fbpx

The Future of BANKING / FINANCE / MONEY in 2030

เรื่อง: แซม ตันสกุล

เข้าสู่ปี 2022 เห็นได้ชัดว่าโลกการเงินเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก เป็นโลกที่ต้องเร่งตามให้ทัน หากยังจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อการบริโภค ชำระเงิน โอนเงินทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงถ้าเป็นเจ้าของธุรกิจ ไม่ว่าจะ SME หรือธุรกิจขนาดใหญ่ก็จำเป็นต้องเข้าใจและเข้าถึงโลกการเงินให้ทันอยู่เสมอ

ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในโลกการเงินอย่างมาก จนหลายๆ ประเทศแอบอิจฉา หลายครั้งเมื่อผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมหรือไปพูดในงานสัมมนาที่ต่างประเทศ ก็จะกล่าวถึงเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology or Fintech) ในประเทศไทยอยู่บ่อยครั้ง และมักจะได้รับเสียงชื่นชมว่า ประเทศไทยเรานั้นเหนือกว่าประเทศอื่นๆ อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยว่าเรื่องจริงหรือไม่ ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น พร้อมเพย์ (PromptPay) บริการโอนเงินและรับเงินที่แทบทุกคนต้องเคยใช้ ก็เป็นเทคโนโลยีแรกในการโอนเงินด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือหมายเลขบัตรประชาชน ที่ทำให้ธุรกรรมการเงินของคนไทยสะดวกขึ้นมาก 

โดยที่สิงคโปร์ เจ้าพ่อเรื่องการเงินก็พัฒนาและออก PayNow หลังจากนั้นในอีก 2 ปีต่อมา หรืออย่างเช่นในตอนนี้ที่ทุกคนสามารถเปิดบัญชี สมัครบัตรเครดิต หรือสินเชื่อผ่านโมบายแบงก์กิ้งแอปพลิเคชัน ด้วยเทคโนโลยี e-KYC (Know Your Customer) ที่มีชื่อเป็นทางการว่าNational Digital ID (NDID) ซึ่งพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของบล็อกเชน (Blockchain) ทำให้คนไทยใช้ชีวิตได้สะดวกสบายขึ้น ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำธุรกรรมที่สาขา

ปัจจุบันพบว่า ปริมาณการใช้บริการดังกล่าวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดต้องขอชื่นชมธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็นหัวหอกในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้น และยังมีการวางแนวทางในการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้นด้วย

ทั้งนี้ จะเห็นว่าเทคโนโลยีได้พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ก็เพราะว่าทุกประเทศเห็นความสำคัญของ Fintech เนื่องจากทุกประเทศต้องใช้เรื่องเงิน เรื่องธนาคาร เรื่องการคลังเป็นเรื่องหลักของประเทศ คราวนี้ลองมองไปในอนาคตข้างหน้าว่า ในปี 2030 เทคโนโลยีการเงินจะเปลี่ยนแปลงหรือกลายพันธุ์ไปมากน้อยเพียงใด โดยขอแยกออกมาเป็น 4 กลุ่มเทคโนโลยีด้วยกัน ดังนี้

  1. เทคโนโลยีด้านการชำระเงิน (Payment Technology)

เป็นที่ชัดเจนว่าไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระเงินไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา จากเดิมเป็นการชำระด้วยเงินสด มาเป็นการใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต (คนไทยยังนิยมการชำระด้วยบัตรเครดิต ในขณะที่ชาวยุโรปนิยมใช้บัตรเดบิต) จนมาเป็นการชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสมาร์ทโฟนที่มากันทุกค่ายไม่ว่าจะเป็น ApplePay, GooglePay หรือ Android Pay ไปกระทั่ง Smart Watch อย่าง Garmin Pay โดยที่คนไทยชื่นชอบการชำระด้วย QR code ซึ่งเป็นรูปแบบวัฒนธรรมการชำระเงินเดียวกันคนจีนที่มักจะใช้ผ่าน Alipay, WeChat Pay

ถ้ามองไปในปี 2030 การชำระเงินจะเปลี่ยนไปในรูปแบบการใช้อัตลักษณ์ของบุคคล อาทิ การใช้ใบหน้า (Face Scan) หรือ สายตา (Ratina or Eyes Scan) หรือในบางประเทศกำลังจะทดลองใช้ลายนิ้วถึงเส้นเลือด (Vain) ในการชำระเงิน ดังนั้นในอีกไม่นานกระเป๋าสตางค์หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์ก็อาจะไม่ต้องจำเป็นอีกต่อไป

