The Day the Music Die: ในวันที่คนดนตรีลาลับ โลกก็สดับรับฟังความเงียบงัน…
ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1959 นักดนตรีร็อคแอนด์โรลสามคนอันได้แก่ Buddy Holly, Ritchie Valens และ J.P. Richardson ที่กำลังอยู่ในระหว่างการเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตรอบสหรัฐอเมริกา ได้อยู่บนเครื่องบินที่จะเดินทางไปยังรัฐมินเนโซตา สถานที่แห่งถัดไป แต่ทั้งหมด ไม่อาจรู้เลยว่า นี่จะเป็นการเดินทางครั้งสุดท้าย เมื่อเครื่องบินที่ทั้งสามโดยสาร ประสบอุบัติเหตุ ตกลงมายังรัฐไอโอวา
ที่ส่งผลให้สามดาวดนตรี เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ…
เหตุการณ์นี้สะเทือนขวัญและเขย่าแวดวงดนตรีเป็นอย่างมาก จน Don McLean ผู้แต่งเพลง ‘American Pie’ ในปี 1971 ได้อุทิศ และเรียกเหตุการณ์นี้ว่า … The Day the Music Died (วันที่เสียงดนตรีตายจาก)
มันต้องร้ายแรงแค่ไหน ถึงขนานนามห้วงเวลาหนึ่งว่าเป็นวาระที่เสียงดนตรี สิ่งที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมานับตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของการคงอยู่ ได้ตายจาก กลายเป็นเพียงความ ‘เงียบงัน’?
แต่มาในตอนนี้ …. แม้เสียงดนตรีจะยังคงบรรเลง ท่วงทำนองจะยังคงเล่น และบทเพลงยังมีอยู่มากมาย การจากไปของสามบุคลากรทางด้านดนตรีของเมืองไทยในระยะเวลาใกล้เคียงไล่เลี่ยกันถึงสามท่าน สามแนวทาง ที่ต่างเป็นที่จดจำในเส้นทางของตนเองอย่าง พรศักดิ์ ส่องแสง, อ๊อด รณชัย ถมยาปริวัฒน์ และ ครูบรูซ แกสตัน
ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับความว่างเปล่าของการที่ดนตรีได้ตายจากไปก็เป็นได้…
ในบทความถัดจากนี้ เราอยากจะชวนคุณหรี่เสียง และย้อนนึกระลึกถึงความเป็นมา เส้นทางในสายดนตรี และสิ่งที่ทั้งสามท่านได้เหลือทิ้งไว้ให้กับแวดวง คุณูปการสำคัญกับโลกแห่งบทเพลง ที่น่าจะช่วยเยียวยา และอาจจะทำให้เวลานี้ ไม่น่าเศร้า และอาจจะทำให้พอยิ้มได้ เมื่อพิจารณาว่า คนดนตรี ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ต่างต้องการเห็นรอยยิ้มจากผู้รับฟัง ไม่แตกต่างกัน
แว่วเสียงคีรีบูน
สำหรับนักศึกษาชายคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงก่อนปี 2530 เส้นทางชีวิตที่คนส่วนใหญ่มักจะมอง และคาดหวังไว้ ก็คงหนีไม่พ้นงานธนาคาร กับสถาบันการเงิน เฉกเช่นเพื่อนๆ ร่วมคณะ และยิ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ การจะตบเท้าเข้าสู่องค์กรที่มีชื่อเสียง มีการงานที่มั่นคง ก็แทบจะเป็นเรื่องปกติ
แต่สำหรับ อ๊อด รณชัย ถมยาปริวัฒน์ เส้นทางของเขากลับแตกต่างออกไป
