ และในทุกความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามา จะดีอย่างยิ่งถ้าเราสามารถรู้เท่าทัน พร้อมรับมือ และสามารถใช้ประโยชน์จากอย่างถูกต้อง ยั่งยืน เพราะเช่นเดียวกับหลายๆ ปีที่ผ่านพ้น ทุกสิ่งที่เคลื่อนตัวผ่านไป มันรวดเร็ว และไม่เคยย้อนกลับมา ขึ้นกับว่าใครที่จะสามารถมองเห็นโอกาส และสร้างคุณค่าจากความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพนั่นเอง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