ทั้งนี้ รูปแบบการชำระเงินก็จะเริ่มมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เราในฐานะผู้บริโภคมีอำนาจการใช้เงินเพิ่มขึ้นที่มีชื่อเรียกกันว่า Buy Now Pay Later (BNPL) ซึ่งก็จะคล้ายๆกับการซื้อสินค้าผ่อน 0% ในบ้านเรา (ผู้ซื้อต้องมีบัตรเครดิตก่อน) ในขณะที่ BNPL จะนำเสนอให้กับลูกค้าที่ยังไม่เคยมีเครดิตมาก่อน แต่สามารถใช้ข้อมูลที่ผู้ขายมีหรือข้อมูลอื่นๆในการพิจารณา และอนุมัติให้ลูกค้าทันทีไม่เกิน 3 นาที

  • เทคโนโลยีการปล่อยสินเชื่อ (Lending Technology)

ที่ผ่านมาการพิจารณาการปล่อยกู้เป็นกระบวนการหนึ่งที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนัก ด้วยปัจจัยหลักคือเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูล และเทคโนโลยีที่ยังไม่พร้อมมาก ทำให้เห็นว่าการอนุมัติสินเชื่อยังคงต้องใช้เวลาในการพิจารณาหลายวัน หรือบางสถาบันการเงินอาจจะทำได้เร็วสุดในเวลา 30 นาที แต่ก็ยังไม่มีใครกล้าที่ประกาศเหมือน Alipay ที่ใช้เวลาทุกเคสไม่เกิน 3 นาที

ดังนั้นการจะปล่อยสินเชื่อให้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลมาประกอบการพิจารณา ซึ่งจะมีสตาร์ทอัพที่เก็บข้อมูลของลูกค้าไว้ อาทิ เครื่อง Point of Sales (เครื่องคิดเงิน) หรือ  Cloud Accounting Platform (ระบบบัญชีบนคลาวด์) ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นข้อมูลล่าสุดตามยอดขายจริงที่เกิดขึ้น ทำให้สถาบันการเงินที่ร่วมมือกับสตาร์ทอัพเหล่านี้สามารถเห็นข้อมูล (ถ้าหากบริษัทที่ใช้งานบน platform ยินยอมให้เห็นข้อมูล) เพื่อนำเสนอสินเชื่อได้เลยทันที ทั้งนี้เริ่มมีสตาร์ทอัพกระโดดเข้ามาและริเริ่มในการทำเทคโนโลยี ซึ่งมีใกล้เคียงกับการทำงานของฝ่ายอนุมัติพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร เช่น Kabbage ซึ่งเป็นยูนิคอร์น (Unicorn) ในสหรัฐอเมริกา ที่ร่วมมือกับ Amazon หรือ eBay  นับว่าเป็นสององค์กรที่มีฐานข้อมูลของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมากที่สุด สามารถที่จะร่วมกันปล่อยกู้ในแพลตฟอร์มตัวเองได้เลย

  • เทคโนโลยีในการโอนเงินระหว่างประเทศ (Remittance Technology)

ต้องยอมรับว่ายังเป็นจุดอ่อนของโลกการเงินอยู่มากหากต้องการโอนเงินระหว่างประเทศอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่นาที ซึ่งปัจจุบันยังต้องใช้เวลา 1-3 วัน เนื่องจากมีข้อห้ามในการเคลื่อนย้ายเงินในแต่ละประเทศ เพื่อป้องกันการฟอกเงิน หรือป้องกันเสถียรภาพทางการเงิน ทำให้ในปัจจุบันยังไม่มีสตาร์ทอัพหรือเทคโนโลยีจำนวนมากในการแก้ไขปัญหาในจุดนี้ แม้กระทั่ง Facebook เคยจะออกเหรียญของตัวเองอย่าง Libra ก็มีอันที่ต้องพับโปรเจคไป