เพราะหลังจบการศึกษาจากรั้วสถาบันอุดมศึกษา เขาได้ฟอร์มวง ‘คีรีบูน’ อันเป็นวงแนวสตริงคอมโบ ร่วมกับเพื่อนๆ อีกห้าคน อันได้แก่ อาทิตย์ นามบุญศรี, ไพศาล อัญญธนา, ไกรฤทธิ์ แพสุวรรณ, พิพัฒน์ นิลประภา, ชัยพล อิ่มด้วยสุข และสร้างบทเพลงอันเป็นที่รู้จักในช่วงเวลานั้นออกมาอย่างมากมาย ในห้าอัลบั้มตลอดระยะเวลาสี่ปี คือ หากรัก ในปี 2526, รอวันฉันรักเธอ ในปี 2527, เพื่อน ในปี 2528, เพียงก่อนนั้น ในปี 2529 และอัลบั้มสุดท้าย ตลอดกาล ในปี 2530 ก่อนที่ทั้งหมด จะตัดสินใจ แยกย้ายไปตามเส้นทางชีวิตของตนเอง
แน่นอนว่าแม้เหล่านกคีรีบูนจะโผบินไปตามทาง แต่อ๊อด คีรีบูน ยังคงมีงานในแวดวงบันเทิง ทั้งในสายงานดนตรี สายงานภาพยนตร์ ก่อนที่จะผันตัวเองไปอยู่หลังฉาก ก่อตั้งโรงเรียนดนตรีเพื่อการเรียนรู้ ‘คีรีบูน จีเนียส มิวสิค’ ที่พร้อมปลุกปั้นเยาวชนให้เปล่งประกายความสามารถทางด้านดนตรีและการแสดง
แต่ชีวิตไม่เคยจีรัง และโรคร้ายก็ไม่เคยเลือกว่าจะมาหาใคร ข่าวคราวของอ๊อด รณชัย ถมยาปริวัฒน์ เงียบหายไปจากวงการ จนมารับรู้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า ‘นกคีรีบูน’ ผู้มีเสียงอันเป็นเอกลักษณ์นี้ ได้โผบินไปสู่ฟากฟ้าตะวันลาลับ ด้วยอาการมะเร็งทางสมอง ที่ได้ต่อสู้มานานนับปี ก่อนจะสิ้นลมอย่างสงบ ด้วยวัย 57 ปี
‘ฝากคำว่าคิดถึง ให้เธออยู่เสมอ แม้ไม่ได้เจอฉันก็สุขใจ…’ ท่อนทำนองแห่งเพลง ‘รอวันฉันรักเธอ’ อาจจะเป็นเหมือนจดหมายแรกเริ่ม และจดหมายสุดท้าย ที่อ๊อด ฝากบอกถึงแฟนเพลงทุกคน ว่าแม้จะไม่ได้พบเจอหน้า แต่การได้คิดถึงกัน แม้ตัวจะจากไป ก็อาจจะทำให้สุขใจได้ ไม่แตกต่างกัน
เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ กับแขนซ้ายลายมังกร
เพลงลูกทุ่ง คือเสน่ห์พื้นถิ่นอันไม่เป็นสองรองใคร คือแว่วเสียงแคน สดับลูกคอ และท่วงทำนองที่บ่งบอกชีวิตที่สะท้อนชีวิตของเหล่าลูกนาอีสานที่เดินทางมาสู่เมืองใหญ่ พบเจอเรื่องราวมากมาย และกลายเป็นปูมบันทึกของวัฒนธรรมร่วมสมัย
ซึ่งในบรรดาผู้ขับร้องบทเพลงลูกทุ่งที่เป็นตำนาน ผู้ที่ชื่อยังคงถูกขับขาน แม้จะสิ้นลมหายใจ ‘ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร’ อย่าง ‘พรศักดิ์ ส่องแสง’ แห่งบ้านโนน คือนักร้องที่ส่องประกาย และมีบทเพลงอันเป็นที่จดจำและคุ้นเคยได้เป็นอย่างดีหลายต่อหลายชิ้นงาน
พรศักดิ์ ส่องแสง ชื่อเดิม บุญเสาร์ ประจันตะเสน เกิดที่บ้านหนองขาม ตำบลบ้านโนน อำเภอบ้านเฮด จังหวัดขอนแก่น สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นลูกคนที่สองจากพี่น้องหกคน แรกเริ่มทำอาชีพเกษตรกรรมตามพ่อและแม่ ก่อนไปเข้ารับราชการทหาร และออกมา ตัดสินใจก่อตั้งวงดนตรีลูกทุ่ง ‘แชมป์อีสาน’ เพื่อเดินตามความฝันของการเป็นศิลปินแว่วเสียงแคนของตนเอง
อัลบั้มแรกปี 2524 อย่าง ‘เสือสำนึกบาป’ ได้การตอบรับอย่างดีเยี่ยม และชื่อ ‘พรศักดิ์ ส่องแสง’ ที่ครูหอม พ่อฮ้างน้อย ครูเพลงลูกทุ่งคนสำคัญช่วยตั้งให้ ก็กลายเป็นชื่อที่เหล่านักฟังเพลงลูกทุ่งคุ้นเคย และในตลอดระยะเวลากว่าสี่สิบปี มีผลงานรวมอัลบั้มกว่าสี่สิบชุด และบทเพลงอมตะที่แม้จะไม่ได้เป็นคอลูกทุ่งก็ต้องคุ้นเคย อย่าง ‘เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ’, ‘ลอยแพ’, ‘ผัวเผลอเจอกัน’, ‘มีเมียเด็ก’, ‘มักสาวซำน้อย’ อีกทั้งยังได้มีโอกาสแสดงทั้งในและต่างประเทศ จนถึงการแสดงประชันกันระหว่างสองดาวดนตรี สองสไตล์แห่งยุค พรศักดิ์ ส่องแสง พบ ธงไชย แมคอินไตย์ ในคอนเสิร์ต ‘สองคนสองคม’ อันเป็นตำนานเลื่องลือในปี 2530
แต่ตำนานแห่งไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกรก็มาถึงจุดสิ้นสุด เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อพรศักดิ์ ส่องแสง ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลกะทันหัน จากสภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน แม้แพทย์จะพยายามยื้อชีวิต แต่ก็ไม่สามารถทำได้ และดาวเด่นแว่วเสียงแคน ก็จากโลกนี้ไป ด้วยวัย 60 ปี
ครูฝรั่งหัวใจไทย และความดั้งเดิมแห่งดนตรีไทยในเส้นทางสายประยุกต์
การจะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาอย่างหนึ่ง คุณคิดว่าจะต้องอาศัยความเข้าใจในเรื่องใดบ้าง? มันอาจจะไม่ได้มีแค่เพียงการเข้าใจถึงเส้นทางที่จะมุ่งหน้าไป หากแต่รวมถึง ‘รากฐาน’ ที่วางเอาไว้ ที่ต้องมั่นคง แข็งแรง ที่จะทำให้การต่อยอด แต่งเติม และสร้างเสริม เป็นไปได้อย่างมั่นคง ไม่หักโค่นพังลง หรือเบาหวิวปลิดปลิวไปกับสายลมที่เข้ามากระทบอย่างแผ่วเบา
ครูบรูซ แกสตัน ‘ครูเพลงฝรั่งหัวใจไทย’ คือปูชนียบุคคลด้านดนตรีที่มีคุณูปการกับแวดวงดนตรีไทยอย่างหาที่เปรียบมิได้…
จากบัณฑิตสายทฤษฏีดนตรี การประพันธ์และปรัชญาสหรัฐอเมริกา ครูบรูซเดินทางข้ามโลกมายังประเทศไทย ด้วยความสนใจต่อดนตรีไทยอย่างจริงจัง มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างแดนเพียงลำพัง ในวันที่ภาษาไทยยังไม่คุ้นหู จนถึงวาระสุดท้ายที่ภาษาไทยกลายเป็นภาษาแม่ที่ใช้ได้อย่างเชี่ยวชาญชำนาญเยี่ยงครูเพลง
ชีวิตครูเพลงของครูบรูซเริ่มจากบทบาทเล็กๆ ในโรงเรียนผดุงราษฏร์ เป็นครูฝรั่งธรรมดาคนหนึ่ง ก่อนจะมาสอนที่มหาวิทยาลัยพายัพ และขยับมาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความหลงใหลในดนตรีไทยของครูบรูซมีอยู่อย่างมากมาย มากในระดับที่ไม่เพียงแต่หามาเสพอย่างลึกซึ้ง