ในความเป็นจริงค้นพบว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ สำหรับในการโอนเงินจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลหรือเหรียญคริบโตสามารถทำได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือเทคโนโลยีเรื่อง   e-KYC (Know Your Customer) ที่จะสามารถจะยืนยันตัวตนที่แท้จริงทุกประเทศสามารถเห็นข้อมูลเราได้ ยังไม่มี ดังนั้นก็คงเป็นเรื่องที่น่าหาคำตอบกันต่อไป ในเทคโนโลยีในการโอนเงินระหว่างประเทศว่าภายในปี 2030 จะสามารถทำให้มนุษยชนทั้งโลก สามารถโยกย้ายเงินได้ภายในเสี้ยววินาทีหรือไม่

  • เทคโนโลยีในการบริหารสินทรัพย์  (Wealth Technology)

คงปฎิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันทั้งสถาบันการเงินและสตาร์ทอัพได้มีการนำเทคโนโลยี Robo Advisory (หุ่น AI) มาใช้ในการให้บริการและดูแลลูกค้า เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมากขึ้น ซึ่งในประเทศไทยก็มีบริษัทสตาร์ทอัพชั้นนำอย่าง ฟินโนมีนา (Finnomena) ที่ให้บริการด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวและได้รับความสนใจสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างแพร่หลาย จนกระทั่งในตอนนี้ หลายคนอาจจะได้ยินคำว่า Hybrid Robo Advisory นั่นคือการผสมผสานระหว่างคน และ หุ่น AI เข้าด้วยกันในการให้บริการลูกค้า เนื่องจากว่าลูกค้าเองต้องการผู้ดูแลที่เป็นคนมาช่วยอธิบายเรื่องการลงทุนให้เข้าใจมากขึ้น ทำให้ผู้ให้บริการต่างปรับมาให้บริการในลักษณะที่เป็น  Hybrid Robo Advisory สำหรับลูกค้าที่มีการลงทุนจำนวนมาก

ภายในไม่กี่ปีต่อจากนี้ สิ่งที่ระบบเทคโนโลยีการบริหารสินทรัพย์จะไม่ใช่เพียงแค่การนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนเฉพาะหุ้น หรือ กองทุนรวม แต่จะรวมไปถึงสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโต หรืออื่นๆที่กำลังมาในอนาคต เพื่อให้พอร์ทการลงทุนของลูกค้ามีความหลากหลายมากขึ้น และสามารถเพิ่มโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงมากขึ้น (สำหรับนักลงทุนที่นิยมในการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง) โดยที่ระบบจะช่วยให้นักลงทุนตัดสินในการลงทุนได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

นี่คือ 4 เทคโนโลยีทางการเงินที่จะมาเปลี่ยนโลกครับ ถ้าหากไม่ปรับตัวเองที่จะลองใช้เรื่องใหม่ๆ เหล่านี้ก็จะทำให้ต้นทุนในองค์กรสูงขึ้นกว่าคู่แข่งอย่างแน่นอน ดังนั้นถ้ามีโอกาสควรจะรีบลองใช้ และหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเราให้ได้มากที่สุดนะครับ

สุดท้ายขอฝากคติให้ทุกคนได้คิดและเริ่มเพื่อทำอะไรใหม่ๆด้วยกัน

“Money never starts an idea…it is the idea starts the Money.”

แซม ตันสกุล 

Managing Directorบริษัท กรุงศรีฟิน โนเวต จากัด บริษัทในเครือของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จากัด (มหาชน) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยม ด้าน การเงินและการธนาคาร จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ประเทศไทย และ ปริญญาโทดา้นการเงินและการธนาคารจากมหาวิทยาลัยบริสตอล สหราชอาณาจักร

ก่อนหน้าที่จะมาดำรงตาแหน่งที่กรุงศรี ฟินโนเวต คุณแซม มี ประสบการณ์มากกว่า 18 ปีในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินกับองค์กร ชั้นนำหลายแห่ง เช่น UOB, GE Capital และ Krungsri Consumer โดยดูแลด้านการจัดการผลิตภัณฑ์และนวตักรรม

ปัจจุบัน คุณแซม เป็นผู้นำด้าน Fintech/Startupในประเทศไทยและภมูิภาค โดยมีเป้าหมายสำคัญ 3 ด้านได้แก่การเร่งรัดและความร่วมมือทางวิชาการโครงการสตารท์อัพ การบรหิารจัดการและการร่วมทุนของบริษัทในเครือกรุงศรีภายใต้ MUFG มุ่งเน้นการลงทุนด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีในประเทศไทยและอาเซียน รวมทั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