แต่ปรารถนาที่จะ ‘ต่อยอด’ ดนตรีไทยขึ้นไปอีกขั้น
ในปี 2522 ดนตรีไทยที่เป็น ‘สไตล์ไทยร่วมสมัย’ ยังไม่อยู่ในสารบบ วงดนตรีรุ่นใหม่ต่างหยิบเอาสไตล์ของวงต่างประเทศมาใช้ และไม่มีวงไหนที่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นแนวแบบ ‘ไทย’ ที่แท้จริง และนั่นคือสิ่งที่ครูบรูซ รวมถึงครูบุญยงค์ เกตุคง อีกหนึ่งปูชนียบุคคลด้านดนตรี ตั้งใจจะก้าวข้ามไปให้ได้
การสร้างดนตรีว่ายาก แต่การสร้างดนตรีแนวทางใหม่นับว่ายากยิ่งกว่า แต่ครูบรูซกับครูบุญยงค์ ที่ได้ตั้งวง ‘ฟองน้ำ’ ก็สามารถประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์สิ่งที่ไม่เหมือนใคร ไม่ใช่มโหรีปี่พาทย์ แต่ก็ไม่ใช่ตะวันตกจนขาดเอกลักษณ์แบบไทย มันคือการผสมผสานอันเกิดจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ความเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่าดนตรี และปรัชญาที่ว่าด้วยความเป็นไปได้อันไม่สิ้นสุด
จากฝรั่งบัณฑิตทฤษฏีดนตรีจบใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัยสหรัฐอเมริกาวัย 22 จนมาถึงวันสุดท้ายกับบทบาทครูเพลงวัย 74 ครูบรูซทุ่มเทให้กับดนตรีไทย และจากโลกนี้ไปอย่างสงบ ให้ประเทศไทย และเสียงดนตรีไทย เป็นที่พักสุดท้าย ในวันนี้ … 17 ตุลาคม
สิ้นปูชนียบุคคลแห่งดนตรี กับราตรีที่เงียบงัน
มันเป็นวาระที่ค่อนข้างประหลาด และชวนให้ใจหาย ที่ภายในเวลาสามวัน สามบุคคลทางที่มีความสำคัญทางด้านดนตรีของไทย ได้จากโลกนี้ไป ราวกับนัดกันไว้ล่วงหน้า
มีคนกล่าวเป็นเชิงตลกร้ายเอาไว้ว่า บางที สวรรค์อาจกำลังจะมีคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ …
แต่กับพวกเรามนุษย์ที่ยังต้องดำเนินชีวิตต่อไป ภายใต้ปัญหาที่เข้ามาสารพัน เศรษฐกิจ การเมือง สังคม โรคระบาด การขาดซึ่งเสียงเพลง มันทำให้รู้สึกชอกช้ำอยู่ไม่น้อย
วันที่เสียงดนตรีตายจาก …
แต่ในทางหนึ่ง เสียงดนตรีอาจจะไม่ได้ตายจากไปไหน ไม่ … มันไม่เคยตาย มันยังคงดังก้องอยู่ในหัวใจของทุกคน ไม่ว่าการจากลาของปูชนียบุคคลทางด้านเสียงดนตรีจะเข้ามาทักทาย และทำให้เกิดความเศร้าสลดเพียงใด แต่หากยังมีคนที่เชื่อในการประสานของเส้นเสียง ท่วงทำนอง และความสอดคล้องกับคำร้องที่กล่อมเกลาให้เกิดความรู้สึกอันหลากหลาย มากมาย แตกต่างแล้วนั้น
เสียงดนตรีไม่ได้ตาย … มันแค่เงียบไป เพื่อไว้อาลัย เพียงชั่วคราว
และมันคงจะดี ถ้าเราจะระลึกถึงคนดนตรีผู้จากไป ด้วยการสงบนิ่งชั่วครู ก่อน ‘เปิดฟัง’ เพลงของพวกเขา เหมือนเช่นที่เคยทำมา ในทุกวัน ทุกครั้ง …